x close

สร้างบ้านโรงนาสองชั้นสไตล์โมเดิร์น 4 ห้องนอน 4 ห้องน้ำ เปลี่ยนความหลงใหลให้มีชีวิต

          รีวิววสร้างบ้านโรงนา บ้านสองชั้นสไตล์โมเดิร์น 4 ห้องนอน 4 ห้องน้ำ พร้อมสตูดิโอทำงานและสระว่ายน้ำ ของของสาวอินทีเรียที่หลงใหลบ้านสไตล์โรงนาและเปลี่ยนให้มีชีวิต
 
บ้านโรงนา

          เชื่อแน่ว่าคนส่วนใหญ่พอทำงานเก็บเงินสักก้อนก็อยากมี "บ้าน" เป็นของตัวเอง และถ้าหากว่าบ้านหลังนั้นสร้างขึ้นมาจากความฝันของตัวเองด้วยแล้วละก็น่าภูมิใจสุด ๆ เช่น คุณ สมาชิกหมายเลข 5225446 สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ที่พอทำงานถึงจุดหนึ่งก็กลับบ้านเกิดที่เชียงใหม่ไปสร้างบ้านโรงนาตามความฝันของตัวเอง พร้อมห้องทำงานเล็ก ๆ มีบ่อปลาคาร์พ พร้อมมีสระว่ายน้ำเอาไว้ออกกำลังกาย ซึ่งระหว่างทางก็มีอุปสรรคบ้าง ติดขัดโน่นนั่นนี่บ้าง แต่เพราะความหลงใหลและความพยายามจนเกิดบ้านหลังนี้ขึ้นมาในที่สุด

"บ้านโรงนา" ปฏิบัติการล่า Passion "เปลี่ยนความหลงใหล...ให้มีชีวิต ! 

          สวัสดีค่ะ นี่เป็นรีวิวแรก กับ บ้านหลังแรกของเราเอง อาจมีติดขัดไปบ้าง ต้องขออภัยไว้ด้วยนะคะ ขอพื้นที่เล็ก ๆ แชร์ไอเดียตั้งแต่มโนภาพในใจ Step by Step จนค่อย ๆ ลืมตาดูโลกสำหรับคนมีฝัน... ให้เรื่องบ้านเป็นเรื่องเบาค่ะ

          เริ่มจากเราเป็นเด็กต่างจังหวัดมาวาดฝันใน กทม. (ตามสเต็ป) มีอาชีพ Interior Designer เรื่องออกแบบเป็นงานที่รัก ส่วนเรื่องมโนนั้นฝังอยู่ในเส้นเลือดสายเลือดอยู่แล้วค่ะ เพราะทำอยู่ทุกวันจริง ๆ พอเรียนจบก็เริ่มค้นหาตัวเอง จ๊อบส์ดีบีเลยจ้า ทรานสคริปต์กับปริญญาบัตร ก็ชี้ชัดอยู่แล้วว่าต้องไปลงเอยที่ไหน ตุเลง ๆ ไปอยู่ในบริษัทสถาปนิก

          การทำงานก็เหมือนไฟต์บังคับ ต้องทำเพื่อหาเงินมาเลี้ยงชีพ ช่วงแรกเรายังสับสนระหว่าง "สิ่งที่รัก" กับ "สิ่งที่ต้องทำ" อะนะ ! ถ้าไม่ใช่ก็เตรียมตัวถอยในวันที่ยังไม่สาย หรือถ้าใช่ก็เดินหน้าลุยต่อไป... จากวัน ผ่านเดือน เลื่อนไปเป็นปี ผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านร้าย ผ่านดี และเราก็ได้รู้จักกับ คุณสมบัติของ Passion อย่างเต็มเปี่ยม

          ถึงจุดหนึ่งเกิดความฝัน "อยากมีออฟฟิศของตัวเอง" โดยมีเจ้า Passion เป็นตัวขับเคลื่อน เชื่อเถอะค่ะ ไม่ว่าความฝันจะเว่อร์วังเพียงใด ความรักและความหลงใหลจะส่งพลังงานด้านบวก สร้างแรงผลักดันให้ทุกอย่างเป็นเรื่องง่ายได้อย่างไม่น่าเชื่อ ! เราเตรียมความพร้อมอยู่หลายปี

          ศึกษาตลาดจนมั่นใจว่าความเสี่ยงอยู่ในระดับพอรับได้ วางเป้าหมายชัดเจน และออกมารับงานด้วยตัวเอง มี Studio ออกแบบเล็ก ๆ ใน กทม. ใช้ชีวิตทำงานเหนื่อยแบบสุด ๆ แต่ขณะเดียวกันก็มีความสุขแบบสุด ๆ เช่นกันค่ะ

          พอถึงวัยอันควรความ "อยาก" ที่สองก็เกิดขึ้น "อยากกลับบ้านเกิดที่เชียงใหม่เจ้า" สเต็ปเดิมจ้า ต้องตามหา Passion ของตัวเองให้เจอ เป็นสิ่งแรกที่ควรทำก่อนจะต้องตัดสินใจ แล้วมาต่อยอดให้เกิดผลลัพธ์เป็นชิ้นเป็นอัน ใส่ความตั้งใจและพยายามเข้าไปหน่อย สิ่งที่รักก็กลมกลืนเป็นเรื่องเดียวกับสิ่งที่ต้องทำ มันจะทำให้เรามองเห็นทุกอย่างเป็นโอกาส  มีความเบิกบาน และตอบแทนกลับมาเป็นความสุขเมื่อเราสามารถทำสิ่งนั้นได้สำเร็จ... อย่างเช่นบ้านในฝันของเราหลังนี้เลยค่ะ

บ้านโรงนา

          แรงบันดาลใจในการสร้างบ้านในฝันของแต่ละคนล้วนแตกต่างกันไปตามความชอบ รสนิยม และประสบการณ์ที่เก็บเกี่ยวเอาไว้ ส่วนตัวก็มโนเบา ๆ ว่าอยากมีบ้านสไตล์โรงนาอยู่ในทุ่งกว้าง เงียบสงบ เป็นธรรมชาติ เหมือนชนบทของเมืองหนาว 

          นึกภาพหนังฝรั่งตอนมีฉากขับรถไปตามทุ่งหญ้ากว้าง ๆ เจอบ้านแบบโรงนาหลังคาทรงสูงอารมณ์เรียบง่ายและอบอุ่น... เคลิ้ม ทางเข้าอาจจะดูลำบากหน่อย ฟีลลิ่งเหมือนเวลาหลงป่า แต่พอผู้มาเยือนถึงสถานที่นี้แล้วว้าว ! 

