x close

7 สายพันธุ์มะลิน่าปลูก ดอกไม้แทนรักบริสุทธิ์ของแม่

          ดอกมะลิ สัญลักษณ์แทนความรักอันบริสุทธิ์ของแม่ รู้หรือไม่ว่าดอกมะลิมีเรื่องราวน่าสนใจมากมาย ที่มากกว่ากลิ่นหอม ๆ 


          ดอกไม้ดอกเล็ก ๆ สีขาวบริสุทธิ์อย่าง "ดอกมะลิ" ถูกนำมาใช้เป็นดอกไม้สัญลักษณ์วันแม่ เพราะดอกมะลิเปรียบเสมือนความรักอันบริสุทธิ์ของแม่ที่มีให้ลูกไม่มีวันเสื่อมคลาย และด้วยความหอมที่อบอวลไปได้ไกล อีกทั้งคนไทยนิยมนำดอกมะลิมาร้อยมาลัยบูชาพระ จึงไม่แปลกใจว่า มะลิ เป็นไม้ดอกที่นิยมปลูกกันในสวนที่บ้าน ดังนั้นกระปุกดอทคอมก็ขอนำข้อมูลของ มะลิ ไม้ดอกสีขาวบริสุทธิ์ที่มีกลิ่นหอมชวนดมชนิดนี้มาฝากกัน ไปดูกันซิว่าถ้าหากอยากปลูกต้นมะลิจะต้องทำอย่างไรบ้าง

ลักษณะของต้นมะลิ


ดอกมะลิ

          มะลิ (Jasmine) มีชื่อทางวิทยาสตร์ว่า Jasminum spp. จัดอยู่ในวงศ์ Oleaceae มีถิ่นกำเนิดในเอเชียและคาบสมุทรอาระเบีย มีหลากหลายสายพันธุ์ทั้งไม้เลื้อยและไม้พุ่ม มีอายุหลายปี ผิวเปลือกลำต้นสีขาวมีสะเก็ดรอยแตกเล็กน้อย ลำต้นเล็กกลมแตกกิ่งก้านสาขาไปรอบ ๆ ใบเป็นใบเดี่ยวแตกใบเรียงกันเป็นคู่ ๆ ตามก้านและกิ่ง ลักษณะของใบมนป้อม โคนใบสอบเรียว ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบเป็นมัน สีเขียวเข้ม ขนาดใบกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ออกดอกเป็นช่อ ออกตามส่วนยอดหรือตามง่ามใบ ดอกมีขนาดเล็กสีขาว มีกลีบดอกประมาณ 6-8 กลีบ เรียงกันเป็นวงกลมหรือซ้อนกันเป็นชั้นแล้วแต่ชนิดพันธุ์ ขนาดดอกบานเต็มที่ประมาณ 2-3 เซนติเมตร และผลเป็นรูปกลมรีเล็ก เมื่อสุกจะมีสีดำ ภายในมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด


สายพันธุ์มะลินิยมปลูกเป็นไม้มงคล


1. มะลิซ้อน 


ดอกมะลิ

          มะลิซ้อน (Grand Duke of Tuscany หรือ Rose Jasmine) ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า J. sambac (L.) Aiton ‘Grand Duke of Tuscany’ เป็นมะลิที่มีกลิ่นหอมแรงที่สุด ลำต้นเป็นไม้เลื้อย ใบรูปไข่หรือรูปรี ออกดอกแบบกระจุก ดอกมีกลีบดอกจำนวนมากซ้อนกันมากกว่า 5 ชั้น แต่ละชั้นมีกลีบดอก 10 กลีบขึ้นไป เมื่อบานแล้วกลีบดอกตรงกลางจะไม่ห่อติดกัน ความกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร 

