วิธีเลือกซื้อตู้เย็น เลือกอย่างไรให้เหมาะกับบ้าน ได้คุณสมบัติตามขนาด ราคา รูปแบบ และการประหยัดไฟ ที่ทำให้คุณใช้งานได้อย่างคุ้มค่าและบอกลาค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นไปได้มากเลยทีเดียว
เมื่อคิดจะซื้อตู้เย็นสักเครื่อง
คำถามแรกของใครหลายคนก็คงจะไม่พ้นคำถามที่ว่า “ยี่ห้อไหนดี” ใช่ไหมล่ะคะ
แต่ถ้าจะให้ดีจริง ๆ ควรพิจารณากันที่หลักการทำงาน ขนาด ราคา รูปแบบ 1
ประตู 2 ประตู หรืออื่น ๆ และการกินไฟมากกว่า เพราะข้อจำกัดเหล่านี้คือวิธีการที่จะช่วยให้คุณตัดสินใจเลือกตู้เย็นที่ตอบโจทย์กับความต้องการ
และความเหมาะสมในการใช้งานและห้องของคุณได้มากที่สุด วันนี้กระปุกดอทคอมเลยนำวิธีเลือกตู้เย็นมาฝากกันค่ะ เพื่อให้คนที่กำลังจะซื้อตู้เย็นได้นำไปพิจารณาเลือกเครื่องที่เหมาะสมที่สุด
1. เลือกที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5
เหนือสิ่งอื่นใดในการเลือกเครื่องใช้ไฟฟ้า จะต้องคำนึงถึงการประหยัดไฟเป็นลำดับแรก ดังนั้นเราควรเลือกซื้อตู้เย็นที่มีสติ๊กเกอร์ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 กำกับ เพราะจะช่วยให้ประหยัดไฟได้มากกว่า แต่ถ้าเป็นตู้เย็นที่มีตัวเลขต่ำกว่า 5 ลงไปก็จะยิ่งกินไฟเยอะและมีคุณภาพที่ด้อยลงไป เช่น เบอร์ 1 คือระดับต่ำสุด เบอร์ 2 คือระดับพอใช้ เบอร์ 3 คือระดับปานกลาง เบอร์ 4 คือระดับดี และเบอร์ 5 คือระดับดีมาก เปรียบเทียบเบอร์ฉลากกับค่าไฟที่ต้องเสียรายปีได้ ดังนี้
- ตู้เย็นฉลากเบอร์ 3 : กินไฟ 332 หน่วย/ปี ต้องเสียค่าไฟประมาณ 840 บาท/ปี
- ตู้เย็นฉลากเบอร์ 4 : กินไฟ 262 หน่วย/ปี ต้องเสียค่าไฟประมาณ 644 บาท/ปี
- ตู้เย็นฉลากเบอร์ 5 : กินไฟ 220 หน่วย/ปี ต้องเสียค่าไฟประมาณ 573 บาท/ปี
2. สังเกตจากรายละเอียดข้อมูล
ถึงแม้ข้อสังเกตนี้จะเป็นมาตรฐานทั่ว ๆ ไปที่ใช้ในการพิจารณากัน แต่ก็พลาดไม่ได้เลยนะคะ นั่นก็คือ ตู้เย็นจะต้องมีตราชื่อผู้ผลิตและเครื่องหมายการค้าที่ชัดเจน มีฉลากระบุรายละเอียดของประเภท รหัสรุ่น ปริมาตรภายใน และวงจรไฟฟ้าที่ครบถ้วน รวมไปถึงคู่มือแนะนำตู้เย็น อย่างเช่น รายละเอียดของตู้เย็น วิธีการใช้ วิธีการติดตั้ง อุปกรณ์ควบคุม การทำความสะอาด และการบำรุงรักษาไว้ด้วย
ถ้าจะให้ดีควรเลือกตู้เย็นที่มีฉนวนกันความร้อนหนาชนิดโฟมอัด ช่วยกักเก็บความเย็นได้ดี และเลือกตู้เย็นที่ใช้ระบบไฟฟ้า 220-330 โวลต์ เพราะเป็นระบบไฟฟ้าที่เหมาะสมกับบ้านเรา
3. ขนาดความจุที่เหมาะสมกับการใช้งาน
ขนาดความจุของตู้เย็นคือจุดหลักที่ต้องคำนึงก่อนเลือกซื้อ หน่วยวัดขนาดของตู้เย็นเรียกว่า “ลูกบาศก์ฟุต” หรือ “คิว” ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพ 1 คิวก็จะมีขนาดความจุเท่ากับถุงช้อปปิ้งตามซูเปอร์มาร์เกตทั่วไป ดังนั้นหากจะวัดคร่าว ๆ จากปริมาณของที่ซื้อเข้าตู้เย็นกับขนาดคิวตู้เย็นที่ต้องการก็ได้ จะวัดจากพฤติกรรมที่ชอบซื้อของแช่แข็งมากกว่าของสดทั่วไป ก็ควรเลือกตู้เย็นที่มีช่องแช่แข็งกว้างเป็นพิเศษ หรือจะคิดค่าเฉลี่ยของจำนวนสมาชิกในบ้านกับขนาดคิวตู้เย็น อย่างเช่น
- สมาชิกมี 2 คน : ปริมาณคิวที่เหมาะสมอย่างต่ำสุดคือ 2.5 คิวขึ้นไป
- ครอบครัวขนาดกลางสมาชิก 3-4 คน : ปริมาณคิวที่เหมาะสมคือ 12-18 คิว
- ครอบครัวขนาดใหญ่สมาชิก 5 คนขึ้นไป : ปริมาณคิวที่เหมาะสมคือ 15 คิวขึ้นไป
