x close

10 ชนิดวัชพืชมีคุณค่าอย่าถอนทิ้ง เพราะเราเด็ดกินได้นะรู้เปล่า ?

          เผยคุณค่าของพืชที่ได้ชื่อว่า “วัชพืช” ซึ่งคุณอาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อนว่ามันกินได้ และมีประโยชน์ต่อร่างกายไม่แพ้สมุนไพรชั้นเอกที่เรารู้จักกันมานาน 
วัชพืชกินได้

          เมื่อเอ่ยถึง “วัชพืช” ลำดับแรกที่คนส่วนใหญ่คิดเหมือนกันหมดนั่นก็คือ พืชไร้ค่าที่แทงยอดขึ้นมาถ่วงการเจริญเติบโตของต้นไม้และสมควรถูกจำกัดทิ้งให้สิ้นซากไป แต่หารู้ไม่ว่าวัชพืชเหล่านั้นเราสามารถนำมากินเพื่อประโยชน์ต่อร่างกายได้นะจะบอกให้ ถ้าเป็นเช่นนั้นเราก็ไม่อยากรอช้าที่จะพาคุณไปรู้จักกับหน้าตาและข้อดีของวัชพืชทั้ง 10 ชนิดนี้กัน เพื่อขยับคุณค่าของมันให้สามารถเทียบเท่าพืชชนิดอื่น ๆ ได้บ้าง ถ้ามันมาขึ้นในสวนที่บ้านก็อย่าเพิ่งเด็ดทิ้งซะล่ะ

1. ส้มกบ (Wood Sorrel หรือ Oxalis)

ส้มกบ

          ส้มกบ เป็นวัชพืชที่มีความสูงแค่ 2-3 นิ้ว เลื้อยคลุมพื้นดิน มีใบรูปหัวใจแบ่งออกเป็น 3 ใบ ต่อ 1 ช่อ และดอกสีเหลืองที่มี 5 กลีบดอกด้วยกัน สารสำคัญที่มีประโยชน์ต่อร่างกายในต้นส้มกบนั้นก็คือ กรดมาลิก กรดซิตริก แคลเซียม วิตามินซี และแคโรทีน ซึ่งช่วยในการย่อยอาหาร ช่วยให้เจริญอาหาร รักษาโรคนอนไม่หลับ แก้อาการหวัด รักษาโรคดีซ่านนั่นเอง

          ด้วยรสชาติที่เปรี้ยวเค็มและหวานนิด ๆ ของส้มกบ เราจึงนำมาแต่งเติมรสชาติแทนมะขามเปียกได้ อีกทั้งยังนำใบและยอดอ่อนมาปรุงอาหารหรือจิ้มกินกับน้ำพริกก็ได้รสชาติดีไปอีกแบบ แต่ถ้าหากจะนำมารับประทานเป็นยาไม่ควรทานติดต่อกัน 3 วัน เพราะกรดออกซาลิกที่อยู่ในใบอาจจะสร้างพิษให้กับร่างกายได้

2. วอเตอร์เครส (Watercress)

วอเตอร์เครส

          พืชที่คนไทยขนานนามว่า ผักสลัดน้ำ นี้เป็นพืชใบเขียวที่อยู่ในตระกูลเดียวกับดอกกะหล่ำ รูปร่างที่แท้จริงของมันจะมีลักษณะคล้ายใบบัวบก และไม่ใช่ ผักเป็ดญี่ปุ่น อย่างที่หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็น วอเตอร์เครส มาตลอดนั่นเอง ขอบอกเลยว่าชาวรักสุขภาพตัวจริงจะต้องตะลึงเมื่อได้รู้ถึงประโยชน์ของ ผักสลัดน้ำ ที่ว่านี้ จากผลวิจัยที่ทำให้เราได้รู้ว่ามันอุดมไปด้วยวิตามินซี แคลเซียม ธาตุเหล็ก และสารต้านอนุมูลอิสระที่สูงกว่าพืชต้นฉบับที่เราเคยรู้มาซะอีก ที่สำคัญยังมีสารที่ช่วยในการยับยั้งและป้องกันการเกิดมะเร็งและสารพิษต่าง ๆ ได้อีกด้วย

          เราสามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู รวมทั้งใช้เป็นผักแนมกินกับน้ำพริกให้ถูกจริตกับวิถีของคนไทยก็ดีไปอีกแบบ แต่ถ้าหากต้องการเน้นกินเพื่อรับประโยชน์โดยตรงก็แค่ใช้ ผักสลัดน้ำประมาณ 10 ยอด ต่อ 1 มื้อ ไปประกอบอาหารในแต่ละวัน เราก็จะได้ทั้งวิตามินซี วิตามินเอ และภูมิต้านทานโรคต่าง ๆ ให้กับร่างกาย

