ที่ดินในประเทศไทย มีกี่ประเภท มาดูไปพร้อม ๆ กันกับที่ดินประเภทต่าง ๆ ทั้งที่ดินของรัฐและที่ดินทั่วไป ที่ดินประเภทไหนซื้อ-ขายได้บ้าง ที่ดินแต่ละประเภทมีกรรมสิทธิ์ อะไรบ้าง มาทำความเข้าใจไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ จะได้ไม่มีปัญหาตามมาทีหลัง
เมื่อพูดถึง “ที่ดิน” ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูงที่ใคร ๆ ก็หมายจะมีไว้ในครอบครองสักผืน เพื่อไว้ใช้ประโยชน์ที่ดินในอนาคต แต่ประชาชนคนทั่วไปอย่างเรา ๆ หลายคนก็อาจจะยังมีข้อสงสัยว่า ที่ดินในประเทศไทย มีกี่ประเภท ตัวย่อที่ดิน หมายความว่าอย่างไร แล้วที่ดินแบบไหนที่สามารถซื้อ ขาย โอน ได้ถูกต้องตามกฎหมายได้ และเรามีกรรมสิทธิ์อะไรบ้างในที่ดินแต่ละประเภท วันนี้กระปุกดอทคอมมีคำตอบมาฝากแล้ว ไว้เป็นข้อมูล เผื่อใครอยากจะซื้อไปสร้างบ้านหรือทำประโยชน์ รู้ไว้ก่อนจะซื้อ-ขายจะได้ไม่มีปัญหาตามมาทีหลัง
คำว่า "ที่ดิน" ในทางกฎหมาย หมายถึง พื้นที่ดินทั่วไป ซึ่งไม่ได้จำกัดแค่ที่ดินที่ใช้สร้างอาคารบ้านเรือนหรือทำการเกษตรเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงที่ดินตามธรรมชาติ ได้แก่ ภูเขา ห้วย หนอง คลอง บึง บาง ลําน้ำ ทะเลสาบ เกาะ และที่ชายทะเล
หลัก ๆ แล้วที่ดินในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
ที่ดินของรัฐ : ตามประมวกฎหมายที่ดินมาตรา 2 ระบุไว้วว่า เป็นที่ดินที่ไม่ได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่งให้ถือว่าเป็นของรัฐ และเป็นที่ดินที่อยู่ในการดูแลของหน่วยงานราชการ เช่น กรมธนารักษ์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมเกษตรกร ฯลฯ ซึ่งถือว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์ส่วนรวม หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ได้แก่ อุทยานแห่งชาติ ที่ป่าไม้ ที่ราชพัสดุ
ที่ดินของเอกชน : ที่ดินที่ประชาชนทั่วไปสามารถจดทะเบียน เพื่อทำการซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยน ให้เช่า ฯลฯ ได้หากมีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ได้แก่ โฉนดที่ดิน โฉนดตราจอง และตราจองที่ตราว่า "ได้ทำประโยชน์แล้ว" เป็นต้น
1. โฉนดที่ดิน
โฉนดที่ดิน หรือ น.ส.4 หรือ ครุฑแดง เป็นหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ ออกโดยกรมที่ดินตามประมวลกฎหมาย โดยถือว่าผู้เป็นเจ้าของที่ดินมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินอย่างสมบูรณ์ สามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินนั้นได้อย่างเต็มที่
ซึ่งในโฉนดที่ดินจะมีการระบุข้อมูลสำคัญต่าง ๆ เอาไว้ ได้แก่ เลขโฉนดที่ดิน ตำแหน่งที่ดิน รายชื่อผู้ครอบครองโฉนด ขนาดที่ดิน ลักษณะที่ดิน และสารบัญจดทะเบียน ซึ่งในเอกสารในส่วนนี้ยังรวมไปถึงโฉนดตราจอง และตราจองที่ว่า "ได้ทำประโยชน์แล้ว" ที่ออกตามกฎหมายเก่าด้วย
2. หนังสือรับรองการทำประโยชน์
หนังสือที่ได้รับรองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ว่ามีการทำประโยชน์ในที่ดินนั้นแล้ว มีดังนี้
น.ส.3 น.ส.3 ข. หรือ ครุฑดำ : เอกสารที่ออกให้กับผู้ครอบครองที่ดินทั่วไป ไม่มีระวางรูปถ่ายทางอากาศ ไม่มีการกำหนดตำแหน่งที่ดินแน่นอน แต่สามารถทำการซื้อ ขาย โอน และสามารถนำไปขอออกโฉนดที่ดินได้ โดยไปยื่นคำขอ ณ สำนักงานที่ดินในจังหวัด และทำการรังวัดพร้อมติดประกาศเรียบร้อยแล้ว
น.ส.3 ก. หรือครุฑเขียว : เอกสารที่ออกให้กับผู้ครอบครองที่ดินทั่วไป ที่มีระวางรูปถ่ายทางอากาศและการกำหนดตำแหน่งที่ดิน สามารถทำการซื้อ ขาย โอน และสามารถนำไปขอออกโฉนดที่ดินได้เลย โดยไม่ต้องรอการรังวัดและประกาศจากราชการ
ข้อควรระวัง :
- ที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน ปล่อยทิ้งร้างไว้เกิน 10 ปี และที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ปล่อยทิ้งร้างไว้เกิน 5 ปี ที่ดินดังกล่าวจะตกเป็นของรัฐตามกฎหมาย