          จึงเกิดปฏิบัติการล่า Passion และเป็นจุดเริ่มต้นของเรานะคะ จากพื้นที่รกร้างของครอบครัวใน อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ใกล้บ้านคุณพ่อ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ดอยสะเก็ดค่ะ

บ้านโรงนา

          - จากถนนหลักถึงคลองชลประทาน ข้ามสะพานคอนกรีตเข้ามา อู้หู ! เกินคอนเซ็ปต์  เจอถนนลูกรัง และถิ่นลำเนาเขาไพร ฟีลลิ่งถ้าผู้มาเยือนไม่มาพร้อมเจ้าของบ้านอาจจะเลี้ยวกลับ

บ้านโรงนา

          - มองไปฝั่งตรงข้ามต้นไม้สีเขียว บ่อน้ำธรรมชาติเพียว ๆ เอ่อคือ คงไม่ต้องถึงกับดีที่สุด แต่ก็มีความลงตัวในการอยู่อาศัย ก็คนมันอยากมีบ้านแล้วนี่
บ้านโรงนา

          - ไม่ต้องตกใจ ! ไม่ได้ลงรูปผิดค่ะ ป่ารกร้างตรงนี้คือที่ดินของเราเองค่ะ เดินเข้ามาดูใกล้ ๆ ต้นสบู่ดำสูงพ้นหัว “จะไหวไหม” ถามใจดู ? สตั๊นต์ไป 3 วินาที บอกตัวเอง เอาน่า... ได้อยู่

          เตรียมเงินพอประมาณสำหรับบ้าน แต่ดูแล้วค่าใช้จ่ายเรื่องเคลียร์ที่ ก็ไม่น้อยหน้าเหมือนกันค่ะ กลับมานั่งทบทวน หรือจะเก็บเงินก่อนแล้วค่อยทำ 

          แต่เอ๊ะ ! ถึงตอนนั้นค่าวัสดุ ค่าจ้างสร้างบ้านจะราคาสูงขึ้นกว่าปัจจุบันไม่รู้เท่าไร จะว่าไปอาชีพอย่างเรา นอกจากความสามารถในการออกแบบแล้ว เราจะเข้าใจรายละเอียดวัสดุเป็นอย่างดี รู้แหล่งวัสดุที่แปลกใหม่หายาก ในราคาที่สมเหตุสมผลเพื่อมาประยุกต์ใช้ ทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเหล่านี้ เราก็ทำให้บ้านออกมาตอบโจทย์ตามความต้องการและอยู่ในงบประมาณได้นี่

          ในความสับสนนั้น เราเลยไปปรึกษา "คุณหมอ" เห็นหน้าปุ๊บ คุณหมอทัก "เป็นจังหวะที่ดีในการขยับขยาย  มีเกณฑ์จะได้จ่ายเงินกับเรื่องที่อยู่อาศัย"
(แม่เจ้า) หนูลาล่ะค่ะ... ลุยต่อสิคะ !

บ้านโรงนา

บ้านโรงนา

          - กายพร้อมใจพร้อม สำรวจที่ดินให้ละเอียด หน้ากว้างกี่เมตร ลึกกี่เมตร ทิศไหนอยู่ด้านใดบ้าง เพื่อที่จะให้เราได้วางผังบ้านได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศ ทิศทางลมและแสงแดด

บ้านโรงนา

          - พื้นที่ดินตามโฉนด 6 ไร่ค่ะ พอเคลียร์จนโล่ง เจ้าหน้าที่ก็มาสำรวจรังวัด ปรากฏว่าถนนที่ชาวบ้านใช้สัญจรเข้า- ออกทุกวัน อยู่ในเขตที่ดินของเรา เอาแล้วไง ! ปรึกษากันภายในครอบครัว เลยยกให้เป็นถนนสาธารณะไป 98 ตารางวา งานจิตสาธารณะก็มา เพื่อความสงบสุขค่ะ

          เตรียมเรื่องที่ก็มาต่อเรื่องกำหนดสไตล์บ้านกันค่ะ เราชัดเจนในคอนเซ็ปต์ตั้งแต่แรกอยู่แล้วว่าจะเป็น "บ้านสไตล์โรงนาทันสมัยไม่ทิ้งกลิ่นอายของความเป็นชนบท" ซึ่งมีภาพในใจจากสถานที่ที่เราไปแล้วชอบพร้อมหาภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต เพื่อนำมาพัฒนาหาความเป็นเอกลักษณ์ของตนเองให้เจอ ตอบโจทย์ความเป็นตัวเรามากที่สุด เพราะเราต้องอยู่กับมันไปอีกนานแสนนาน (ขอบคุณภาพจาก Pinterest)


บ้านโรงนา
          - ขั้นตอนต่อไป การวางผังบ้าน หยิบปากกา + กระดาษ A4 เขียนความต้องการลงไปค่ะ แปลนบ้านคือการวิเคราะห์ความต้องการ จากกิจวัตรประจำวัน ตื่นมาทำอะไร กลับมาทำอะไร ชอบอยู่ส่วนไหนของบ้าน กิจกรรมพิเศษที่ทำร่วมกันของคนในบ้าน ฯลฯ เพื่อให้บ้านตอบสนองความต้องการของเรา ไม่ใช่เราต้องไปปรับตัวเข้ากับบ้านนะคะ

บ้านโรงนา
          
          - เราตั้งใจทำเป็นที่อยู่อาศัย พร้อมสตูดิโอทำงานในบรรยากาศ Cozy ด้วยบรรยากาศโปร่งโล่ง ใกล้ชิดธรรมชาติในทุกมุมมอง สนามหญ้าโล่งกว้างใช้สังสรรค์ไปกับ Community ในอุดมคติ สร้างกรอบความสุขในสังคมเล็ก ๆ ของเราเองค่ะ

บ้านโรงนา

          - แปลนลงตัวก็มา ออกแบบตัวบ้าน การดีไซน์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเครื่องมือ หรือแบบที่ดีเท่านั้นเหนือค่ากว่านั้นคือ การมีใจและกายที่พร้อมจะดีไซน์สิ่งที่อยู่ในหัวออกมาเป็นรูปธรรม แล้วต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้สัมผัสและรับรู้ความหมาย มากกว่า "จินตนาการ"

