x close

8 โครงการรับบริจาคขยะพลาสติก ส่งต่อไปรีไซเคิลใหม่ให้เกิดประโยชน์

รวมโครงการรับบริจาคขยะพลาสติก เช่น ขวดพลาสติก ถุงพลาสติก และแก้วพลาสติก เพื่อนำกลับไปใช้ให้เกิดประโยชน์ใหม่อีกครั้ง ช่วยลดขยะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมวิธีคัดแยกก่อนส่งต่อ

จุดบริจาคพลาสติก

พลาสติก เป็นวัสดุที่มีความแข็งแรง ทนทาน ยืดหยุ่นได้ ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง หากมีการกำจัดอย่างถูกวิธีก็จะช่วยลดปริมาณขยะและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เรื่องมลพิษและไมโครพลาสติก (Microplastic) หรือชิ้นส่วนพลาสติกขนาดเล็กมากที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำ เช่น ทะเล หนึ่งในวิธีที่จะช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกได้ก็คือ การนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ เช่น DIY ของใช้ชิ้นใหม่ หรือส่งต่อให้องค์กรต่าง ๆ เพื่อเอาไปรีไซเคิล 

วิธีคัดแยกก่อนส่งต่อ

ก่อนจะบริจาคควรนำไปล้างเพื่อทำความสะอาดกำจัดสิ่งสกปรกออกก่อน เช่น เศษอาหาร เพราะเป็นขยะที่มีความชื้นสูง หากมีการปนเปื้อนไปกับขยะพลาสติกก็จะทำให้การนำกลับไปใช้ใหม่และกำจัดยากขึ้น จากนั้นตากให้แห้ง แล้วคัดแยกตามประเภทพลาสติก โดยสังเกตจากสัญลักษณ์พลาสติกที่ปรากฏบนบรรจุภัณฑ์ แล้วส่งไปให้องค์กรหรือสถานที่ที่รับบริจาคเพื่อนำไปรีไซเคิลต่อได้เลย

1. โครงการวน (Won)

โครงการจากกลุ่มคนเล็ก ๆ ในเครือบริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) ที่อยากจะช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติก โดยการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เข้ามาใช้ พร้อมกับให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะเพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกต้อง เปิดรับพลาสติกยืดได้ เช่น ถุงพลาสติก ฟิล์มหุ้มฝาขวดน้ำ พลาสติกกันกระแทก ถุงใส่อาหาร ฯลฯ กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้โดยการนำพลาสติกที่ใช้แล้วไปทำความสะอาดแล้วตากให้แห้งสนิท แล้วนำไปส่งตามจุดรับหรือที่อยู่ของโครงการ นอกจากนี้พลาสติกทุก ๆ 1 กิโลกรัม จะคิดเป็นเงิน 5 บาท เพื่อนำไปบริจาคให้กับมูลนิธิด้านสิ่งแวดล้อมด้วย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

  • ที่อยู่ : "โครงการ วน" บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) 42/174 หมู่ 5 ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม 73210
  • เฟซบุ๊ก : Won

2. โครงการ Green Road

โครงการที่อยู่ภายใต้การดูแลของ ผศ. ดร.เวชสวรรค์ หล้ากาศ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เปิดรับขยะพลาสติก PE (Polyethylene) และพลาสติก PP (Polypropylene) ถุงแกงร้อน ถุงนมโรงเรียน ถุงที่ยืดได้ ถุงหูหิ้วพลาสติก และพลาสติกบับเบิลห่อพัสดุ เพื่อนำไปรีไซเคิลเป็นบล็อกปูถนน 1 ตารางเมตร ใช้ถุงพลาสติกประมาณ 4,000 ใบ โดยสามารถนำไปส่งด้วยตัวเองที่สาขาวิศวกรรมเทคโนโลยีการก่อสร้าง มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ หรือส่งไปที่โครงการผ่านทางไปรษณีย์ก็ได้