2. มะลิลา 


          มะลิลา (Arabian Jasmine) ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Jasminum sambac (L.) Ait. ‘Mali La’ ลักษณะทั่วไปคล้ายกับมะลิซ้อน แต่กลิ่นอ่อนกว่า ลำต้นเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ความสูงไม่เกิน 3 เมตร ใบรีป้อม ออกดอกเป็นช่อแบบกระจุก กลีบดอกสีขาวมีเพียง 1-2 ชั้น โคนกลีบเกยกันเล็กน้อยและดอกร่วงง่าย 

3. มะลิหลวง


ดอกมะลิ


          มะลิหลวง (Jasminum laurifolium  Roxb. Var.nitidum (Skan) P.S.Green) พรรณไม้นำเข้า เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ใบรูปหอกหนา ผิวใบเรียบเป็นมันวาว กลีบดอกยาวคล้ายมะลิวัลย์ แต่มะลิหลวงจะมีกลีบดอกใหญ่กว่า เมื่อตูมจะมีกลีบดอกสีขาวปนม่วง

4. มะลิวัลย์ 


          มะลิวัลย์ (Maliwan หรือ Angel-hair Jasmine) มีอีกชื่อหนึ่งว่า มะลิป่า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Jasminum adenophyllum Wall. ex C.B. Clarke จัดอยู่ในกลุ่มไม้เลื้อย ลำต้นหรือเถามีขนาดเล็กผิวเกลี้ยงสีน้ำตาลอ่อน ใบรูปมนรี บางแต่แข็ง โคนมน ปลายแหลม แต่เป็นใบคู่ ออกดอกเป็นช่อ ช่อละ 3-6 ดอก เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาด 2.5 เซนติเมตร กลีบดอกยาวและส่งกลิ่นได้ไกล และสามารถออกได้ตลอดทั้งปี 

5. มะลิพวง


ดอกมะลิ

          มะลิพวง หรือ มะลุลี มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Jasminum multiflorum (Burm.f.) Andr. เป็นมะลิสายพันธุ์พื้นเมือง ลำต้นเป็นไม้เลื้อยปกคลุมด้วยขนนุ่มอ่อน ใบรูปขอบขนานแกมใบรูปหอก ออกดอกเป็นช่อแบบกระจุก กลีบดอกสีขาว ปลายกลีบมน แต่ละช่อมี 3 ดอก และมีดอกซ้อน 3-4 ชั้น

6. มะลิฉัตร 


          มะลิฉัตร (Mali Chat) หรือ มะลิฉัตรพิกุล มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Jasminum sambac (L.) Ait. ‘Mali Chat Phikun’ เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ใบรูปรี มีทั้งแบบดอกเดี่ยวและช่อดอกแบบช่อกระจุก กลีบดอกมีหลายชั้นคล้ายมะลิซ้อน แต่กลีบดอกมะลิฉัตรจะมีปลายแหลมขนาดเล็ก เรียงเป็นชั้นประมาณ 3-5 ชั้น กลีบดอกแต่ละชั้นสามารถดึงแยกออกจากกันได้ จึงมีบางพื้นที่เรียกว่า มะลิถอด จัดเป็นมะลิพันธุ์หายากและมีวิธีดูแลรักษาแตกต่างจากมะลิทั่วไป เหมาะสำหรับปลูกในที่ร่มรำไรมากกว่าที่แจ้งมีแสงแดดจัด 

          นอกจากนี้ยังมี มะลิฉัตรดอกบัว (Jasminum sambac (L.) Ait. ‘Mali Chat Dok Bua’) พรรณไม้นำเข้าจากต่างประเทศ เป็นไม้พุ่มใบรูปไข่หรือรูปรี ดอกเดี่ยว กลีบดอกซ้อนกันมากกว่า 5 ชั้น แต่กลีบดอกตรงกลางจะห่อกันกลมแน่น 

7. พุทธชาด


ดอกมะลิ

          พุทธชาด หรือ บุหงาประหงัน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Jasminum auriculatum  Vahl จัดอยู่ในกลุ่มมะลิ เป็นไม้พุ่มรอเลื้อย ใบรูปรี ออกดอกเป็นช่อแยกแขนง กลีบดอกสีขาวขนาดเล็ก แต่ดอกบานเฉพาะช่วงเย็น ส่งกลิ่นหอมไกล เป็นสายพันธุ์ปลูกง่าย ชอบแดด นิยมปลูกประดับตามซุ้มต่าง ๆ   

