x close

10 เรื่องของ ตึกมหานคร ที่รู้แล้วจะอยากรีบไปเช็กอิน



          ตึกมหานคร ตึกที่สูงที่สุดในไทย กับความเริดหรูที่คุณอาจยังไม่เคยรู้ ถ้าอยากรู้ว่า ตึกมหานครราคาเท่าไร อยู่ที่ไหน มีกี่ชั้น และตึกมหานครแห่งนี้เป็นของใคร ใครเป็นคนสร้าง เราหาคำตอบมาให้แล้วค่ะ
 
          ตึกมหานคร (MahaNakhon) ตึกที่สูงที่สุดในไทย กลายเป็นทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ หลังงานเปิดตัวสุดยิ่งใหญ่ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2559 ซึ่งเชื่อว่าหลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า ตึกมหานคร ตึกที่สูงที่สุดในไทยแห่งนี้ มีความพิเศษอีกหลายอย่างมากกว่าเป็นแค่ตึกรูปทรงแปลก ๆ ที่รู้แล้วจะอยากไปขอเช็กอินสักครั้งแน่นอน 



1. ตึกมหานคร ออกแบบโดยสถาปนิกระดับโลก

        ตึกมหานคร แลนด์มาร์กแห่งใหม่ใจกลางกรุง ออกแบบโดย โอเล เชียเรน สถาปนิกชาวเยอรมัน ที่ออกแบบตึกสูงสวย ๆ มาแล้วทั่วโลก หนึ่งในนั้นก็คือ The Interlace คอนโดแนวตั้ง ในประเทศสิงคโปร์ ที่สามารถคว้ารางวัลสถาปัตยกรรมยอดเยี่ยม ประจำปี 2015 จากเทศกาลสถาปัตยกรรมโลก มาครองได้สำเร็จ

2. ตึกมหานคร สร้างโดยบริษัทอสังหาฯ ชั้นนำ

        ตึกมหานคร เป็นของ เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาธุรกิจอสังหาฯ เจ้าของโครงการนิมิต หลังสวน และมหาสมุทร 2 โครงการที่พักตากอากาศหรูในไทย ร่วมมือกับ บริษัท อินดัสเทรียล บิลดิ้งส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ไอบีซี) บริษัทอสังหาฯ ชั้นนำระดับโลก สัญชาติอิสราเอล ผู้ออกแบบ Tel Aviv Towers และ One Plaza Shopping Center  พัฒนาโครงการมหานครนี้ขึ้นมา ด้วยเงินลงทุนทั้งสิ้น 2.2 หมื่นล้านบาท 

3. ตึกมหานคร ตึกที่สูงที่สุดในไทย

        ตึกมหานคร เบียดแซงหน้าตึกใบหยก 2 ความสูง 304 เมตร กลายเป็นตึกที่สูงที่สุดในไทย ด้วยความสูงถึง 314 เมตร 77 ชั้น ซึ่งได้รับการรับรองโดยสภาตึกสูงโลก (Council on Tall Building and Urban Habitats; CTBUH) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
 


4. ตึกมหานคร มีจุดชมวิวเมืองกรุง 360 องศา
 
        เมื่อความสูงของตึกมหานครมาแรงแซงหน้าตึกอื่น ๆ ขนาดนี้ แน่นอนว่าไฮไลท์เด็ดที่ชวนให้ไปเยือนตึกมหานครสักครั้งในชีวิตก็คือ MahaNakhon Observation Deck จุดชมวิวพื้นกระจกใสที่ยื่นออกมาจากตัวตึกและสามารถมองไปรอบ ๆ ได้ 360 องศา เลยทีเดียว

5. รูฟท็อป บาร์ ตึกมหานคร 

        ถ้าอยากดื่มด่ำในบรรยากาศสุดโรแมนติกบนที่สูงแล้วละก็ ขอให้นึกถึงรูฟท็อปบาร์เป็นอันดับต้น ๆ และแน่นอนค่ะว่า รูฟท็อปบาร์ ที่ตึกมหานครแห่งนี้ต้องพิเศษกว่าที่อื่น ด้วยความสูงที่เป็นที่สุด ซึ่งจะตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับจุดชมวิว MahaNakhon Observation Deck นั่นเอง 



