เช็กลิสต์มาตรการป้องกันบ้านก่อนน้ำท่วม

เช็กลิสต์มาตรการป้องกันบ้านก่อนน้ำท่วม

          มาตรการป้องกันบ้านก่อนน้ำท่วม เตรียมพร้อมรับมือเหตุการณ์น้ำท่วมบ้าน ในช่วงหน้าฝนที่มักจะเกิดน้ำนองท่วมบ่อย ๆ จุดไหนบ้างที่ควรต้องป้องกันบ้านก่อนน้ำท่วม ลองมาเช็กลิสต์กันค่ะ

          แม้หลายพื้นที่จะไม่มีฝนตกหนักต่อเนื่อง แต่ด้วยปัญหาท่อน้ำที่อุดตันบ้าง น้ำระบายลงท่อไม่ทันใจฟ้าฝนบ้าง สุดท้ายก็เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมบ้านเราได้ง่าย ๆ แต่ปัญหายังไม่จบแค่การใช้ชีวิตอย่างลำบากมากขึ้นเท่านั้นน่ะสิคะ เพราะหลังน้ำลดตอก็ผุดให้เห็นว่าบ้านมีหลายจุดที่ต้องเหนื่อยกันอีกเยอะ เอ้า ! ถ้าอย่างนั้นมาเช็กลิสต์วิธีรับมือน้ำท่วมไปทีละข้อเลยดีกว่า ว่าเราจะสามารถป้องกันน้ำท่วมบ้านได้อย่างไรบ้าง

1. ยกของขึ้นที่สูง


          การป้องกันน้ำท่วมเข้าบ้านนั้นอันดับแรกที่ต้องรีบทำทันทีที่วี่แววน้ำท่วมคืบคลานเข้ามา คือ การยกข้าวของขึ้นที่สูง โดยเฉพาะบรรดาเครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ที่ไม่ถูกกับน้ำ หากเป็นบ้านสองชั้นให้ทยอยขนขึ้นไปไว้ชั้นสองโดยด่วน ส่วนข้าวของอื่น ๆ ที่ถูกน้ำได้อาจต้องใช้เชือกผูกเอาไว้เพื่อป้องกันกระแสน้ำพัดให้ลอยหายไป

2. ป้องกันน้ำเข้าบ้าน


          ในกรณีที่น้ำท่วมขั้นรุนแรง ทวีความสูงจนอาจไหลทะลักเข้าบ้านได้ทุกเมื่อ เราควรหาทางป้องกันไม่ให้น้ำไหลเข้าพื้นที่บ้านอย่างสุดความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นกระสอบทราย หรืออุปกรณ์กันน้ำชนิดไหนก็ขนออกมาตั้งเป็นด่านกันน้ำไว้ก่อน

3. เช็กเรื่องฟืนไฟ


          น้ำกับไฟเป็นสิ่งที่อยู่ด้วยกันไม่ได้อยู่แล้ว ดังนั้นทางที่ดีสับคัตเอาต์ของบ้านลงก่อน จากนั้นก็ไล่เช็กไปตามจุดที่มีปลั๊กไฟ ถ้าเห็นว่ามีปลั๊กเสียบคาอยู่ให้ถอดออกทันที เพื่อป้องกันไฟช็อตหรือไฟฟ้าลัดวงจร

4. เคลียร์ความสกปรก


          หลังจากที่ยกของขึ้นที่สูงเสร็จแล้วให้เริ่มทำความสะอาดพื้นที่ให้หมดจด เวลาน้ำท่วมบ้านขึ้นมาอย่างน้อยฝุ่นไรและขยะต่าง ๆ ก็จะไม่ลอยเกลื่อนทั่วผืนน้ำ เปรอะเปื้อนตัวบ้านได้ง่ายขึ้นไปอีก ซึ่งในส่วนนี้คุณจะออกแรงทำความสะอาดชุดใหญ่กันเอง หรือจะจ้างบริษัททำความสะอาดโดยเฉพาะมาจัดการให้ก็แล้วแต่สะดวก