การขยายพันธุ์ต้นมะลิ


          การขยายพันธุ์ที่นิยมกันมากที่สุดคือ การปักชำ

          1. เตรียมวัสดุเพาะชำ ทรายผสมขี้เถ้าแกลบ อัตราส่วน 1:1 บรรจุในภาชนะ แล้วรดน้ำให้ชุ่ม

          2. เตรียมกิ่งพันธุ์ กิ่งที่ใช้เป็นกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อน ตัดให้มีความยาวของกิ่ง 4 นิ้ว หรือมีข้ออย่างน้อย 3 ข้อ การตัดกิ่งควรตัดให้ชิดข้อ ลิดใบส่วนล่างออก

          3. นำกิ่งมะลิปักชำลงในแปลงชำ ให้มีระยะระหว่างแถวและกิ่ง 2x2 นิ้ว รดน้ำและสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา รักษาความชื้นให้เหมาะสมและคงที่

          4. หลังจากกิ่งปักชำออกรากแล้วให้ย้ายลงปลูกในถุงขนาด 2x3 นิ้ว โดยใส่ดิน+ขุยมะพร้าว+ปุ๋ยคอก อัตรา 3:1:1 จนต้นมะลิแข็งแรงดีแล้วจึงนำไปปลูก

วิธีการปลูกต้นมะลิ


ดอกมะลิ

การปลูกต้นมะลิในกระถาง 


          การปลูกในกระถางเพื่อประดับภายนอกอาคารบ้านเรือน ควรใช้กระถางทรงสูง ขนาด 8-14 นิ้ว ใช้ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก:ดินร่วน อัตรา 1:1:1 ผสมดินปลูกควรเปลี่ยนกระถางปีละครั้ง เพราะการขยายตัวของรากแน่นเกินไป และเพื่อเปลี่ยนดินปลูกใหม่ ทดแทนดินปลูกเดิมที่เสื่อมสภาพไป

การปลูกต้นมะลิลงดินในแปลงปลูก


          การปลูกในแปลงปลูกเพื่อประดับบริเวณบ้านและสวน โบราณนิยมปลูกบริเวณทางเข้าหน้าบ้าน เพื่อเป็นเสน่ห์แก่บ้าน ขนาดหลุมปลูก 30x30x30 เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก:ดินร่วน อัตรา 1:1 ผสมดินปลูก

การดูแลรักษาต้นมะลิ


          - แสงแดด : ต้องการแสงแดดจัด หรือกลางแจ้ง
          
          - การให้น้ำ : ต้องการปริมาณน้ำปานกลาง ควรให้น้ำ 2-7 วัน/ครั้ง ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ อาจจะเพิ่มปริมาณน้ำในช่วงฤดูร้อน และควรรดในตอนเช้า ระวังอย่าให้ดินแฉะ เพราะอาจทำให้ต้นแคระแกร็น ใบเหลือง และตายได้ 
          
          - ดิน : ชอบดินร่วนซุย มีความชุ่มชื้นปานกลาง ระบายน้ำได้ดี
          
          - การใส่ปุ๋ย : ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 0.5-1 กิโลกรัม/ต้น ควรใส่ปีละ 5-6 ครั้ง หรือใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 200-300 กรัม/ต้น ใส่ปีละ 4-6 ครั้ง
          
          - การตัดแต่ง : ควรตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง รวมทั้งตัดกิ่งที่แห้งตายออกด้วย เพื่อลดโรคและแมลง
          
          - การเก็บเกี่ยว : เก็บดอกตูมที่โตเต็มที่ สีขาวนวล วิธีเก็บให้ใช้มือเด็ดตรงก้านดอกใต้กลีบเลี้ยง ควรเก็บดอกเวลาเช้ามืด 03.00-04.00 น.

