อสังหาฯ โตต่อเนื่อง ร้อนแรง แห่เปิดใหม่ โกยรายได้เพิ่ม (ไทยโพสต์)
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
ผ่านไตรมาสแรกของปี 2556 ไปแล้ว ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่เติบโตได้ดี รวมไปถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มร้อนแรงตั้งแต่กลางปี 2555 เป็นต้นมา ปี 2556 จึงเป็นอีกปีหนึ่งที่ผู้ประกอบการคาดหวังว่าธุรกิจดังกล่าวจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะมีปัจจัยบวกเข้ามาสนับสนุนหลายประการ แต่ขณะเดียวกันก็มีปัจจัยลบเข้ามาฉุดรั้งด้วยเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นค่าแรง 300 บาท แรงงานขาดแคลน แต่สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แค่ช่วงไตรมาสแรก สามารถทำยอดขายได้เกินเป้ากันแล้ว
กูรูด้านอสังหาริมทรัพย์ อย่าง มานพ พงศทัต อาจารย์พิเศษ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาคาดการณ์เกี่ยวกับภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ว่า “ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง ตัวเลขเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 15% ตลาดกรุงเทพฯ และปริมณฑลฟื้นตัวเร็ว กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 85,000 ยูนิต ทั่วประเทศจะมีจำนวน 160,000-170,000 ยูนิต บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์จะโตน้อยลง แต่คอนโดมิเนียมสำหรับคนชั้นกลาง ติดรถไฟฟ้าจะเติบโตขึ้นมากที่สุด ส่วนตลาดต่างจังหวัดนั้นในจังหวัดใหญ่ เช่น นครราชสีมา และจังหวัดท่องเที่ยวอย่างภูเก็ตและพัทยา ตลาดอสังหาริมทรัพย์จะโตมากขึ้น นอกจากนี้เมืองชายแดนอย่างอุดรธานี ระนอง จะเติบโตจากการค้าชายแดนที่เป็นผลมาจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ในปี 2558”
สำหรับภาพรวมของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในส่วนของบริษัทรับสร้างบ้านก็มีแนวโน้มเติบโตด้วยเช่นกัน ซึ่ง นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน ได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในปีนี้ว่า ปี 2556 ภาพรวมอสังหาริมทรัพย์เติบโตต่อเนื่อง และรวมไปถึงแนวโน้มมูลค่าตลาดรับสร้างบ้านจะขยายตัวออกไปยังภูมิภาคอย่างชัดเจน
สำหรับตลาด “บ้านสร้างเอง” ทั่วประเทศปี 2555 มีมูลค่าประมาณ 120,000 ล้านบาท โดยแชร์ส่วนแบ่งตกเป็นของผู้รับเหมารายย่อย ในขณะที่ตลาด “รับสร้างบ้าน” ทั้งใน กทม. และปริมณฑล รวมทั้งต่างจังหวัด มีมูลค่ารวมประมาณ 9,000 ล้านบาท และในปี 2556 สมาคมประเมินว่า ตลาดรับสร้างบ้านน่าจะมีมูลค่าประมาณ 9,500-10,000 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณร้อยละ 5-10 โดยปัจจัยหลัก ๆ เป็นเพราะการขยายตลาดออกไปทั่วประเทศมากขึ้น ในส่วนของสมาคมเองตั้งเป้าไว้จะผลักดันให้มูลค่าตลาดรับสร้างบ้านในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2558 มีมูลค่าเพิ่มเป็น 15,000 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่าในภาคส่วนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หรือแม้แต่บริษัทรับสร้างบ้าน ก็มีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีทั้งสิ้น ทั้งนี้ เชื่อได้เลยว่าภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยได้กลับฟื้นตัวแล้ว ถึงจะมีแรงกดดันในเรื่องของค่าแรงและแรงงานขาดแคลน แต่ก็ไม่ใช่อุปสรรคหรือปัญหาสำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เลย
สำหรับผู้ประกอบการเชื่อว่าปีนี้น่าจะเป็นปีทองสำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็ว่าได้ เพียงแค่ผ่านไตรมาสแรกก็สามารถโกยยอดขายกันเกินเป้าหมายเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
โอภาส ศรีพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN เปิดเผยว่า แนวโน้มของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2556 คาดการณ์ผู้ประกอบการจะหันมาพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยประเภทแนวราบในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมากขึ้น หลังจากที่ได้มีการชะลอการเปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2555 เนื่องมาจากสาเหตุที่ได้รับผลกระทบมาจากน้ำท่วมตั้งแต่ปลายปี 2554 ทำให้ผู้ประกอบการต้องมีการชะลอการเปิดโครงการและปรับผังเกี่ยวกับโครงการใหม่ให้สามารถที่จะรองรับกับปัญหาน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
ทั้งนี้ คาดว่าจะมีคอนโดมิเนียมเปิดใหม่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยประมาณ 60,000-70,000 หน่วย แต่จะมีการพัฒนาคอนโดมิเนียมในต่างจังหวัดมากขึ้น โดยที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ก็คงขยับขึ้น ส่วนจะมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการ ภาวะตลาด และกำลังซื้อ แต่ปกติจะปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อที่ 3-5% ส่วนการขึ้นราคาของ LPN ขึ้นอยู่กับภาวะตลาด
