x close

8 เรื่องที่มักเข้าใจผิด ในการทำความสะอาด

เรื่องที่มักเข้าใจผิด ในการทำความสะอาด

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          เทคนิคในการทำความสะอาดนั้นมีมากมาย ซึ่งหลายคนอาจนำไปใช้แล้วได้ผล หรือบางคนก็อาจจะมีเทคนิคที่เหนือชั้นกว่า แต่ทราบไหมคะ..ว่าบรรดาเทคนิคและความเชื่อในเรื่องการทำความสะอาดทั้งหลายนั้น ก็อาจจะมีบ้างที่ไม่ตรงกับหลักความจริงและเข้าใจผิดเพี้ยนไป ถ้าอย่างนั้นเรามาดูกันดีกว่า ว่าเคล็ดลับที่คนมักจะเข้าใจกันผิด ๆ จะมีอะไรบ้าง

 1. น้ำยาทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคได้ทุกชนิด

          น้ำยาทำความสะอาดสามารถกำจัดเชื้อแบคทีเรียได้ถึง 99.99% ก็จริง แต่ก็ไม่ได้มีฤทธิ์พอจะกำจัดเชื้อไวรัสและเชื้อโรคที่อาจจะเป็นสาเหตุในการเจ็บป่วยของเราได้หมดจด เพราะฉะนั้นควรจะใช้น้ำยาให้ถูกจุด โดยใช้น้ำยาทำความสะอาดกับบริเวณจุดอับ หรือตามลิ้นชักหรือตู้ที่มีความอับชื้น ซึ่งมักจะเป็นที่อยู่ของเชื้อแบคทีเรีย และควรใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดในจุดที่มีเชื้อโรคสะสมอยู่มาก อย่างอ่างล้างจาน หรือบริเวณท่อน้ำทิ้งในห้องน้ำ เพราะน้ำยาฆ่าเชื้อโรคมีคุณสมบัติกำจัดเชื้อโรคได้หลายสายพันธุ์มากกว่า

2. เช็ดตามได้ทันที หลังฉีดน้ำยาทำความสะอาด

          โดยปกติแล้วน้ำยาทำความสะอาดจะต้องมีเวลาในการปฏิบัติการฆ่าเชื้อโรคที่อยู่ตามพื้นผิววัสดุประมาณ 10 วินาที หรือมากกว่านั้น ส่วนน้ำยาฆ่าเชื้อโรคจะต้องใช้เวลา 30 วินาทีในกำจัดเชื้อโรคเช่นกัน เพราะฉะนั้นคงไม่ดีแน่ถ้าคุณจะใช้ผ้าเช็ดทำความสะอาดทันที หลังจากฉีดน้ำยาทิ้งไว้แค่ 2-3 วินาที เพราะน้ำยาคงยังไม่ทันออกฤทธิ์ได้เต็มประสิทธิภาพ แต่ก็อย่าเผลอฉีดทิ้งไว้จนแห้งและสร้างความเสียหายนะคะ แค่ทิ้งไว้ตามเวลาบนฉลากก็พอ

3. น้ำยาฟอกขาวใช้ได้ดีกับวัสดุทุกชนิด

          ข้อดีของน้ำยาฟอกขาวคือ ใช้ดีและถูก แต่น้ำยาฟอกขาวมีฤทธิ์กัดกร่อนรุนแรง เพื่อจะกัดคราบสกปรกต่าง ๆ ให้หลุดออกไปและคืนความขาวใสให้พื้นวัสดุ เพราะฉะนั้นจึงเหมาะจะใช้กับการทำความสะอาดโต๊ะหินอ่อน หรือพื้นหินอ่อนมากกว่า ไม่ใช่จะสามารถใช้ได้กับวัสดุทุกชนิดอย่างที่เข้าใจ แถมยังไม่ได้ช่วยกำจัดเชื้อโรคและเชื้อแบคทีเรียอีกด้วย ดังนั้นหากต้องการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคไปพร้อม ๆ กัน ก็คงต้องมองหาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ได้ดีกว่านี้แล้วล่ะค่ะ

4. ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติใช้แทนน้ำยาเคมี

          น้ำยาทำความสะอาดจากธรรมชาติอย่าง น้ำส้มสายชูผสมน้ำมะนาว มีคุณสมบัติทำความสะอาดคราบสกปรกเท่านั้น แต่ไม่มีผลกับการฆ่าเชื้อโรคเท่าไร แม้น้ำส้มสายชู 100% จะสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ แต่ก็ยังไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคหวัดอยู่ดี เพราะฉะนั้นควรใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคเช็ดทำความสะอาดแทนดีกว่า หรือถ้าไม่อยากเสี่ยงกับสารเคมี ผลิตภัณฑ์ประเภท โฮมเมด คลีนเนอร์ ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อยค่ะ


