x close

10 ทักษะการซ่อมแซมบ้านที่คุณควรรู้ ก่อนย้ายไปอยู่บ้านเช่า

10 ทักษะการซ่อมแซมบ้านที่คุณควรรู้ ก่อนย้ายไปอยู่บ้านเช่า

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

           ถ้าคุณกำลังจะย้ายไปอยู่บ้านเช่าหรือบ้านมือสอง แน่นอนว่าอาจจะมีปัญหาการเสื่อมสภาพของสิ่งของภายในบ้านให้คุณต้องกลุ้มใจบ้างแน่ ๆ แต่จะให้เปลี่ยนใหม่ซะทั้งหมด ก็คงจะใช้งบประมาณเยอะพอสมควร ดังนั้นอะไรที่สามารถซ่อมแซมด้วยตัวเองได้ ก็ลงมือจัดการเองซะเถอะ จะได้ช่วยประหยัดเงินไปได้อีกหน่อย ดังนั้นวันนี้กระปุกดอทคอมจึงมีวิธีซ่อมแซมบ้านง่าย ๆ ที่คุณควรรู้ไว้มาฝากกันค่ะ เผื่อเจอกับปัญหาต่าง ๆ จะได้สามารถแก้ไขด้วยตัวเองได้โดยทำตามวิธีเหล่านี้

1. ก๊อกน้ำรั่ว

           หากคุณพบว่าก๊อกน้ำในบ้านรั่ว แม้จะบิดก๊อกจนสุดแล้วแต่ก็ยังมีน้ำหยดอยู่เรื่อย ๆ ให้คุณปิดวาล์วน้ำให้สนิทเสียก่อน แล้วก็ใช้คีม หรือประแจ เลื่อนหมุนข้อต่อบริเวณด้านล่างของก๊อกส่วนที่ติดกับท่อ ถอดก๊อกเก่าออกมาก่อน แล้วพันเทปที่ปลายท่อประมาณ 3 - 4 รอบจากนั้นก็ค่อยสวมหัวก๊อกใหม่ลงไป หรือคุณอาจจะลองเปลี่ยนแหวนยางที่บริเวณหัวก๊อกดูก่อนก็ได้

10 ทักษะการซ่อมแซมบ้านที่คุณควรรู้ ก่อนย้ายไปอยู่บ้านเช่า

2. การเคลื่อนย้ายเฟอร์นิเจอร์หนัก ๆ

           สำหรับคนที่อยากจะจัดตำแหน่งเฟอร์นิเจอร์ หรือของใช้ภายในบ้านที่มีน้ำหนักมาก ให้คุณใช้ผ้าหรือแผ่นพลาสติกรองใต้เฟอร์นิเจอร์ หรือของใช้ชิ้นใหญ่ก่อนเคลื่อนย้าย เพื่อป้องกันการเสียดสี และรอยขีดข่วนบนพื้น อีกทั้งยังช่วยให้คุณเคลื่อนย้ายของใช้ต่าง ๆ ไปจัดวางตำแหน่งอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

3. วิธีติดตั้งสิ่งของบนผนัง

           เช่น ตู้เก็บของ ชั้นวางของ หรือของตกแต่งต่าง ๆ ก่อนจะติดตั้งคุณควรกำหนดตำแหน่งที่คุณต้องการเสียก่อน ถ้าเป็นผนังกระเบื้องควรใช้เทปพลาสติกใสติดลงไปก่อน จากนั้นก็วางปลายของหัวสว่านให้ตรงกับจุดที่คุณขีดไว้ให้ตรง แล้วออกแรงดันไปพร้อม ๆ กับตอนที่คุณกำลังเจาะผนัง ทั้งนี้คุณควรถือสว่านให้ตรงขนานกับพื้น เพราะถ้าหากคุณจับสว่านเบี้ยว จะทำให้ผนังรอบ ๆ หลุดร่อนได้ จากนั้นเมื่อเจาะเสร็จแล้วก็นำหลอดพลาสติกเล็ก ๆ ใส่เข้าไปก่อน แล้วจึงนำสิ่งของขึ้นไปแขวน แล้วไขนอตยึดลงไปอีกครั้งจะทำให้มั่นคงขึ้น

