ไหว้ศาลพระพรหมที่บ้านอย่างไรให้ถูกต้อง สวดคาถาอะไร ? ใช้ธูปกี่ดอก ? ขอพรอย่างไรให้สมดังปรารถนา วันนี้เรามีคำตอบมาฝาก
การไหว้เทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ถือว่าอยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน และหนึ่งในเทพเจ้าทางฮินดูหรือตามคติเทวะมันตราพยากรณ์ที่คนไทยเชื่อถือและได้รับการกราบไหว้บูชาอย่างมากคือ พระพรหม นั่นเอง ซึ่งการไหว้พระพรหมนั้นเป็นความเชื่อที่ได้รับสืบทอดมาว่า ถ้าขอพรกับพระพรหมแล้ว พระพรหมจะเสกให้ได้ดังที่ใจหวัง ทำให้มีการตั้งศาลพระพรหมไว้สักการะกันมากมาย วันนี้กระปุกดอทคอมเลยมีขั้นตอนในการไหว้ศาลพระพรหมที่บ้าน วิธีการไหว้อย่างไรให้ถูกวิธี รวมถึงบทสวดมนต์หรือคาถาบูชา และของไหว้ต่าง ๆ มาฝากกันค่ะ
ในความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู พระพรหม เป็น 1 ใน 3 มหาเทพ หรือที่รู้จักกันในนามเรียกว่า ตรีมูรติ อันประกอบด้วย พระนารายณ์ พระอิศวร และพระพรหม ที่ถือว่าเป็นผู้สรรค์สร้างสรรพสิ่งในโลก รวมถึงสวรรค์และมนุษย์
รูปลักษณ์ของพระพรหมมี 4 พักตร์ (หน้า) 4 กร (มือ) หรือบางที่ก็ว่ามี 8 กร ถือศาสตราวุธ ได้แก่ ธารพระกร (ไม้เท้า) หม้อน้ำ คัมภีร์ และดอกบัว มีลูกประคำคล้องพระศอ (คอ) มีหงส์เป็นพาหนะ นอกจากศาสตราวุธดังที่กล่าวมาแล้วนั้น พระพรหมยังมีศาสตราวุธอื่น ๆ อีก เช่น ธนู หอก กระจก สังข์ ดาบ มีด คทา จักร หรือเครื่องดนตรีต่าง ๆ ตามแต่ช่างจะสร้างสรรค์ขึ้นมา
โดยพระองค์ถือเป็นเทพที่มีคุณธรรมสูงสุด เปี่ยมไปด้วยความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ทรงรับฟังคำอธิษฐานของผู้ศรัทธาเสมอ หากผู้บูชาเป็นผู้หมั่นกระทำความดี มีจิตใจเอื้ออารี ก็จะได้รับการบันดาลพรให้มีแต่ความสุขและสมหวัง
ควรจัดตั้งศาลพระพรหมไว้ที่แจ้ง เช่น หน้าบ้านหรือหน้าอาคารของหน่วยงาน สวนหย่อมของหมู่บ้าน หรือตามสี่แยก ซึ่งที่เห็นเด่นชัดจนหลายคนผ่านไปผ่านมาต้องยกมือไหว้คือ ศาลพระพรหม ที่สี่แยกราชประสงค์ นั่นเอง โดยมีความเชื่อว่า ถ้ายิ่งมีผู้มากราบไหว้บูชาพระพรหมมากเท่าไร จะยิ่งทำให้พระพรหมมีบารมีมากขึ้นเท่านั้น และเมื่อมีบารมีมากขึ้น การขอพร ขอตรวจหวยก็จะยิ่งสัมฤทธิผลหรือสมดั่งใจหวังมากขึ้นด้วยเช่นกัน
สำหรับคนที่อยากจะบูชาพระพรหมไว้ในบ้านก็สามารถทำได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่ประพฤติตนดีงามอยู่ในศีลในธรรมอย่างเคร่งครัด เพื่อทำให้การบูชาส่งผลดีต่อตัวเองและครอบครัวด้วย
เพื่อให้การตั้งศาลพระพรหมบังเกิดผลดี มีความเจริญรุ่งเรืองแก่เจ้าของบ้านหรือกิจการ มีหลักการในการตั้งศาล ดังนี้
