x close

5 ทางออกผ่อนบ้านต่อไม่ไหว เตรียมรับมือไว้ ก่อนบ้านโดนยึด

          ผ่อนบ้านไม่ไหว ทำยังไงดี ? มาดูวิธีลดภาระการผ่อนบ้านในช่วงวิกฤตโควิด 19 แม้ตอนนี้จะเริ่มผ่อนบ้านต่อไม่ไหว แต่ใจยังสู้ อยากให้บ้านยังเป็นของเราอยู่ งั้นตามไปดูวิธีช่วยลดภาระหนี้บ้านกัน 

สมุดบัญชี

          แม้ว่าวิกฤตโควิด 19 จะเริ่มคลี่คลายและมีมาตรการปลดล็อก พร้อมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้ภาคธุรกิจยังดำเนินต่อไปได้ แต่ทว่าในช่วงที่ผ่านมาก็มีข่าวบริษัทปิดตัวและลดจำนวนพนักงานให้เห็นอยู่ตลอด ทำให้หลายคนอยู่ในสถานการณ์ว่างงานบ้าง หรือมีงานอยู่แต่รายรับที่ได้มาก็ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ทั้งส่วนที่ต้องกินต้องใช้ในชีวิตประจำวัน และหนี้ก้อนโตอย่าง ค่าผ่อนบ้าน หากตอนนี้เริ่มผ่อนไม่ไหว หรือดูเหมือนว่ากำลังจะเกิดปัญหา วันนี้เลยรวมทางออกช่วยลดภาระหนี้บ้าน ช่วยป้องกันไม่ให้บ้านโดนยึดมาฝาก 

1. พักชำระหนี้กับธนาคาร

          หนึ่งในมาตรการภาครัฐที่ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับคนเป็นหนี้ ที่ตอนนี้มีการประกาศเพิ่มเติมจากธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อช่วยเหลือเพิ่มเติมในระยะที่ 2 ต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 จากเดิมที่กำหนดวงเงินสินเชื่อบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาท เปลี่ยนเป็นไม่จำกัดวงเงินสินเชื่อ โดยรายละเอียดการพักชำระหนี้บ้าน หรือพักชำระสินเชื่อบ้าน ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร เช่น วิธีการเข้าร่วมโครงการ วิธีการพักชำระหนี้ และการคิดดอกเบี้ย ซึ่งแต่ละเงื่อนไขก็มีข้อแตกต่างกันไป ดังนี้ 

          - พักชำระเงินต้น : การพักชำระเฉพาะในส่วนของเงินต้น แล้วผ่อนชำระเฉพาะส่วนที่เป็นดอกเบี้ย ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนได้ส่วนหนึ่ง โดยทางธนาคารอาจจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันจำนวนเงินต้นก็ยังอยู่เท่าเดิม ซึ่งลูกหนี้จะต้องมาชำระต่อเมื่อครบกำหนดการพักชำระหนี้ของโครงการ 

          - พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย : การพักชำระหรือเลื่อนจ่ายเงินงวด ทั้งส่วนที่เป็นเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งส่วนใหญ่จะให้เวลาประมาณ 3-6 เดือน แล้วค่อยกลับมาผ่อนชำระต่อเมื่อครบกำหนด ซึ่งวิธีนี้อาจจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในช่วงนี้ไปได้ แต่ก็ทำให้ระยะเวลาในการผ่อนบ้านยาวนานมากขึ้น 

          - ปรับลดเงินผ่อนชำระ : หรือการลดค่างวด โดยยังคงผ่อนชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย แต่มีการปรับลดเงินในแต่ละงวดให้น้อยลง ตามสัดส่วนและข้อตกลงที่ทางธนาคารกำหนด หรือบางธนาคารอาจจะลดค่างวดพร้อมขยายเวลาชำระหนี้ออกไป 

เงินผ่อนบ้าน

2. ขอความช่วยเหลือจากทางด่วนแก้หนี้ 

          อีกหนึ่งช่องทางที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดช่องทางสำหรับให้ประชาชนและธุรกิจรายย่อย ที่ต้องการปรับปรุงเงื่อนไขการชำระหนี้ที่เคยยื่นเรื่องไปกับธนาคารแล้ว แต่ข้อเสนอที่ได้รับยังไม่สามารถชำระได้ ให้สามารถยื่นเรื่องเพื่อขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือสถาบันการเงินที่ให้บริการ ช่วยพิจารณาให้ความช่วยเหลือต่อไป โดยมีธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นสื่อกลางช่วยประสานงานให้ ซึ่งสามารถขอความช่วยเหลือได้ในหลายกรณี ทั้งสินเชื่อบ้าน สินเชื่ออื่น ๆ เช่น สินเชื่อรถ สินเชื่อบุคคล รวมถึงบัตรเครดิต