สรรพคุณของต้นมะลิ


          ประโยชน์ทางสมุนไพรของมะลิมีแทบทุกส่วนเลยก็ว่าได้ ไล่กันไปตั้งแต่รากเรื่อยไปจนถึงดอกทีเดียว ดังนี้

          ราก : ใช้แก้ได้สารพัดโรค ทั้งปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก เลือดออกตามไรฟัน รวมทั้งช่วยรักษาหลอดลมอักเสบได้ด้วย หากนำรากมาฝนกินกับน้ำ แก้ร้อนในได้ดี คนที่ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับทรวงอก ให้นำรากมาประมาณ 1-1.5 กรัม ต้มน้ำกินก็ช่วยได้

          ใบ : ใช้แก้ไข้ที่เกิดจากอาการเปลี่ยนแปลงได้ดี รวมทั้งรักษาอาการปวดท้อง แน่นท้อง ท้องเสีย หากนำใบมาตำแล้วละลายกับน้ำปูนใส แต้มแผลฟกช้ำ แผลเรื้อรัง โรคผิวหนังจะหายไวขึ้น ตลอดจนช่วยบำรุงสายตา และขับน้ำนมสตรีที่มีครรภ์ได้ด้วย

          ดอก : ดอกมะลินอกจากความสวยและความหอมแล้ว ยังแก้โรคบิด อาการปวดท้อง หากตำให้ละเอียดพอกที่ขมับ แก้อาการปวดหัวและปวดหูชั้นกลางได้ แถมยังช่วยรักษาแผลพุพอง แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย รวมทั้งเป็นยาบำรุงหัวใจได้อย่างดีเยี่ยมอีกขนานหนึ่งด้วย

ประโยชน์ของต้นมะลิ


          คนสมัยก่อนนอกจากจะนิยมปลูกดอกมะลิเอาไว้เป็นไม้ดอกไม้ประดับ เพื่อชื่นชมกับดอกสีขาวสวยนุ่มนวลชวนมองแล้ว เขายังเก็บดอกมะลิตูมมาใส่พาน หรือถ้ามีเวลาว่างพอก็จะนำมาร้อยเป็นมาลัยกราบบูชาพระอีกด้วย กลิ่นหอมอ่อน ๆ อบอวลของดอกมะลิที่อยู่ในห้องพระ ให้ความรู้สึกสงบใจอีกต่างหาก

          นอกจากนี้ยังนำดอกมะลิมาลอยในน้ำดื่มเย็น ๆ ให้แขกผู้มาเยือนได้ดื่มกันอย่างชื่นอกชื่นใจ หรือจะนำดอกมะลิไปลอยในน้ำเชื่อมกินกับขนมหวานไทย ทำให้มีกลิ่นหอมชวนกิน แต่ทั้งนี้ต้องมั่นใจว่าดอกมะลิที่นำมาใช้ไม่ได้ฉีดยาฆ่าแมลง นอกจากนี้สรรพคุณทางยาของต้นมะลิก็มีไม่แพ้ต้นไม้อื่น ๆ เลยล่ะค่ะ

          นอกจากจะเป็นตัวแทนความรักของแม่แล้ว มะลิ ยังเป็นดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมน่าปลูกจัดสวนไม่น้อย แถมแต่ละสายพันธุ์ยังมีเอกลักษณ์และความสวยงามที่น่าสนใจไม่แพ้กัน แถมยังปลูกง่าย มีสรรพคุณทางยาและประโยชน์อีกมากมาย ใครสนใจก็ลองนำมาปลูกที่บ้านกันดูนะคะ 

เรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับต้นมะลิ : 



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
7 สายพันธุ์มะลิน่าปลูก ดอกไม้แทนรักบริสุทธิ์ของแม่ อัปเดตล่าสุด 8 สิงหาคม 2566 เวลา 13:47:58 119,545 อ่าน
TOP