4. ประเภทของตู้เย็นและราคา
สมัยนี้ประเภทของตู้เย็นมีให้เลือกมากมายกว่าแต่ก่อน ซึ่งต้องเลือกให้เหมาะสมกับลักษณะการใช้งานของแต่ละบ้าน ดังนี้
- ตู้เย็นเล็ก : เหมาะกับห้องที่มีพื้นที่น้อย อย่างเช่น หอพัก ห้องนั่งเล่น และห้องชั้นใต้ดินเป็นต้น ราคาประมาณ 4,000-6,000 บาท
- ตู้เย็น 1 ประตู : ขนาดความจุไม่มาก ด้านในมีช่องแช่แข็งและช่องแช่ธรรมดาในตัว เหมาะกับบ้านทั่วไปที่มีพื้นที่กำจัด ราคาประมาณ 5,000-7,000 บาทขึ้นไป
- ตู้เย็น 2 ประตู (ช่องแช่แข็งด้านบน/ช่องแช่เย็นด้านล่าง) : เหมาะกับบ้านที่มีพื้นที่น้อย ราคาประมาณ 9,000-30,000 บาทขึ้นไป
- ตู้เย็น 2 ประตู (แบบซ้าย-ขวา) : มีขนาดความจุเท่ากันทั้ง 2 ด้าน เป็นช่องแช่เย็นแบบแนวตั้ง บางรุ่นมีช่องกดน้ำด้านนอก เหมาะกับห้องครัวที่มีพื้นที่กำจัด ราคาประมาณ 40,000-100,000 บาทขึ้นไป
- ตู้เย็นหลายประตู : ส่วนบนจะมีประตูทั้งด้านซ้ายและขวา และส่วนล่างจะเป็นลิ้นชักช่องผักและช่องแช่แข็ง ช่วยแยกการแช่ให้เป็นสัดส่วน ทำให้อาหารสดได้ยาวนาน และหยิบใช้งานง่าย ราคาประมาณ 50,000-160,000 บาทขึ้นไป
- ตู้เย็นประตูซ้อนประตู (door-in-door) : นวัตกรรมใหม่ที่มาพร้อมประตู 4 บาน และอีก 2 บานที่ซ้อนไว้ด้านบน เพื่อกักเก็บความเย็นและช่วยประหยัดพลังงานในการเปิดตู้เย็นหยิบของเล็ก ๆ น้อย ๆ ราคาประมาณ 149,000 บาทขึ้นไป
5. พิจารณาจากคุณสมบัติพื้นฐาน
คุณสมบัติพื้นฐานที่ว่านี้คือ ดีไซน์ภายในตู้เย็นที่ต้องเลือกให้เหมาะสม ดูทันสมัย และจัดวางสิ่งของง่าย พิจารณาได้จากส่วนประกอบหลัก ๆ ดังนี้
- ชั้นวาง : จะต้องถอด-เข้าออกได้ เพื่อให้ง่ายต่อการปรับขนาดช่องแช่และทำความสะอาด
- ลิ้นชักช่องแช่ : จะต้องมีช่องแยกภายใน เพื่อปรับอุณหภูมิให้เหมาะสมกับอาหารที่แช่
- ช่องผักและผลไม้ : จะต้องควบคุมความเย็นและชื้นอย่างเหมาะสม ให้ผักและผลไม้สดได้นาน
- ชั้นวางข้างประตู : จะต้องมีขนาดกว้างพอสมควร สามารถแช่ขวดนมและขวดน้ำต่าง ๆ ได้ดี
6. ฟีเจอร์เสริม
ฟีเจอร์เสริม คือ คุณสมบัติเพิ่มเติมในการใช้งานที่ตู้เย็นแต่ละตู้มีไม่เหมือนกัน ซึ่งจะมีหรือไม่มีก็ได้ ขึ้นอยู่กับผู้ซื้อว่าต้องการใช้งานคุณสมบัติเหล่านั้นหรือไม่
- ระบบทำความเย็นแบบคู่ (Dual-cooling system) : ช่องแช่แข็งจะกระจายลมเย็นแยกจากช่องแช่เย็นธรรมดา เพื่ออุณหภูมิช่องแช่แข็งให้มีประสิทธิภาพ
- ระบบกรองอากาศ (Air filtration) : จะมีช่องกรองอากาศแบบคาร์บอนในตัว ช่วยลดกลิ่นอับภายในตู้เย็น
- แผงควบคุมการทำงาน (Programmable control pad) : เป็นแผงปุ่มตั้งค่าอุณหภูมิ ล็อกความเย็น เช็กตัวกรอง และระดับน้ำต่าง ๆ ในเครื่อง
- ระบบประหยัดพลังงาน (Energy-saving models) : นวัตกรรมอัจฉริยะที่ช่วยให้ตู้เย็นทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่กินไฟ งดใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น และช่วยลดค่าไฟในแต่ละเดือน
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับวิธีการเลือกซื้อตู้เย็นอย่างชาญฉลาดที่เรานำมาฝากกันในวันนี้ หวังว่าคนที่กำลังมองหาและคิดที่จะซื้อตู้เย็นดี ๆ มาใช้สักเครื่อง จะนำวิธีการเหล่านี้ไปลองพิจารณากันดู เพื่อให้ได้ตู้เย็นที่เหมาะสมกับการใช้งานมากที่สุดยังไงล่ะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก