x close

6 ปัญหาระหว่างเพื่อนบ้าน กับทางออกด้านกฎหมาย

6 ปัญหาระหว่างเพื่อนบ้าน กับทางออกด้านกฎหมาย
6 ปัญหาระหว่างเพื่อนบ้าน กับทางออกด้านกฎหมาย

เกริ่นนำโดยกระปุกดอทคอม

          มีปัญหากับเพื่อนบ้าน แก้ไขอย่างไรดี ลองมาดูวิธีแก้ปัญหากับเพื่อนบ้านตามกฎหมาย เพื่อช่วยเคลียร์ข้อพิพาทกันค่ะ

          หลายคนเกิดปัญหาขัดแย้งกับเพื่อนบ้านบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ หรือถึงขั้นฟ้องร้องกันเลยก็มี โดยเฉพาะเรื่องสำคัญเหล่านี้ ที่เป็นตัวต้นตอของปัญหาพิพาทระหว่างเพื่อนบ้านส่วนใหญ่ แต่หากมีปัญหาเกิดขึ้นแล้วจะแก้ไขได้อย่างไร วันนี้เรามีความรู้ทางด้านกฎหมาย จากเว็บไซต์ TerraBKK มาช่วยไขปัญหา ดังนี้

1. ต้นไม้


       เมื่อรุกล้ำเขตแดนกรรมสิทธิ์คนอื่น เจ้าของต้องตัดทิ้ง แต่หากส่วนของรากรุกล้ำ เกิดปัญหาต่อโครงสร้างผู้ได้รับความเสียหายมีสิทธิเข้าตัดฟันต้นไม้ได้เลย และดอกผลที่ยื่นไปในแดนกรรมสิทธิ์ของคนอื่น ที่ยังไม่ร่วงหล่นถือเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของต้นไม้

  2. วิว

       บางท้องถิ่นซึ่งมีวิวทะเลหรือป่าเขาที่เป็นธรรมชาติ กฎหมายมักจะระบุห้ามปลูกต้นไม้สูงหรือสร้างสิ่งก่อสร้าง ซึ่งบังวิวของเพื่อนบ้าน กฎหมายอาจจะระบุให้สิทธิแก่เจ้าของบ้านที่ถูกบังวิวให้สามารถยื่นฟ้องร้องเพื่อรักษาสิทธิชมวิวของตนได้

3. เสียง

       คือเหตุรำคาญ การกระทำใด ๆ อันเป็นเหตุให้เกิดกลิ่น แสง รังสี เสียง ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือนฝุ่น ละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่นใด จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ สามารถแจ้งเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้

4. น้ำฝน

       จากหลังคาบ้านของเพื่อนบ้าน สามารถร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนและฟ้องร้องให้มีการรื้อถอนได้

5. สัตว์เลี้ยง

       ก่อความรำคาญ มีสิทธิเรียกร้องเอาสินไหมทดแทนจากเจ้าของสัตว์ หรือคนรับเลี้ยงได้

6. การจอดรถขวางหน้าบ้าน


       ถือว่าเป็นกระทำความผิดฐานก่อความเดือดร้อนรำคาญใจตามมาตรา 397 หมวดลหุโทษ


ต้นไม้

       ปลูกต้นไม้อย่างไรไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ที่ดินตนเองและผู้อื่นย่อมถือเป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน กฎหมายจึงได้มีบทบัญญัติครอบคลุมถึงปัญหาเกี่ยวกับการปลูกต้นไม้ไว้ด้วย กล่าวคือ การปลูกต้นไม้หรือไม้ยืนต้นในริมเขตแดนแห่งกรรมสิทธิ์ อาจเกิดปัญหาการรุกล้ำเขตแดน เช่น กิ่งก้านใบ ดอกผล ราก เป็นต้น การรุกล้ำของต้นไม้ดังกล่าวมีประเด็นเงื่อนแง่ในด้านกฎหมาย ดังนี้

       1. ส่วนของกิ่งก้านใบหรือผลยื่นล่วงล้ำไปในที่ดินของผู้อื่น การปลูกต้นไม้ใกล้ชิดแนวเขตโดยไม่คำนึงถึงประเภทของต้นไม้นั้นว่าตามธรรมชาติและพันธุ์ไม้นั้นจะเติบโตได้เพียงไร เมื่อเกิดการยื่นรุกล้ำไปแล้วกฎหมายกำหนดให้ผู้ได้รับความเสียหายต้องแจ้งให้เจ้าของต้นไม้ตัดฟันไม่ให้เกิดการล่วงล้ำเสียก่อน หากไม่ตัดฟันต้นไม้ตามที่แจ้งจึงจะมีอำนาจเข้าตัดฟันต้นไม้และเรียกค่าเสียหายได้ กรณีเข้าไปตัดฟันเองโดยไม่แจ้งให้เจ้าของต้นไม้ทราบก่อนอาจมีความผิดตามกฎหมายอาญาข้อหาทำให้เสียทรัพย์ และข้อหาบุกรุก