บ้านโรงนา

          - นั่งออกแบบ หมุนไปหมุนมา การดีไซน์ในพื้นที่จริงช่วยให้ภาพที่คิดไว้ในหัวพัฒนาไปได้ไกลเกินกว่ากรอบของจินตนาการ ปรับมาประมาณ 4 รอบ สวยจัดเต็ม> สวยปานกลาง> สวยตามงบประมาณ> อุ๊ย ๆ สรุป สวยแบบมีกิมมิคค่ะ เงินซื้อเทสไม่ได้นะจ๊ะ ก้าวออกมาสร้างแรงบันดาลใจในแบบชีวิตอัลเตอร์ (Alternative) ที่เราดีไซน์เองในสไตล์โรงนา (Barn) ด้วยกันนะคะ 

          ดีไซน์นิ่งแล้วก็มาเขียนแบบก่อสร้าง ใช้เวลาประมาณ  1 เดือนก็เสร็จสมบูรณ์ค่ะ พร้อมเอาไปยื่นขออนุญาตก่อสร้าง ระหว่างยื่นขออนุญาตก็หา ผู้รับเหมาคู่ใจค่ะ เป็นขั้นตอนที่สำคัญและยิ่งใหญ่ไม่แพ้การเลือกคู่ชีวิตจริง ๆ ค่ะ เพราะต้องร่วมทุกข์ร่วมสุขกันจนถึงวันสุดท้ายจริง ๆ ไม่นานแบบก่อสร้างก็อนุมัติ ขอน้ำ ขอไฟชั่วคราว พอขอสาธารณูปโภคเสร็จสรรพก็ทำการเตรียมพื้นที่

บ้านโรงนา

          - ที่ดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า พื้นที่ลาดเอียงไปทางตะวันตก เราไม่ถมที่ เลือกที่จะก่อสร้างบ้านบนที่ดินลาดเอียงนั้น โดยก่อขึ้นมา 1.20 เมตร แล้วค่อยทำพื้นชั้นล่างค่ะ และไม่ละเลยความสำคัญเกี่ยวกับการบูชาเซ่นสรวงผู้ที่เป็นเจ้าที่ดินเสียก่อน แล้วจึงทำพิธีขุดหลุมเสา เรือนตามคติความเชื่อ ก่อนลงมือสร้างบ้านกันในลำดับต่อไปค่ะ

บ้านโรงนา

          - เริ่มด้วยงานตีผังบ้าน โดยจะวางผังล้อมกรอบตัวบ้านเพื่อกำหนดแนวเสา แล้วทำการตรวจสอบระยะบ้าน, ระยะห่างของเสาแต่ละแนว, ระยะร่นของบ้านและขอบเขตของที่ดินให้ถูกต้องตามแบบ          

 
บ้านโรงนา

          - ทดสอบการรับน้ำหนักดินแล้ว เป็นดินเหนียวแข็ง ใช้ฐานรากแผ่ค่ะ ขึ้นอยู่กับวิศวกรเขาออกแบบมายังไงด้วยนะคะ

บ้านโรงนา

          - จากนั้นเริ่มขึ้นโครงสร้างชั้นล่าง เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ทำคานคอดิน ส่วนตัวบ้านจะวางแผ่นพื้นสำเร็จ ตรงไหนที่เป็นห้องน้ำก็จะทำพื้นหล่อในที่ไปเลยค่ะ

บ้านโรงนา

          - ใช้เวลาในการบ่มคอนกรีต และถอดแบบค้ำยันไว้ระยะหนึ่ง เพื่อให้โครงสร้างแข็งแรง พร้อมรับน้ำหนักโครงสร้างอื่น ๆ ต่อไป

บ้านโรงนา

          - ระหว่างนี้จะขุดดินเพื่อวางระบบสุขาภิบาล บ่อพัก Manhole ระบบท่อน้ำทิ้ง ท่อประปา น้ำยากันปลวก เราควรถ่ายรูปและโน้ตตำแหน่ง, ระยะงานระบบไว้ เผื่อมีการซ่อมแซมในอนาคตค่ะ

บ้านโรงนา

          - พอขึ้นโครงสร้างชั้น 2 บวกกับอากาศหน้าร้อนของบ้านเรา เห็นใจช่างมาก คุณพี่เขาต้องขึ้นไปรับแสงที่ระดับความสูงเกือบสิบเมตร ทำงานร่วมกับรถกระเช้า ทุลักทุเลมาก ๆ ค่ะ

บ้านโรงนา

          - เช่นเดียวกับโครงสร้างชั้นล่าง ทั้งเสา พื้น คาน คานหลังคา โครงสร้างแต่ละส่วนใช้ระยะเวลาพอสมควรเลยค่ะ เพราะต้องให้ระยะเวลาบ่มคอนกรีตเช่นเดียวกัน

บ้านโรงนา

          - รวบรัดตัดตอน มาดูภาพรวมของงานโครงสร้างหลักที่เสร็จเรียบร้อย ทั้ง 2 ชั้น งานจับผิดก็มา 

บ้านโรงนา

          - บันไดคอนกรีตเสริมเหล็กแบบท้องเรียบ อ้าว ! เท่าที่จำได้ ดีไซน์ใต้บันไดเป็นบ่อปลาคาร์พ ทำไมช่างปิดทึบไปแล้วล่ะคะ

บ้านโรงนา

          - งานระบบประปาและสุขาภิบาล ทั้งถังเก็บน้ำใต้ดิน ท่อน้ำทิ้ง และถังบำบัดจะถูกติดตั้งในช่วงนี้โดยสมบูรณ์เพื่อเตรียมการเดินท่อเข้าภายในบ้านค่ะ

บ้านโรงนา

          - คานหลังคาชั้นบน อ้าว ! เท่าที่จำได้ ดีไซน์ฝ้าเพดานเป็นโถงสูงแบบดับเบิลสเปซ ไม่ต้องการโชว์คาน ทำไมช่างวางคานไปแล้วล่ะคะ ไม่เป็นไรค่ะ ทุกปัญหาแก้ไขได้ มาต่อกันเลยนะคะ

บ้านโรงนา

          - เข้าสู่ขั้นตอนการก่อผนังอิฐ เราใช้อิฐมอญแดงก่อผนังสองชั้นทั้งบ้าน คือเพื่อกันความร้อนเพราะสไตล์บ้านไม่มีเชิงชาย กับเพื่อลบเหลี่ยมมุมเสา ง่ายต่อการวางเฟอร์นิเจอร์ด้วยค่ะ

บ้านโรงนา

          - สิ่งสำคัญคือการหล่อเสาเอ็น คานเอ็น ทับหลังตามผนังผืนใหญ่ ๆ และตามวงกบประตูหน้าต่าง ช่วงนี้ก็ให้พี่ช่างทำการตั้งวงกบประตูไปพร้อม ๆ กัน

บ้านโรงนา

          - ช่วงนี้ก็ทำงานเดินงานระบบฝังผนังไปเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นงานไฟ แอร์ หรือท่อน้ำต่าง ๆ ตำแหน่งปลั๊กที่ระบุในแบบ