- หากปล่อยให้บุคคลอื่นครอบครองโดยสงบเปิดเผย มีเจตนาเอาเป็นเจ้าของ โดยเจ้าของที่ดินไม่เข้าไปขัดขวาง ติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปีติดต่อกัน บุคคลที่เข้าครอบครองนั้นก็จะมีสิทธิไปดำเนินคดีทางศาล เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้บุคคลดังกล่าวได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นโดยการครอบครองได้
- ที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 น.ส.3 ก. และ น.ส.3 ข.) ใช้เวลาแย่งการครอบครองเพียง 1 ปีเท่านั้น แล้วผู้ที่ถือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ก็จะเสียสิทธิ
3. น.ส.2
น.ส. 2 น.ส. 2 ก. หรือ ใบจอง เป็นหนังสือแสดงการครอบครองที่ดินชั่วคราว ออกโดยโครงการจัดที่ดินให้ประชาชน มีเงื่อนไขว่าจะต้องทำประโยชน์ภายใน 6 เดือน และทำให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี และใช้ที่ดินให้ได้อย่างน้อย 75% ห้ามโอน 5 ปี หรือ 10 ปี แล้วแต่กรณี หากสามารถทำตามข้อกำหนดได้ ก็สามารถนำไปขอออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินได้ แต่อย่างไรก็ตามไม่สามารถขายหรือจำนองได้ ยกเว้นเป็นมรดก
4. ส.ป.ก.4-01
ส.ป.ก.4-01 หรือ ครุฑสีน้ำเงิน เป็นหนังสืออนุญาตที่ออกโดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อให้เข้าไปทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินได้ มีสิทธิในการถือครองและทำประโยชน์ในพื้นที่ที่กำหนด รายละไม่เกิน 50 ไร่ แต่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น ไม่สามารถซื้อ ขาย โอน ได้ ยกเว้นเป็นมรดกให้แก่ทายาทโดยธรรม
5. สทก.
สทก. หรือ สิทธิทำกิน เป็นหนังสือที่กรมป่าไม้ออกให้กับคนที่บุกรุกที่ทำกินในป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย แต่รัฐออกเอกสารนี้ให้เพื่อเป็นการผ่อนผันและอาศัยต่อได้เป็นการชั่วคราว และไม่สามารถซื้อ ขาย หรือโอนได้ ยกเว้นสิทธิตกทอดเป็นมรดกเท่านั้น
6. ภ.บ.ท.5
ภ.บ.ท.5 หรือ ใบชำระภาษีบำรุงท้องที่ ใช้เป็นหลักฐานว่า ได้จ่ายภาษีบำรุงท้องที่ประจำปีแล้ว ไม่ใช่เป็นเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินแต่อย่างใด ส่วนที่ดินยังคงเป็นของรัฐ เพียงแต่มีการอนุญาตให้คนเข้าไปอาศัยหรือทำประโยชน์ชั่วคราวได้ แต่ไม่มีกรรมสิทธิ์ ไม่สามารถซื้อ ขาย หรือโอนได้
7. ส.ค.1
แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน ยังไม่ใช่หนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน (ปัจจุบันยกเลิกใช้ไปแล้ว) เพราะไม่ใช่หนังสือที่ราชการออกให้ เป็นเพียงการแจ้งว่าครอบครองที่ดินใดอยู่ แต่ยังสามารถนำมาขอออกโฉนดที่ดินได้ โดยจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรม เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งว่า ผู้นั้นเป็นผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ และนำคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดของศาลดังกล่าวมาใช้ประกอบการออกโฉนดด้วย
8. น.ส. 5
น.ส. 5 หรือ ใบไต่สวน ไม่ใช่หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน แต่เป็นพยานเอกสาร ที่แสดงให้เห็นว่า มีเจตนาจะครอบครองที่ดิน และเป็นผู้นำเจ้าหน้าที่ไปทำการรังวัดสำหรับออกโฉนดที่ดิน รวมถึงใช้เป็นหลักฐานว่าผู้ที่มีชื่อได้ครอบครองที่ดินตามเขตที่แสดงไว้ในใบไต่สวนแล้ว
หรือหนังสือที่แสดงการสอบสวนเพื่อออกโฉนดที่ดิน (แสดงเจตนาว่า เราจะครอบครองที่ดินนั้น โดยได้นำเจ้าหน้าที่เข้าไปทำรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินแปลงนั้นแล้ว แต่ไม่ใช่หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน แต่สามารถจดทะเบียนโอนให้กันได้)
ที่ดินในประเทศไทยมี 2 ประเภท คือ ที่ดินรัฐและที่ดินเอกชน สำหรับที่ดินที่สามารถซื้อ ขาย โอน จำนองได้นั้น ได้แก่ ที่ดินที่มีโฉนดที่ดินหรือที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ประกอบด้วย น.ส.3 น.ส.3 ข และ น.ส.3 ก. หรือสังเกตได้จากตราครุฑ สำหรับใครที่กำลังจะทำธุรกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินก็อย่าลืมเช็กเอกสารและรายละเอียดในเอกสารให้เรียบร้อยด้วยนะคะ จะได้ไม่มีปัญหาตามมาทีหลัง