เปิดบิลค่าไฟ 1 เดือนจ่ายอะไรบ้าง เจอค่าไฟแพงผิดปกติแจ้งที่ไหนดี ?

          ไขข้อข้องใจ บิลค่าไฟ 1 ใบ มีรายละเอียดอะไรที่เราควรรู้บ้าง ไว้เช็กก่อนจ่ายเงิน หากพบค่าไฟฟ้าแพงผิดปกติแจ้งเรื่องไปที่ไหนได้บ้าง 

บิลค่าไฟ

           ค่าไฟฟ้า เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มีการพูดถึงกันทุกปี หลังจากพบว่ายอดค่าไฟมักจะแพงขึ้นโดยเฉพาะในหน้าร้อนซึ่งมีการใช้ไฟฟ้ามากกว่าช่วงอื่น ๆ วันนี้กระปุกดอทคอมจะพาไปดูกันว่า ปัจจุบันอัตราค่าไฟฟ้ามีการคิดอย่างไร ในบิลค่าไฟแต่ละเดือนมีค่าอะไรบ้างที่ต้องจ่าย เอาไว้เช็กรายละเอียดการใช้งานและค่าใช้จ่ายก่อนจะจ่ายค่าไฟ หากลองคำนวณแล้วค่าไฟฟ้าแพงผิดปกติจะร้องเรียนที่ไหนได้บ้าง 

อัตราค่าไฟฟ้า คิดอย่างไร


บิลค่าไฟ
ภาพจาก : KenSoftTH / shutterstock.com

          อัตราค่าไฟฟ้าสำหรับที่อยู่อาศัย คิดแบบอัตราก้าวหน้า หรือยิ่งใช้ไฟฟ้ามากก็ยิ่งจ่ายแพงขึ้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ค่าไฟฟ้าตามอัตราปกติ และค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลาการใช้ มีรายละเอียดดังนี้ 

ค่าไฟฟ้าตามอัตราปกติ


         ประเภทที่ 1.1 

          
          อัตราค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ และมีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน 
 
          - 15 หน่วย (กิโลวัตต์ชั่วโมง) แรก (หน่วยที่ 1-15) หน่วยละ 2.3488 บาท
          - 10 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 16-25) หน่วยละ 2.9882 บาท
          - 10 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 26-35) หน่วยละ 3.2405 บาท
          - 65 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 36-100) หน่วยละ 3.6237 บาท
          - 50 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 101-150) หน่วยละ 3.7171 บาท
          - 250 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 151-400) หน่วยละ 4.2218 บาท
          - เกินกว่า 400 หน่วย (หน่วยที่ 401 เป็นต้นไป) หน่วยละ 4.4217 บาท
          ค่าบริการ  : 8.19 บาทต่อเดือน 

          ซึ่งภาครัฐได้มีการกำหนดสิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 50 หน่วย ให้กับผู้มีสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐที่ผ่านคุณสมบัติโครงการลงทะเบียน โดยเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านประเภท 1.1 ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ ไม่ใช่นิติบุคคล และใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วย ติดต่อกัน 3 เดือน

          ประเภทที่ 1.2 


          อัตราค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์เกิน 5 แอมป์ และบ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ แต่มีการใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยขึ้นไปต่อเดือน ติดต่อกัน 3 เดือนขึ้นไป 

          - 150 หน่วย (กิโลวัตต์ชั่วโมง) แรก (หน่วยที่ 1-150) หน่วยละ 3.2484 บาท
          - 250 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 151-400 ) หน่วยละ 4.2218 บาท
          - เกินกว่า 400 หน่วย (หน่วยที่ 401 เป็นต้นไป) หน่วยละ 4.4217 บาท
          ค่าบริการ  : 24.62 บาทต่อเดือน 

ค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลาการใช้ 


          อัตราตามช่วงเวลาของการใช้ (Time of Use Tariff : TOU Tariff) เป็นการคิดค่าไฟตามเวลาที่กำหนด แบ่งเป็น On Peak กับ Off Peak ซึ่งมีราคาหน่วยและค่าบริการต่างกัน โดยอัตราค่าไฟกลางวันจะแพงกว่ากลางคืน ดังนี้ 

          การแบ่งช่วงเวลา 

          On Peak : เวลา 09.00-22.00 น. วันจันทร์-ศุกร์
          Off Peak : 
                    เวลา 22.00-09.00 น. วันจันทร์-ศุกร์
                    เวลา 00.00-24.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ วันแรงงานแห่งชาติ
                    วันหยุดราชการตามปกติ (ไม่รวมวันพืชมงคลและวันหยุดชดเชย)