บ้านโรงนา

          - มีงานแทรกเข้ามา ต้องเรียกหารถกระเช้ากันอีกรอบค่ะ เพื่อตัดคานหลังคาที่ไม่ต้องการออกไป

บ้านโรงนา

          - ตอนก่อว่ายากแล้ว ตอนเอาออก ยากยิ่งกว่า เป็นงานที่ต้องประณีตเพื่อไม่ให้กระทบกับโครงสร้างหลักเลยทีเดียว สู้ ๆ ค่ะทุกคน

บ้านโรงนา

          - ช่วงนี้พี่ผูกขาดรถกระเช้าเลยค่ะ งานโครงสร้างหลังคาเหล็ก (Truss Roof) ใช้เหล็กชุบสีกันสนิมสำเร็จเลย มาสานเชื่อมกันเพื่อให้โครงหลังคาสามารถรับน้ำหนักได้มากขึ้น

บ้านโรงนา

          - พาดระหว่างช่วงเสา 2 ต้น พื้นที่ใช้งานกว้าง ๆ เพราะเราต้องการโชว์ดับเบิลสเปซภายในค่ะ

บ้านโรงนา

          - วิศวกรคำนวณ 5 ชุดเพียงพอค่ะ มีช่วงวางพาดได้กว้าง สามารถรับน้ำหนักได้มาก จึงช่วยประหยัดพอสมควรค่ะ

บ้านโรงนา

บ้านโรงนา

          - ภาพรวมโครงสร้างหลังคาเสร็จเรียบร้อย ดูจากด้านหน้าจั่วเริ่มเห็นภาพ บาร์นเฮ้าส์มาแล้วค่ะ แล้วก็จะตั้งนั่งร้านไม้ไผ่รอบบ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับพี่ช่าง ที่จะเริ่มติดตั้งวัสดุมุงหลังคาในวันพรุ่งนี้ มีความปลื้มปริ่ม

บ้านโรงนา

          - วัสดุมุงหลังคา ขอเป็นตัวนี้เลยค่ะ (Seamless Roof) เวลาติดตั้งแล้วจะเชื่อมเป็นแผ่นเดียวกันทั้งแผง ต้านแรงลมพายุได้ดี ด้วยรูปแบบสันลอนแบบปิดสนิทจึงทำให้นกไม่สามารถเข้ามาทำรังใต้หลังคาได้ด้วยค่ะ

บ้านโรงนา

          - ใช้คลิปล็อกในการติดตั้ง ลดการใช้ตะปู จึงหมดปัญหาจากการติดตั้งวิธีเดิม (เจาะสกรูไม่ตรงกับโครงเหล็ก) สันลอนสูง 4.5 เซนติเมตร หมดปัญหาน้ำเข้ารอยต่อระหว่างแผ่น และน้ำรั่วซึมจากสกรูจับยึดไปมากค่ะ

บ้านโรงนา

          - เห็นแล้ว ชื่นใจแม่ "The Black Barn" เริ่มจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้วค่ะ

บ้านโรงนา

          - หันมองอีกด้าน ดูบริบทโดยรอบ อุปส์ !! (มองบนแป๊บ) ค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป วางไว้ตรงนั้นก่อนค่ะ         

บ้านโรงนา

           - ช่างเหล็กก็เร่งทางหลังคา ส่วนช่างปูนก็ต่อเนื่องงานก่อฉาบผนังค่ะ ต้องจับปุ่ม จับเซี้ยมตามขอบหน้าต่างก่อน เพื่อทราบระยะฉาบ

บ้านโรงนา

          - อีกอย่างคือขึงลวดกรงไก่ตามรอยต่อปูน รอยกรีดผนัง และวงกบประตูหน้าต่าง เพื่อฉาบผนังให้เรียบสม่ำเสมอ

บ้านโรงนา

          - งานแทรกต่อมาก็คือ ทำบ่อปลาคาร์พใต้บันได ที่พี่ช่างเผลอเทพื้นปิดไปก่อนหน้านี้ค่ะ

บ้านโรงนา

          - มาถึงงานฝ้าเพดาน ใจจริงชอบแบบเปลือยท้องคาน (ภาพตัวอย่างจากอินเทอร์เน็ต) ข้อดีคือทำให้เพดานดูสูงโปร่งมากขึ้น และดูแลรักษางานระบบได้ง่าย แต่ก็นะไม่อยากโชว์แนวท่อร้อยสายไฟมันจะดูลอฟท์เกินไป

บ้านโรงนา

          - ดังนั้นเราเลยติดตั้งโครงฝ้าชั้น 1 ตามท้องพื้นและท้องคาน เว้นระยะสำหรับฝากท่อร้อยสายไฟประมาณ 10 เซนติเมตร ช่างไฟก็ทำการเดินไฟต่อ ร้อยท่อไปตามจุดต่าง ๆ และปิดด้วยแผ่นยิปซัม ในขั้นตอนนี้จะมีการทำช่องเซอร์วิสไปพร้อมกัน

บ้านโรงนา

          - จะทำให้ภาพรวมออกมาฟีลลิ่งโชว์ท้องคานได้ดั่งใจ (ภาพตัวอย่างจากอินเทอร์เน็ต) และไม่เห็นงานระบบเหนือฝ้าเพดานอีกด้วยค่ะ

บ้านโรงนา

          - ฝ้าเพดาน ชั้น 2 ปิดแผ่นยิปซัม ใช้แผ่นสะท้อนความร้อนที่ผิวเป็นฟอยล์ ใส่ระหว่างหลังคากับแป เพื่อช่วยลดการสะสมความร้อนใต้หลังคา ทำให้รังสีความร้อนแผ่ลงมาในบ้านได้น้อยลงค่ะ

บ้านโรงนา

          - ต่อจากฝ้าลงมาเป็นผนังเบา จะต้องฉาบเก็บรอยต่อระหว่างแผ่นผนังให้เรียบเนียน เตรียมพร้อมก่อนขั้นตอนการปิดผิว

บ้านโรงนา

          - ฝ้าเพดานภายนอก แผ่นยิปซัมป้องกันความชื้น ตัดแต่งและประกอบเข้ากับโครงหลังคา ใช้แผ่นสะท้อนความร้อนที่ผิวเป็นฟอยล์ใส่ระหว่างหลังคากับแปเช่นกันค่ะ

