x close

ธปท. ทบทวนปรับเกณฑ์ LTV - จี้เพิ่มเงินดาวน์ 20% สกัดฟองสบู่



ธปท. ทบทวนปรับเกณฑ์ LTV - จี้เพิ่มเงินดาวน์ 20% สกัดฟองสบู่

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

         ปธ. สมาคมสินเชื่อ เผยผลสำรวจพบอสังหาริมทรัพย์ไทยปรับตัวสูง 40-50% ใน 10 ปี จี้ ธปท. ปรับเกณฑ์ LTV เพิ่มเงินดาวน์สกัดฟองสบู่

         เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงต้นเหตุของการเกิดภาวะฟองสบู่ ว่า มาจาก 2 กรณี ได้แก่ ต้องมีการปั่นราคาอสังหาริมทรัพย์ในระดับสูง และโอเวอร์ซัพพลาย หรือที่อยู่อาศัยล้นตลาด แต่ก็ไม่ได้เป็นต้นเหตุของการเกิดฟองสบู่เสมอไป ซึ่งหากเป็นโอเวอร์ซัพพลายมาก ๆ คนที่เดือดร้อนคือ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งการขึ้นหรือออกมาตรการ LTV (Loan to value) เพิ่ม อาจเป็นการชะลอความร้อนแรงลงอย่างแน่นอน แต่หากเป็นเรื่องของดีมานด์อาจทำให้การซื้อขายฝืดขึ้นได้ ซึ่งอาจกระทบต่อยอดการซื้อขายให้ลดลงได้ ซึ่ง ธปท. ก็ต้องพิจารณาทั้ง 2 ด้าน

         นอกจากนี้ ธปท. ก็ต้องดูว่าจะมีผลกระทบต่อผู้ต้องการที่อยู่อาศัยหรือไม่ หากออกมาตรการอะไรออกไป ส่วนที่มีนักวิชาการออกมาเสนอให้ ธปท. เกี่ยวกับ LTV ว่าหย่อนเกินไป และควรเก็บเงินดาวน์เพิ่มขึ้นเป็น 20% ให้ใกล้เคียงประเทศอื่น ๆ นั้นเป็นสิ่งที่ดี ซึ่ง ธปท. ก็รับมาพิจารณา แต่การจะปรับแค่ไหน ขอให้เห็นสัญญาณชัดกว่านี้ก่อนว่าเกิดจากส่วนใด ซึ่งคาดว่าจะมีการทบทวนสถานการณ์ดังกล่าวภายในครึ่งปีแรกนี้

         นายเกริก วณิกกุล กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย ธปท. ก็ไม่ต่ำ แต่ประชาชนอาจมองว่าต่ำพอที่จะทำให้เกิดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในลักษณะเก็งกำไรได้ เพราะแทนที่คนจะฝากเงิน ก็เอาเงินนั้นไปซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อขายต่อหรือให้เช่า ก็ได้ผลตอบแทน 4-6% ก็ยังดีกว่าฝากเงินได้ดอกเบี้ย 2.5% ทั้งนี้มาตรการ LTV บ้านในปัจจุบันเป็นแนวราบ 5% คือกู้ได้ 95% เงินดาวน์ 5% และ LTV คอนโดมิเนียม 10% คือกู้ได้ 90% และเงินดาวน์ 10%

         ขณะที่ทางด้าน นายกิตติ พัฒนพงศ์พิบูลย์ ประธานสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย กล่าวเตือนว่า ขณะนี้เริ่มมีสัญญาณฟองสบู่ที่ต้องจับตาใกล้ชิดคือ ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับตัวต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นับจากปี 2545-2555 ข้อมูลเจโทรระบุว่า มีการปรับตัวขึ้นเฉลี่ยปีละ 4-5% นั่นก็หมายความว่า ในช่วง 10 ปีมีการปรับตัวถึง 40-50% ซึ่งถือว่าสูงมาก ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วง 1-2 ปีนี้น่าจะดี จึงเป็นกังวลว่าจะทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ มีทิศทางปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง เป็นปัจจัยผลักดันให้คนหันมาลงทุนเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ได้

         ทั้งนี้ นายกิตติ ได้เสนอถึงรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า จะต้องเพิ่มความเข้มข้นมาตรการแอลทีวี เพิ่มสัดส่วนเงินดาวน์จากปัจจุบันบ้าน 5% คอนโดฯ 10% เพิ่มเป็น 20% เท่ากัน เท่ากับที่ใช้ในสิงคโปร์และมาเลเซีย ส่วนจีนบังคับเงินดาวน์สูงถึง 30% วิธีนี้จะช่วยสกัดความร้อนแรงของวงการอสังหาฯได้ และทำให้ราคาไม่ปรับตัวสูงขึ้นเร็วจนเกินไป



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ธปท. ทบทวนปรับเกณฑ์ LTV - จี้เพิ่มเงินดาวน์ 20% สกัดฟองสบู่ อัปเดตล่าสุด 8 มีนาคม 2556 เวลา 18:16:09
TOP