หลังคาบ้านแบบไหนเหมาะกับอากาศเมืองไทย (home&decor)
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับรูปแบบของหลังคาที่เหมาะกับสภาพอากาศบ้านเราก่อน ซึ่งรูปแบบหลังคา ที่เหมาะกับอากาศของประเทศไทยก็คือ หลังคาทรงจั่ว เนื่องจากผ่านการพิสูจน์จากกาลเวลามาเรียบร้อยแล้ว ว่าเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยมากที่สุด ด้วยลักษณะที่มีความลาดเอียงมากทำให้ระบายน้ำฝนได้เร็วและช่วยระบายความร้อนใต้หลังคาได้ดี
ส่วนรูปแบบหลังคาอื่น ๆ เช่น หลังคาสแลป มีลักษณะแบนราบหรือเรียกอีกอย่างว่าหลังคา ดาดฟ้า ข้อดีคือเพิ่มพื้นที่ใช้สอยได้ แต่ข้อเสียคือถ้าก่อสร้างไม่ดี อาจทำให้น้ำรั่วซึมลงไปยังชั้นล่าง และพื้นคอนกรีตยังเป็นตัวเก็บความร้อน ทำให้บ้านร้อนอีกด้วย หลังคาอีกแบบที่พบเห็นบ่อย ๆ คือหลังคาทรง Lean to Roof หรือเพิงหมาแหงน มีลักษณะเอียงลาดไป ด้านใดด้านหนึ่งเพื่อช่วยในการระบายน้ำฝน ส่วนใหญ่บ้านสไตล์โมเดิร์นมักใช้รูปแบบหลังคาประเภทนี้ ข้อควรระวังคือ องศาความลาดเอียงของหลังคาต้องเพียงพอให้น้ำฝนระบายออกได้
กระเบื้องหลังคาสวยอย่างเดียวอาจไม่พอ
เพราะเพียงกระเบื้องมุงหลังคาอย่างเดียว ไม่อาจตอบโจทย์ความสบายแบบครบถ้วนของบ้านได้ หากละเลยโครงสร้างก็สามารถเกิดปัญหาการรั่วซึมและหลุดล่อนทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยได้เช่นกัน
1. กระเบื้องหลังคา
การเลือกวัสดุมุงหลังคาก็ช่วยบ่งบอกสไตล์ของบ้านและเจ้าของบ้านได้เช่นกัน ในปัจจุบันวัสดุที่นิยมใช้มุงหลังคามากที่สุดก็คือ กระเบื้องหลังคา เนื่องจากมีรูปลักษณ์และคุณสมบัติที่เหมาะสม มีรูปแบบให้เลือกหลากหลายเข้ากับบ้านได้ทุกสไตล์ อาทิ บ้านสไตล์โมเดิร์นทันสมัย ก็ควรเลือกใช้กระเบื้องมุงหลังคาแผ่นเรียบที่มีลักษณะเป็นเส้นตรงดูโมเดิร์นให้เข้ากับตัวบ้าน หากสไตล์บ้านออกแนวร่วมสมัย สามารถเลือกใช้หลังคาเป็นลอนโค้งเพิ่มความคลาสสิกให้กับบ้าน หรือถ้าหากบ้านสไตล์ธรรมชาติ ลองเลือกหลังคารูปลักษณ์และสีสันคล้ายกับปีกไม้ก็จะยิ่งช่วยสร้างบรรยากาศเพิ่มมากขึ้น
แต่ถ้าแยกย่อยลงไปอีกก็จะพบว่ากระเบื้องหลังคา แต่ละชนิดมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันไป สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายดังต่อไปนี้
กระเบื้องคอนกรีตหรือกระเบื้องซีเมนต์ พบเห็นกระเบื้องหลังคาประเภทนี้ได้เยอะที่สุด ในหลังคาของบ้านพักอาศัย เนื่องจากมีความแข็งแรงและสวยงาม แต่มีน้ำหนักมาก จึงต้องใช้โครงหลังคาเหล็กที่มีความแข็งแรงเพี่อรองรับน้ำหนักของตัววัสดุ
กระเบื้องดินเผา ส่วนใหญ่เห็นในหลังคาอาคารที่มีลักษณะความเป็นไทย เช่น เรือนไทย วัด โบสถ์ ผลิตจากดินเหนียวผสมน้ำ นวดให้เข้ากันจนได้ที่แล้วนำไปขึ้นรูปและเผาไฟจนได้แผ่นกระเบื้องที่มีความแข็งแรง นำไปมุงหลังคาได้ มีทั้งแบบเคลือบและไม่เคลือบน้ำยา
กระเบื้องไฟเบอร์ซีเมนต์ บางคนอาจคุ้นกับคำว่า กระเบื้องลอนคู่มากกว่า แต่ก็คือกระเบื้องหลังคาชนิดเดียวกัน ปัจจุบันกระเบื้องหลังคาไฟเบอร์ซีเมนต์เกือบทุกยี่ห้อจะไม่มีใยหินเป็นส่วนประกอบและมีความแข็งแรงทนทานมากกว่ากระเบื้องไฟเบอร์ซีเมนต์ในอดีต รวมทั้งมีสีสันให้เลือกมากและราคาไม่แพง จึงเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ
หลังคาเซรามิก ยังคงเป็นหลังคาที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากสำหรับบ้าน เพราะตัวเซรามิก มีความมันวาว จึงโดดเด่นในด้านความสวยงามของรูปลอนและความสวยเนียนของสีที่เคลือบบนผิวของหลังคา โดยเฉพาะเมื่อแสงแดดจากพระอาทิตย์สาดส่อง ตัวหลังคาเซรามิกสามารถ สะท้อนสีสันบนผิวออกมาอย่างชัดเจน ทำให้บ้านดูสวยงาม ตัวเซรามิกเองก็มีความทนทานป้องกันความร้อนได้ดี
นอกจากนี้ยังมีวัสดุมุงหลังคาประเภทต่าง ๆ เช่น แผ่นโพลีคาร์บอเนต ซึ่งเป็นแผ่นพลาสติก โปร่งแสง ใช้ทำหลังคาหรือกันสาดให้แสงสว่างส่องผ่านได้ หรือหลังคาที่เลียนแบบวัสดุธรรมชาติ เช่น ทางมะพร้าว ใบจาก ผลิตจากวัสดุสังเคราะห์แต่มีสีสันและพื้นผิวสัมผัสคล้ายกับวัสดุธรรมชาติ
2. โครงหลังคา
โครงหลังคาเปรียบเสมือนโครงกระดูกที่อยู่ภายในร่างกาย จึงต้องมีความแข็งแกร่ง ทนทานเพื่อพยุงหลังคาทั้งหลังได้อย่างมั่นคง แม้จะมองจากภายนอกไม่เห็นก็ตาม วัสดุที่นิยมใช้เป็นโครงหลังคามี 2 ประเภท คือไม้เนื้อแข็ง และเหล็ก แต่ในปัจจุบันโครงหลังคาไม้มีราคาสูงและมักประสบปัญหากับคุณภาพของไม้ ทั้งเรื่องไม้ที่ยังไม่แห้งสนิทหรือไม่ได้รับการทายากันปลวกตามกำหนด จึงทำให้โครงหลังคาไม้ค่อย ๆ ลดจำนวนลงไป ส่วนโครงหลังคาเหล็กก็มี 2 ประเภท คือ โครงหลังคาเหล็กรูปพรรณ เป็นโครงหลังคาที่ทำจากเหล็กรูปตัว C นำมาเชื่อมต่อกัน ทาสีกันสนิมแล้วยกเหล็กขึ้นไปเชื่อมด้วยเครื่องเชื่อมด้านบนเพื่อเป็นโครงหลังคา แล้วจึงมุงด้วยวัสดุมุงหลังคา ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบของโครงหลังคาเหล็กก็คือเรื่องสนิมและการเชื่อม หากการควบคุมงานไม่ดี หรือไม่มีโฟร์แมนคอยคุม ผู้รับเหมาอาจลักไก่ทาสีกันสนิมไม่ครบตามที่กำหนด หรือเกิดความเสียหายจากการเชื่อมซึ่งยากต่อการตรวจสอบ
สำหรับโครงหลังคาเหล็กอีกประเภทคือ โครงหลังคาสำเร็จรูป ซึ่งผลิตจากเหล็กเคลือบกัลวาไนซ์กันสนิมเรียบร้อย มีน้ำหนักเบา คำนวณปริมาณเหล็กที่แน่นอนไม่เหลือเศษ พร้อมวัดขนาดและตัดมาจากโรงงาน นำมายึดกันด้วยแผ่นเหล็กและตะปูเกลียวเท่านั้น จึงสามารถติดตั้งโครงหลังคาได้รวดเร็วกว่า โครงหลังคาเหล็กรูปพรรณ
3. อุปกรณ์หลังคา