บ้านโรงนา

          - มาถึงงานผิวผนังภายนอก ตามคอนเซ็ปต์เลยจ้า "คงคาแรกเตอร์โรงนาแบบเดิมผสานกับความโมเดิร์น" บวกกับสไตล์บ้านไม่มีชายคา เราจึงติดฉนวนกันความร้อน และปิดด้วยวัสดุเดียวกันล้อลงมา ช่วยกันความร้อนที่ผนัง และมีคาแรกเตอร์ให้บ้านด้วยค่ะ

บ้านโรงนา

          - พูดเหมือนง่าย แต่ตอนทำไม่ง่ายเลย อยากจะขอจดทะเบียนหย่ากับผู้รับเหมาอยู่หลายรอบค่ะ เพลียมาก ณ จุดนี้ เป็นขั้นตอนที่ต้องอาศัยความชำนาญของช่างเพื่องานที่ละเอียดเรียบร้อย ผนังต้องได้ดิ่ง-ฉากทุกพื้นที่ค่ะ

บ้านโรงนา

          - โชว์ความพอเหมาะพอดีของเส้นหลังคากับผนังอย่างต่อเนื่องกัน

บ้านโรงนา

          - ต่อมาเก็บดีเทล หลังคากระจก ถักโครงเหล็กทาสีกันสนิม ทำขอบล้อลงมาตามแนวครีบผนังห้องนอน จบพอดีกับพื้นระเบียงให้เป็นกรอบเดียวกัน

บ้านโรงนา

          - ปิดผิวและทำสีทับด้วย SKK ผลิตภัณฑ์สีพ่นทราย เทียบสีใกล้เคียงผนังและหลังคา เพิ่มลูกเล่นให้บ้านดูไม่เรียบเกินไป

บ้านโรงนา

บ้านโรงนา

          - ส่วนผิวผนังที่ทาสี ใช้ปูนฉาบผิวบาง SKIM COAT สำหรับงานฉาบบาง ทำให้ผิวเรียบเนียนเป็นพิเศษ ปกปิดผนังปูนฉาบที่มีเม็ดทราย รอยแตกลายงา และผิวฉาบที่ไม่สม่ำเสมอค่ะ

บ้านโรงนา

- ส่วน facade หน้าบ้าน เราใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับฉาบแต่งผิวผนัง Lanko ทับด้วยน้ำยาทากันตะไคร่น้ำ

บ้านโรงนา

บ้านโรงนา

          - ภาพรวมในบ้าน หลังจากสกิมโคทให้ผนังเรียบแล้ว ควรทิ้งให้แห้งสนิท แล้วค่อยทาสีรองพื้นปูนใหม่ ยี่ห้อเดียวกับสีจริงค่ะ

บ้านโรงนา

- ผิวพื้นชั้นบนจะปูไม้สักค่ะ ติดโครงเคร่าไม้พื้น หลังวางตงแล้วให้เทปูนจนเสมอระดับตง ปรับระดับรอไว้

บ้านโรงนา

          - ผิวพื้น และผนังห้องน้ำ เลือกกระเบื้องสีเข้มอย่างโทนสีเทา ง่ายต่อการทำความสะอาด อีกทั้งโทนสีเข้ม ๆ อย่างขาว-ดำ ยังช่วยขับสุขภัณฑ์สีขาวสว่างให้ดูโดดเด่นได้ดีด้วย แถมให้อารมณ์หรู ทว่าผ่อนคลาย เป็นตัวแทนของความคลาสสิกจากอดีตและความทันสมัยในปัจจุบัน อันนี้เป็นความชอบส่วนตัวนะคะ

บ้านโรงนา

          - แพทเทิร์นการปูกระเบื้องพื้น ปูเยื้องกันประมาณ 1 ส่วน 3 ของกระเบื้อง ช่วยเพิ่มลูกเล่นให้กับพื้นบ้าน

บ้านโรงนา

          - โทนสีเทากลาง ดูเรียบง่าย ทันสมัย สงบ สามารถตกแต่งเข้ากับเฟอร์นิเจอร์ ได้ทุกสไตล์ และยังช่วยเรื่องของความคิดสร้างสรรค์อีกด้วยค่ะ

บ้านโรงนา

          - ทรายล้างสีดำทึบทั้งหมด มีผิวสัมผัสดูเป็นธรรมชาติ แรงบันดาลใจจากสปาจะกลับมาอีกครั้ง

บ้านโรงนา

          - ใช้กับพื้นนอกบ้านทั้งหมด มีผิวสัมผัสหยาบ แรงเสียดทานสูงทำให้ไม่ลื่น ทนแดดทนฝน ไม่หลุดร่อนง่าย ทำความสะอาดง่าย และเทรนด์สีดำล้วนดูไฮเอนด์ค่ะ

บ้านโรงนา

          - มาต่อกันที่งานช่องเปิดต่าง ๆ การเลือกวงกบอลูมิเนียม กับบ้านสไตล์นี้ล้วนมีผลค่ะ

บ้านโรงนา

          - เราใช้กรอบอลูมิเนียมสีดำ ส่วนตัวมองว่าเหมาะกับกระจกสีใสไปเลยค่ะ

บ้านโรงนา

          - บานเปิดสูง ๆ ช่องใหญ่ ๆ ใช้ระบบ Multi Point Lock จะทำให้บานล็อกได้แข็งแรง ปลอดภัยและเปิดได้ เบาแรงยิ่งขึ้นนะคะ

บ้านโรงนา

          -  อยากช่องเปิดใต้บันได แต่ว่าการมีความชื้นในอากาศสูง แอร์ก็จะทำงานหนักขึ้น ทำให้เปลืองไฟมากขึ้น เราเลยทำบ่อน้ำให้อยู่นอกบ้าน โดยกั้นผนังกระจกใส แก้ปัญหาความชื้นแต่ยังได้สัมผัสบรรยากาศนั้น

บ้านโรงนา

          - ข้างบันไดใช้ประตูกระจกบานหมุน สามารถนั่งให้ให้อาหารปลา ยังมีกลิ่นอายความสดชื่นจากภายในบ้านได้ด้วยค่ะ

บ้านโรงนา

          - ช่องเปิดสำหรับประตูเข้าบ้าน ชอบอารมณ์ระแนงไม้ตามแบบ (ขอบคุณภาพจาก Pinterest)

บ้านโรงนา

          - เราใช้บานหมุน เพราะบานประตูกว้างถึง 2.00 เมตร วัสดุเป็นระแนงไม้เต็ง ขัดเคลือบผิวด้วยสีย้อม ติดตั้งโช๊กอัพฝังพื้นแบบตั้งค้าง 90 องศา แต่หมุนได้รอบ 360 องศา ให้สะดวกต่อการใช้งานค่ะ

บ้านโรงนา

          - ภาพรวมดู Simply ได้ดั่งใจ แต่เวลาฝนตกจะทำยังไง ? ก็เลยต้องเพิ่มกันสาด กระจกใสเทมเปอร์หนา 10 มิลลิเมตร โดยมีกรอบเฟรมรับทั้งสี่ด้าน

บ้านโรงนา

          - วงกบและช่องแสงติดตาย ส่วนมากจะเป็นผนังกระจกสูง ๆ เลือกวงกบออกแนวสลิม  25x100 มิติจะดูบางกว่า เส้นสายจะดูโล่งและโปร่งค่ะ ถ้าเราเลือกกล่องแบบมาตรฐาน  45x100 จะดูหนาเหมือนงานอาคารพาณิชย์ทั่วไป

บ้านโรงนา

บ้านโรงนา

บ้านโรงนา

บ้านโรงนา

          - ทิศเหนือ, ใต้, ออก และตก กางแบบเดินตรวจดูรอบบ้าน ครบค่ะ !

