x close

วิธีขอมิเตอร์ไฟฟ้าและราคา มีขั้นตอนอย่างไร ใช้เอกสารอะไรบ้าง

ขอมิเตอร์ไฟฟ้าใหม่ ทำอย่างไร มาดูวิธีขอมิเตอร์ไฟฟ้า ทั้งเงื่อนไขผู้ขอใช้ไฟฟ้า เอกสารขอมิเตอร์ไฟฟ้า และราคาค่าติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า

มิเตอร์ไฟฟ้า

สำหรับคนที่อยากจะติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าใหม่ที่บ้าน แต่ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง วันนี้เราได้รวบรวมวิธีขอมิเตอร์ไฟฟ้าใหม่มาให้แล้ว ทั้งเงื่อนไขผู้ขอใช้ไฟฟ้า เอกสารขอมิเตอร์ไฟฟ้า รวมไปถึงราคา และวิธีขอมิเตอร์ไฟฟ้าออนไลน์ เพื่อความสะดวกรวดเร็ว

ขอมิเตอร์จากการไฟฟ้านครหลวง

การไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA เป็นผู้ให้บริการจำหน่ายไฟฟ้าใน 3 พื้นที่ คือ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ และนนทบุรี มีวิธีขอมิเตอร์ไฟฟ้าดังนี้

มิเตอร์ไฟฟ้า

เงื่อนไขผู้ขอใช้ไฟฟ้า

  1. เจ้าของที่ดิน หรือเจ้าของสถานที่ใช้ไฟฟ้า

  2. ผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านที่จะขอแจ้งใช้ไฟฟ้า

  3. ผู้มีสิทธิ์ครอบครองสถานที่ใช้ไฟฟ้าตามกฎหมาย หรือตามสัญญาต่าง ๆ เช่น สัญญาเช่า สัญญาจะซื้อจะขาย

เอกสารขอมิเตอร์ไฟฟ้า

ผู้ขอใช้ไฟฟ้าที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านที่จะขอใช้ไฟฟ้า

  1. สำเนาบัตรประชาชน หรือหนังสือเดินทาง (Passport) หากไม่ได้มีสัญชาติไทย
  2. หนังสือรับรองการเดินสายและติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในอาคาร

ผู้ขอใช้ไฟฟ้าไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านที่ขอใช้ไฟฟ้า

  1. สำเนาบัตรประชาชน หรือหนังสือเดินทาง (Passport) หากไม่ได้มีสัญชาติไทย

  2. เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในสถานที่ที่จะขอใช้ไฟฟ้า เช่น สัญญาซื้อ-ขาย สัญญาเช่าพร้อมหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่า หนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่ หรือสำเนาโฉนด เป็นต้น 

  3. หนังสือรับรองการเดินสายและติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในสถานที่ที่จะขอใช้ไฟฟ้า 

กรณีมอบอำนาจ

  1. หนังสือมอบอำนาจ

  2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการ หรือสำเนาบัตรประจำตัวพนักงานองค์การของรัฐ หรือสำเนาหนังสือเดินทาง (Passport) ของผู้มอบอำนาจ

  3. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการ หรือสำเนาบัตรประจำตัวพนักงานองค์การของรัฐ หรือสำเนาหนังสือเดินทาง (Passport) ของผู้รับมอบอำนาจ

หมายเหตุ : สำเนาเอกสารขอมิเตอร์ไฟฟ้าจะต้องลงนามสำเนาถูกต้องทุกฉบับ

ค่าธรรมเนียมขอมิเตอร์ไฟฟ้า

ค่าธรรมเนียมนี้เป็นค่าตรวจสอบการติดตั้งสายไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าภายใน ซึ่งการไฟฟ้านครหลวงจะไม่เก็บค่าประกันไฟฟ้าจากผู้ขอใช้ไฟฟ้ารายใหม่ที่เป็นบ้านที่อยู่อาศัย (ประเภทที่ 1) และกิจการขนาดเล็ก (ประเภทที่ 2) ยกเว้นในกรณีที่เปลี่ยนไปเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ การขอมิเตอร์ไฟฟ้าใช้เวลา 3 วันทำการ ในการตรวจสอบข้อมูล นัดหมาย ตรวจสายภายในอาคาร และติดตั้งอุปกรณ์ หลังจากจ่ายค่าธรรมเนียมดังกล่าวแล้ว ดังนี้

จำนวน 1 เฟส
  • มิเตอร์ไฟฟ้าขนาด 5 (15) แอมป์ ราคา 700 บาท 

  • มิเตอร์ไฟฟ้าขนาด 15 (45) แอมป์ ราคา 700 บาท 

  • มิเตอร์ไฟฟ้าขนาด 30 (100) แอมป์ ราคา 700 บาท 

  • มิเตอร์ไฟฟ้าขนาด 50 (150) แอมป์ ราคา 700 บาท

จำนวน 3 เฟส
  • มิเตอร์ไฟฟ้าขนาด 15 (45) แอมป์ ราคา 700 บาท 

  • มิเตอร์ไฟฟ้าขนาด 30 (100) แอมป์ ราคา 1,500 บาท

  • มิเตอร์ไฟฟ้าขนาด 50 (150) แอมป์ ราคา 1,500 บาท

วิธีขอมิเตอร์ไฟฟ้า

วิธีขอมิเตอร์ไฟฟ้าออนไลน์

  1. เข้าเว็บไซต์ mea.or.th หรือแอปพลิเคชัน Mea Smart Life ผ่านทั้งระบบไอโอเอส (iOS) ผ่าน App Store และระบบแอนดรอยด์ (Android) ผ่าน Google Play

