x close

บอนสี ราชินีแห่งไม้ประดับ ต้นไม้มงคลเสริมความสุขความเจริญ

รวมเรื่อง บอนสี ราชินีแห่งไม้ประดับ ไม้ประดับใบสวยที่ถือเป็นต้นไม้มงคลน่าปลูกคู่บ้าน มีกี่ชนิด และมีวิธีการปลูกอย่างไร ตามไปชมกันเลย

บอนสี

ความสวยงามที่โดดเด่นและเตะตาทำให้ "บอนสี" กลายเป็นต้นไม้อีกหนึ่งชนิดที่คนนิยมนำมาปลูกจัดสวนและตกแต่งบ้าน แถมยังสามารถเพาะพันธุ์ขายหารายได้เพิ่มได้อีกด้วย วันนี้กระปุกดอทคอมเลยรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับต้นบอนสีมาฝาก ทั้งลักษณะทั่วไป ความหมาย จุดสังเกตบอนสีที่ดี ไปจนถึงวิธีการปลูกบอนสีในกระถางและปลูกลงแปลงเพื่อขยายพันธุ์ พร้อมการดูแล 

ลักษณะทั่วไปต้นบอนสี

บอนสี หรือ บอนฝรั่ง (Fancy Leaf Caladium) เป็นไม้ประดับจัดอยู่ในสกุล Caladium วงศ์ Araceae มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Caladium Bicolor มีถิ่นกำเนิดในแถบอเมริกาใต้ ยุโรป อินเดีย และอินโดนีเซีย สันนิษฐานว่ามีการนำเข้ามาปลูกในสมัยสุโขทัยและสมัยรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ 5

บอนสีมีลักษณะทั่วไปคือ เป็นไม้ประดับล้มลุกอวบน้ำ มีหัวอยู่ใต้ดินไว้เก็บสะสมอาหาร แตกใบเป็นกอ มีก้านใบสูงยาวเหนือพื้นดิน ใบใหญ่แผ่กว้าง รูปทรงและสีสันของใบมีหลายแบบขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ อาทิ ใบรูปหัวใจ ใบทรงกลม ใบหอก และอื่น ๆ แถมแต่ละชนิดก็มีสีสันและลวดลายที่โดดเด่นและสวยงามแตกต่างกันไป ด้วยเหตุนี้เลยทำให้บอนสีได้รับการขนานนามว่าเป็นราชินีแห่งไม้ประดับ หรือ Queen of The Tears Plant อีกทั้งยังมีดอกลักษณะคล้ายดอกหน้าวัว มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อกันว่า บอนสี เป็นต้นไม้มงคล หากบ้านใดนำไปปลูกก็จะช่วยนำความสุข-ความเจริญมาให้ 

ประเภทบอนสี

บอนสีแบ่งประเภทตามลักษณะของใบ มีทั้งหมด 4 ประเภทด้วยกัน คือ 

- บอนใบไทย (Thai-Native Leaf Caladium) : บอนสีไทยโบราณ ลักษณะใบเป็นรูปหัวใจ หูใบยาว เว้าลึกเกือบถึงสะดือ (ส่วนปลายก้านใบที่จรดกับเส้นกลางใบ) ก้านใบอยู่กึ่งกลางใบ มีทั้งปลายใบแหลมและปลายใบมนขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ใบแผ่กว้าง มีขนาดใหญ่ สีสันสวยงาม ใบดกและไม่ทิ้งใบ 

- บอนใบกลม (Round-Leaf Caladium) : สายพันธุ์บอนสีที่พัฒนามาจากบอนใบไทย ลักษณะใบกลมหรือรี หูใบสั้น ปลายใบมน และก้านใบกลมอยู่กึ่งกลางใบ คล้ายกับใบบัว 

บอนสี

- บอนใบยาว (Long- Leaf Caladium) : ลักษณะใบทรงหัวใจคล้ายกับบอนใบไทยเช่นเดียวกัน แต่แตกต่างกันที่ใบของบอนสีใบยาวจะเรียวยาวและมีปลายใบแหลมกว่า หูใบยาวฉีกถึงสะดือ และสามารถแยกได้อีก 3 ลักษณะย่อยคือ บอนใบยาวธรรมดา บอนใบยาวรูปหอก และบอนใบยาวรูปใบไผ่ 

- บอนใบกาบ (Sheath-Leaf Caladium) : ลักษณะคล้ายกับบอนใบไทย แต่บอนใบกาบจะมีก้านใบที่แผ่แบนตั้งแต่โคนใบไปถึงแข้ง (ใบขนาดเล็กที่ยื่นออกจากกาบใบ อยู่กึ่งกลางของก้านหรือต่ำกว่าใบจริงเล็กน้อย)