บ้านโรงนา

บ้านโรงนา

          - จบงานติดตั้งหน้าต่าง ก็จะเป็นงานปูพื้นไม้ค่ะ ชั้นสองจะเป็นไม้สักหน้า 8 ทั้งหมด ปูบนโครงสร้างพื้นที่เตรียมไว้แล้ว


บ้านโรงนา

บ้านโรงนา

บ้านโรงนา

          - ปูเสร็จก็ขัดหน้าไม้ ย้อมสีธรรมชาติชนิดผิวด้านจะดูเรียบหรู ดิบ ๆ หน่อย ให้ความรู้สึกผ่อนคลายเป็นธรรมชาติ

บ้านโรงนา

บ้านโรงนา

          - จากนั้นเก็บรายละเอียด ติดตั้งราวบันได เป็นงานเหล็กทาสีขาว ผสมราวจับไม้บนความเรียบง่ายสไตล์ญี่ปุ่น

บ้านโรงนา

          - ราวกันตกบนระเบียงชั้น 2 ก็ใช้วัสดุเดียวกันต่อเนื่องเป็นเรื่องเดียวกันขึ้นมาเลยค่ะ

          มาว่ากันต่อในส่วนของงานไฟฟ้าค่ะ ทั้งบ้านเราเลือกใช้อยู่ 5 ชนิดค่ะ จะเน้นรูปแบบเรียบง่าย อยู่ได้นาน เลือกใช้ผลิตภัณฑ์สีดำ ดูสง่างาม มีความไฮเอนด์ค่ะ


บ้านโรงนา

บ้านโรงนา

          - ดวงโคมในบ้านใช้ดาวไลท์แบบฝังฝ้า หลอด LED แบบปรับองศาของหลอดได้ เมื่อตั้งเสร็จ หน้าโคมจะกลืนเรียบกับฝ้าเพดานค่ะ

บ้านโรงนา

          - โคมไฟติดผนังภายในบ้าน ทรงกระบอกเหลี่ยมสีดำ แบบไฟส่องบน-ล่าง

บ้านโรงนา

          - โคมไฟติดผนังภายนอกบ้าน ทรงกระบอกเหลี่ยมสีดำ ใช้หลอด 2 ดวง แบบไฟส่องบน- ล่างเช่นกันค่ะ

บ้านโรงนา

บ้านโรงนา

          - ไฟฝังพื้น (Up light) สำหรับสร้างมิติภายนอกอาคาร

บ้านโรงนา

          - ปลั๊ก, สวิตช์, หน้ากาก ขอใช้สีดำทั้งหมด

บ้านโรงนา

          - ปลั๊กฝังพื้น จำเป็นสำหรับบ้านเรา เพราะจัดแบบ Open Space ไม่อยากเสียบปลั๊กที่ผนังแล้วต้องลากมาใช้งานไกล ๆ เลยฝังพื้นตามตำแหน่งที่เหมาะสมไปเลยค่ะ

บ้านโรงนา

          - ติดเสร็จก็เทสไฟกันเลยค่ะ แสงไฟตามจุดต่าง ๆ จะช่วยเพิ่มเสน่ห์และสีสันให้บ้าน ไม่อย่างนั้นคงเป็นเพียงสิ่งก่อสร้างแข็งทื่อ ขาดชีวิตชีวาค่ะ

บ้านโรงนา

          - เนื่องจากบริบทโดยรอบ "มืดสนิท" ก็อย่างที่ทุกคนเห็นกำพืดของ พี่ “Black Barn” กันมาตั้งแต่ต้นเรื่อง แม่เริ่มจากศูนย์จริงจริ๊ง พอเปิดไฟในบ้านจึงเด่นจรัสแสงมาก กลบแสงดาวแสงเดือนไปหมดเลยค่ะ

บ้านโรงนา

          - หลังบ้าน แสงไฟที่วางถูกที่ถูกทางก็เปลี่ยนบรรยากาศให้ดูมีมิติ จากหน้ามือเป็นหลังมือได้เหมือนกันนะคะ

บ้านโรงนา

          - การจัดวางแสงสร้างบรรยากาศได้ ด้วยการใช้แสงสะท้อนไปยังวัตถุหรือกำแพง ทำให้มีมิติน่าสนใจยิ่งขึ้น นี่คือเหตุผลที่เราเลือกใช้แบบปรับองศาของหลอดได้ค่ะ
บ้านโรงนา

          - ส่วนโถงจากพื้นชั้นล่างถึงเพดาน 12 เมตร ในอนาคตเราจะติดโคมแขวน ต้องมีขนาดใหญ่มาก และน้ำหนักเบาคิดไว้ว่าจะดีไซน์เองค่ะ 

          สรุปไฟภายนอกโอเคค่ะ แต่ภายในบ้านดูภาพรวมแล้วยังไม่ผ่านค่ะ จะพูดยังไงให้ทุกท่านเห็นภาพคะเนี่ย ? ลองนึกถึงภาพห้องพิเศษในโรงพยาบาล เวลาเราไปเฝ้าผู้ป่วยนะคะ มันจะสลัว ๆ ไม่สมดุลกับพื้นที่ภายในบ้านค่ะ ซึ่ง ณ ตอนนี้ที่บ้านเราเป็นไฟระบบไฟฟ้า 1 เฟส งานเข้า ต้องไปขอระบบไฟฟ้า 3 เฟสที่การไฟฟ้าฯ อีก ลองปรึกษาคุณพี่ข้างบ้าน "ค่าตู้ไฟ ตู้คอนโทรล วางงบไว้ครับหลักแสน ไม่รวมการขอขยายเขตนะ อย่างบ้านเราไกลมากก็++ไปครับ" ฟังแล้ว เอิ่ม.... นะ
 