- ที่ตั้งศาลต้องเป็นบริเวณพื้นดิน โดยเป็นพื้นที่ยกสูงขึ้นมาเล็กน้อยประมาณ 1 คืบ หากไม่มีพื้นที่ที่เป็นพื้นดิน สามารถตั้งศาลบนชั้นดาดฟ้าได้ แต่ใด ๆ ก็ตามบริเวณนั้นจะต้องไม่มีเงาของตัวบ้านทอดลงมาทับ
- ที่ตั้งของศาลควรอยู่ห่างจากบริเวณที่ตั้งของห้องน้ำ และไม่ควรหันหน้าศาลเข้าสู่บริเวณที่ตั้งของห้องน้ำ
- ไม่ควรตั้งศาลให้หันหน้าตรงกับประตูด้านหน้าบ้าน และตั้งศาลให้ห่างจากรั้วหรือกำแพงอย่างน้อย 1 เมตร รวมถึงไม่ควรตั้งศาลให้อยู่ใกล้กับตัวอาคารมากนัก
- ความสูงของศาล ควรสูงเหนือระดับสายตาขึ้นไปเล็กน้อย
- ควรเลือกใช้เทวาลัยที่เปิดออกทั้ง 4 ทิศ
- ที่สำคัญ ทำเลและทิศในการตั้งศาลต้องเลือกให้เหมาะสม โดยการเชิญพราหมณ์มาดูสถานที่และฤกษ์ยามในการตั้งศาลก่อน
เมื่อกำหนดพื้นที่ในการตั้งศาลพระพรหมเรียบร้อย ก็มาถึงขั้นตอนการตั้งศาล ดังนี้
- เตรียมอุปกรณ์ตั้งศาล เช่น องค์พระพรหม ตุ๊กตาชาย-หญิง ตุ๊กตาช้าง-ม้า กระถางธูป แจกัน เชิงเทียน ธูป เทียน ด้ายสายสิญจน์ และอื่น ๆ รวมถึงเครื่องสังเวย เช่น บายศรี ผลไม้มงคล ขนมคาว-หวาน หมาก-พลู พวงมาลัยดาวเรือง และดอกไม้สด ให้พร้อม
- เมื่อถึงฤกษ์ตามวันที่กำหนด พราหมณ์ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ โดยจะวางสิ่งของมงคล เช่น แผ่นเงิน-ทอง-นาค อิฐเงิน-ทอง-นาค พลอยนพเก้า ข้าวตอก ถั่ว งา ดอกไม้ 9 สี และไม้มงคล 9 ชนิด ไว้ในฐานชิ้นล่างสุดของศาลพระพรหม
- พราหมณ์สวดมนต์ทำพิธี และอัญเชิญองค์พระพรหมขึ้นสู่ศาล
- เมื่อทำพิธีเสร็จแล้ว เชิญเจ้าของสถานที่ไหว้และแจกจ่ายอาหารให้กับบริวาร
การไหว้พระพรหมนั้นสามารถไหว้ได้ทุกวันตามความเหมาะสมและความสะดวกของผู้ไหว้ แต่อย่างไรก็ตาม มีความเชื่อนับตั้งแต่อดีตว่าไม่นิยมไหว้พระพรหมในวันพระ เนื่องจากพระพรหมนั้นจะเสด็จไปปฏิบัติธรรม ทำให้ไม่ได้ยินคำขอของผู้ไหว้นั่นเอง โดยใช้ของไหว้ดังนี้
- ดอกไม้ : เช่น ดอกมะลิ ดาวเรือง ดอกบัว ดอกโมก หรือดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ
- กำยานและธูป : ใช้จุดได้ทุกกลิ่น
- อาหาร : ควรเป็นขนมหวานรสอ่อน เน้นธรรมชาติให้มากที่สุด และห้ามถวายเนื้อสัตว์โดยเด็ดขาด
- ผลไม้ : ถวายได้ทุกชนิด แนะนำมะพร้าว สาลี่ ชมพู่ กล้วย เพราะมีความหมายที่ดี ถือเป็นผลไม้มงคลและช่วยเสริมดวงในด้านต่าง ๆ ได้
การบูชาไหว้ศาลพระพรหม ซึ่งเป็นมหาเทพในศาสนาพราหมณ์ จำเป็นต้องสวดบูชาพระพิฆเนศก่อนทุกครั้ง โดยกล่าวคาถาบูชาพระพิฆเนศ “โอม ศรี คเณศายะ นะมะฮา” เพื่อเป็นการขอความสำเร็จในด้านต่าง ๆ ให้มีโชค มีลาภ และทรัพย์สินเงินทอง สมหวังดังปรารถนา จากนั้นให้กล่าวคาถาบูชาพระพรหม ดังนี้