3. หญ้าไก่ (Chickweed)

หญ้าไก่

          ขอยกตำแหน่งพืชที่เป็นได้ทั้งอาหารและยาให้กับชิคหวีดหรือหญ้าไก่ วัชพืชที่ออกดอก 1 ดอกต่อ 1 ต้น ดอกมีลักษณะคล้ายดาวซึ่งกลีบดอกจะแยกออกเป็นแฉกและมีสีขาว ใบเรียวยาว เมื่อโตเต็มที่ความสูงจะประมาณ 30 เซนติเมตร ถึงจะเป็นแค่วัชพืชแต่ก็มีดีไม่แพ้สมุนไพรชื่อดังเลย เพราะมันอุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ โอเมก้า 6 โพแทสเซียม แมกนีเซียม และยังช่วยรักษาโรคเก๊าท์ โรคข้อ ระบบทางเดินหายใจ และอาการทางผิวหนังได้เช่นกัน

          ทั้งดอก ใบ และลำต้น เราสามารถนำมากินสด ๆ ใส่ในจานสลัดเพื่อสุขภาพได้ หรือจะนำมาทำเป็นชาดื่มตอนบ่าย ๆ ช่วยล้างไขมันและขับของเสียออกจากร่างกายก็ดีไปอีกแบบ (แต่ไม่ควรทานในจำนวนที่มากเกินไปเพราะอาจจะทำให้เป็นพิษต่อร่างกายได้) อีกหนึ่งคุณสมบัติของหญ้าไก่นั่นก็คือ สามารถนำมาทำเป็นยาพอกแผลมีดบาด แผลไฟไหม้ และผดผื่นได้ด้วยค่ะ

4. เบอร์ดอก (Burdock)

เบอร์ดอก

          เป็นวัชพืชในตระกูลหญ้าที่ขึ้นลำต้น ผลิใบ และออกดอกคล้ายต้นหญ้าเจ้าชู้ หรือที่เรียกกันอีกชื่อว่า โกโบ ซึ่งคนญี่ปุ่นนิยมนำรากของมันมาทำอาหาร เพราะรากนั้นเต็มไปด้วยสารอาหารที่ดีอย่าง แคลเซียม ธาตุเหล็ก อินนูลิน ฟอสฟอรัส และโครเมียม ที่จะช่วยบำรุงร่างกาย ขับของเสีย รวมไปถึงช่วยลดการดูดซึมน้ำตาลเข้ากระแสเลือดให้กับผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน

          วิธีการกินนั้นก็ไม่ยากเนื่องจากส่วนมากจะนิยมนำรากเบอร์ดอก (โกโบ) ที่ว่านี้ มาประกอบอาหารสัญชาติญี่ปุ่น อย่าง ซุปมิโซะ ทงจิรุ โกโบนึ่ง และโกโบทอดตามใจชอบเลยค่ะ แม้กระทั่งดอกของมันเราก็นำมาปอกเปลือกแล้วต้มเพื่อทานเคียงกับน้ำพริก ซึ่งจะมีรสชาติคล้ายกับหน่อไม้ฝรั่งเลยทีเดียว

5. ผักเบี้ยใหญ่ (Purslane)

ผักเบี้ยใหญ่

          ฟังชื่อนานาชาติดูแล้วอาจจะยังไม่คุ้นหูเท่ากับชื่อไทย ๆ ว่า ผักเบี้ยใหญ่ ที่รวมอยู่ในตระกูลเดียวกับ คุณนายตื่นสาย เป็นพืชล้มลุกเลื้อยปกคลุมหน้าดินเพื่อรักษาความชื้นให้กับดิน ซึ่งดอกจะออกดอกสีเหลืองมีกลีบดอก 4-5 ดอก และใบเล็กโค้งมนที่โอบอุ้มน้ำเอาไว้ ถึงจะเป็นวัชพืชไซส์มินิแต่ก็มากไปด้วย กากใย วิตามิน เกลือแร่ สารต้านอนุมูลอิสระ กรดไขมันโอเมก้า 3 ที่เป็นตัวช่วยอย่างดีในการลดคอเลสเตอรอล ควบคุมความดัน ลดการแข็งตัวของหลอดเลือด แถมยังเป็นยาที่ใช้รักษาลำไส้อักเสบ แก้ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ รักษาแผลเป็นหนอง รักษาไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน และป้องกันโรคบิด