          วันจันทร์เช้า เข้าไปที่การไฟฟ้าฯ เจ้าหน้าที่บอก "ไม่ถึงแสนครับ แถวนั้นมีเสาไฟฟ้าต้นใหญ่ 3 เฟส ดึงไปได้ ค่าใช้จ่ายเป็นหลักหมื่นต้น ๆ ครับ" แอบยิ้มในใจ สวรรค์มีตา จัดไปจ้า ผ่านไปประมาณ 2 อาทิตย์ เอกสารจากการไฟฟ้าฯ แจ้งมาที่บ้านเบา ๆ 98,800 บาท (ขอบคุณ) ก็ตามนั้นค่ะ ลืมตาดูโลกแล้วจ้า "The Black Barn House" ชื่อเขาค่ะคุณ น้ำตาจะไหล สำหรับ FC อาจจะมีขัดใจไปบ้าง เพราะบางสิ่งบางอย่างไม่ได้เป็นไปตามดีไซน์ทั้งหมด แปรผันไปตามงบประมาณจ้า
บ้านโรงนา

บ้านโรงนา

          - บ้านที่มีเส้นสาย เรียบง่าย แฝงไปด้วยความทันสมัย ชัดเจนในสไตล์ ผสมผสานความมีเสน่ห์ในรูปลักษณ์กับประโยชน์ใช้สอยที่ไม่ยุ่งยาก มีความสวยงามและมั่นคงแข็งแรง ตอบสนองอารมณ์ความรู้สึกของผู้อยู่อาศัยค่ะ

บ้านโรงนา

         - ตัวบ้านสีขาวตัดกับพื้นที่บานกระจกที่มีโครงเหล็กสีดำเป็นรูปแบบของความทันสมัย ที่จะสวยไปอีกนาน แน่นอนว่าเป็นช่องทางที่ให้แสงธรรมชาติเข้าถึงได้ดีอีกด้วยค่ะ

บ้านโรงนา

          - ผนังกระจกหน้าบ้าน ทำให้มุมนี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์ธรรมชาติรอบบ้านได้อย่างเต็มตา ดีไซน์ facade เป็นกรอบหน้าต่างขนาดใหญ่บรรจบกับระเบียงด้านหน้า ผสานวัสดุธรรมชาติผิวสัมผัสแลงโก้ กับ วัสดุโมเดิร์นอย่างกระจกได้อย่างเหมาะเจาะ

บ้านโรงนา

บ้านโรงนา

          - การตกแต่งผนังภายนอกด้วยซีมเลท เรียงตัวกันในแนวตั้งช่วยให้ฟอร์มบ้านดูสูงสง่า ในทุกมุมมอง

บ้านโรงนา

บ้านโรงนา

          - มา ๆ ไม่ต้องถอดรองเท้า เข้ามาข้างในกันค่ะ

          ช่วงนี้กำลังดำเนินการตกแต่งภายใน และปรับภูมิทัศน์ภายนอก ไปพร้อม ๆ กันค่ะ เอามาให้ชมเบา ๆ เป็นน้ำจิ้มกันก่อนนะคะ

          ดีไซน์ภายในสัมผัสธรรมชาติได้ทุกมุมมองแค่กระจกกั้นพื้นที่ความเป็นส่วนตัวเท่านั้น ตกแต่งแบบเรียบง่าย ไม่เน้นเฟอร์นิเจอร์หรูหรา เพราะเรารู้สึกว่าอยู่ได้นาน แต่โชว์ศักยภาพของตัววัสดุ ความสวยชัดของลายไม้ สกีมสีที่เลือกใช้ ทุกพื้นต้องมี "จุดโฟกัส" ที่สามารถดึงดูดสายตาของคนที่เข้ามาในบ้าน และสามารถกำหนดฟีลลิ่งของห้องนั้นได้ ซึ่งคงไม่สามารถปฏิเสธว่า "งานศิลปะ" เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการทำหน้าที่นี้ ในบ้านหลังนี้ค่ะ

บ้านโรงนา

          - โถงทางเข้านอกจาก Wall Art  ที่เป็นจุดดึงสายตาแล้ว เฟอร์นิเจอร์สีสันเพิ่มความซุกซนให้กับบรรยากาศภายในได้ดีงามสุด ๆ

บ้านโรงนา

          - หน้างานขอปรับตามเทสนิดหนึ่งนะคะ เลือกใช้สีขาวและไม้อัดแอชเพราะลายไม้จะเส้นลึก ทำสีโชว์ลายไม้จะสวยมาก ประกอบเข้ากับฝีมือช่างที่ประณีต ก็ทำให้บ้านดูมีมูลค่าได้อีก

บ้านโรงนา

          - ดีไซน์โถงกลาง ทำพื้นที่บางส่วนให้เป็นดับเบิลสเปซ มีข้อได้เปรียบเรื่องการถ่ายเทอากาศได้ดี และคงคอนเซ็ปต์แบบ "บาร์นเฮาส์" ไว้

บ้านโรงนา

บ้านโรงนา

          - หน้างานก็เร่งมือเป็นขั้นเป็นตอน ไปค่ะ

บ้านโรงนา

          - พื้นที่ใช้สอยส่วนรวมในชั้นล่าง จัดแบบ Open Plan รวมครัวฝรั่ง รับประทานอาหาร นั่งเล่น และพื้นที่ทำกิจกรรมที่ยืดหยุ่นเข้าไว้ด้วยกัน ด้านหลังจะเป็นห้องเก็บของซักรีดและห้องน้ำแขกค่ะ

บ้านโรงนา

          - ตกแต่งแนวฝ้าเพดานด้วยกล่องไม้ทำเป็นซี่ระแนง ช่วยให้บรรยากาศของห้องอบอุ่นในสไตล์บาร์นเฮ้าส์

บ้านโรงนา

          - ประตูบานเปิดคู่ ด้านหลังชั้นโชว์นี้ เป็นสตูดิโอสำหรับทำงานเล็ก ๆ ของพวกเราค่ะ ซึ่งจะแยกทางเข้าคนละส่วนกับตัวบ้านหลัก

บ้านโรงนา

          - จากมุมนี้ เราจะเห็นความโปร่งของบ้าน นอกจากพื้นที่แบบดับเบิลสเปซยังเปิดช่องลมแนวเหนือ- ใต้ อยู่ด้านตรงข้ามกัน ให้อากาศสามารถไหลเวียนได้ทั่วทั้งห้อง หน้าร้อน> ลมจะพัดผ่านทางใต้, หน้าหนาว> ลมจะพัดผ่านมาจากทางเหนือลงใต้, หน้าฝน> อากาศจะแปรปรวน ลมจะพัดมาได้แทบทุกทิศ แล้วแต่สภาพอากาศตอนนั้นค่ะ