          อัตราค่าไฟฟ้า 


          แรงดัน 12-24 กิโลโวลต์ : On Peak 5.1135 / Off Peak 2.6037 และค่าบริการ 312.24
          แรงดันต่ำกว่า 12 กิโลโวลต์ : On Peak 5.7982 / Off Peak 2.6369 และค่าบริการ 24.62

          ทั้งนี้ ผู้ที่จะเปลี่ยนไปใช้มิเตอร์ประเภทนี้ต้องแจ้งไปยังการไฟฟ้าในส่วนที่รับผิดชอบก่อน หากมองเผิน ๆ อาจจะเห็นว่าราคาต่อหน่วยถูกกว่าหากเราใช้ไฟเยอะในช่วงกลางคืน แต่อย่างไรก็ดี ก่อนจะตัดสินใจเปลี่ยนควรเปรียบเทียบกับอัตราค่าไฟปกติก่อนว่าคุ้มค่าหรือไม่ และแบบไหนที่จะช่วยให้เราประหยัดได้มากกว่ากัน 
 
          สามารถตรวจสอบประเภทอัตราค่าไฟฟ้าได้ในส่วนของข้อมูลผู้ใช้ โดยจะปรากฏเป็นตัวเลข 3 หลักแรกในช่องประเภท (Type) เช่น 1115 คือ บ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ส่วน 1125 คือผู้ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือนนั่นเอง 

บิลค่าไฟ มีรายละเอียดอะไรบ้าง


บิลค่าไฟ
ภาพจาก : Seika Chujo / shutterstock.com

          บิลค่าไฟแต่ละเดือนประกอบด้วย 3 ส่วนหลักหลัก ๆ ด้วยกัน คือ ข้อมูลผู้ใช้ รายละเอียดการใช้ไฟฟ้า และค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บ ซึ่งมีรายละเอียดต่างกันไป

ส่วนที่ 1 : ข้อมูลผู้ใช้


          ข้อมูลในส่วนนี้เป็นข้อมูลทั่วไปที่เกี่ยวกับผู้ใช้ไฟฟ้า เช่น ชื่อ ที่อยู่ หมายเลขผู้ใช้ไฟฟ้า วันและเวลาอ่านหน่วยค่าไฟฟ้าประจำเดือน


ส่วนที่ 2 : ข้อมูลการใช้ไฟฟ้า 


          ข้อมูลในส่วนนี้ประกอบด้วยเลขอ่านครั้งก่อน-หลังจากมิเตอร์ไฟฟ้า จำนวนหน่วยทั้งหมดที่ใช้ไป เป็นส่วนต่างจากตัวเลขการอ่าน และประวัติการใช้ไฟฟ้าย้อนหลัง 6 เดือน พร้อมจำนวนหน่วยที่ใช้ไฟแต่ละเดือน 

บิลค่าไฟฟ้า
ภาพจาก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

ส่วนที่ 3 : ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บ 


          ส่วนสุดท้ายของบิลค่าไฟ ประกอบด้วย 4 ส่วนย่อย นั่นก็คือ ค่าพลังงานไฟฟ้า ค่าบริการรายเดือน ค่า Ft และค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 

          - ค่าพลังงาน : ต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ระบบสายส่ง สายจำหน่าย และค่าการผลิตไฟฟ้า 

          - ค่าบริการรายเดือน : ค่าใช้จ่ายในการจำหน่ายและการบริการผู้ใช้ไฟฟ้าในแต่ละเดือน เช่น ค่าใช้จ่ายในการจดหน่วยไฟฟ้า ค่าจัดทำและจัดส่งบิลค่าไฟฟ้า การรับชำระเงินค่าไฟฟ้า และงานบริการลูกค้า ในส่วนนี้ได้ดำเนินมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2543 

          - ค่า Ft (ค่าไฟฟ้าแปรผัน) : ค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชน และค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐที่เปลี่ยนแปลงไปจากค่าไฟฐาน โดยค่า Ft ตรงนี้จะมีการปรับทุก 4 เดือน โดยมี กกพ. เป็นผู้กำกับดูแล                                     

          - ค่าภาษี : ค่าภาษีมูลค่า 7% ที่เรียกเก็บตามกฎหมายที่กำหนด โดยการไฟฟ้าฯ จะนำส่วนนี้ส่งให้สรรพากรเป็นรายเดือน เพื่อนำไปรวมเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป 

บิลค่าไฟฟ้า
ภาพจาก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

          ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบรายละเอียดค่าไฟเพิ่มเติมได้ที่ https://www.mea.or.th หรือประมาณการค่าไฟฟ้าผ่านเว็บไซต์ https://www.pea.co.th 

ใช้ไฟเท่าเดิม แต่ทำไมค่าไฟแพงขึ้น ?


บิลค่าไฟ

          ในช่วงหน้าร้อนหลายคนมักจะเจอปัญหาว่า ค่าไฟแพงขึ้นมาก ทั้งที่ใช้ไฟเท่าเดิม สาเหตุหนึ่งมาจากเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภททำความเย็นทำงานหนักขึ้น เนื่องจากต้องปรับอุณหภูมิต่ำลงตามที่ตั้งไว้ ในขณะที่อุณหภูมิภายนอกสูงขึ้น เช่น การเปิดแอร์ในบ้าน ซึ่งในสภาวะที่อากาศปกติ อุณหภูมิภายนอกจะอยู่ที่ประมาณ 30 องศาเซลเซียส หากปรับอุณหภูมิแอร์ไว้ที่ 26 องศาเซลเซียส แอร์ก็จะทำงานน้อยกว่า เพราะอุณหภูมิในห้องกับภายนอกจะต่างกันเพียง 4 องศาเซลเซียส แต่หากเป็นหน้าร้อนที่มีอุณหภูมิภายนอกสูงขึ้น โดยเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ประมาณ 36-40 องศาเซลเซียส โดยที่ตั้งอุณหภูมิแอร์ไว้เท่าเดิมที่ 26 องศาเซลเซียส ซึ่งมีอุณหภูมิต่างกันถึง 14 องศาเซลเซียล อีกทั้งการปรับลดอุณหภูมิ 1 องศาเซลเซียส ทำให้ต้องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 10% จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้แอร์ทำงานหนักขึ้นและค่าไฟฟ้าสูงขึ้นช่วงหน้าร้อนนั่นเอง 

ค่าไฟแพง ร้องเรียนที่ไหนได้บ้าง ?


บิลค่าไฟ
ภาพจาก : KenSoftTH / shutterstock.com

          ทั้งนี้ เมื่อลองคำนวณดูแล้วพบค่าไฟแพงผิดปกติ หรือมีข้อสงสัยอื่น ๆ เกี่ยวกับเรื่องค่าไฟฟ้า สามารถร้องเรียนไปยังการไฟฟ้าในพื้นที่ ดังนี้ 

          - กรุงเทพฯ และปริมณฑล แจ้งเรื่องผ่านการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เว็บไซต์ http://www.mea.or.th และ Call Center เบอร์โทรศัพท์ 1130

          - จังหวัดอื่น ๆ แจ้งเรื่องผ่านการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เว็บไซต์ https://complaint.pea.co.th และ Call Center เบอร์โทรศัพท์ 1129

          หลังจากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบ โดยจะพิจารณาจากข้อเท็จจริงประกอบกับประวัติการใช้ไฟฟ้าย้อนหลัง หากพบความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากระบบของการไฟฟ้าฯ ก็จะจ่ายชดเชยให้ 

          จริง ๆ แล้วบิลค่าไฟไม่ได้บอกแค่ค่าไฟที่ต้องชำระในแต่ละเดือนเท่านั้น แต่ยังมีรายละเอียดอื่น ๆ บอกไว้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลการไฟฟ้า รวมถึงประวัติการใช้ไฟฟ้าย้อนหลัง ซึ่งสามารถตรวจสอบได้เบื้องต้น ทั้งนี้ หากลองคำนวณด้วยตัวเองเบื้องต้นแล้วพบความผิดปกติ สามารถแจ้งหรือร้องเรียนไปยังการไฟฟ้าในพื้นที่ที่รับผิดชอบได้เลย

เรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับค่าไฟ : 



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดบิลค่าไฟ 1 เดือนจ่ายอะไรบ้าง เจอค่าไฟแพงผิดปกติแจ้งที่ไหนดี ? อัปเดตล่าสุด 21 เมษายน 2566 เวลา 15:47:15 205,770 อ่าน
TOP
x close