Before
After เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอมขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
Centsational Girl สำหรับคนที่มีเฟอร์นิเจอร์เก่าอยู่ในบ้าน อย่าเพิ่งตัดสินใจนำไปทิ้ง บริจาค หรือวางไว้ในห้องเก็บของเฉย ลองนำออกมาปรับโฉมให้ไฉไลแล้วนำไปใช้ใหม่กันดีกว่า ด้วยวิธี D.I.Y. ตู้ลิ้นชักเก่า จาก Centsational Girl รับรองเลยว่า ขั้นตอนต่อไปนี้จะช่วยเปลี่ยนตู้ลิ้นชักเก่าของคุณ ให้สวยงามได้อย่างใจ อย่างกับมืออาชีพเลยทีเดียว แต่ก่อนที่จะไปดูขั้นตอนการทำ มาทำความรู้จักกับสีกันหน่อยดีกว่า เพื่อให้ชิ้นงานออกมาเนี้ยบยิ่งขึ้น โดย
Centsational Girl แนะนำว่า
สีที่เหมาะสมกับการนำมาใช้กับการเปลี่ยนสีเฟอร์นิเจอร์ มี 3 ชนิดด้วยกัน คือ สีน้ำ หรือสีอีนาเมล สีชอล์ก และสีเคลือบ ข้อดีของสีน้ำคือแห้งเร็ว แต่อาจจะเป็นก้อนแข็งบ้าง ดังนั้นถ้าอยากให้ชิ้นงานมีสีเรียบเนียนยิ่งขึ้น อาจจะเปลี่ยนมาใช้สีอีนาเมลที่นิยมใช้ทำโมเดลก็ได้ ส่วนสีชอล์กก็จะทำให้ชิ้นงานเสร็จเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากไม่ได้ลงรองพื้น แต่มีข้อเสียนิดหน่อยตรงที่มีโทนสีค่อนข้างจำกัดเท่านั้นเอง เอาล่ะทราบข้อมูลเบื้องต้นกันไปแล้ว ไปดูวิธีลงมือเพ้นท์ตู้ลิ้นชักเก่ากันเลยดีกว่า
อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม

ผ้าทำความสะอาด

ไขควง

กระดาษทราย (เบอร์ 80-120)

สีสเปรย์รองพื้นป้องกันคราบสกปรก (Bonding Primer)

สีน้ำ สีอีนาเมล หรือสีชอล์ก (ใช้โทนสีตามที่ต้องการ)

แปรงทาสี

พู่กันหัวตัด

แว็กซ์เคลือบสีเฟอร์นิเจอร์
วิธีทำ 
1. นำสิ่งของและอุปกรณ์ตกแต่งทุกชิ้น ที่ติดตั้งมากับตู้ลิ้นชักออกทั้งหมด

2. หากหน้าไม้เฟอร์นิเจอร์ของคุณมีสภาพดีอยู่แล้ว ข้ามขั้นตอนการขัดกระดาษทราย ไปยังขั้นตอนการลงสีสเปรย์รองพื้นป้องกันคราบสกปรกได้เลย เพราะการลงสีรองพื้นไม่จำเป็นต้องขัดกระดาษทรายก็ได้ ถึงแม้ว่า หน้าไม้ของเฟอร์นิเจอร์จะมีตำหนิอยู่บ้างก็ตาม
แต่สาเหตุที่แนะนำให้ขัดเฟอร์นิเจอร์ด้วยกระดาษทรายก่อน เนื่องจากการขัดกระดาษทรายไม่เพียงแต่จะช่วยกำจัดตำหนิเล็ก ๆ น้อยเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปิดหลุมบนหน้าไม้ ทำให้สีสเปรย์รองพื้นป้องกันคราบสกปรกติดแน่นทนนานยิ่งขึ้นด้วย ทั้งนี้คุณไม่จำเป็นต้องขัดตำหนิออกทั้งหมด แค่ขัดเฟอร์นิเจอร์ด้วยกระดาษทรายให้ทั่วประมาณ 5-6 นาที แล้วเช็ดเศษไม้ฝุ่นผงออกให้หมดเท่านั้น 
3. ประกอบเศษไม้ที่แตกหักออกมา ให้กลับเข้าไปที่เดิมด้วยกาว