5. สูบน้ำออกจากบ้าน


          สำหรับพื้นที่ที่น้ำท่วมอย่างต้านทานไม่ไหวจริง ๆ ควรมีเครื่องสูบน้ำติดบ้านไว้ใช้สักเครื่อง เพื่อสูบน้ำออกจากพื้นที่บรรเทาความเดือดร้อนเสียหายไปได้บ้าง แต่ถ้าเตรียมเครื่องสูบน้ำไม่ทัน ลองติดต่อบริการสูบน้ำออกจากบ้านก็ได้นะคะ ยอมลงทุนสักนิดถือว่าซื้อความสะดวกสบายและความปลอดภัยต่อชีวิตเนอะ

น้ำท่วมบ้าน

6. จัดการขยะ


          หลังน้ำลดเราจะเห็นได้ว่ามีขยะอยู่เกลื่อนบ้านไปหมด ของใช้บางอย่างที่เคยใช้ได้ดีก็อาจกลายเป็นขยะได้ในพริบตาเช่นกัน ครั้นจะเก็บเอาไว้ให้รกบ้านต่อไปก็คงไม่มีประโยชน์ ดังนั้นตัดใจเคลียร์ขยะเหลือใช้เหล่านี้ทิ้งไปซะดีกว่า

7. ซ่อมแซม


          พอน้ำลดตอก็ผุดให้เห็นว่าบ้านมีความเสียหายที่ต้องซ่อมแซมอยู่หลายจุด ทั้งผนังบ้าน ประตูบ้าน พื้นบ้าน หน้าต่าง (ในกรณีที่น้ำท่วมสูง) ยิ่งหากที่บ้านมีวัสดุไม้ค่อนข้างเยอะ ก็อาจจะเรียกได้ว่าพังไปเกือบทั้งหลัง งานนี้ไม่เดาก็น่าจะรู้เนอะว่าต้องซ่อมบ้านกันบานเลยทีเดียว

8. บันทึกความจำไว้เป็นบทเรียน


          หากคุณทำประกันให้โรงงานหรือบ้านไว้ หลักฐานความเสียหายจากน้ำท่วมจะช่วยให้คุณได้รับค่าเสียหายคืนมา แต่ใครที่ต้องเล่นเองเจ็บเอง ไม่มีประกันให้เคลม การบันทึกเหตุการณ์น้ำท่วมเอาไว้เป็นบทเรียนก็จะช่วยให้คุณได้รู้จุดที่ต้องปรับปรุงแก้ไขหากเกิดน้ำท่วมครั้งต่อไป และจะได้นำไปป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายซ้ำรอยเดิม

9. เตรียมเสบียง


          ความรอบคอบจะช่วยให้เราเอาตัวรอดได้ในทุกสถานการณ์ และในเมื่อตกอยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขังแบบนี้ ก็ควรต้องเตรียมเสบียงติดบ้านเอาไว้บ้าง เผื่อน้ำท่วมหนักจนออกไปไหนไม่สะดวกจะได้มีน้ำและอาหารประทังชีวิตไปพลาง ๆ นะจ๊ะ

10. หนีออกจากพื้นที่


          ถ้าเห็นท่าไม่ดี ระดับน้ำไม่ลดแถมยังเพิ่มขึ้นตลอดเวลาอย่างนี้ต้องเผ่นกันแล้วล่ะค่ะ แต่ก่อนเครื่อนย้ายออกจากบ้านลองสำรวจข้าวของมีค่าให้ถี่ถ้วนอีกที ชิ้นไหนสามารถนำติดตัวไปได้อย่างไม่ลำบากมากนักก็เก็บใส่กระเป๋าไปด้วย ส่วนของชิ้นอื่น ๆ ก็คงต้องปล่อยวางแล้วเอาตัวรอดไว้ก่อน

          ระยะนี้ฝนตกหนักบ่อย ๆ สุ่มเสี่ยงจะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมซ้ำรอยอีกครั้ง ฉะนั้นเรามาเตรียมตัว เตรียมบ้านให้พร้อมรับมือกับน้ำท่วมกันดีกว่านะคะ



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เช็กลิสต์มาตรการป้องกันบ้านก่อนน้ำท่วม อัปเดตล่าสุด 1 ตุลาคม 2567 เวลา 14:35:31 1,363 อ่าน
TOP
x close