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม  

  • ที่อยู่ : ผศ. ดร.เวชสวรรค์ หล้ากาศ (โครงการกรีนโรด) 9/9 ม.1 ต.มะเขือแจ้ อ.เมือง จ.ลำพูน 51000
  • เบอร์โทรศัพท์ : 08-1716-2525
  • เฟซบุ๊ก : GREEN ROAD

3. โครงการส่งพลาสติกกลับบ้าน

โครงการจากเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย (Thailand Responsible Business Network – TRBN) ประกอบด้วยองค์กรธุรกิจจากเอกชนและหน่วยงานจากภาครัฐกว่า 24 องค์กร เพื่อเป็นต้นแบบในการนำขยะพลาสติกกลับไปใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เปิดรับทั้งพลาสติกยืดและพลาสติกแข็ง เช่น ถุง กล่องใส่อาหาร ฝาขวด ขวดพลาสติก รวมถึงฟิล์ม โดยทำความสะอาดแล้วนำไปบริจาคที่จุด Drop Point ของโครงการ เช่น ห้างสรรพสินค้า แล้วพลาสติกเหล่านี้ก็จะถูกส่งไปยังโรงงานรีไซเคิลพลาสติก เพื่อเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่อีกครั้งตามแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม  

4. โครงการต่ออายุหลอด

โครงการจากมูลนิธิพลังที่ยั่งยืนของ ปตท. เปิดรับบริจาคหลอดใช้แล้ว เพื่อเปลี่ยนเป็น "หมอนหลอด" ช่วยบรรเทาอาการเกิดแผลกดทับ นอกจากนี้ยังมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาแนวทางใหม่ในการนำขยะหลอดพลาสติกกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นการสร้างความตระหนักในการลด ละ เลิกใช้หลอดพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีวิธีคัดแยกง่าย ๆ 3 ขั้นตอน คือ นำหลอดที่ใช้แล้วไปล้าง จากนั้นตากให้แห้งสนิท แล้วตัดหลอดให้ได้ขนาด 1 เซนติเมตร ก่อนนำไปทำความสะอาดและตากให้แห้งสนิทอีกครั้ง เพื่อใช้บรรจุเป็นไส้หมอน โดยหมอน 1 ใบ จุปริมาณได้ 14.5 ถ้วยตวง หรือหลอด 2,000 ชิ้น 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

  • ที่อยู่ : มูลนิธิพลังที่ยั่งยืน เลขที่ 555 หมู่ที่ 1 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
  • โทรศัพท์ : 0-2537-3308
  • เว็บไซต์ : www.psffoundation.com
  • เฟซบุ๊ก : มูลนิธิพลังที่ยังยืน

5. โครงการ Precious Plastic Bangkok

อีกหนึ่งโครงการจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่มีเป้าหมายเพื่อนำขยะพลาสติกกลับมารีไซเคิล ช่วยกระตุ้นให้ทุกคนหันมาสนใจเรื่องมลพิษและให้ความสำคัญกับการใช้พลาสติกให้เกิดประโยชน์สูงสุด มากกว่าการนำไปทิ้งให้เป็นเศษขยะ ตอนนี้เปิดรับบริจาคพลาสติก HDPE (High-density Polyethylene) เช่น ถุงพลาสติก และพลาสติก PP (Polypropylene) เช่น ถุงร้อนและฝาขวดน้ำพลาสติก 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม  

  • ที่อยู่ : Precious Plastic Bangkok@FREC Bangkok ชั้น 1⁣⁣⁣⁣ เลขที่ 77 ถ.นครสวรรค์  แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100 ⁣⁣⁣⁣
  • เฟซบุ๊ก : Precious Plastic Bangkok