นอกจากนี้ยังมีการแบ่งประเภทบอนสีตามลักษณะของสีสัน ได้แก่ บอนไม่กัดสี ใช้เรียกบอนที่ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงไปจากต้นกำเนิดสายพันธุ์ ส่วนบอนกัดสี เป็นบอนที่มีการเปลี่ยนแปลงของสีสันเมื่อโตเต็มวัย เช่น เปลี่ยนจากใบอ่อนสีเขียวเป็นใบสีแดงหรือมีจุดแต้มเพิ่ม สำหรับบอนป้าย คือบอนที่มีแถบแดงพาดบนใบพื้นเขียว และบอนด่าง หรือบอนที่มีสีอื่น เช่น ขาว ขาวอมแดง หรือสีเหลือง เป็นด่างอยู่บนพื้นใบเขียว 

วิธีดูฟอร์มต้นบอนสีและราคา
บอนสี

ฟอร์มต้นบอนสีที่ดี ได้แก่ ความสม่ำเสมอของรูปใบบอน ควรเป็นทรงสีเดียวกันทั้งต้น เช่น หากเป็นใบบอนกลม ควรกลมทุกใบ หากเป็นสายพันธุ์บอนที่มีใบดก เช่น บอนใบไทยหรือบอนใบยาว ควรมี 12 ใบขึ้นไป มีความดก ไม่ทิ้งใบ และใบควรมีสีเดียวกันสม่ำเสมอ ไม่แตกต่างกัน มีก้านใบที่อวบ แข็งแรง สมดุลกับขนาดของใบบอน เรียงเป็นระเบียบ โคนกาบใบไม่เกาะกันหรือแบะออก ดูสวยงาม และมีความแปลกที่เป็นเอกลักษณ์ของสายพันธุ์ ราคาต้นบอนสี มีตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักหมื่น ขึ้นอยู่กับขนาด ทรง ลวดลาย สีของใบ และตลาดขาย ซึ่งในปัจจุบันสามารถเพาะขายได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น อเมริกา ยุโรป และเอเชียอย่าง อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ 

สำหรับต้นพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์บอนสี ควรเป็นต้นบอนสีขนาดใหญ่ อายุ 10 เดือนขึ้นไป และมีความสมบูรณ์เต็มที่ โดยทำการขุดหัวบอนเมื่อต้นทิ้งใบ แล้วนำมาทำความสะอาด เก็บไว้ในที่อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่มีแสงแดด ทิ้งไว้ประมาณ 3 เดือน ก่อนจะนำมาเพาะอีกครั้งช่วงเข้าฤดูฝนหรือประมาณเดือนพฤษภาคม  

สายพันธุ์บอนสี 

สายพันธุ์บอนสีแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ด้วยกัน ดังนี้

- สายพันธุ์บอนสีพื้นเมือง เช่น บอนสีอิเหนา บอนสีฮกหลง บอนสีแดงวัว บอนสีม่านนางพิมพ์ บอนสีปาเต๊ะ และบอนสีเจ้ากรุงเดนมาร์ก

- สายพันธุ์บอนสีลูกผสมในไทย บอนสีที่เกิดจากการผสมเกสรหรือการผ่าหัวแล้วกลายพันธุ์ เช่น บอนสีสายชล บอนสีหนุมาน บอนสีรุ้งสามสี บอนสีม่วงมงคล บอนสีเทพอัมรินทร์ บอนสีเพชรนิลจินดา บอนสีหนุมานเข้าเฝ้า บอนสีแสงประภัสสร บอนสีเทพเทวฤทธิ์ บอนสีใบบุญ บอนสีปิ่นรัตน์ บอนสีเจ้าชาย บอนสีเทพทรงทาน บอนสีเทพประทาน บอนสีศรีสหัส บอนสียุทธหัตถี 

- สายพันธุ์ต่างประเทศ เช่น ไวท์คริสต์มาส โพสแมน และพิงค์กิม 

วิธีปลูกต้นบอนสี

ดิน : การปลูกบอนสีในกระถาง ควรใช้ดินร่วนผสมวัตถุอินทรีย์ หรือดินขุยไผ่ ผสมใบทองหลาง ใบมะขาม หรือใบก้ามปู ด้วยอัตรา 2:1 เพราะบอนสีจะเจริญเติบโตและออกใบสวยงามในดินโปร่ง ระบายน้ำได้ดีและมีแร่ธาตุสูง และมีไม้ค้ำที่ก้านใบ เพื่อให้ก้านแตกกอเป็นระเบียบสวยงาม ไม่หักหรืองอ แต่หากต้องการปลูกเป็นแปลงใหญ่เพื่อการขยายพันธุ์ ควรใช้ดินร่วนปนทรายผสมปุ๋ยคอก แกลบดิน และขุยมะพร้าว ในอัตรา 1:1:1 และนำฟางข้าวมาคลุมแปลงไว้ เพื่อลดการระเหยของน้ำ 

