เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าห้องครัวถือเป็นแหล่งรวมความสกปรกและเชื้อโรคติดอันดับต้น ๆ ภายในบ้าน ด้วยภาระหน้าที่ในการเป็นห้องที่ใช้ประกอบอาหาร และเป็นห้องที่ถูกใช้งานบ่อย ๆ จึงต้องกลายเป็นที่อยู่ของเชื้อโรคไปโดยปริยาย ถ้าอย่างนั้นมาดูกันดีกว่าค่ะว่า 9 จุดไหนบ้างที่เชื้อโรคชอบไปอยู่กันเป็นพิเศษ
1. อ่างล้างจาน
เราใช้อ่างล้างจานล้างทำความสะอาดสารพัดอย่าง ตั้งแต่ผักสด เนื้อสัตว์ จานที่ใช้แล้ว รวมไปถึงภาชนะใส่อาหารของน้องหมาน้องแมว ซึ่งทุกอย่างที่ว่ามานี้ ล้วนมีเชื้อโรคปะปนอยู่ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรียจากเนื้อสัตว์ จุลินทรีย์จากเศษอาหาร หรือบางทีอาจจะเป็นเชื้อไวรัสจากชามอาหารของสัตว์เลี้ยง ซึ่งทุกครั้งที่ล้างทำความสะอาดเสร็จ เชื้อโรคต่าง ๆ ก็จะตกหล่นอยู่ตามท่อน้ำทิ้งเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้ถูกกำจัดไปไหน จึงเสี่ยงที่เชื้อโรคจะกลับมาปะปนในจานอาหารหรือมือเราได้อีกครั้ง และก็อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคทางเดินอาหาร
เพราะฉะนั้นป้องกันไว้ก่อนดีกว่า ด้วยการล้างทำความสะอาดอ่างล้างจานทุกครั้ง ด้วยน้ำยาล้างจานปกติก่อน (อย่าลืมแยกฟองน้ำล้างอ่างกับล่างจานออกจากกันด้วยนะคะ) จากนั้นให้ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคฉีดให้ทั่วอ่าง เน้นบริเวณท่อ ทิ้งไว้สักพัก แล้วราดน้ำตามลงไปอีกที เพื่อเป็นการกำจัดเชื้อโรคที่หลงเหลืออยู่ให้หมดไป
2. ฟองน้ำ
ผลการวิจัยขององค์การส่งเสริมอนามัยแห่งชาติระหว่างประเทศหรือ NSF พบว่า 75% ของฟองน้ำและผ้าสำหรับเช็ดทำความสะอาด จะเก็บสะสมแบคทีเรีย เช่น อีโคไล (E.coli) ซึ่งเป็นสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย เพราะฉะนั้นถ้าใช้ฟองน้ำที่ไม่ได้ล้างทำความสะอาดซ้ำกันทุก ๆ วัน ก็จะยิ่งมีโอกาสรับเชื้อโรคได้ง่ายขึ้น
ดังนั้นคงดีกว่าถ้าจะทำความสะอาดฟองน้ำบ่อย ๆ เริ่มด้วยการล้างฟองน้ำให้สะอาดทุกครั้งหลังใช้งาน หรือถ้าทำความสะอาดฟองน้ำด้วยน้ำร้อนได้ก็จะดีที่สุด แต่ถ้าไม่สะดวกก็แนะนำให้ฆ่าเชื้อด้วยการนำฟองน้ำเข้าไปอบในไมโครเวฟ ประมาณ 2 นาที วิธีนี้ใช้ได้กับฟองน้ำที่ไม่มีเหล็กหรือสเตนเลสผสมนะคะ
3. มือของเราเอง
เราใช้มือหยิบผักสดที่ยังไม่ได้ล้าง เนื้อสัตว์ดิบ ๆ หรือจานที่ยังไม่ได้ล้างทำความสะอาด จึงไม่แปลกที่มือทั้งสองข้างของเราจะเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคไม่น้อยไปกว่าส่วนต่าง ๆ ในห้องครัว เพราะฉะนั้นป้องกันเชื้อโรคเปรอะเปื้อนไปตามจุดต่าง ๆ ด้วยการเตรียมของที่ต้องใช้ เช่น มีด เขียง จาน ชาม ช้อน ตะหลิว ก่อนจะหยิบเนื้อสัตว์หรือผักออกมาล้าง และหลังหยิบจับเนื้อสัตว์ ก็ควรจะล้างมือตั้งแต่ฝ่ามือ ซอกนิ้วมือและข้อมือให้ทั่วด้วยสบู่ประมาณ 2 นาที (ร้องเพลงช้างประมาณ 2 รอบ) ทุกครั้งด้วยนะจ๊ะ
4. เครื่องชงกาแฟ
ผลวิจัยจากองค์การส่งเสริมอนามัยแห่งชาติระหว่างประเทศหรือ NSF พบว่า นอกจากกาแฟสดแล้ว ภายในหม้อต้มกาแฟยังมียีสต์และเชื้อราปะปนอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเชื้อโรคเหล่านี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ และยังทำให้กาแฟมีรสชาติเปลี่ยนไปจากเดิมอีกด้วย เพราะฉะนั้นควรจะทำความสะอาดเครื่องชงกาแฟเดือนละหนึ่งครั้ง ด้วยการเติมน้ำส้มสายชูลงไปในหม้อต้มกาแฟ และต้มทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที เทน้ำส้มสายชูทิ้ง จากนั้นก็ต้มน้ำธรรมดาอีกสัก 2-3 รอบเพื่อเป็นการล้างหม้ออีกที ระหว่างที่รอเครื่องล้างก็ควรจะถอดอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ช่องใส่กาแฟ ออกมาล้างทำความสะอาดด้วยน้ำร้อนด้วยเช่นกัน
5. ด้ามจับประตูตู้เย็น ตู้ และปุ่มจุดเตา
สามจุดนี้มักจะเป็นจุดที่ทุกคนละเลย เพราะคิดว่าด้ามจับเป็นแค่จุดเล็ก ๆ ที่ไม่ได้ดูสกปรกเท่าไร แต่อย่าลืมว่าจุดที่ถูกใช้งานอยู่บ่อยครั้ง ย่อมต้องมีโอกาสสะสมเชื้อโรคมากกว่าบริเวณที่ไม่ค่อยได้ถูกจับใช้งานแน่นอน เพราะฉะนั้นการทำความสะอาดจุดเหล่านี้เป็นประจำ จึงเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าการทำความสะอาดครัวทั่วไป โดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคเช็ดทำความสะอาดด้ามจับต่าง ๆ ที่เราใช้งานบ่อย ๆ อย่างน้อยเดือนละครั้ง หรือถ้าเป็นไปได้ก็ให้ทำความสะอาดทุกครั้งหลังใช้งาน
6. ถังขยะ
แม้จะมัดปากถุงและแยกขยะอย่างดีทุกครั้งก่อนทิ้ง แต่ขยะก็ยังไม่วายส่งกลิ่นเหม็นออกมาอีก นั่นก็แสดงว่าเชื้อโรคได้สะสมและได้แพร่พันธุ์ไปเรียบร้อยแล้ว จะดีกว่าไหมถ้าหมั่นทิ้งขยะบ่อย ๆ และล้างถังขยะสัปดาห์ละครั้ง ด้วยการฉีดน้ำล้างทำความสะอาดก่อน แล้วตามด้วยฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทิ้งไว้สักพัก จากนั้นก็ล้างด้วยน้ำสะอาดอีกรอบ แล้วนำไปตากแดดให้แห้ง
7. เคาน์เตอร์ครัว
ใช่ว่าการเช็ดทำความสะอาดเคาน์เตอร์ทุกครั้งจะสามารถกำจัดเชื้อโรคได้ เพราะทุกครั้งที่เรานำของต่าง ๆ มาวางบนเคาน์เตอร์ ไม่ว่าจะเป็นผักสด เนื้อสด หรือถุงจากข้างนอก ย่อมต้องมีเชื้อโรคทิ้งตัวกระจัดกระจายอยู่บนเคาน์เตอร์อย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นก่อนและหลังจะวางของลงบนเคาน์เตอร์ ก็อย่าลืมที่จะเช็ดทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ และพยายามอย่านำสิ่งที่เราถือติดตัวไปไหนมาไหนตลอดทั้งวัน เช่น กระเป๋าถือ มาวางบนเคาน์เตอร์ เพื่อลดโอกาสที่เชื้อโรคจะมาอาศัยอยู่ด้วยค่ะ
8. ไมโครเวฟ
หลายคนอาจจะสงสัยว่าความร้อนในไมโครเวฟไม่ได้ช่วยฆ่าเชื้อโรคหรืออย่างไร ทำไมถึงยังเป็นอีกจุดหนึ่งที่สกปรกที่สุดอยู่ แต่อย่าลืมว่าไมโครเวฟเองก็ไม่ได้ปล่อยความร้อนออกมาตลอดเวลา เพราะฉะนั้นย่อมต้องมีโอกาสที่เชื้อโรคจากเศษอาหารจะหลงเหลืออยู่ในไมโครเวฟบ้าง เพราะฉะนั้นคงดีกว่าถ้าจะเช็ดทำความสะอาดไมโครเวฟด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อสัปดาห์ละครั้ง หรือเช็ดทำความสะอาดทุกครั้งที่มีคราบสกปรก นอกจากนี้การบีบน้ำมะนาวลงในถ้วยน้ำเปล่าธรรมดา แล้วนำไปเวฟประมาณ 1 นาที ก็จะช่วยดับกลิ่นไม่พึงประสงค์ในไมโครเวฟได้อีกด้วย
9. กระเป๋าจ่ายตลาด
กระเป๋าผ้าสำหรับจ่ายตลาดก็เป็นของอีกอย่างหนึ่งมักจะสะสมเชื้อโรคและแบคทีเรียอย่าง อีโคไล (E.coli) ไว้ด้วยเหมือนกัน เพราะคราบน้ำจากเนื้อสัตว์ หรือคราบอาหารต่าง ๆ อาจจะซึมอยู่ในเส้นใยผ้าได้ ทางที่ดีควรจะเลือกใช้กระเป๋าผ้าที่สามารถซักทำความสะอาดได้ง่าย อย่างผ้าคอตตอน และซักทำความสะอาดด้วยน้ำร้อน จากนั้นตากแดดจัด ๆ ให้แห้ง หรือจะเป่าให้แห้งด้วยลมร้อนก็ได้ หมั่นซักอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้งก็จะช่วยป้องกันเชื้อโรคได้อีกทางหนึ่งนะจ๊ะ
ในความเป็นจริงแล้วเชื้อโรคก็วนเวียนอยู่รอบ ๆ ตัวเราตลอดเวลา เพราะฉะนั้นถ้ามีวิธีไหนที่จะช่วยป้องกันและหลีกเลี่ยงเชื้อโรคได้บ้าง ก็ไม่ควรละเลยนะคะ เพื่อสุขภาพอนามัยที่ดีของห้องครัว และคนในบ้าน
แบบบ้านสวย ตกแต่งบ้าน สินเชื่อบ้าน ฮวงจุ้ยบ้าน สวนสวยๆ คลิกเลย
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่