เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
แม่บ้านทุกคนคงรู้กันดีว่าในห้องครัวนั้นมีของอยู่มากมาย ทั้งวัตถุดิบสำหรับทำอาหาร ของสด ของแห้ง บรรดาขวดเครื่องปรุงรสที่ซื้อตุนไว้ บางบ้านก็ตุนบะหมี่สำเร็จรูปไว้อีกหลายแพ็ก หรือแม้กระทั่งของที่ไม่ได้เกี่ยวกับการทำอาหาร บางคนก็นำมาเก็บซ่อนไว้ในครัวด้วยเช่นกัน เห็นได้ชัดแบบไม่ต้องสงสัยกันเลยว่าทำไมตู้เก็บของในห้องครัวถึงได้รกและแน่นจนอึดอัดจนหาของแทบไม่เจอ ซึ่งหากจะปล่อยให้ในบ้านมีมุมรก ๆ แบบนี้ก็คงไม่ค่อยดีเท่าไรแน่ ๆ วันนี้กระปุกดอทคอมเลยนำเทคนิคจัดระเบียบตู้เก็บของในห้องครัวมาฝากกัน สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าควรจะเริ่มจัดการจากตรงไหนก่อน ก็ทำตามขั้นตอนต่อไปนี้กันได้เลยจ้า
1. โละของออกจากตู้
อาจจะดูเหนื่อยไปนิด แต่เริ่มแรกของการจัดระเบียบตู้เก็บของต้องเริ่มจากการโละของในตู้ออกมาให้หมดก่อน เพื่อให้คุณได้คัดแยกของที่ยังใช้ได้อยู่ และของที่หมดอายุแล้ว โดยเฉพาะตู้เก็บของที่ไม่เคยได้จัดระเบียบมานาน ยังไงก็ไม่พ้นต้องมีข้าวของที่ไม่สมควรจะเก็บไว้อีกต่อไปอย่างแน่นอน ดังนั้นเพื่อลดปริมาณข้าวของไม่ให้รกตู้จนเกินไป ก็เลือกของที่หมดอายุแล้วทิ้งไปให้หมด ของชิ้นไหนที่ไม่คิดว่าจะมีโอกาสได้ใช้แล้วก็บริจาคไปซะ ส่วนของที่ยังใช้ได้อยู่ก็ปัดกวาดฝุ่นสักนิด แล้วเตรียมเก็บเข้าตู้ต่อไป ถ้าเป็นไปได้ให้เรียงลำดับวันหมดอายุของของแต่ละชนิดเอาไว้ด้วยก็จะดีมากค่ะ เวลาเก็บจะได้จัดเรียงไว้ในตำแหน่งที่สังเกตเห็นง่าย เพื่อที่จะนำมาทำอาหารรับประทานก่อน อ้อ! ตอนที่ตู้กำลังโล่งอย่างนี้ ก็ถือโอกาสเช็ดถูทำความสะอาดให้หมดจดทุกซอกมุมด้วยนะจ๊ะ
2. จัดแยกประเภท
เมื่อคัดของและทำความสะอาดตู้เก็บของเรียบร้อยแล้ว คราวนี้ก็ได้เวลาจัดกลุ่มประเภทให้ของต่าง ๆ โดยจะใช้โพสต์อิทเขียนแปะแยกประเภทไว้ก็ได้ ซึ่งประเภทของของใช้ก็อาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละบ้าน จึงอาจจะแยกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ เช่น เครื่องกระป๋อง เครื่องปรุงรส อาหารสำเร็จรูป นม ซีเรียล หรือประเภทอื่น ๆ ตามแต่จะกำหนด จะได้จัดเก็บของเข้าตู้ได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้น เวลาจะหยิบใช้ก็สะดวกมากขึ้นด้วยค่ะ
3. จับของบางอย่างใส่กระป๋อง
วัตถุดิบบางประเภทที่มาในรูปแบบกล่อง หรือถุงใหญ่ ๆ เช่น กุ้งแห้ง น้ำตาล กระเทียม หอมแดง ถ้าเราย้ายมาใส่กล่องหรือขวดโหลใสแบบมีฝาปิด และเขียนป้ายแปะกำกับไว้ก็จะช่วยป้องกันมด แมลงมาก่อกวนได้ และช่วยให้ตู้เก็บของเป็นระเบียบสวยงามขึ้นด้วย แนะนำว่าถ้าใช้กล่องทรงสี่เหลี่ยมจะประหยัดพื้นที่และจัดเก็บได้สะดวกกว่า ส่วนผลไม้หรือของสดอื่น ๆ เช่น กระเทียม หอมแดง จะหาซื้อตะกร้าใบเล็กน่ารัก ๆ มาใส่ก็ได้ หรือจะซื้อชั้นเก็บของพลาสติกขนาดเล็กที่มีฝาปิดมาแขวนไว้หน้าตู้เก็บของ สำหรับใส่อุปกรณ์ชิ้นเล็ก ๆ ก็ดีค่ะ
4. วางแผนการจัดเก็บ
เพื่อการหยิบใช้งานอย่างสะดวก เราควรวางแผนการจัดเก็บ ด้วยการวางตำแหน่งของแต่ละประเภทไว้คร่าว ๆ ก่อน ของประเภทไหนที่รู้ว่าจะหยิบใช้งานบ่อย ๆ หรือใกล้จะหมดอายุก็เก็บในตำแหน่งที่สังเกตเห็นและหยิบใช้ได้ง่าย ของที่ไม่ค่อยมีโอกาสได้ใช้จะเก็บไว้ลึก ๆ หน่อยก็ได้ ส่วนชั้นบนสุด หรือชั้นสูง ๆ ของตู้ แนะนำให้เก็บอุปกรณ์ทำอาหารที่ไม่ค่อยได้ใช้งาน เช่น เครื่องทำไอศกรีม หม้อและภาชนะใส่อาหารที่มีสำรองไว้
5. เก็บของเข้าตู้
เมื่อทำตามทั้ง 4 ขั้นตอนที่ว่ามาแล้ว ก็ถึงเวลาต้องทยอยจัดเรียงของกลับเข้าตู้ให้เรียบร้อยตามที่ได้วางแผนเอาไว้ และเมื่อเก็บของเข้าตู้เสร็จแล้ว จะเขียนป้ายติดกำกับที่ขอบตู้ก็ได้ ในกรณีที่คุณจัดเรียงของแบบชั้นละประเภทไปเลย และอย่าลืมตรวจสอบด้วยว่า ได้เขียนป้ายกำกับของในกล่อง หรือขวดโหลครบหมดแล้ว เพื่อที่ทุกคนในครอบครัวจะได้หยิบของใช้ได้อย่างสะดวก และถ้าเป็นไปได้ ก็ควรหมั่นจัดของในตู้ทุก ๆ 2 สัปดาห์ เพื่อจะได้เคลียร์ของที่ใกล้หมดอายุ และเพื่อให้ตู้เก็บของเป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่เสมอนะจ๊ะ
แม้ขั้นตอนทั้ง 5 ข้อนี้จะมีไว้สำหรับใช้จัดระเบียบตู้เก็บของในห้องครัว แต่บางเทคนิคก็สามารถนำไปดัดแปลงใช้จัดระเบียบตู้เก็บของชนิดอื่น ๆ ได้ทั้งบ้านนะคะ และหากที่บ้านใครกำลังมีตู้เก็บของรก ๆ อยู่ ก็ลองนำขั้นตอนเหล่านี้ไปจัดการได้ตามสบายเลยจ้า