  2. ระบุรายละเอียดขอใช้ไฟฟ้า ระบุสถานที่ขอใช้ไฟฟ้า ยืนยันตัวตนด้วยระบบ OTP

วิธีขอมิเตอร์ไฟฟ้าที่สำนักงาน

          นำเอกสารข้างต้นพร้อมลงนามสำเนาถูกต้องทุกฉบับไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่ผ่านการไฟฟ้านครหลวงเขตต่าง ๆ ที่สะดวก

ขอมิเตอร์จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

           สำหรับจังหวัดอื่น ๆ นอกเหนือจากกรุงเทพฯ สมุทรปราการ และนนทบุรี สามารถติดต่อขอมิเตอร์ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ดังนี้
ติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า

เอกสารขอมิเตอร์ไฟฟ้า

ผู้ขอใช้ไฟฟ้า

  1. สำเนาบัตรประชาชน หรือสำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการ หรือสำเนาบัตรพนักงานองค์การของรัฐ หรือสำเนาหนังสือเดินทาง (Passport) หากไม่ได้มีสัญชาติไทย

  2. สำเนาทะเบียนบ้านที่ขอใช้ไฟฟ้า และสำเนาทะเบียนบ้านที่มีชื่อของผู้ขอใช้ไฟฟ้า 

  3. สำเนาเอกสารหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิ์ครอบครองสถานที่ใช้ไฟฟ้า

กรณีมอบอำนาจ

  1. ต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจพร้อมติดอากรแสตมป์ 

  2. สำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับมอบอำนาจ

  3. สำเนาบัตรประชาชน หรือสำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการ หรือสำเนาบัตรพนักงานองค์การของรัฐ ของผู้รับมอบอำนาจ

ค่าธรรมเนียมขอมิเตอร์ไฟฟ้าใหม่

จำนวน 1 เฟส
  • มิเตอร์ไฟฟ้าขนาด 5 (15) แอมป์ ราคา 107 บาท 

  • มิเตอร์ไฟฟ้าขนาด 15 (45) แอมป์ ราคา 749 บาท 

  • มิเตอร์ไฟฟ้าขนาด 30 (100) แอมป์ ราคา 749 บาท 

จำนวน 3 เฟส
  • มิเตอร์ไฟฟ้าขนาด 15 (45) แอมป์ 749 บาท 

  • มิเตอร์ไฟฟ้าขนาด 30 (100) แอมป์ 1,605 บาท

หมายเหตุ : ค่าธรรมเนียมรวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว

วิธีขอมิเตอร์ไฟฟ้าออนไลน์

มิเตอร์ไฟฟ้า

  • เข้าเว็บไซต์ https://www.pea.co.th/ เลือก e-Service และเลือกบริการหลักหัวข้อ "ขอใช้ไฟฟ้า/น้ำประปา"

  • เลือกประเภทผู้ขอใช้ไฟฟ้า หากเป็นประชาชนทั่วไปเลือก "บุคคลธรรมดา" แต่ถ้ายื่นขอในนามเป็นองค์กร บริษัท หรือหน่วยงาน ให้เลือก "นิติบุคคล" 

  • อ่านเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ครบถ้วน หากต้องการขอใช้ประปาด้วยก็สามารถแจ้งความประสงค์ได้พร้อมกันเลย

  • กรอกประวัติผู้ขอใช้บริการ 

  • กรอกข้อมูลสถานที่ที่ขอใช้ไฟฟ้า แล้วกดยืนยัน หลังจากนั้นระบบจะแจ้งหมายเลขคำร้องขอใช้ไฟฟ้าไปทางหน้าจอและอีเมลที่ได้ลงทะเบียนไว้ เพื่อใช้สำหรับติดตามสถานะการดำเนินการจาก e-Service ได้เช่นกัน

ขอมิเตอร์ไฟฟ้าใช้เวลากี่วัน

           สำหรับระยะเวลาในการขอมิเตอร์ไฟฟ้า ทั้งขั้นตอนการตรวจสอบเอกสารให้ครบถ้วนและถูกต้อง การพิจารณาคำร้อง ตรวจสอบการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในอาคาร และติดตั้งมิเตอร์พร้อมจ่ายไฟ หากอยู่ในเขตชุมชนใช้เวลา 5 วันทำการ และนอกเขตชุมชนใช้เวลา 8 วันทำการ นับตั้งแต่รับชำระเงิน

เรียกว่าอำนวยความสะดวกให้กับคนที่ต้องการขอมิเตอร์ไฟฟ้าจริง ๆ เพราะมีให้เลือกทั้งเดินทางไปที่สำนักงานหรือทำผ่านออนไลน์ ทั้งนี้ ถ้าถึงวันนัดหมายแล้วอย่าลืมเตรียมเอกสารให้พร้อมกันนะคะ

เรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมิเตอร์ไฟฟ้า :

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : mea.or.th, เฟซบุ๊ก การไฟฟ้านครหลวง MEA และ pea.co.th
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีขอมิเตอร์ไฟฟ้าและราคา มีขั้นตอนอย่างไร ใช้เอกสารอะไรบ้าง อัปเดตล่าสุด 22 กันยายน 2566 เวลา 23:09:47 180,282 อ่าน
TOP