          เราสามารถนำใบ ดอก และลำต้นมาทานสด ๆ เหมือนกับวอเตอร์เครสก็ได้ หรือจะนำไปประกอบอาหารจานเด็ดอย่างเช่น โพสเลนผัด ใส่ในไข่เจียว ทำเป็นผักดอง และสลัด ซึ่งฤดูหนาวและฤดูฝนเป็นช่วงที่เหมาะกับการเก็บโพสเลนมาใช้มากที่สุด หากใครไม่ชอบทานสด ๆ ก็ให้นำต้นโพสเลนมาล้างและลวกผ่านน้ำร้อน จากนั้นนำลงไปแช่ในน้ำเย็นเพื่อไม่ให้มันสุกมากเกินไปก็ได้ค่ะ

6. ธูปฤาษี (Cattail)

ธูปฤาษี

          ธูปฤาษีจัดว่าเป็นไม้ล้มลุกในตระกูลกก ลักษณะลำต้นจะสูงได้ตั้งแต่ 1-3 เมตร มีใบเล็กเรียวยาวประมาณ 2 เมตร ออกดอกอัดแน่นติดกันเป็นแท่งสีน้ำตาลคล้ายธูป จะพบมากตามหนองน้ำ ริมคลอง และทะเลสาบ ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยในการบำบัดน้ำเน่าเสียและรักษาการพังทลายของหน้าดิน นอกจากนี้ยังช่วยขับปัสสาวะและเพิ่มน้ำนมให้กับคุณแม่หลังคลอดบุตรอีกด้วย

          กว่าจะได้ธูปฤาษีมาทำอาหารเรานั้นต้องลงทุนไปเก็บให้ถึงที่กันเลย เลือกดึงยอดอ่อน ๆ ที่เพิ่งโผล่พ้นน้ำมาเล็กน้อย เพื่อเก็บลำต้นอ่อนสีขาวใต้ดินหรือที่เรียกกันว่า “หน่อเฟื้อ” มาทำอาหาร แต่ก่อนจะใช้เราต้องขัดล้างและลอกเปลือกด้านนอกออกซะก่อน หรือจะเก็บไว้ทานนาน ๆ ขอแนะนำให้ใช้ผ้าขาวบางชุบน้ำเพื่อห่อหน่อเฟื้อและนำไปแช่ตู้เย็น สำหรับเมนูเด็ดที่เข้ากับรสชาติของหน่อเฟื้อมากที่สุดก็น่าจะเป็นแกงเผ็ด แกงคั่ว และที่มีรสชาติจัดตามไลฟ์สไตล์คนไทย

7. เรด โคลเวอร์ (Red Clover)

เรด โคลเวอร์

          วัชพืชชนิดนี้อยู่ในตระกูลเดียวกับถั่วและมักจะขึ้นแซมปกคลุมหน้าดินในสนามหญ้า ลักษณะของ เรด โคลเวอร์ ที่เราสามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจนนั้นก็คือ ดอกของมันจะมีสีแดงชมพูระเรื่อเป็นทรงพุ่ม กลีบดอกซ้อนกันชั้น ๆ และมีใบที่ฐานดอกประมาณ 3-4 ใบ แม้ลักษณะจะดูสวยงามไม่คู่ควรกับการกิน แต่กลับเป็นหนึ่งในวัชพืชที่ถูกนำมาสกัดเป็นอาหารเสริมยอดนิยมในตอนนี้ ด้วยประโยชน์ในการรักษาอาการไข้หวัด ขับเสมหะ แก้เจ็บคอ และล้างพิษในร่างกายนั่นเอง

          หากไม่สามารถสะดวกที่จะบริโภค เรด โคลเวอร์ ในรูปแบบแคปซูล เราก็สามารถนำดอกและใบสด ๆ มากินได้เช่นกัน ด้วยการเก็บดอกมาล้างให้สะอาดและนำไปแช่ในน้ำร้อนจัดเพื่อทำชาดื่ม ส่วนใครที่กำลังพึ่งพาอาหารจานสลัดผักในการรักษาหุ่นก็แค่เด็ดกลีบดอกและใบสดใส่ลงไปในจานนั้น เพิ่มรสชาติและสีสันให้ดูน่ากินมากยิ่งขึ้น

8. ผักเสี้ยนผี (Cleome Viscosa)

ผักเสี้ยนผี

          วัชพืชชนิดนี้ถือว่าเป็นพืชล้มลุกซึ่งในเมืองไทยมีอยู่ด้วยกัน 5 สายพันธุ์ ลักษณะลำต้นจะสูงได้ถึง 30 เซนติเมตร มีขนตามลำต้น ใบจะมีรูปร่างออกกลมและปลายเรียวแหลม ใน 1 ช่อจะมีด้วยกัน 5 ใบ ส่วนดอกนั้นจะออกเป็นช่อ ด้านบนลำต้นมีสีขาวที่คอยชูเกสรสีน้ำตาลให้สูงชันตลอดเวลา และผลของผักเสี้ยนจะมีลักษณะเป็นฝักและด้านในมีเมล็ด ซึ่งมีสรรพคุณที่ช่วยบำรุงเลือดลม ต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง แก้ปวดหู ขับพยาธิไส้เดือน และแก้อาการปวดท้อง

          วิธีการกินผักเสี้ยนนั้นมักจะนิยมเอาไปดองก่อนแล้วค่อยนำมาปรุงอาหาร โดยการนำไปขยำกับข้าวสุก เกลือ และน้ำตาลโตนดเล็กน้อย จากนั้นทิ้งไว้ 3-4 คืน เราก็สามารถนำผักเสี้ยนดองที่ว่านั้นมาทำแกงส้ม ต้มกระดูกหมู หรือจิ้มกับน้ำพริก และอีกมากมาย (แต่มีข้อควรระวังว่าผู้หญิงไม่ควรกินมากเกินไป เพราะอาจจะทำให้เกิดอาการตกขาวและมีกลิ่นเหม็นได้)

9. ผักกาดน้ำ (Plantago Major)

ผักกาดน้ำ

          เป็นพืชล้มลุกที่เจริญเติบโตขึ้นซ้อนกันเป็นกอ มีความสูงได้ถึง 120 เซนติเมตร ลักษณะลำต้นจะมีสีเขียวอมแดง ใบยาวเป็นรูปวงรีขึ้นสลับซ้อนกันรอบต้น และมีดอกเล็ก ๆ ขึ้นที่ปลายยอดมากมาย ซึ่งมีคุณสมบัติที่ช่วยแก้อาการปวดฟัน มีฤทธิ์เป็นยาระบาย และแก้หนองใน

          วิธีการกินผักกาดน้ำคนส่วนใหญ่นิยมทำเป็นผักดองก่อนนำไปปรุงอาหาร ซึ่งรสชาติเปรี้ยวนั้นสามารถใช้แทนมะนาวและมะขามเปียกได้เลย อย่างเช่น นำใบผัดกาดน้ำดองไปทำยำหรือแกงคั่วก็ได้เช่นกัน (แต่มีข้อแม้ว่าไม่ควรกินมากเกินไปเพราะในผักกาดน้ำมีกรดซาลิกที่เป็นพิษต่อร่างกาย

10. หญ้าชันกาด (Torpedo Grass)

หญ้าชันกาด

          เป็นไม้ล้มลุกที่ขึ้นได้ดีในที่ที่มีน้ำ ลำต้นตั้งตรงและสูงได้ถึง 50 เซนติเมตร เป็นข้อปล้องมีใบเรียวยาวขึ้นแซมสลับกัน ออกดอกย่อย ๆ ที่ปลายยอดลำต้นและจะพบมากตามทุ่งนา ซึ่งมีอายุยืนข้ามปีกันเลยทีเดียว สรรพคุณที่ดีต่อร่างกายคือ ช่วยให้ประจำเดือนมาปรกติ แก้ไตพิการ ละลายก้อนนิ่ว ขับปัสสาวะ รักษาโรคตา แก้อาการบวมน้ำ และแก้ไข้พิษ

          ส่วนมากหญ้าชันกาดจะถูกใช้เพื่อรักษาอาการทางร่างกาย โดยการนำหัวหรือเหง้าแห้ง ไปต้มน้ำดื่ม เพื่อช่วยขับปัสสาวะ แก้ไตพิการ และแก้ดับร้อนค่ะ

          คงจะรู้สึกเสียดายที่เคยกำจัดวัชพืชดี ๆ เหล่านี้ทิ้งไปใช่ไหมค่ะ หากสนใจอยากลองนำมากินและใช้เป็นยาเพื่อรักษาอาการต่าง ๆ บ้างนั้น เราขอแนะนำให้ศึกษาหาข้อมูลอย่างละเอียดซะก่อน หรือสอบถามจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้คุณได้ใช้ประโยชน์จากวัชพืชได้อย่างสบายใจกันค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก inhabitattreehuggergoodhousekeeping, olympus27, organicfacts, gardeningknowhow, th.swewe และvegetweb 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
10 ชนิดวัชพืชมีคุณค่าอย่าถอนทิ้ง เพราะเราเด็ดกินได้นะรู้เปล่า ? อัปเดตล่าสุด 15 กันยายน 2566 เวลา 08:07:05 369,755 อ่าน
TOP