x close

4 น้ำยาทำความสะอาด ที่ไม่ควรใช้กับสารฟอกขาว เลี่ยงไว้ก่อนเกิดอันตราย

          ไขข้อสงสัย น้ำยาทำความสะอาดที่ไม่ควรนำมาใช้กับสารฟอกขาว เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต มีอะไรบ้าง พร้อมวิธีการใช้สารฟอกขาวสำหรับซักผ้าที่ถูกต้อง เพื่อความปลอดภัย และช่วยถนอมเสื้อผ้าให้ใส่ได้อีกนาน
สารฟอกขาว

          สารฟอกขาว เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยกำจัดคราบสกปรกในบ้าน ได้หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นบนเสื้อผ้า พื้น หรือของใช้ต่าง ๆ ปกติจะบอกวิธีใช้ไว้บนฉลากเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด วันนี้จะพาไปรู้จักกับสารฟอกขาว และน้ำยาทำความสะอาดที่ไม่ควรนำมาใช้ร่วมกัน เพราะจะทำให้เกิดก๊าซพิษที่เป็นอันตรายกับชีวิตได้ รวมไปถึงการใช้สารฟอกขาวอย่างไรให้ปลอดภัย

สารฟอกขาว คือ


          สารฟอกขาว (Bleach) เป็นสารเคมีที่สามารถกำจัดได้ทั้งคราบสกปรก รอยเปื้อน รวมถึงเชื้อโรค แบคทีเรีย และไวรัสบนเสื้อผ้า นอกจากนี้ยังทำให้ผ้ากลับมาขาวสะอาด พร้อมทั้งคงสีสันของเสื้อผ้าให้สดใสอยู่เสมอ มี 2 ประเภทด้วยกัน แบ่งตามชนิดของสารละลายและคุณสมบัติการใช้งาน ดังนี้

          คลอรีน บลีช (Chlorine Bleach) : สารฟอกขาวประเภทนี้มีสารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรท์ ที่มีฤทธิ์ในการกัดกร่อนคราบหนักสูง ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ดีเยี่ยม และยังมีคุณสมบัติในการฟอกผ้าให้ขาวสว่างสดใสอีกด้วย สารฟอกขาวกลุ่มนี้จึงเหมาะกับการซักผ้าขาวที่เป็นผ้าฝ้ายและผ้าลินิน แต่ไม่เหมาะที่จะใช้กับผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ และผ้าไนลอน เพราะจะทำให้เส้นใยเนื้อผ้าเสียหายได้

          ออกซิเจน บลีช (Oxygen Bleach) : สารฟอกผ้าขาวที่มีสารละลายไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์และออกซิเจนผสมอยู่ด้วย ซึ่งสารทั้ง 2 ชนิดนี้ก็จะทำหน้าที่ในการจำกัดคราบอินทรีย์และคราบเปื้อนทั่ว ๆ ไป อีกทั้งยังทำให้ผ้าสีแลดูสดใส ฉะนั้นสารฟอกขาวชนิดนี้จึงเหมาะกับการทำความสะอาดผ้าสี

ข้อดีและข้อเสียสารฟอกขาว


          ข้อดี : ที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ สามารถทำความสะอาดสิ่งสกปรกบนเสื้อผ้า กำจัดคราบเปื้อนหนัก ๆ เช่น คราบอาหาร เครื่องดื่ม (ชา-กาแฟ) และน้ำหมึก ได้อย่างที่ผงซักฟอกธรรมดา ๆ ทำไม่ได้ นอกจากนี้ยังช่วยฆ่าเชื้อโรคและเชื้อแบคทีเรียบนเสื้อผ้าได้อย่างดีเยี่ยม

          ข้อเสีย : เนื่องจากน้ำยาฟอกผ้าขาวเป็นสารเคมีอันตรายและมีฤทธิ์กัดกร่อน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้อย่างระมัดระวังและทำตามที่ระบุไว้ในฉลากอย่างเคร่งครัด

วิธีการเลือกสารฟอกผ้าขาว


สารฟอกขาว

1. เลือกให้ตรงกับชนิดของผ้า

          ก่อนจะตัดสินใจซื้อควรเช็กด้วยว่าเหมาะกับผ้าชนิดใด เช่น หากต้องการทำความสะอาดผ้าขาว ควรเลือกสารฟอกผ้าขาวที่อยู่ในกลุ่ม คลอรีน บลีช (Chlorine Bleach) แต่ถ้าเป็นผ้าสีก็ควรจะเลือกสารฟอกขาวที่อยู่ในกลุ่ม ออกซิเจน บลีช (Oxygen Bleach) เป็นต้น

2. สังเกตเครื่องหมาย อย.