4. สำหรับเฟอร์นิเจอร์ที่มีรอยแตกร้าว หรือรูอยู่บนหน้าไม้ สามารถแก้ปัญหาได้ด้วย Wood Filler หรือวัสดุสำหรับอุดรอยตำหนิบนไม้ อาทิ รอยตะปู รอบสกรู รอยแตก และรูต่าง ๆ
นอกจากนี้หากต้องการติดตั้งมือจับลิ้นชักอันใหม่ แต่รูใส่สกรูของมือจับลิ้นชักอันเดิมมีขนาดใหญ่เกินไป ก็สามารถนำ Wood Filler อุดลงไป เพื่อลดขนาดของรูให้มีขนาดเล็กลง ก่อนจะติดตั้งมือจับลิ้นชักอันใหม่เข้าไปก็ได้ 
5. เมื่อจัดการกับตำหนิบนตู้ลิ้นชักเสร็จแล้ว ปกปิดหน้าไม้ให้เรียบลื่นด้วยสีสเปรย์รองพื้นป้องกันคราบสกปรก ทั้งนี้ถ้าอยากให้งานเสร็จเร็วยิ่งขึ้น ควรเลือกสีสเปรย์ชนิดแห้งเร็ว เพราะส่วนมากจะใช้เวลาเพียง 10 นาทีเท่านั้น อีกทั้งการใช้แบบสีสเปรย์จะทำให้ได้เนื้อสีที่เรียบเนียนกว่าการทาด้วยแปรงทาสี

6. หลังจากสเปรย์แห้งแล้ว ขัดเนื้อสีสเปรย์บริเวณที่เป็นหยดน้ำหรือจุดที่ไม่เรียบเนียนออกไป จากนั้นก็ทำการเพ้นท์สีได้เลย หากคุณไม่ชอบสีเดิมอาจจะผสมด้วยสีขาว ในกรณีที่ต้องการเพิ่มระดับความสว่างของสี ในทางตรงกันข้ามอาจจะใช้ 3 โทนสี เพื่อให้ได้โทนสีที่เข้มขึ้น อย่างเช่น กรมท่า เทา หรือดำ เมื่อลงมือเพ้นท์สีเสร็จก็ปล่อยทิ้งเอาไว้ จนกว่าสีจะแห้งสนิท ซึ่งขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 6-8 ชั่วโมง
สำหรับส่วนที่ไม่สามารถจะทาด้วยแปรงทาสีหรือโรลทาสีได้ ให้ตกแต่งส่วนที่เหลือด้วยพู่กันหัวตัด เหตุผลที่เลือกพู่กันหัวตัด เนื่องจากมีราคาถูกกว่าแปรงทาสีและมีขนาดเล็กกว่าเข้าถึงได้ทุกซอกทุกมุม อีกทั้งยังสามารถเก็บไว้ใช้งานได้หลายปีด้วย 
7. สำหรับคนที่ต้องการนำไปตกแต่งห้องนอนเด็ก อาจจะตกแต่งด้วยสีสันสดใส อย่างเช่น สีฟ้า สีชมพู และไม่จำเป็นต้องใช้สีรองพื้นชนิดป้องกันสนิมเสมอไป ยกเว้นในกรณีที่คุณต้องการจะเพ้นท์สีโต๊ะอาหาร หรือมีการใช้งานเยอะเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาล่วงหน้า

8. หลังจากเสร็จสิ้นขั้นตอนดังกล่าวแล้ว ควรเคลือบสีของตู้ลิ้นชักอีกครั้งด้วย แว็กซ์เคลือบสีเฟอร์นิเจอร์

9. ปกติกว่าสีน้ำจะแห้งสนิทจะใช้เวลาประมาณ 5-6 วัน จากนั้นคุณจึงจะสามารถติดตั้งมือจับอันเก่ากลับเข้าไปที่ตำแหน่งเดิมได้ ก็เป็นอันเสร็จสิ้นแล้วจ้า
แม้ขั้นตอนอาจจะดูยุ่งยาก ค่อนข้างพิถีพิถัน แต่ทั้งนี้เพื่อให้ชิ้นงานเนื้อผิวเรียบเนียนสนิท อยู่กับบ้านของคุณไปได้นาน ๆ ไม่ควรทำด้วยความรีบร้อน และหากเป็นไปได้ควรเลือกใช้วัสดุที่มีคุณภาพ งานก็จะออกมาสวยงาม ได้อย่างใจ แบบที่คนอื่นเห็นแล้วต้องตะลึงในฝีมือที่เทียบได้กับช่างมืออาชีพเลยล่ะ ลองลงมือทำกันดูนะคะ