น้ำ : ช่วงฤดูร้อนหรือสภาพอากาศปกติทั่วไป ควรรดน้ำตอนเช้าวันละ 1 ครั้ง หลีกเลี่ยงการรดน้ำใกล้โคนต้น เพราะอาจจะทำให้ก้านใบหักได้ นอกจากนี้ควรมีจานรองกระถางหล่อน้ำไว้ตลอดเวลา เนื่องจากเป็นต้นไม้ที่ชอบความชื้นสูง ทั้งนี้ ควรลดการให้น้ำช่วงฤดูหนาว เพราะเป็นช่วงพักตัวและทิ้งใบ ระหว่างนี้ให้นำหัวบอนสีมาทำความสะอาด ชุบน้ำยาป้องกันเชื้อรา นำไปผึ่งให้แห้งประมาณ 15 วัน แล้วนำไปเก็บในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก เมื่อถึงฤดูปลูกหรือบอนสีเริ่มผลิใบค่อยกลับมารดน้ำตามปกติ

แสงแดด : ควรปลูกบอนสีในที่ที่มีแสงแดดรำไร เช่น แดดตอนเช้าช่วง 09.00-10.00 น. หากโดนแดดร้อนจัดมากเกินไปจะทำให้เกิดใบไหม้หรือสีซีดได้ สำหรับการปลูกบอนสีในบ้านควรวางในที่ที่มีแดดรำไร เช่น ใกล้หน้าต่าง และหมั่นหมุนกระถางเข้าหาแสง หรือนำกระถางปลูกไปวางกลางแจ้งสัปดาห์ละครั้ง และหลีกเลี่ยงการปลูกในห้องแอร์ เพราะอาจจะทำให้บอนพักตัวและทิ้งใบ 

ปุ๋ย : ใช้ได้ทั้งปุ๋ยธรรมชาติ ปุ๋ยคอก และปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-16 แต่ไม่ควรให้ปุ๋ยทางใบ เพราะจะทำให้ใบไหม้ได้ และหมั่นเปลี่ยนดินปีละครั้งหรือเมื่อดินแน่น 

วิธีขยายพันธุ์บอนสี 
บอนสี

แยกหน่อ : การแบ่งหน่อของต้นบอนสีจากต้นแม่ สามารถทำได้เมื่อต้นมีอายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป โดยใช้มีดตัดเอาหน่อจากต้นเดิมมาแยกปลูกในกระถางใหม่ 

การผ่าหัว : วิธีขยายพันธุ์บอนสีที่นิยมมากที่สุด โดยการนำหัวที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี มาผ่าให้ติดตา แล้วนำไปชำในทรายหยาบสะอาด อิฐมอญทุบละเอียด ขุยมะหร้าว หรือแกลบดำ จากนั้นรดด้วยน้ำยาป้องกันเชื้อรา นำไปผึ่งไว้ในที่ร่ม เมื่อหน่อแตกรากและผลิใบประมาณ 1-2 ใบ ค่อยย้ายไปปลูกในกระถาง

เพาะเมล็ด : ส่วนมากจะใช้เพาะเมล็ดบอนสีเมื่อต้องการผลิตลูกผสม โดยหว่านเมล็ดลงในกระบะปลูก ตั้งกระบะในที่ที่มีแดดรำไรและคลุมด้วยถุงพลาสติก เพื่อรักษาความชื้นและป้องกันมด-แมลงมารบกวน แต่เป็นวิธีที่ใช้เวลานาน จึงไม่ค่อยนิยมเท่าไรนัก

เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ : โดยการนำเนื้อเยื่อของบอนสีไปเพาะในห้องที่มีการควบคุมปัจจัยการเจริญเติบโต เป็นวิธีที่มีขั้นตอนยุ่งยาก ซับซ้อน และใช้ต้นทุนค่อนข้างสูง แต่ก็ขยายพันธุ์ได้จำนวนมากต่อครั้ง และมีโอกาสได้บอนสีกลายพันธุ์สูงด้วยเช่นกัน 

เรียกได้ว่าความสวยที่เป็นเอกลักษณ์บวกกับความหมายของ บอนสี สมตำแหน่งราชินีแห่งไม้ประดับมากจริง ๆ ถ้าใครจะหามาปลูกที่บ้านหรือเพาะขายก็อย่าลืมศึกษาข้อมูลการปลูกด้วยนะคะ เพราะหากดูแลถูกวิธีก็จะช่วยให้ต้นบอนสีมีสีและลวดลายของใบแปลกตา ทรงสวย ปลูกประดับเสริมสิริมงคลก็ดี หรือปลูกเพาะขายเสริมรายได้ก็ได้ 

ขอบคุณข้อมูลจาก panmai.com, natres.psu.ac.th, ptcn.ac.th, eto.ku.ac.th และ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร 

พันธ์ุไม้ที่น่าสนใจ สตอเบอรี่ ผลไม้ที่กินแล้วไม่อ้วน ลองคลิกเข้าไปอ่านได้เลย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
บอนสี ราชินีแห่งไม้ประดับ ต้นไม้มงคลเสริมความสุขความเจริญ อัปเดตล่าสุด 2 พฤศจิกายน 2564 เวลา 11:13:30 210,367 อ่าน
TOP