          นอกจากนี้ควรสังเกตตรงฉลากด้วยว่ามีเครื่องหมาย อย. หรือไม่ และในกรอบเครื่องหมาย อย. ที่ว่านี้จะต้องมีตัวเลข วอส. (เลขทะเบียนวัตถุอันตรายทางสาธารณสุข) ที่อยู่ในกรอบเครื่องหมาย อย. กำกับอยู่ด้วยทุกครั้ง เนื่องจากสารฟอกผ้าขาวนั้นจัดว่าเป็นวัตถุอันตรายที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยเฉพาะ

น้ำยาทำความสะอาดที่ไม่ควรใช้กับสารฟอกขาว


1.  แอมโมเนีย


          หลายคนอาจจะคิดว่าน้ำยาทั้ง 2 ชนิดนี้นำมาผสมกันได้ เพราะมีประโยชน์ไว้ใช้ทำความสะอาดเหมือนกัน แต่จริง ๆ แล้วจะเป็นอันตรายมากทีเดียว หากนำน้ำยาซักผ้าขาวกับแอมโมเนียมมาผสมกัน เพราะทำให้เกิดไอระเหยที่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองในหลอดลม และทำให้หายใจติดขัด

2. รับบิ้งแอลกอฮอล์

          เพราะหากนำรับบิ้งแอลกอฮอล์ (Rubbing Alcohol) กับน้ำยาซักผ้าขาวมาผสมกันจะทำให้เกิดคลอโรฟอร์ม (Chloroform) ที่ส่งผลร้ายกับร่างกาย แม้จะมีปริมาณไม่มากก็สามารถทำให้เกิดอาการปวดหัวและคลื่นไส้ได้ หากมีความเข้มข้นสูงก็จะส่งผลร้ายต่อผิวหนัง ตา ปอด ตับ ไต และอันตรายถึงชีวิต

3. น้ำยาล้างห้องน้ำ

          อย่างที่บอกไปตอนต้นคือ การนำน้ำยาล้างห้องน้ำมาใช้กับน้ำยาซักผ้าขาวจะทำให้เกิดก๊าซพิษที่เรียกว่า ก๊าซคลอรีน ก๊าซพิษที่อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนัง รวมถึงระบบทางเดินทางใจ เช่น หลอดลมและปอด หากส่วนผสมมีความเข้มข้นสูงก็อาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน

4. น้ำยาล้างเล็บ

          เนื่องจากในน้ำยาล้างเล็บมีส่วนผสมของ อะซิโตน (Acetone) หากนำไปใช้กับสารฟอกขาวจะทำให้เกิดคลอโรฟอร์ม (Chloroform) หากมีความเข้มข้นสูงจะส่งผลต่อระบบประสาทและอาจทำให้สลบได้ภายในเวลาสั้น ๆ รวมทั้งยังมีฤทธิ์ทำลายเนื้อเยื่อของอวัยวะต่าง ๆ ด้วย

วิธีใช้สารฟอกผ้าขาว


สารฟอกขาว

1. ทดสอบก่อนซัก

          ก่อนใช้ควรทดสอบกับเสื้อผ้าก่อน โดยผสมสารฟอกขาว 2 ช้อนโต๊ะ กับน้ำ 1 ส่วน 4 ถ้วยตวง แล้วจุ่มส่วนของเสื้อผ้าที่จะซักลงไปเล็กน้อย ทิ้งไว้ประมาณ 1 นาที หากเนื้อผ้าหรือสีไม่เปลี่ยนก็นำไปซักตามปกติได้

2. ไม่ซักรวมกับเสื้อผ้าปกติ

          คัดผ้าขาวแยกไว้อีกกอง จากนั้นผสมสารฟอกผ้าขาวกับน้ำเปล่าในปริมาณที่ฉลากกำกับไว้ แช่ผ้าทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที และไม่ควรเกินเวลาที่กำหนดไว้ เพราะหากแช่นานเกินไปจะทำให้เนื้อผ้าถูกทำลาย เมื่อครบตามเวลาที่กำหนดให้นำผ้าไปล้างออกด้วยน้ำสะอาด และทำการซักตามวิธีปกติอีกครั้ง

3. ผสมผงซักฟอกกำจัดคราบหนัก
         
          หากใช้สารฟอกผ้าขาวซักผ้า แต่ยังมีคราบสกปรกให้เห็นอยู่ ก่อนซักครั้งต่อไปแนะนำให้ผสมสารฟอกผ้าขาวกับผงซักฟอก ก็จะช่วยกำจัดคราบเก่าที่ยังเหลืออยู่ให้หมดจดอย่างง่ายดาย

4. ไม่ควรซักคราบเปื้อนเฉพาะจุด


          แม้ว่าเสื้อผ้าของคุณจะเปื้อนคราบเพียงบางจุด และไม่ว่าจุดนั้นจะเล็กหรือใหญ่ขนาดไหน ก็ห้ามนำสารฟอกขาวซักตรงจุดคราบเปื้อนนั้นโดยตรงเด็ดขาด มิเช่นนั้นเสื้อผ้าจะเป็นรอยด่างได้ ทั้งนี้ หากต้องการกำจัดคราบเฉพาะจุด ควรใช้ Stain Removal ป้ายบนจุดที่มีคราบแล้วทิ้งไว้ก่อนนำไปซักตามปกติจะดีกว่า

          ถ้าอยากให้ผ้าขาวกลับมาขาวสดใส ไร้คราบสกปรก สวมใส่ได้อย่างมั่นใจ ก็อย่าลืมนำเคล็ดลับที่เราเอามาฝากกันในวันนี้ไปใช้พิจารณาก่อนเลือกซื้อสารฟอกผ้าขาวมาใช้กัน และหลีกเลี่ยงการใช้สารฟอกขาวกับน้ำยาทำความสะอาดข้างต้นด้วยนะคะ เพื่อความปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายกับร่างกาย

ขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลพิษวิทยา, pharm.su, fantasticcleaners, readersdigest และ hunker
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
4 น้ำยาทำความสะอาด ที่ไม่ควรใช้กับสารฟอกขาว เลี่ยงไว้ก่อนเกิดอันตราย อัปเดตล่าสุด 14 มิถุนายน 2564 เวลา 23:01:34 110,333 อ่าน
TOP