4. หลอดไฟดับ

           ถ้าคุณได้ยินเสียงแปลก ๆ จากหลอดไฟ หรือเปิดสวิตช์แล้วหลอดไฟไม่สว่าง ให้ถอดหลอดไฟออกมา เพื่อเช็กที่ขั้วหลอดไฟก่อนเป็นอันดับแรก เพราะอาจจะมีฝุ่นผงติดอยู่ซึ่งทำให้กระแสไฟฟ้าไม่สามารถไหลผ่านไปได้ ในกรณีนี้ให้ใช้ผ้าแห้งเช็ดออกให้สะอาดแล้วใส่กลับเข้าไปที่เดิม แต่ถ้าหากบริเวณขั้วหลอดมีลักษณะคล้าย ๆ เขม่าสีดำเกาะติดอยู่ ให้เปลี่ยนหลอดใหม่ได้เลยทันที

10 ทักษะการซ่อมแซมบ้านที่คุณควรรู้ ก่อนย้ายไปอยู่บ้านเช่า

5. สวิตช์ หรือปลั๊กไฟเสีย

           ในกรณีที่สวิตช์หรือปลั๊กไฟชำรุดเสียหาย ให้คุณลองเช็กไฟดูก่อน โดยการใช้ไขควงหรือเครื่องวัดไฟ จิ้มลงไปที่ปลายสายไฟสีแดง หากปรากฏประกายไฟขึ้นที่ไขควงหรือเครื่องวัดไฟ ก็แสดงว่าสายไฟยังปกติอยู่ แต่ถ้าหากทดสอบแล้วไม่มีประกายไฟใด ๆ ปรากฏขึ้น แสดงว่าสายไฟของคุณอาจจะเสื่อมสภาพ หรือเกิดการฉีกขาด ดังนั้นในกรณีหลังควรเรียกช่างหรือผู้ชำนาญมาเปลี่ยนสายไฟให้เลยจะดีกว่า

6. ประตูไม้ปิดไม่สนิท

           ความชื้นจากสภาพอากาศ หรือหลังจากน้ำท่วม อาจจะทำให้เนื้อไม้ของประตูขยายใหญ่ขึ้น ในกรณีเช่นนี้ให้คุณถอดประตูออกมา แล้วทิ้งไว้ให้เนื้อไม้ทั้งหมดแห้งเสียก่อน จากนั้นหากทดสอบดูแล้วยังไม่สามารถปิดประตูอีก ให้คุณใช้กบไสไม้ปรับแต่งบริเวณขอบประตู แล้วขัดด้วยกระดาษทรายให้เรียบ และตกแต่งสีใหม่อีกเล็กน้อย ส่วนบริเวณข้อต่อบานพับของประตู อย่าลืมหยดน้ำมันหล่อลื่นลงไปด้วยนะ เพียงเท่านี้ประตูก็กลับมาใช้ได้เหมือนเดิมแล้วล่ะ

7.  เกิดอัคคีภัย

           ของอีกหนึ่งอย่างที่คุณควรจะมีติดบ้านเอาไว้ก็คือ ถังดับเพลิง เพื่อเอาไว้ป้องกันอัคคีภัยที่อาจจะเกิดขึ้น วิธีใช้ถังดับเพลิงนั้นก็ไม่ยาก เพียงแค่คุณดึงสลักด้านหลังออก จากนั้นฉีดโฟมลงไปในลักษณะแนวนอนจนกว่าไฟจะดับลง จากนั้นก็เรียกหน่วยดับเพลิงมาช่วยตรวจเช็กสภาพอีกที เพราะอาจจะมีประกายไฟหลงเหลืออยู่ก็เป็นได้