6. คอนโดระดับซูเปอร์ลักซ์ซูรี่

        คอนโด เดอะ ริทซ์-คาร์ลตัน เรสซิเดนเซส (The Ritz-Carlton Residences) อยู่ระหว่างชั้น 23-73 มีจำนวนทั้งหมด 200 เรสซิเดนซ์ ขนาดพื้นที่ใช้สอย 125-844 ตารางเมตร มี 2-5 ห้องนอน ราคาเฉลี่ยตารางเมตรละ 350,000 บาท 

7. โรงแรมระดับไฮเอนด์ ในตึกมหานคร 

        ภายในตึกมหานครแห่งนี้ยังมีโรงแรมระดับไฮเอนด์ ภายใต้ชื่อ เดอะ ริทซ์-คาร์ลตัน บูติคโฮเทล แบรนด์ บางกอกเอดิชั่น บริหารงานโดย เดอะ ริทซ์-คาร์ลตัน ที่จัดเตรียมห้องพักสุดอลังการไว้ถึง 159 ห้อง มาพร้อมกับพื้นที่ไลฟ์สไตล์รีเทล ที่มากไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน  



8. มหานคร คิวบ์ ตึกมหานคร 


        ส่วนนี้เป็นอีกหนึ่งพื้นที่หลักของตึกมหานคร ซึ่งแยกตัวออกมาจากที่พักอาศัย หรือเรียกเต็ม ๆ ว่า ไลฟ์สไตล์ แอนด์ รีเทล เซ็นเตอร์ 7 ชั้น ภายในประกอบไปด้วยร้านอาหารชั้นนำระดับพรีเมียม มาตรฐานมิชลินสตาร์ ได้แก่ Dean & DeLuca, M Krub, Morimoto Bangkok, L\'Atelier de Joël Robuchon และ VOGUE Lounge

9. มหานคร สแควร์

        ขึ้นแท่นเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพมหานครทั้งที มันก็ต้องมีพื้นที่สำหรับการจัดกิจกรรมสุดโอ่โถงด้วย ในชื่อ มหานคร สแควร์ พื้นที่สาธารณะ ซึ่งเป็นตึกเล็ก ๆ ขนาดพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร ออกแบบมาเพื่อใช้เป็นสถานที่จัดงานนิทรรศการ คอนเสิร์ต และกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งยังเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม สถานีช่องนนทรี ด้วย



10. ที่จอดรถอัตโนมัติ และที่จอดจักรยาน ของตึกมหานคร 

        หากจะเดินทางมา ตึกมหานคร ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องที่จอดรถ เพราะที่นี่มีเทคโนโลยีอาคารจอดรถอัตโนมัติ จากประเทศเกาหลี อำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้รถไม่ต้องวนหาที่จอดอีกต่อไป สามารถรองรับได้ถึง 485 คัน สำหรับใครที่ปั่นจักรยานมา ก็มีที่จอดจักรยานอยู่ด้านหน้ามหานคร คิวบ์ ไว้คอยให้บริการ 

        เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับความเป็นที่สุดภายในตึกมหานครแลนด์มาร์กใหม่ใจกลางเมืองแห่งนี้ หลายคนคงอยากไปเยือนกันแล้วใช่ไหมคะ เอาเป็นว่าไปเยือนในส่วนที่เปิดให้บริการกันไปแล้วก่อนนะคะ และส่วนที่ยังไม่เปิดให้บริการ ก็ต้องอดใจรอกันอีกสักหน่อย เมื่อถึงเวลารับรองว่าสมใจแน่นอนค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก fishman, mivnegroup, Bdicode, เฟซบุ๊ก MahaNakhonPacedev,  Skyscrapercity และ buro-os


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
10 เรื่องของ ตึกมหานคร ที่รู้แล้วจะอยากรีบไปเช็กอิน อัปเดตล่าสุด 1 กันยายน 2559 เวลา 18:36:55 97,170 อ่าน
TOP