          ทั้งนี้ สามารถลงทะเบียนขอความช่วยเหลือได้ทั้งทางเว็บไซต์ ทางด่วนแก้หนี้ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือผ่านทางโทรศัพท์ที่เบอร์ 1213


3. ขอปรับโครงสร้างหนี้ 

          อีกหนึ่งวิธีก็คือ การขอเจรจากับทางสถาบันการเงิน เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น ลดจำนวนเงินที่จะผ่อนชำระ แล้วขยายระยะเวลาในการผ่อนให้นานขึ้น หรือการเลือกจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยและเงินต้นบางส่วน แต่การปรับโครงสร้างหนี้มีข้อควรระวัง โดยเฉพาะผู้กู้ที่มีหนี้หลายตัว เพราะหากผิดนัดชำระแม้แต่ครั้งเดียวก็อาจโดนยึดทรัพย์ได้ 

เงินผ่อนบ้าน

4. ขอรีไฟแนนซ์หรือรีเทนชั่น 

          การรีไฟแนนซ์ (Refinance) การขอเปลี่ยนธนาคารที่ขอสินเชื่อบ้าน เพื่อลดดอกเบี้ยที่ต้องผ่อนชำระ ซึ่งส่วนใหญ่ดอกเบี้ยบ้านจะถูกในช่วง 3 ปีแรก หลังจากนั้นก็จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับ ดังนั้นส่วนใหญ่เมื่อครบกำหนดก็จะขอรีไฟแนนซ์บ้าน เพราะหากจ่ายดอกเบี้ยน้อย เงินของเราจะถูกนำไปตัดส่วนของเงินต้นมากขึ้น แต่ทั้งนี้ในการทำรีไฟแนนซ์ก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น ค่าปรับการคืนเงินกู้ก่อนกำหนดตามสัญญาเดิม ค่าจัดการสินเชื่อตามสัญญาใหม่ และค่าธรรมเนียมในการจำนอง ฯลฯ ดังนั้นจึงควรศึกษารายละเอียดให้ดีก่อนตัดสินใจ 

          การรีเทนชั่น (Retention) เป็นการขอปรับลดอัตราดอกเบี้ยบ้านกับธนาคารเดิม ซึ่งเป็นทางเลือกที่สะดวกและรวดเร็ว ง่ายต่อการพิจารณาอนุมัติ แต่การขอลดดอกเบี้ย ผู้กู้จะต้องผ่อนชำระมาแล้วเกิน 3 ปี 

5. ขอโอนบ้านให้เป็นของธนาคารชั่วคราว 

          หากติดขัดเรื่องภาระค่าใช้จ่ายจริง ๆ แต่ยังไม่อยากขาย อีกหนึ่งทางออกก็คือ การขอโอนหลักทรัพย์เป็นของธนาคารชั่วคราว แล้วค่อยซื้อคืน ส่วนมากมักทำสัญญาเช่าเป็นรายปี โดยคิดค่าเช่าอยู่ที่ประมาณ 0.4-0.6% ของมูลค่าหักทรัพย์ หากหนี้มีจำนวนมากกว่าราคาประเมิน เมื่ออยากจะขอซื้อคืน สถาบันการเงินก็จะขายคืนให้ โดยส่วนมากจะพิจารณาราคาจากยอดหนี้คงเหลือ 

          หากตอนนี้มีปัญหาเรื่องหนี้บ้าน ผ่อนต่อไม่ไหว แต่ก็ยังไม่อยากโดนยึดหรือประกาศขาย ทั้ง 5 วิธีนี้ก็เป็นอีกหนึ่งทางออกที่จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายเรื่องหนี้บ้าน และอีกหนึ่งทางรอดที่จะช่วยให้สามารถรอดวิกฤตครั้งนี้ไปได้ 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
5 ทางออกผ่อนบ้านต่อไม่ไหว เตรียมรับมือไว้ ก่อนบ้านโดนยึด อัปเดตล่าสุด 6 พฤษภาคม 2564 เวลา 18:20:57 44,767 อ่าน
TOP