x close

วิธีเตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อน ลดเสี่ยงอันตรายจากอากาศแปรปรวน

วิธีรับมือ พายุฤดูร้อน

          กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะวิธีเตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อน ลดเสี่ยงอันตรายจากอากาศแปรปรวน 

          ช่วงฤดูร้อนหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจาก พายุฤดูร้อน หรือ พายุฟ้าคะนอง (Thunderstorms) ซึ่งสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ทั้งนี้เพื่อลดความเสียหายที่เกิดขึ้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย จึงขอแนะนำวิธีเตรียมพร้อมรับมือก่อนเกิดพายุฤดูร้อนเพื่อความปลอดภัย ดังนี้ 
วิธีรับมือ พายุฤดูร้อน

การเตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อน

          หมั่นติดตามพยากรณ์อากาศ หากมีประกาศเตือนพายุฤดูร้อนให้ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด รวมถึงตรวจสอบอาคารบ้านเรือนให้อยู่ในสภาพปลอดภัย โดยเฉพาะประตู หน้าต่าง และหลังคาบ้าน เลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่แข็งแรงทนทาน 

          ติดตั้งสายล่อฟ้าและจัดเก็บสิ่งของที่ปลิวตามลมได้ในที่มิดชิด เพื่อป้องกันสิ่งของถูกพายุพัดเสียหายและได้รับอันตรายจากการถูกสิ่งของพัดกระแทก ตลอดจนตัดแต่งกิ่งไม้และโค่นต้นไม้ที่เสี่ยงต่อการหักหรือล้ม พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง โดยเฉพาะเสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา เสาสัญญาณโทรศัพท์ 

          ส่วนเกษตรกรควรจัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือที่กำบังปกคลุมผลผลิตทางการเกษตร สำหรับการปฏิบัติตนขณะเกิดพายุฤดูร้อน 

กรณีอยู่ในอาคาร 

          ไม่อยู่บริเวณดาดฟ้าหรือใกล้ระเบียง เพราะเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า ปิดประตูและหน้าต่างให้มิดชิด เพื่อป้องกันอันตรายจากแรงลมพัดสิ่งของเข้ามาในบ้าน งดใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อป้องกันเครื่องใช้ไฟฟ้าเสียหายและผู้ใช้งานได้รับอันตรายจากฟ้าผ่า รวมถึงไม่อยู่บริเวณที่เสี่ยงต่อการแตกหัก อาทิ หลังคาสกายไลท์ ประตู หน้าต่างที่เป็นกระจก เพื่อป้องกันอันตรายจากลูกเห็บตกใส่ 

วิธีรับมือ พายุฤดูร้อน

กรณีอยู่กลางแจ้ง 

          ควรอยู่ให้ห่างจากวัตถุที่เป็นโลหะหรือสื่อนำไฟฟ้า อาทิ รางรถไฟ เพิงสังกะสี เพราะเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า อีกทั้งงดใช้เครื่องมือสื่อสารและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพราะแบตเตอรี่มีส่วนผสมของโลหะ จะเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้า ทำให้เสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า 

 ทั้งนี้ไม่ควรเข้าไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงอันตราย โดยเฉพาะใต้ต้นไม้ใหญ่ ใกล้ป้ายโฆษณา เสาไฟฟ้า หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง เพราะเสี่ยงต่อการถูกล้มทับ อีกทั้งหลีกเลี่ยงการพกพาและสวมใส่เครื่องประดับที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า อาทิ ทองคำ ทองแดง นาก เงิน และร่มที่มียอดเป็นโลหะ เพราะอาจทำให้ได้รับอันตรายจากการถูกฟ้าผ่าได้ 

หลังเกิดพายุฤดูร้อน 

          ควรสำรวจความเสียหายของพื้นที่ หากมีผู้บาดเจ็บให้นำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ห้ามเข้าใกล้บริเวณที่ต้นไม้ล้ม หรือสายไฟฟ้าขาด พร้อมทำเครื่องหมายแจ้งเตือนเป็นเขตอันตราย และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการแก้ไขหรือซ่อมแซม 

          ทั้งนี้การเตรียมพร้อมรับมือและเรียนรู้การปฏิบัติตนเมื่อเกิดพายุฤดูร้อน จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย ทำให้ดำเนินชีวิตในช่วงที่เกิดภัยได้อย่างปลอดภัย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก 
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)  

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีเตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อน ลดเสี่ยงอันตรายจากอากาศแปรปรวน อัปเดตล่าสุด 5 เมษายน 2561 เวลา 17:39:43 8,499 อ่าน
TOP