8. ถังแก๊สรั่ว

           หากคุณได้กลิ่นแก๊ส ให้คุณตรวจเช็กและปิดวาล์วแก๊สให้สนิท จากนั้นก็ดับไฟทุกดวงในบ้าน และงดใช้การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดชั่วคราว ทั้งคอมพิวเตอร์ พัดลม หรือโทรทัศน์ รวมไปถึงโทรศัพท์บ้านและโทรศัพท์มือถือ เพราะอาจจะทำให้เกิดประกายไฟได้ จากนั้นก็เปิดหน้าต่างเพื่อระบายแก๊สออกโดยเร็วที่สุด ให้ขอความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านเพื่อเรียกช่างมาตรวจเช็คแก้ไขอย่างเร่งด่วน

10 ทักษะการซ่อมแซมบ้านที่คุณควรรู้ ก่อนย้ายไปอยู่บ้านเช่า

9. นอตหลวม

           บานพับบริเวณต่าง ๆ ของบ้าน อย่างเช่น บานพับประตู บานพับหน้าต่าง หรือบานพับประตูตู้ แรงกระแทกจากการเปิด-ปิดอาจจะทำให้รูนอตหลวม ในกรณีเช่นนี้ ให้คุณถอนบานพับออกมา จากนั้นใส่เดือยไม้ หรือหมุดไม้ลงไปในรู หากมีส่วนที่เหลือยื่นออกมาให้คุณใช้เลื่อยหรือมีดตัดออก จากนั้นก็ใช้สว่านเจาะรูเข้าไปใหม่ เพียงเท่านี้คุณก็สามารถนำบานพับกลับมาติดตั้งได้เหมือนเดิมแล้วล่ะ แถมบานพับก็ยังติดแน่นขึ้นอีกด้วย

10. ปั๊มถังชักโครก

           ปัญหาที่เกิดขึ้นกับปั๊มในถังชักโครกส่วนใหญ่มักจะเกิดจากลูกยางซีลระหว่างท่อกับถังชักโครกเสื่อม หรือลูกลอยหัก เป็นต้น ดังนั้นก่อนทำการซ่อมแซมควรปิดวาล์วน้ำที่ท่อส่งน้ำเสียก่อน จากนั้นก็ลองตรวจเช็กลูกยางหรือลูกลอยว่าสภาพยังดีอยู่หรือไม่ เพราะทั้งสองอย่างนี้สามารถซื้อมาเปลี่ยนใหม่ได้ แต่หากเป็นระบบอื่น ๆ เช่น ระบบการสูบน้ำ ควรเรียกช่างหรือผู้ชำนาญการมาตรวจเช็กและแก้ไขจะดีกว่า


           เห็นไหมล่ะว่าวิธีการซ่อมแซมง่ายกว่าที่คุณคิด ดังนั้นหากมีของใช้ภายในบ้านเช่าหรือบ้านมือสองของคุณชำรุด ก็ลองซ่อมแซมด้วยตัวเองเสียก่อน หากไม่สามารถแก้ไขได้จริง ๆ ค่อยเรียกช่างมาดูแล ปรับปรุง ซ่อมแซมกันอีกครั้ง อีกทั้งหากรู้วิธีแก้ไขเอาไว้ก่อนก็ทำให้รู้สึกอุ่นใจขึ้นอีกเยอะเลยล่ะ คราวนี้คุณก็สามารถขนข้าวของย้ายเข้าบ้านใหม่ได้แบบไม่ต้องกังวลแล้วจ้า







เรื่องที่คุณอาจสนใจ
10 ทักษะการซ่อมแซมบ้านที่คุณควรรู้ ก่อนย้ายไปอยู่บ้านเช่า อัปเดตล่าสุด 9 พฤศจิกายน 2555 เวลา 16:19:46 2,083 อ่าน
TOP