ผลวิจัยชี้ สีทาบ้าน 79% สารตะกั่วเกินมาตรฐาน อันตรายต่อสมองเด็ก


ผลวิจัยชี้ สีทาบ้าน 79% สารตะกั่วเกินมาตรฐาน อันตรายต่อสมองเด็ก

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

            ผลวิจัยชี้ สีทาบ้าน 79% มีสารตะกั่วสูงเกินมาตรฐาน มอก. ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาทางสมองของเด็ก โดยล่าสุด ครม. มีมติให้ผู้ผลิตสี ติดฉลากเตือนอันตรายของสารตะกั่วในสีทาอาคาร ภายในสิ้นปี 2556

            เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2556 น.ส.วลัยพร มุขสุวรรณ รองผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ในฐานะนักวิจัย ได้แถลงผลการทดสอบสารตะกั่วในสีน้ำมันทาอาคารว่า จากการสุ่มตัวอย่างสีน้ำมันทาอาคารที่วางจำหน่ายในท้องตลาดไทย 120 ตัวอย่าง 68 ยี่ห้อ พบว่า ร้อยละ 79 ของตัวอย่างทั้งหมด มีปริมาณสารตะกั่วสูงเกินค่ามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ฉบับล่าสุด ที่กำหนดให้สีมีสารตะกั่วได้ไม่เกิน 100 ส่วนในล้านส่วน หรือพีพีเอ็ม (ppm)

            ซึ่งในจำนวนนี้ ร้อยละ 40 มีปริมาณสารตะกั่วสูงเกินมาตรฐานกว่า 100 เท่า นั่นคือ มากกว่า 10,000 พีพีเอ็ม และปริมาณสารตะกั่วสูงสุดที่พบ คือ 95,000 พีพีเอ็ม ขณะที่ปริมาณสารตะกั่วต่ำสุด คือ น้อยกว่า 9 พีพีเอ็ม

            นอกจากนี้ 8 ใน 29 ตัวอย่างของสีที่ติดฉลากไม่ผสมสารตะกั่ว กลับมีปริมาณตะกั่วสูงเกิน 10,000 พีพีเอ็ม โดยมีผู้ผลิตสีเพียง 15 บริษัท จากทั้งหมด 42 บริษัท ผลิตสีตามมาตรฐาน มอก. ฉบับปรับปรุงใหม่ เนื่องจากมาตรการดังกล่าวไม่ได้บังคับให้ผู้ผลิตสีต้องปฏิบัติตาม ดังนั้นจึงเป็นเพียงความสมัครใจของผู้ผลิตเท่านั้น 

            ด้วยเหตุนี้ น.ส.วลัยพร จึงเสนอแนะว่า รัฐบาลควรออกมาตรการให้มีการแสดงข้อมูลปริมาณตะกั่วและคำเตือนถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพจากสารตะกั่วบนฉลากที่ติดบนภาชนะบรรจุผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกใช้ได้ ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรตรวจสอบมาตรฐานสินค้าในท้องตลาดเป็นประจำ เพื่อประเมินผลการปฏิบัติตามกฎหมายและเฝ้าระวังความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค

            ส่วน รศ.ดร.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงผลการศึกษาระดับสารตะกั่วในเลือดของเด็กไทยว่า จากการสำรวจในกลุ่มจังหวัดเขตอุตสาหกรรม 4 จังหวัด ได้แก่ ระยอง สมุทรปราการ สมุทรสาคร และฉะเชิงเทรา รวม 1,526 คน ในจำนวนนี้ พบเด็ก 197 คน มีระดับสารตะกั่วสูงกว่า 10 ไมโครกรัม/เดซิลิตร คิดเป็นร้อยละ 12.9 ของเด็กทั้งหมดที่สำรวจ (ค่า 10 ไมโครกรัม/เดซิลิตรเป็นค่าที่เกือบทุกประเทศกำหนดไว้เป็นค่าความปลอดภัย) และเมื่อสำรวจบ้านเด็กเหล่านี้ทั้งหมด 49 ราย พบว่า 45 ราย หรือ ร้อยละ 92 มีการใช้สีน้ำมันทาบางตำแหน่งภายในบ้าน โดยในบ้านของเด็ก 25 ราย หรือ ร้อยละ 55.6 พบว่า มีสารตะกั่วสูงกว่า 100 พีพีเอ็ม

            ขณะที่การสำรวจฝุ่นผงภายในบ้านพบ 11 ราย หรือ ร้อยละ 22.4 พบว่า มีสารตะกั่วในฝั่งผงภายในบ้านสูงกว่า 400 พีพีเอ็ม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าวิตกมาก เนื่องจากร่างกายของเด็กเล็กดูดซึมสารตะกั่วได้มากกว่าผู้ใหญ่หลายเท่า และการได้รับสารตะกั่วมากเกินไป จะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและการทำงานของสมองด้วย

            ดังนั้น การที่ผู้ผลิตให้ข้อมูลว่า สีน้ำมันไม่ได้มีวัตถุประสงค์ให้ทาอาคารภายใน แต่ผู้บริโภคนำไปใช้กันเองนั้น ถือเป็นเรื่องอันตราย ทางผู้ผลิตควรมีฉลากที่บ่งบอกว่ามีสารตะกั่วเท่าไหร่ และห้ามใช้ทาอาคารภายในที่อยู่อาศัยและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเด็กให้ชัดเจน

            ด้าน นางเบญจมาพร เอกฉัตร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารมาตรฐาน 3 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาการกำหนดมาตรฐานสีเป็นความสมัครใจ แต่อนาคตเพื่อลดปัญหาสารตะกั่วตกค้างในเด็กและผู้บริโภค จะต้องมีการกำหนดเป็นมาตรฐานบังคับ โดยเฉพาะกลุ่มสีที่มีปัญหาอย่างสีน้ำมัน ได้แก่ สีเคลือบเงา สีด้าน และสีกึ่งเงา ที่จะครอบคลุมด้านความปลอดภัยและสมรรถนะการใช้งาน ทั้งนี้ ได้เสนอเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด สมอ. พิจารณาเห็นชอบ และดำเนินการยกร่างเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งหลังจากนี้จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ และประกาศใช้ต่อไป คาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี โดยจะใช้เกณฑ์ค่ามาตรฐานไม่เกิน 100 พีพีเอ็ม

            อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับรองข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สป.) ให้เปลี่ยนมาตรฐานเรื่องปริมาณสารตะกั่วในสีน้ำมันทาอาคารจากแบบสมัครใจเป็น มาตรฐานบังคับ และรับรองข้อเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กำหนดมาตรการบังคับทางฉลาก ให้ระบุข้อความเตือนถึงอันตรายของสารตะกั่วในสีทาอาคาร ภายในสิ้นปี 2556


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ผลวิจัยชี้ สีทาบ้าน 79% สารตะกั่วเกินมาตรฐาน อันตรายต่อสมองเด็ก อัปเดตล่าสุด 24 ตุลาคม 2556 เวลา 09:10:42 3,799 อ่าน
TOP
x close