เรื่องที่มักเข้าใจผิด ในการทำความสะอาด

5. กลิ่นหอมแปลว่าสะอาด

          หลายคนชอบเผลอคิดว่ากลิ่นหอม ๆ จากบริเวณต่าง ๆ ภายในบ้านคือ กลิ่นของความสะอาด และเข้าใจไปเองว่าเป็นเพราะพื้นบริเวณนั้น ๆ สะอาดแล้ว จึงส่งกลิ่นหอมๆ ออกมา แต่ในความเป็นจริงแล้ว กลิ่นหอมนั้นมาจากน้ำหอมที่ใส่ในน้ำยาทำความสะอาดต่างหาก เพราะฉะนั้นอย่าเผลอวัดความสะอาดจากความหอมกันเชียวล่ะ เพราะไม่แน่ว่าภายใต้กลิ่นหอมสดชื่น อาจจะมีเชื้อโรคอยู่เป็นร้อยเป็นพันก็ได้

6. ซักผ้าด้วยน้ำอุณภูมิปกติเพื่อประหยัดไฟ

          การซักผ้าด้วยน้ำที่มีอุณหภูมิประมาณ 140 องศา จะช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสที่อยู่ในเสื้อผ้าได้อย่างอยู่หมัด แต่เรามักกังวลว่าจะเป็นการสิ้นเปลืองพลังงานโดยใช่เหตุ จึงซักผ้าด้วยอุณหภูมิปกติอยู่บ่อย ๆ ซึ่งก็ทำให้เชื้อโรคต่าง ๆ ยังคงหลงเหลืออยู่บนเสื้อผ้านั่นเอง โดยเฉพาะผ้าหนา ๆ  อย่างผ้าขนหนู กางเกงยีนส์ เป็นต้น ดังนั้นจึงควรหันมาใช้น้ำอุณหภูมิสูง ๆ ในการซักผ้าจะดีกว่า นอกจากนี้เพื่อสุขอนามัยที่ดี ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังจากจับเสื้อผ้าที่ยังไม่ได้ซักด้วยนะคะ

7. เครื่องซักผ้าสะอาดและไม่มีเชื้อโรค

          คิดดูสิว่าเสื้อผ้าสกปรกที่ถูกซักรวมกันนั้นจะมีเชื้อโรคและแบคทีเรียมากมายขนาดไหน และเชื้อโรคที่ไม่ได้ถูกกำจัดเหล่านี้ก็มีโอกาสจะกลับไปเกาะแกะเสื้อผ้าชิ้นอื่น ๆ ที่ถูกนำมาซักในรอบใหม่อีกก็ได้ ฉะนั้นอย่าชะล่าใจเลยค่ะ ลงมือทำความสะอาดเครื่องซักผ้าสัปดาห์ละครั้งด้วยวิธีใส่น้ำยาฆ่าเชื้อลงไปในเครื่องซักผ้า ตั้งโปรแกรมซักด้วยน้ำร้อน เลือกน้ำในระดับที่ต่ำสุด แล้วก็จัดการกดปุ่มสตาร์ทให้เครื่องทำงานตามปกติจะดีกว่า  ส่วนใครที่ชอบทิ้งเสื้อผ้าที่ยังไม่ได้ซักไว้ในเครื่องซักผ้าแบบข้ามคืน ก็ควรจะหาตะกร้ามาใส่เสื้อผ้าเหล่านี้แทน เพื่อลดโอกาสตกค้างของเชื้อโรคในเครื่องซักผ้า

8. ดูดฝุ่นบ่อย ๆ จะทำให้พรมเป็นขุย

          จริง ๆ แล้วเครื่องดูดฝุ่นเป็นตัวช่วยกำจัดฝุ่นและเศษสกปรกที่ตกหล่นอยู่ในพื้นพรม ซึ่งถือเป็นการรักษาพรมให้มีอายุการใช้งานที่นานขึ้น เพราะสิ่งที่เป็นตัวบ่อนทำลายตัวจริง ก็คือเศษฝุ่นและเศษสกปรกที่ฝังตัวอยู่ในพื้นพรมต่างหาก รู้อย่างนี้แล้วก็ควรดูดฝุ่นให้บ่อยขึ้นแล้วล่ะ โดยถูไปข้างหน้าแล้วดึงกลับเข้าหาตัว แต่ไม่ควรจ่อที่ดูดฝุ่นตรงส่วนที่เป็นตะเข็บของพรมโดยตรง เพราะอาจจะทำให้พรมเสียรูปได้ และหมั่นเทฝุ่นในถุงเก็บฝุ่นทิ้งบ่อย ๆ จะได้ใช้เครื่องดูดฝุ่นอย่างเต็มประสิทธิภาพ อย่าเป็นห่วงพรมจนลืมห่วงสุขภาพตัวเองนะจ๊ะ


          ใครเคยเข้าใจผิด ๆ เหมือน 8 ข้อเหล่านี้ ก็ลองปรับเปลี่ยนความเข้าใจเสียใหม่นะคะ เพื่อการทำความสะอาดอย่างถูกหลักอนามัยที่แท้จริง ตามแบบฉบับแม่บ้านยุคใหม่จ้า ^^








เรื่องที่คุณอาจสนใจ
8 เรื่องที่มักเข้าใจผิด ในการทำความสะอาด อัปเดตล่าสุด 8 พฤษภาคม 2556 เวลา 15:25:27 12,154 อ่าน
TOP