บ้านโรงนา

บ้านโรงนา

          - โดยมีบานเลื่อนกระจกขนาดใหญ่ช่วยนำแสงเข้ามาและเชื่อมพื้นที่บ้านกับส่วนใช้ชีวิตกลางแจ้งเข้าด้วยกันอย่างต่อเนื่องลื่นไหลค่ะ

บ้านโรงนา

          - ขาว เทากลาง ไม้อัดแอช ให้ความรู้สึกสงบ สบายตา เรียบง่ายแต่อบอุ่น ผ่อนคลาย พื้นสีเทากลางยังทำให้บ้านของดูหรูและโมเดิร์นมากขึ้นอีกด้วย

บ้านโรงนา

          - มองระเบียงชั้นสอง ส่วนคานติดไฟติดผนัง ช่วยสร้างจังหวะและเพิ่มแสงสว่างในพื้นที่ดับเบิลเสปซด้วยค่ะ

บ้านโรงนา

บ้านโรงนา

          - ทิศตะวันตก จั่วภายนอกต้องการโชว์ผนังกระจกสูงเต็มพื้นที่ ภายในจึงแสงแดดช่วงบ่ายเต็ม ๆ เราก่อผนังสูงเต็มพื้นที่เพื่อกันความร้อนเข้ามาในบ้าน แบ่งสเปซสำหรับโยคะช่วงเช้าและนั่งสมาธิช่วงหัวค่ำ

บ้านโรงนา

          - เดินมาอีกฝั่ง เข้าสู่ห้องนอนหลักค่ะ

บ้านโรงนา

          - ห้องนอนหลัก อยู่ในโซนที่ทิศทางของแสง เดินทางผ่านได้ทั้งวันโดยไม่ทำให้ร้อน และยังซึมซับธรรมชาติได้เต็มที่

บ้านโรงนา

          - โดดเด่นสะดุดตา กับ Glass Roof บริเวณนี้ ทุกคืน...ฉันจะนอนนับดาว...ฟิน

บ้านโรงนา

          - Bay Window ตั้งใจทำเป็นพิเศษ เจาะเป็นช่องขนาดใหญ่ สำหรับนั่งอ่านหนังสือหรือน่าจะนอนกลางวันได้สบาย ๆ เลยค่ะ

บ้านโรงนา

          - มุมนั่งเล่นแบบเกิร์ล ๆ จะจัดยังไงให้สวยอบอุ่นเน้นความเรียบง่ายแต่ดูดีมีราคา ค่อยมาติดตาม ตอนต่อไปกันนะคะ

บ้านโรงนา

          - จากโซนพักผ่อน เชื่อมต่อไปยังพื้นที่แต่งตัว เน้นใช้งานง่ายใช้ประโยชน์ได้เต็มพื้นที่ โดยสีที่ใช้เป็นสีในโทนเดียวกับชั้นล่าง เน้นความงามของลายไม้ที่ใช้ตกแต่งเช่นกันค่ะ

บ้านโรงนา

          - หันไปอีกด้าน เปิดประตูเข้าห้องน้ำ ต่อเนื่องอยู่ในห้องเดียวกันค่ะ

บ้านโรงนา

          - ดีไซน์ในห้องนอน 2 > ให้ความรู้สึกกลมกลืนกับธรรมชาติตั้งแต่พื้น และฝ้าเพดานไม้ สร้างมิติให้กับสเปซของห้อง ช่องแสงขนาดใหญ่เชื่อมต่อกับธรรมชาติภายนอก สร้างความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน

บ้านโรงนา

บ้านโรงนา

          - ดีไซน์ในห้องนอน 3 > จากพื้นใช้ไม้โทนสีเข้มและผนังโทนสีอ่อน บิวท์อินอบอุ่นจากไม้แอช ล้อขึ้นไปตามแนวฝ้าเป็นหนึ่งเดียวกันค่ะ

บ้านโรงนา

บ้านโรงนา

บ้านโรงนา

          - หน้างานกำลังจะดำเนินการตกแต่งอยู่นะคะ

บ้านโรงนา

          - ห้องนอนชั้นล่าง สีเทา+สีขาว เป็นการผสมผสานกันอย่างลงตัวสำหรับคนที่รักความเรียบง่าย ที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ตกแต่งมากมาย ด้วยโทนสีดูมีความเป็นศิลป์อยู่แล้ว
 
บ้านโรงนา

          - Step by step >> ถ้าวางเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งแล้ว แต่ละห้องจะออกมารูปแบบไหน? อะไร? ยังไง? จะมา Update กันเรื่อย ๆ นะคะ

          สาย ๆ วันพุธกลางสัปดาห์ เดินเข้ามาในออฟฟิศ ใช้เวลา 2-3 นาทีในการทักทายทีมงาน กาแฟดำคะ ของมันต้องมี เมื่อหย่อนตัวลงนั่งที่โต๊ะทำงานแล้วกวาดสายตาดูอีเมลที่ได้รับผ่าน ๆ เพื่อจัดลำดับความสำคัญเอาไว้ และรีบตอบข้อความที่สำคัญหรือเร่งด่วนก่อน...อั๊ยยะ ! มีอีเมลที่ยั่วยวนชวนให้เปิดเป็นอันดับแรก ๆ เกี่ยวกับพี่ "The Black Barn" ของเราค่ะ ขณะที่ทางหน้างานพี่ "The Black Bar" กำลังขะมักเขม้นในการค้นหาตัวเอง "จะไทยหรือจะเทศ?" "จะทันสมัยหรืออนุรักษ์นิยม?" ก็มีผู้ใหญ่ใจดีเห็นความ "ยูนีค" ของพี่เขาค่ะ

          "ความรู้สึกดี ๆ" ถึงมันจะ "ไร้ตัวตน" แต่เชื่อว่าทุกคน "รู้จักมัน" บางโมเม้นต์ กับเวลาเพียงไม่กี่นาทีก่อนการทำงาน อาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงานในอีก 8 ชั่วโมงให้หลังได้นะคะ ขอให้มีความสุขกับการทำงานกันทุกคนค่ะ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สร้างบ้านโรงนาสองชั้นสไตล์โมเดิร์น 4 ห้องนอน 4 ห้องน้ำ เปลี่ยนความหลงใหลให้มีชีวิต อัปเดตล่าสุด 2 กันยายน 2564 เวลา 17:21:39 96,744 อ่าน
TOP