ช่วยเติมเต็มประโยชน์ของหลังคาให้ครบถ้วนและสวยงามขึ้น เช่น แผ่นปิดรอยต่อที่ใช้รองใต้กระเบื้อง ช่วยป้องกันน้ำรั่วซึมที่ใช้แทนระบบเปียกเพื่ออุดรอยต่อระหว่างกระเบื้องหลังคา ตะปูเกลียว และขอยึด ที่ต้องทำจากเหล็กชุบสังกะสีเพื่อช่วยป้องกันสนิม ตลอดจนไม้เชิงชายและแผ่นปิดกันนกแบบมีช่องระบายอากาศช่วยลดความร้อนและยังป้องกันสัตว์เล็ก ๆ เข้าไปอยู่อาศัยใต้หลังคาด้วย โดยอุปกรณ์หลังคาที่นิยมใช้กันมีอยู่ 7 ชนิด คือ
1. แผ่นสะท้อนความร้อน ซึ่งเป็นอลูมิเนียมฟอยล์บริสุทธิ์ ช่วยสะท้อนรังสีความร้อนก่อนเข้าสู่ตัวบ้าน โดยไม่ควรกักเก็บความร้อนไว้ในตัว และต้องมีความแข็งแรงทนทาน ไม่ฉีกขาด และไม่ติดไฟง่าย
2. แปเหล็ก ซึ่งออกแบบเพื่อใช้งานบนหลังคาโดยเฉพาะ มีความแข็งแรง ปลอดสนิม เพราะเป็นเหล็กเต็มขนาด ติดตั้งง่ายและยึดด้วยตะปูเกลียวชุบกัลวาไนซ์กันสนิม
3. รางน้ำตะเข้ เพื่อรองรับและระบายน้ำ โดยปราศจากปัญหาการรั่วและล้นราง อาจเป็นวัสดุสเตนเลสหรือกัลวาไนซ์ก็ได้
4. แผ่นปิดรอยต่อ เป็นแผ่นพลาสติกสังเคราะห์ตัดขึ้นรูปตามลอนกระเบื้อง ทนทานต่อแดดและฝน โดยไม่รั่วซึม และสามารถทาสีให้กลมกลืนกับกระเบื้องหลังคาได้
5. แผ่นปิดเชิงชาย ช่วยป้องกันสัตว์เล็กเข้าไปสร้างความเสียหายใต้หลังคา และมีช่องเล็ก ๆ ช่วยระบายอากาศ ลดความอับชื้น ทั้งนี้ควรจะทนต่อความร้อนโดยไม่แตกกรอบหรือบิดตัว
6. กระเบื้องโปร่งแสง เลือกใช้สำหรับห้องที่ต้องการเปิดรับแสงสว่างจากธรรมชาติ และช่วยลดปัญหาความอับชื้นภายใน
7. ชุดครอบระบบแห้ง เพื่อป้องกันการรั่วซึม และระบายความชื้นใต้โครงหลังคาได้ดี
หลังคาแบบไหน บ้านไม่ร้อน
ด่านแรกที่ความร้อนจากดวงอาทิตย์ส่งมายังบ้านของเราก็คือหลังคา ทำให้หลายคนให้ความสำคัญกับหลังคามากขึ้น นอกจากคำถามว่า หลังคาสีอะไรดี ใช้กระเบื้องอะไรดี ก็เริ่มมีคำถามใหม่ ๆ เกิดขึ้นว่า ใช้หลังคาแบบไหนบ้านถึงจะไม่ร้อน แต่ก่อนจะตอบคำถามนี้ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การป้องกันไม่ให้บ้านร้อนนั้นมีหลายปัจจัยที่สามารถช่วยได้ เช่น ทิศทางการวางตำแหน่งของบ้าน แต่ที่หลังคามีความสำคัญในการป้องกันความร้อนได้นั้น ก็เพราะว่าปริมาณความร้อนส่วนใหญ่ที่เกิดในบ้านมาจากด้านบนของบ้าน หรือทางหลังคานั่นเอง
รูปแบบหลังคาทรงจั่วเป็นรูปแบบหลังคาที่ช่วยป้องกันและระบายความร้อนให้กับบ้านได้ดีที่สุด สาเหตุเพราะมีพื้นที่ใต้หลังคามาก ซึ่งอากาศที่อยู่ใต้ผืนหลังคาทำหน้าที่เป็นเหมือนฉนวนกันความร้อน ช่วยกั้นอากาศร้อนไม่ให้กลับเข้ามาภายในห้อง นอกจากนี้การออกแบบหลังคาให้มีช่องเพี่อระบายความร้อน เช่น ระแนงบานเกล็ด หรือใช้บล็อกช่องลม เป็นตัวช่วยให้อากาศร้อนใต้หลังคาถ่ายเทได้เร็วขึ้น