       2. ส่วนของรากรุกล้ำ เกิดปัญหาเกี่ยวกับการทำลายโครงสร้าง เช่น ทำให้กำแพงพัง รากฐานบ้านพัง เป็นต้น กฎหมายกำหนดให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายมีสิทธิเข้าตัดฟันต้นไม้ได้เลย แต่อย่างไรก็ตามเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับคดีอาญาข้อหาทำให้เสียทรัพย์ และข้อหาบุกรุก ให้ยุ่งยากในทางปฏิบัติจึงควรบอกกล่าวให้เจ้าของต้นไม้ทราบก่อนด้วย

       3. ส่วนของดอกหรือผลต้นไม้ ถือเป็นดอกผลและผลประโยชน์ที่ผู้ปลูกต้องการแต่เนื่องด้วยต้นไม้ปลูกริมแนวเขตทำให้ดอกหรือผลต้นไม้ออกผลยื่นไปในแดนกรรมสิทธิ์ของคนอื่น ดังนั้นจึงมีประเด็นต้องพิจารณาต่อไปว่าดอกหรือผลดังกล่าวเป็นของใคร เจ้าของต้นไม้ก็ยืนยันว่าเป็นของตนเองเพราะทำการปลูกไว้ ส่วนเจ้าของที่ดินที่เสียหายก็อ้างว่าดอกหรือผลอยู่ในเขตที่ดินของตนจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง โดยในประเด็นของดอกผลมีสิ่งที่ต้องควรพึงระวัง ดังนี้

       3.1 หากดอกหรือผลไม้ในส่วนที่ยื่นรุกล้ำไปในแนวเขตของผู้อื่นนั้นยังไม่หลุดจากขั้วต้นไม้ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของต้นไม้ เพราะเป็นดอกผลอันเกิดจากต้นไม้นั้นโดยตรง หากมีการเด็ดไปจากต้นผู้เอาไปมีความผิดอาญาข้อหาลักทรัพย์

       3.2 หากดอกหรือผลไม้ในส่วนที่ยื่นรุกล้ำมีการร่วงหล่นไปในที่ดินของผู้อื่นแล้ว การเอาไปไม่ผิดข้อหาลักทรัพย์ จึงมีนักกฎหมายบางคนหัวหมอบอกว่าต้องทำให้หล่นก่อนจะได้ไม่ผิด แต่ความจริงการทำให้หล่นก็อาจผิดฐานทำให้เสียทรัพย์และพยายามลักทรัพย์ได้เช่นเดียวกัน


6 ปัญหาระหว่างเพื่อนบ้าน กับทางออกด้านกฎหมาย

วิว

       ถ้าเพื่อนบ้านทำการต่อเติมบ้าน หรือปลูกต้นไม้ใหม่บังวิว โดยปกติคนเราไม่มีสิทธิในแสงแดด อากาศ และวิว ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งธรรมชาติที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ยกเว้นเฉพาะกรณีที่เพื่อนบ้านเจตนาทำสิ่งก่อสร้างขึ้นเพื่อแกล้งบังวิว หรือในกรณีที่กฎหมายท้องถิ่นระบุห้ามสร้างสิ่งก่อสร้าง ซึ่งเป็นการบังวิวของคนส่วนใหญ่ บางท้องถิ่นซึ่งมีวิวทะเลหรือป่าเขาที่เป็นธรรมชาติ กฎหมายมักจะระบุห้ามปลูกต้นไม้สูงหรือสร้างสิ่งก่อสร้าง ซึ่งบังวิวของเพื่อนบ้าน กฎหมายอาจจะระบุให้สิทธิแก่เจ้าของบ้านที่ถูกบังวิวให้สามารถยื่นฟ้องร้องเพื่อรักษาสิทธิชมวิวของตนได้


เสียง


       พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดการ ป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษที่เกี่ยวกับเหตุรำคาญด้านพิษทางเสียง ดังนี้

       มาตรา 25 ในกรณีที่มีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อน แก่ผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง หรือผู้ที่ต้องประสบกับเหตุนั้น ดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นเหตุรำคาญ (4) การกระทำใด ๆ อันเป็นเหตุให้เกิดกลิ่น แสง รังสี เสียง ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือนฝุ่น ละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่นใด จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

       มาตรา 26 ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจห้ามผู้ใดผู้หนึ่งมิให้ก่อเหตุรำคาญ ในที่ หรือทางสาธารณะหรือสถานที่เอกชนรวมทั้งการระงับเหตุรำคาญด้วย ตลอดทั้งการดูแล ปรับปรุง บำรุงรักษา บรรดาถนน ทางบก ทางน้ำรางระบายน้ำ คู คลอง และสถานที่ต่างๆ ในเขตของตนให้ปราศจากเหตุรำคาญในการนี้ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือเพื่อระงับ กำจัด และควบคุมเหตุรำคาญต่าง ๆ ได้