คาถาบูชาพระพรหม (ทางพราหมณ์ แบบย่อ)
“โอม อหัม ปรัหมา อัสมิ”
คาถาบูชาพระพรหม (ทางพราหมณ์ แบบเต็ม)
“โอมปะระเมสะนะมัสการัม องการะนิสสะวะ รัง พรหมเรสสะยัม
ภูปัสสะวะวิษณุ ไวยะทานะโมโทติลูกปัมทะระมา ยิกยานัง
ยะไวยะลา คะมุลัม สะทา นันตะระ วิมุสะตินัน นะมัตเต
นะมัตเตร จะ อะการัง ตโถวาจะ เอตามาตาระยัต ตะมัน ตะรามา
กัตถะนารัมลา จะสะระวะ ปะติตัม สัมโภพะกลโล ทิวะทิยัม มะตัมยะ”
คาถาบูชาพระพรหม (ทางพุทธ)
ตั้งนะโม 3 จบ พร้อมกล่าวคำบูชาว่า
“โอม พรหมมะเณ ยะนะมะ
โองการพินทุ นาถังอุปปันนาถัง
สุอาคะโต ปัญจะปะทุมมัง
พรหมมาสะหัมปะตินามัง ทิสสะวา
นะโมพุทธายะ วันทานัง”
ในการไหว้เทวรูปพระพรหม หากไม่แน่ใจว่าเป็นทางพราหมณ์หรือทางพุทธ สามารถสวดคาถาบูชาบทใดบทหนึ่งก็ได้ หรือจะสวดทั้ง 2 แบบเลยก็ได้เช่นกัน
ดังที่กล่าวไปแล้วว่าพระพรหมนั้นมี 4 พักตร์ หันไปทั้ง 4 ทิศ ในการไหว้จึงควรไหว้ให้ครบทั้ง 4 ทิศ โดยเริ่มจากพักตร์แรก แล้วเวียนขวามือของเรา (หรือพระหัตถ์ซ้ายของพระพรหม) จนถึงพักตร์สุดท้าย ให้ครบทั้ง 4 พักตร์ โดยการขอพรและการเตรียมของไหว้พระพรหมแต่ละพักตร์จะแตกต่างกัน ดังนี้
- พักตร์ที่ 1 ทางด้านทิศเหนือ : หรือสังเกตง่าย ๆ คือเป็นพักตร์ที่หันออกมาด้านนอก สำหรับบูชาขอพรเรื่องการงาน การเรียน การเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง อำนาจบารมี และเรื่องที่เกี่ยวกับพ่อ โดยมีของไหว้เป็นธูป 16 ดอก เทียน 9 เล่ม ดอกบัว 9 ดอก และน้ำ 1 ขวด
- พักตร์ที่ 2 ทางด้านทิศตะวันออก : บูชาขอพรเรื่องทรัพย์สินต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน รถ ที่ดิน รวมถึงเงินหรือหนี้สินที่คนยืมไปแล้วไม่คืนด้วย โดยมีของไหว้เป็นธูป 36 ดอก เทียน 9 เล่ม ดอกบัว 9 ดอก และน้ำ 1 ขวด
- พักตร์ที่ 3 ทางด้านทิศใต้ : บูชาขอพรเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวและสุขภาพ โดยมีของไหว้เป็นธูป 39 ดอก เทียน 9 เล่ม ดอกบัว 9 ดอก และน้ำ 1 ขวด
- พักตร์ที่ 4 ทางด้านทิศตะวันตก : บูชาขอพรเรื่องเงินทอง โชคลาภ การเสี่ยงดวง และการขอลูก โดยมีของไหว้เป็นธูป 19 ดอก เทียน 9 เล่ม ดอกบัว 9 ดอก และน้ำ 1 ขวด
การไหว้พระพรหมนั้นถือเป็นความเชื่อและศรัทธาของคนไทยที่สืบทอดมายาวนาน ด้วยเชื่อกันว่าพระพรหมจะบันดาลให้สิ่งที่หวังเป็นจริงได้ ซึ่งการกราบไหว้ขอพระศาลพระพรหมมีกรรมวิธีที่แตกต่างกันไปตามความเชื่อของแต่ละศาสนา เราสามารถนำมาปรับใช้และเลือกปฏิบัติได้ตามสะดวก หรือเพียงแค่สงบจิตและระลึกถึงพระพรหม เพียงเท่านั้นก็ถือว่าเป็นการไหว้พระพรหมแล้วค่ะ