ส่วนวัสดุมุงหลังคาก็มีส่วนช่วยลดความร้อนให้กับบ้านได้ ส่วนใหญ่มีค่าการสะท้อนความร้อนที่เหมาะสม ช่วยให้ความร้อนจากดวงอาทิตย์ไม่สะสมอยู่ในผิววัสดุ ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับประเภทของวัสดุที่ใช้ทำกระเบื้องหลังคา อย่างกระเบื้องหลังคาเซรามิกผิวมัน ซึ่งมีคุณสมบัติเก็บความร้อนได้น้อย แต่คายความร้อนได้เร็ว ก็ช่วยให้หลังคาบ้านไม่ร้อน ส่วนสีของหลังคาก็มีผลต่อความร้อนเช่นกัน โดยหลังคาสีอ่อนจะเก็บความร้อนน้อยและสะท้อนรังสีความร้อนได้ดีกว่าหลังคาสีเข้ม
นอกจากการเลือกรูปแบบหลังคาและวัสดุมุงหลังคาที่ช่วยลดความร้อนให้กับตัวบ้านแล้ว การเลือกใช้ฉนวนกันความร้อนก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยป้องกันความร้อนให้กับผู้อยู่อาศัยภายในบ้านได้เป็นอย่างดี ฉนวนกันความร้อนที่มักใช้กับหลังคา ได้แก่ แผ่นสะท้อนความร้อน มีลักษณะคล้ายแผ่นฟอยล์หนา ช่วยป้องกันและสะท้อนความร้อนจากแผ่นกระเบื้อง ติดตั้งใต้แผ่นกระเบื้องมุงหลังคา ฉนวนอีกแบบคือ ฉนวน Green 3 ใช้ติดตั้งบนฝ้าเพดานแม้จะก่อสร้างเสร็จแล้ว มีความหนาให้เลือก 4-6 นิ้ว และมีน้ำหนักเบา ช่วยสะท้อนความร้อนที่ผ่านกระเบื้องหลังคาเข้ามาให้ออกไปทางระแนงหรือช่องระบายอากาศที่ออกแบบไว้
ระบบหลังคาช่วยบ้านอย่างไรบ้าง
หมดปัญหาเรื่องบ้านร้อน
ด้วยระบบหลังคาระบายอากาศที่ทำงานร่วมกับระบบการสะท้อนรังสีความร้อน กับระบบระบายความร้อนตามกลไกธรรมชาติ จะช่วยให้บ้านเย็นสบาย และประหยัดพลังงาน โดยสามารถเสริมนวัตกรรมอัลตร้าคูล หรือแผ่นสะท้อนความร้อน ซึ่งช่วยทั้งสะท้อนและป้องกันความร้อนในหนึ่งเดียว
หมดปัญหาเรื่องบ้านรั่ว
นวัตกรรมการออกแบบกระเบื้องด้วยระบบ Interlocking และระบบลิ้นราง ช่วยป้องกันการรั่วซึมจากการไหลย้อนของน้ำฝน แม้ไม่ได้ใช้ Sub Roof โดยระบบหลังคายังเน้นถึงการปิดทุกรอยต่อ พร้อมมีชุดครอบระบบแห้ง (Dry Tech System) ซึ่งทนทานตลอดอายุของผืนหลังคา
มั่นใจในความแข็งแรง ปลอดภัย ทนทาน
ระบบโครงหลังคาสำเร็จรูปช่วยกระจายแรงทำให้เกิดแรงยึดที่สามารถรับน้ำหนักได้อย่างเต็มที่ และด้วยวัสดุที่เป็นเหล็กกล้ากำลังแรงดึงสูง เคลือบโลหะกันสนิม ยึดด้วยระบบสกรูทั้งหมด ยิ่งช่วยป้องกันอันตรายจากการเกิดสนิมบริเวณรอยเชื่อม แถมติดตั้งง่าย จึงมีความปลอดภัยในการใช้งานสูง
ระบบหลังคาเพื่อบ้านสบาย
หากมองหลังคาแยกออกเป็นส่วน ๆ ก็จะพบว่าวัสดุมุงหลังคา ก็เปรียบเสมือนผิวหนังที่ห่อหุ้ม โครงหลังคาก็ทำหน้าที่เป็นกระดูก สร้างความแข็งแรง อุปกรณ์เสริมของหลังคาก็เป็นเหมือนเส้นเลือดที่ทำให้ทุกอย่างทำหน้าที่ได้ปกติ ดังนั้นหากต้องการให้หลังคาบ้านของคุณทำหน้าที่ได้ ไม่ขาดตกบกพร่อง ก็ควรให้ความสำคัญในทุกองค์ประกอบของหลังคา
นอกจากนี้ยังต้องเติมเต็มให้ครบทุกประโยชน์ของหลังคาด้วยอุปกรณ์หลังคา ที่ไม่เพียงทำให้หลังคาสวยงามเท่านั้น แต่ช่วยให้คุณมั่นใจในความแข็งแรง ทนทาน และปลอดภัย ไม่ร้อน ไม่รั่ว เพื่อบ้านที่อยู่ได้อย่างสบาย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.25 No.297 กุมภาพันธ์ 2556