       มาตรา 27 ในกรณีที่มีเหตุรำคาญเกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้นในที่หรือทางสาธารณะ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจ ออกคำสั่งเป็นหนังสือให้บุคคล ซึ่งเป็นต้นเหตุ หรือเกี่ยวข้องกับการก่อ หรืออาจก่อให้เกิดเหตุรำคาญนั้น ระงับ หรือป้องกันเหตุรำคาญภายในเวลาอันสมควร ตามที่ระบุไว้ในคำสั่ง และถ้าเห็นสมควรจะให้กระทำโดยวิธีใดเพื่อระงับหรือป้องกันเหตุรำคาญนั้น หรือสมควรกำหนดวิธีการเพื่อป้องกันมิให้เกิดขึ้นได้อีกในอนาคต ให้ระบุไว้ในคำสั่งในกรณีที่ปรากฎแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นว่าไม่มีการปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น และเหตุรำคาญที่เกิดขึ้นอาจเกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นระงับเหตุนั้นและอาจจัดการตามความจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุรำคาญนั้นขึ้นอีก โดยบุคคลซึ่งเป็นต้นเหตุหรือเกี่ยวข้องกับการก่อหรืออาจก่อให้เกิดเหตุรำคาญต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดการนั้น

       มาตรา 74 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามมาตรา 27 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 28วรรคหนึ่งหรือวรรคสาม โดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร หรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 27 วรรคสอง หรือมาตรา 28 วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ประมวลกฎหมายอาญา มีบทบัญญัติเกี่ยวกับกำกำหนดโทษผู้ก่อให้เกิดเสียง ดังนี้

       มาตรา 370 ผู้ใดส่งเสียงหรือทำให้เกิดเสียงหรือกระทำความอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันควรจนทำให้ประชาชนตกใจหรือเดือดร้อน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100 บาท

       มาตรา 372 การทะเลาะกันอื้ออึงในทางสาธารณะ หรือสาธารณสถานก็อาจทำให้ผู้ทะเลาะเบาะแว้งส่งเสียงดังอื้ออึง มีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท

       มาตรา 376 ผู้ใดยิงปืนหรือใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 วัน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        เสียงดังที่มาจาก งานเลี้ยงดื่มสุรา เมาแล้วโวยวายเป็นประจำ ตามกฎหมายแล้วถือเป็นความผิดทางอาญาละหุโทษ ฐานส่งเสียง หรือทำให้เกิดเสียง เพื่อนบ้านมีสิทธิฟ้องร้องได้ ถ้าหมาของเพื่อนบ้านเห่าไม่หยุด ให้ขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่ดูแลสัตว์ (animal control authorities) ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่สามารถแก้ปัญหาให้ สุดท้ายสามารถยื่นฟ้องร้องเพื่อนบ้านเพื่อขออำนาจศาลสั่งแก้ปัญหาได้

น้ำฝนจากหลังคาบ้านของเพื่อนบ้านไหลตกลงมาในบริเวณพื้นที่บ้านของเรา

        กฎหมายถือเป็นการละเมิดสิทธิแบบหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนและฟ้องร้องให้มีการรื้อถอนได้


สัตว์เลี้ยงเพื่อนบ้านก่อความรำคาญ

        เช่น สุนัขหรือแมวเข้ามากัด เข้ามาทำลายสิ่งของในบ้าน ปัญหาการถ่ายอุจจาระ เข้ามาคุ้ยขยะ ทำความสกปรกให้เกิดขึ้น กฎหมายวางหลักเกณฑ์ไว้ว่า ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของสัตว์ดังกล่าว มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าของสัตว์นั้น หรือจากบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของ ทั้งนี้ ผู้ได้รับความเสียหายจะทำร้ายสัตว์หรือฆ่าสัตว์เพื่อเป็นการแก้แค้นไม่ได้ เพราะอาจมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์และอาจถูกฟ้องร้องฐานละเมิดอีกด้วย


 การจอดรถขวางหน้าบ้าน

        การจอดรถขวางประตูบ้านของผู้อื่น เป็นการกระทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนรำคาญ เพราะไม่สามารถนำรถเข้าหรือออกจากบ้าน จะมาอ้างว่าถนนหน้าบ้านเป็นที่สาธารณะนั้นทำไม่ได้ เนื่องจากหากเจ้าของรถใช้สิทธิไปก่อความเดือดร้อนของผู้อื่นทั้งที่รู้แก่ใจถึงความเสียหาย จะถือว่า กระทำความผิดฐานก่อความเดือดร้อนรำคาญใจตามมาตรา 397 หมวดลหุโทษ

        ทั้งนี้ เมื่อเป็นความผิดกฎหมายอาญาแล้ว ตำรวจจะปัดไม่รับแจ้งความร้องทุกข์ไม่ได้ ถ้าปฏิเสธ อาจมีโทษฐานละเว้นหน้าที่โดยทุจริต เพราะความผิดฐานนี้ไม่จำเป็นต้องมีความเสียหายเกิดขึ้น แค่เกิดพฤติกรรมที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนรำคาญใจ ก็เป็นความผิดอาญาฐานนี้แล้ว



ขอขอบคุณข้อมูลจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
6 ปัญหาระหว่างเพื่อนบ้าน กับทางออกด้านกฎหมาย อัปเดตล่าสุด 17 กันยายน 2558 เวลา 18:00:54 109,325 อ่าน
TOP