6. Wishulada

อีกหนึ่งโครงการดี ๆ จาก คุณวิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ เปิดรับบริจาควัสดุเหลือใช้ไปสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะ ซึ่งหากมีขยะเหล่านี้สามารถส่งต่อไปทำให้เกิดประโยชน์ได้เลย นอกจากจะเปิดรับฝาขวดน้ำพลาสติกแล้ว ยังเปิดรับขยะรีไซเคิลชนิดอื่นด้วย ได้แก่ ฝาอะลูมิเนียม เศษผ้าจากกระบวนการผลิต ถุงขนม รวมถึงต่างหู ลูกปัด และกระดุมที่ไม่ใช้แล้ว โดยขยะเหล่านี้จะถูกนำไปเปลี่ยนเป็นถังขยะมอบให้ชุมชนใกล้เคียงกับที่จัดนิทรรศการ เพื่อช่วยรณรงค์ให้ประชาชนคัดแยกขยะมากขึ้นอีกด้วย 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม  

  • ที่อยู่ : คุณวิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ 32/460 ม.สหกรณ์การบินไทย ถ.แจ้งวัฒนะ ต.คลองเกลือ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 11120
  • เบอร์โทรศัพท์ : คุณเอ๋ 06-5226-3947
  • เฟซบุ๊ก : Wishulada

7. โครงการแยกก่อนทิ้ง

โครงการแยกก่อนทิ้งของ รีไซเคิลเดย์ Recycle Day Thailand โดยรับฝากขยะกำพร้า ซึ่งเป็นขยะประเภทที่รีไซเคิลไม่ได้ นำมารวบรวมและคัดแยกก่อนส่งไปเผาทิ้งเพื่อผลิตเป็นพลังงานทดแทนกับ CHULA Zero Waste ขยะที่รับบริจาค ได้แก่ ซองขนม/ซองกาแฟ ฝาถ้วยโยเกิร์ต ฟอยล์ห่ออาหาร กล่องโฟม ช้อน/ส้อมพลาสติก ภาชนะบรรจุอาหาร แก้วกระดาษเคลือบพลาสติก แก้วกาแฟ/หลอด/ฝาโดม ถุงกระสอบ ถุงอาหารสัตว์ หลอดครีมเปล่า ห่อ/ถุงผงซักฟอก  ห่อ/ถุงรีฟิลน้ำยา หลอดยาสีฟันเปล่า และแปรงสีฟัน

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม  

8. มูลนิธิกระจกเงา

โครงการดี ๆ จากมูลนิธิกระจกเงา โดยการเปิดรับขยะพลาสติก ขวดน้ำ และแผ่นซีดี มารวบรวมให้ทีมผู้สูงอายุคัดแยกเพื่อช่วยสร้างรายได้ไว้ดูแลตัวเองในวัยชรา หลังจากนั้นจะนำขยะที่คัดแยกแล้วส่งต่อให้กับโครงการ ล้าง เก็บ เกิด ในเครือข่ายจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ หากขยะปนเปื้อนเศษอาหารหรือสิ่งสกปรก อย่าลืมทำความสะอาดและตากให้แห้งก่อนนำมาส่งด้วยนะคะ 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม  
  • ที่อยู่ : มูลนิธิกระจกเงา เลขที่ 191 ซอยวิภาวดีรังสิต 62 แยก 4-7 แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 
  • เบอร์โทรศัพท์ : 06-1909-1840 และ 06-3931-6340
  • เฟซบุ๊ก : มูลนิธิกระจกเงา

ขยะพลาสติก หากกำจัดไม่ถูกวิธีก็จะสร้างมลพิษ แต่จะดีกว่าหากพลาสติกเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติก ขวดพลาสติก หรือแก้วพลาสติก จะถูกคัดแยกอย่างถูกวิธีตั้งแต่ต้นทางและนำกลับไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น รีไซเคิลเป็นของใช้หรือนำไปเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้า ก็จะช่วยลดปริมาณขยะและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
8 โครงการรับบริจาคขยะพลาสติก ส่งต่อไปรีไซเคิลใหม่ให้เกิดประโยชน์ อัปเดตล่าสุด 30 พฤศจิกายน 2565 เวลา 18:37:51 125,878 อ่าน
TOP