ด้านปัจจัยเสี่ยงของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้ คือการประกาศผังเมืองใหม่ของกรุงเทพฯ ในเดือนพฤษภาคม 2556 ซึ่งจะมีผลกระทบต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั้งระบบ แต่ต้องรอดูผลของการบังคับใช้ต่อไปว่าจะทำให้เกิดข้อจำกัดของการใช้พื้นที่มากน้อยแค่ไหน
"การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ในปีนี้ไม่มีผลกระทบมากนัก เนื่องจากส่งผลกระทบไปแล้วเมื่อปีก่อน เพราะโครงการก่อสร้างส่วนใหญ่ยังอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ แต่การขาดแคลนแรงงานจะเป็นปัญหามากกว่า ซึ่งในส่วนของ LPN อาจได้รับผลกระทบไม่มาก เนื่องจากมีพันธมิตรในการรับงานก่อสร้างโครงการ ผู้ประกอบการรายใหม่จะเกิดขึ้นได้ยากเพราะไม่มีผู้รับเหมาในมือ ต่อไปตลาดคอนโดมิเนียมจะตกเป็นของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สามารถเจรจากับผู้รับเหมารายใหญ่ได้”
ด้าน เศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI เปิดเผยว่า ภาพรวมของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2556 แม้จะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงาน ต้นทุนการก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้น อาทิ ค่าจ้างแรงงาน ค่าขนส่ง พลังงาน วัสดุก่อสร้าง และราคาที่ดินที่แพงขึ้น แต่ยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยจากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในสภาวะทรงตัว อีกทั้งดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีการปรับตัวสูงขึ้น ย่อมส่งผลให้โครงการคอนโดมิเนียมในหัวเมืองต่างจังหวัด รีสอร์ต และบ้านพักตากอากาศ มีแนวโน้มการเติบโตมากขึ้นเช่นกัน ตลอดจนสำนักงานให้เช่าก็มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น เนื่องจากบริษัทต่างๆ มีการขยายธุรกิจเพิ่มขึ้น จึงมีความต้องการอาคารสำนักงานให้เช่าเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของบริษัทต่อไป
ทั้งนี้ จากการดำเนินธุรกิจตามเป้าหมายใน 6 กุญแจสำคัญ ที่เคยได้ประกาศไว้ในช่วงต้นปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการขยายการลงทุนในการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ตอบรับทุกความต้องการที่อยู่อาศัย ครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้า รวมทั้งขยายการพัฒนาโครงการเพื่อตอบรับความต้องการของกลุ่มลูกค้าในตลาดต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น โดยเห็นได้จากความสำเร็จจากการปิดการขายโครงการใหม่ในตลาดต่างจังหวัดมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ บริษัทยังคงมุ่งมั่นต่อเนื่องในการพัฒนาธุรกิจตามแผน 6 กุญแจสำคัญ โดยเฉพาะในด้านการวางเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนการตลาดในกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติเพิ่มมากขึ้นจากสัดส่วนที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ บริษัทเตรียมกลับมารุกพัฒนาโครงการบ้านเดี่ยว และการขยายตลาดให้ครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์มากขึ้น รวมทั้ง การเพิ่มสัดส่วนการพัฒนาโครงการด้วยระบบพรีคาสท์ให้มากยิ่งขึ้น โดยในช่วงกลางปีนี้ บริษัทมีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตสำหรับการพัฒนาโครงการแนวสูง โดยเฉพาะแบรนด์ ดีคอนโด ภายใต้กำลังการผลิตที่ 42,000 ตารางเมตร/ปีหรือคิดเป็นประมาณ 10 ตึก/ปี รวมถึงโครงการทาวน์เฮาส์ภายใต้แบรนด์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้อีกด้วย เพื่อก้าวสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายยอดขายที่ตั้งไว้ในปีนี้ 48,000 ล้านบาท
ฟาก ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ PS กล่าวว่า ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทยในปี 2556 ยังคงมีทิศทางเชิงบวก โดยจะกลับมาดีในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2556 จากปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ เช่น อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีสัญญาณที่ดีขึ้น ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น อัตราดอกเบี้ยเริ่มผ่อนคลายลงเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอย ซึ่งจะสนับสนุนอุปสงค์ในประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างต่อเนื่องได้
ถึงตรงนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แต่ละราย..มั่นใจ..มั่นใจ และก็ มั่นใจ พร้อมรับรู้รายได้และกำไรที่จะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก