เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการปลูกบ้านและพิธีตั้งเสาเอก ใช้อะไรบ้าง มีลำดับพิธีอย่างไร มาดูไว้เตรียมตัวสำหรับทำพิธีปลูกบ้านให้ถูกต้อง
กว่าจะปลูกบ้าน-สร้างบ้านเป็นของตัวเองได้สักหลัง นอกจากจะต้องคำนึงถึงทำเลที่ตั้ง แบบบ้าน แปลนบ้าน และสไตล์ การตกแต่งบ้าน แล้ว สำหรับใครที่อยากจะเสริมสิริมงคลก่อนปลูกบ้าน มาดูพิธีการปลูกบ้านและการตั้งเสาเอก ใช้อะไรบ้าง มีลำดับพิธีอย่างไร มาดูกันค่ะ
1. เริ่มต้นด้วยการหาวันดี วันมงคล
ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะนิยมปลูกบ้านกันในเดือนอ้าย (เดือนแรกของปี) เดือนยี่ (เดือนที่สองของปี) เดือนสี่ เดือนหก เดือนเก้า และเดือนสิบสอง ตามการนับเดือนแบบไทยหรือแบบจันทรคติ ส่วนวันที่ก็ให้เลือกจากวันอธิบดีหรือวันธงชัยของแต่ละเดือน ซึ่งปกติแล้วจะนิยมตั้งเสาเอกในวันจันทร์ และไม่นิยมตั้งเสาเอกในวันอาทิตย์ ส่วนทิศหรือตำแหน่งยอดนิยมเป็นทิศตะวันตกเฉียงใต้ แต่ถ้าหากใครไม่แน่ใจอาจจะขอให้พระหรือหมอดูช่วยเลือกให้ก็ได้ โดยทั่วไปแล้วจะใช้เพียงวัน เดือน ปีเกิดของเจ้าของบ้านในการหาวัน เวลา และตำแหน่งของเสาเอกที่เหมาะสม ซึ่งบางครั้งหากเจ้าของบ้านไม่มีดวงก็อาจจะรอไปอีกสักปีสองปี นอกเหนือจากนี้ฤกษ์งามยามดีในแต่ละวันก็ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญเหมือนกัน โดยเชื่อกันว่าฤกษ์มงคลในการตั้งเสาเอกของแต่ละวัน มีดังนี้
- ถ้าปลูกเรือนวันอาทิตย์ ถือเอาเสียงไก่เป็นฤกษ์
- ถ้าปลูกเรือนวันจันทร์ ถือเอาเสียงผู้หญิงเป็นฤกษ์
- ถ้าปลูกเรือนวันอังคาร ถือเอาเสียงม้าเป็นฤกษ์
- ถ้าปลูกเรือนวันพุธ ถือเอาเสียงสังข์เป็นฤกษ์
- ถ้าปลูกเรือนวันพฤหัสบดี ถือเอาเสียงถาดเป็นฤกษ์
- ถ้าปลูกเรือนวันศุกร์ ถือเอาเสียงฆ้องเป็นฤกษ์
- ถ้าปลูกเรือนวันเสาร์ ถือเอาเสียงคนแก่เป็นฤกษ์
2. การปลูกบ้านเรือนไทยจะต้องทำพิธีกรุงพาลี
เป็นพิธีขอขมา-ขออนุญาตเจ้าที่ เจ้าทาง เจ้าแม่ธรณี เพื่อความเป็นสิริมงคลของบ้านและผู้อยู่อาศัย เครื่องเซ่นไหว้ประกอบพิธี ได้แก่ ข้าวสุก กล้วยน้ำว้าสุก ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว ข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน และหมากพลู ซึ่งหลังจากที่ทำพิธีเสร็จก็อย่าลืมนำถั่วเขียว ข้าวตอก และงาดิบ มาโปรยทับลงบนดินด้วย
3. ตีผังบ้านและปรับระดับดิน
ตีผังบ้านและปรับระดับดินให้พร้อมเพื่อเตรียมทำพิธี จากนั้นขุดหลุมเสาเอกก่อนเป็นหลุมแรกเพื่อเอาฤกษ์เอาชัย
4. จัดเตรียมหาของมงคล
สำหรับประกอบพิธีตั้งเสาเอก (เท่าที่พอหาได้ แต่ถ้าครบก็จะดี) ได้แก่
- จัดโต๊ะหมู่บูชา 1 ชุด พร้อมเครื่องสักการะ (ถ้าประสงค์)
- จตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระ 1 ชุด (กรณีนิมนต์พระมาประพรมน้ำมนต์ที่หลุมและเจริญชัยมงคลคาถา)
- เครื่องบูชาฤกษ์หรือสังเวยเทวดา (จัดย่อส่วนก็ได้ ดูพิธีวางศิลาฤกษ์)
- สายสิญจน์ 1 ม้วนเล็ก
- ผ้าสามสี ผ้าแพรสีแดง ผ้าห่มเสา ผ้าหัวเสา หรือผ้าขาวม้า 1 ผืน ขนาด 4x6 นิ้ว
- แผ่นทอง นาก เงิน อย่างละ 1 แผ่น
- เหรียญทอง เงิน อย่างละ 9 เหรียญ
- ทองคำเปลว 3 แผ่น
- หน่อกล้วย อ้อย อย่างละ 1 หน่อ
- ข้าวตอกดอกไม้ 1 ขัน
- น้ำมนต์ 1 ขัน (พร้อมกำหญ้าคา 1 กำ)
- ทรายเสก 1 ขัน
- แป้งหอม
- ไม้มงคล 9 ชนิด (ไม้ราชพฤกษ์, ไม้ขนุน, ไม้ชัยพฤกษ์, ไม้ทองหลาง, ไม้ไผ่สีสุก, ไม้ทรงบาดาล, ไม้สัก, ไม้พะยูง, ไม้กันเกรา)
5. ลำดับพิธีตั้งเสาเอก
สำหรับการทำพิธีตั้งเสาเอกนั้น ไม่จำเป็นต้องทำครบทุกขั้นตอน ประกอบด้วยลำดับพิธีต่าง ๆ ดังนี้
- นำหน่อกล้วย อ้อย และผ้าสามสี ผูกติดกับเสาเหล็กที่จะใช้ในพิธีตั้งเสาเอก (ควรผูกให้เรียบร้อยก่อนถึงวันตั้งเสาเอก)
- สำหรับบ้านไหนที่ไม่เชิญพราหมณ์หรือพระมาช่วยทำพิธี ก็สามารถให้ญาติผู้ใหญ่หรือเจ้าของบ้านเป็นคนทำพิธีเองได้ (ผู้อยู่อาศัยทุกคนควรมาร่วมพิธีให้ครบ) โดยเริ่มแรกให้วางสายสิญจน์ตั้งแต่โต๊ะหมู่บูชาไปจนถึงเสาเอก
- เจ้าภาพจุดธูปเทียนที่โต๊ะหมู่บูชา อธิษฐาน และกราบพระ เจ้าภาพจุดธูปที่โต๊ะสังเวยบูชาเทวดา ให้ช่วยคุ้มครอง
- ตอกไม้มงคล 9 ชนิดลงไปในหลุมเสาเอก
- วางแผ่นทอง แผ่นนาก แผ่นเงิน และเหรียญเงินล งไปในหลุม
- นิมนต์พระสงฆ์มาพรมน้ำมนต์และโปรยทรายเสกลงที่หลุมเสาเอก พร้อมเจิมและปิดทองที่เสาเอกที่ผูกผ้าสามสี หน่อกล้วย และอ้อย เอาไว้
- เจ้าภาพและผู้ร่วมพิธีถือสายสิญจน์และยกเสาเอกให้เรียบร้อย
- เจ้าภาพโปรยข้าวตอกดอกหรือแป้งหอมลงที่หลุมเสาเอก
***ในกรณีที่เชิญพราหมณ์หรือพระมาช่วยทำพิธีอาจจะมีขั้นตอนที่แตกต่างออกไปบ้าง แต่ต้องจัดเตรียมตั้งโต๊ะและจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระ 1 ชุด รวมถึงอาหารสำหรับฉันเพลด้วย***
ปีที่ปลูกเรือน (ตั้งเสาเอก) เสริมสิริมงคล
- ปลูกเรือนปีชวด
นำไม้ราชพฤกษ์ปักเสามุมแรก ก่อนยกเสาเอกเพื่อเป็นการเอาฤกษ์เอาชัย จากนั้นก็โปรยดอกไม้ 3 สีที่เป็นสิริมงคล (ดอกกุหลาบ ดอกรัก และดอกพุทธ) แล้วบวงสรวงด้วยกล้วยที่เป็นมิ่งขวัญปีเกิด จะทำให้อยู่เย็นเป็นสุขและทำมาหากินเจริญขึ้น
- ปลูกเรือนปีฉลู
นำเอากล้วยและผ้าขาวพันที่เสาเอก เอากิ่งมะตูม 3 กิ่ง ปักที่เสาเอก แล้วบวงสรวงด้วยลูกตาล ขนมฝอยทอง จะทำให้มีความสุขความเจริญและมีแต่สิ่งดี ๆ เข้าบ้าน
- ปลูกเรือนปีขาล
นำเอาข้าวสุก 3 กระทง และน้ำ 3 ขัน (ขันเงิน ขันทอง ขันนาก) รดที่ต้นเสาเอก จากนั้นโปรยดอกไม้ 3 ชนิด (ดอกดาวเรือง ดอกรัก และดอกบานไม่รู้โรย) เพื่อเป็นเคล็ดให้ร่ำรวยและอยู่เย็นเป็นสุข
- ปลูกเรือนปีเถาะ
นำเอาใบตะเคียน ใบเฉียง ใบพร้าหอม และต้นกล้วย 1 ต้น ห่อที่ปลายเสาเอก แล้วบวงสรวงด้วยหมูย่าง ปลายำ จะทำให้มีความรุ่งเรือง
- ปลูกเรือนปีมะโรง
นำเอาใบมะกรูดและกำยานพันปลายเสาเอก แล้วยกเสาขึ้น พร้อมโปรยดอกไม้มงคล 7 ชนิด ได้แก่ ดอกรัก ให้รักใคร่กัน ดอกดาวเรือง ให้เจริญรุ่งเรือง ดอกบัว ให้มีคนนับถือ ดอกกุหลาบ ให้สุขสดชื่น ดอกบานไม่รู้โรย ให้มั่งมีอย่างไม่รู้โรย ดอกพุด ให้พระคุ้มครอง และดอกมะลิ ให้อยู่เย็นเป็นสุข จะทำให้ร่ำรวย มั่งมี และเป็นสุขตลอดไป
- ปลูกเรือนปีมะเส็ง
นำเอาใบสิงห์ 2 กิ่ง ผูกที่ปลายเสาเอก วางข้าว 3 กระทง จุดธูปเทียนบูชา พร้อมทั้งบูชาดอกกุหลาบ พวงมาลัย มะลิสด ดอกรัก และน้ำเย็น 6 ขัน แล้วพูดว่า มั่ง มี ศรี สุข จากนั้นยกเสาเอกขึ้น จะทำให้รุ่งเรือง
- ปลูกเรือนปีมะเมีย
นำเอาใบขี้เหล็กกวาดตั้งแต่ปลายเสาลงมาถึงโคนเสา 3 ครั้ง จากนั้นเอาน้ำรดปลายเสาเอก โดยให้อดใจรอจนถึงเวลาไก่ขัน แล้วบวงสรวงด้วยกล้วย มะพร้าว ส้ม จึงจะร่มเย็นเป็นสุข
- ปลูกเรือนปีมะแม
นำเอาใบเงิน 3 ใบ หมากผู้ 3 ใบ หมากเมีย 3 ใบ พร้อมทั้งใบกล้วย ใบอ้อย ใส่ลงไปในหลุม แล้วจึงยกเสาเอก จากนั้นก็บวงสรวงด้วยกล้วย อ้อย มะพร้าว และขอพร จะเสริมสิริมงคลให้มีโชคลาภตลอดไป
- ปลูกเรือนปีวอก
นำเอาเทียน 3 เล่มแปะทอง ผูกข้างเสาด้านหัวนอน และนำใบเงิน ใบทอง ใบนาก ใส่ลงในฐานหลุม แล้วจึงยกเสาเอก จะทำให้มั่งมีศรีสุขตลอดกาล
- ปลูกเรือนปีระกา
นำเอาข้าวตอกกับใบบัวบกใส่รองเอาไว้ในหลุมของเสาเอกและเสารอง หรือใส่ให้ครบทั้ง 4 ทิศ จะเสริมมงคลให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข แล้วจึงบวงสรวงด้วยข้าว แกง แอปเปิล ดอกบัวหลวง และขอพร จะทำให้มั่งมีศรีสุข
- ปลูกเรือนปีจอ
นำเอาข้าวตอกกับใบบัวบกมาใส่รองเอาไว้ในหลุมเสาเอก หรือใส่ให้ครบทั้ง 4 ทิศ แล้วบูชาด้วยดอกบัวหลวง จะทำให้มีคนอุปถัมภ์ดี
- ปลูกเรือนปีกุน
นำเอาดอกชบาและดอกบัวอย่างละ 1 ดอก ใส่ลงในหลุมเสาเอก แล้วลงเสาเอก ฤกษ์ 09.09 น. จะทำให้มีความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป
พิธีตั้งเสาเอกเปรียบเสมือนการเสริมสิริมงคลให้กับบ้าน อีกทั้งยังเป็นการขอขมาต่อเจ้าที่ เจ้าทาง ตามความเชื่อของคนโบราณด้วย ฉะนั้นถ้าหากใครมีแผนจะปลูกบ้าน สร้างบ้าน ก็อย่าลืมนำลำดับพิธีตั้งเสาเอกแบบง่าย ๆ ที่เรารวบรวมมาฝากไปปรับใช้ให้เหมาะสมกันนะคะ
เรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับขึ้นบ้านใหม่ :
ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, กระทรวงวัฒนธรรม และ กรมการศาสนา