9 วิธีลดโลกร้อน ทำง่าย ๆ เริ่มต้นได้จากในบ้านเรา

รวมวิธีลดโลกร้อน ที่ทุกคนสามารถช่วยกันทำได้ เริ่มจากเรื่องง่าย ๆ ภายในบ้าน แค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อเซฟโลกให้น่าอยู่จนถึงรุ่นลูกหลาน  

ภาวะโลกร้อน วิธีแก้

เรียกได้ว่าอากาศร้อนขึ้นแทบทุกปี และมีแนวโน้มว่าจะร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งสร้างความเดือดร้อนไม่น้อยเลย ทั้งผลกระทบด้านสุขภาพและภัยพิบัติต่าง ๆ ดังนั้น มาช่วยกันลดโลกร้อนเริ่มจากเรื่องง่าย ๆ ที่ทุกคนสามารถช่วยทำได้

ภาวะโลกร้อน หมายถึงอะไร

ภาวะโลกร้อน หมายถึง

ภาวะโลกร้อน (Global warming) หมายถึง การที่อุณหภูมิเฉลี่ยในโลกสูงขึ้น เพราะความร้อนจากดวงอาทิตย์ถูกดูดซับไว้มากขึ้น แต่ปล่อยออกไปได้น้อยลง โดยมีสาเหตุหลักจากการกระทำของมนุษยที่ทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้เชื้อเพลิง ก๊าซมีเทนจากการย่อยสลายของขยะอินทรีย์ ฯลฯ จนทำให้สภาพอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลงและแปรปรวนไปจากปกติ ได้แก่ ปรากฏการณ์เอลนีโญที่ส่งผลให้อุณหภูมิสูงกว่าปกติและมีฝนน้อยกว่าปกติ ในทางกลับกันหากเป็นลานีญาก็จะทำให้มีฝนมากกว่าปกติและอุณหภูมิต่ำกว่าปกตินั่นเอง 

วิธีลดโลกร้อน

1. คัดแยกขยะก่อนทิ้ง

คัดแยกขยะ

ขยะมี 4 ประเภทด้วยกัน คือ

  • ขยะอินทรีย์

ขยะอินทรีย์ เป็นขยะที่สามารถย่อยสลายหรือเน่าเสียได้ในระยะเวลาที่รวดเร็ว เช่น เศษอาหาร เศษผัก-ผลไม้ หญ้า ใบไม้ รวมไปถึงภาชนะที่ย่อยสลายเองได้ โดยเราสามารถนำขยะประเภทนี้ไปทำเป็นน้ำหมักจุลินทรีย์ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ และใช้บำรุงดินหรือบำรุงต้นไม้ได้ต่อไป

  • ขยะทั่วไป

ขยะทั่วไป คือ ขยะทั้งหมดที่อยู่นอกเหนือจากขยะย่อยสลาย ขยะรีไซเคิล และขยะอันตราย เช่น โฟม ฟอยล์ ถุงพลาสติก ซองอาหาร กระป๋องสี และแผ่นซีดี ซึ่งจำเป็นต้องแยกก่อนทิ้ง เพื่อจะได้นำไปกำจัดอย่างถูกต้อง

  • ขยะรีไซเคิล

ขยะรีไซเคิล คือ ขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง เช่น แก้ว กระดาษ พลาสติก กระป๋อง กล่อง ลัง โลหะ ทั้งนี้ ก่อนนำไปทิ้งควรทำความสะอาดให้เรียบร้อย ก็จะทำให้สามารถนำกลับเข้าระบบไปทำการรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น

  • ขยะอันตราย

ขยะอันตราย คือ ขยะที่มีวัตถุอันตรายปนเปื้อนหรือประกอบอยู่ เช่น หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่โทรศัพท์ กระป๋องสเปรย์ และภาชนะบรรจุสารเคมีอันตราย ซึ่งสังเกตได้จากสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายเตือนที่มักจะติดอยู่บนฉลาก เช่น สารมีพิษ สารไวไฟ สารกัดกร่อน ฯลฯ โดยให้แยกขยะอันตรายออกจากขยะประเภทอื่น แล้วแยกชนิดของขยะอันตรายอีกทีด้วย อย่าเก็บปนกันเด็ดขาด นอกจากนี้ควรใส่ไว้ในภาชนะที่แข็งแรง มิดชิด และไม่รั่วไหล

2. ซื้อของเท่าที่จำเป็น

ซื้อของเท่าที่จำเป็น

รู้หรือไม่ว่าสินค้าแฟชั่นปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 8-10% ของทั่วโลก ดังนั้น ควรนำสินค้าแฟชั่นมาใช้ซ้ำ หรือซ่อมแซม ลดการซื้อสินค้าแฟชั่นที่ไม่จำเป็น แต่ถ้าต้องซื้อจริง ๆ ควรเลือกซื้อแบรนด์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงของใช้ในชีวิตประจำวันต่าง ๆ ก่อนจะช้อปปิ้งก็ลองเขียนเช็กลิสต์ออกมาก่อน แล้วเช็กดูอีกครั้งว่าอันไหนเป็นของจำเป็นต้องซื้อ หรือแค่อยากได้ ส่วนของเหลือใช้ก็นำไปส่งต่อหรือบริจาคให้กับคนที่ต้องการแทนการนำไปทิ้ง

3. ช่วยกันลดขยะอาหาร

ลดขยะอาหาร

ขยะอาหารหรืออาหารเหลือทิ้งเป็นขยะก่อให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อนกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า เราสามารถลดขยะอาหารได้โดยซื้อเท่าที่พอกิน กินก่อนหมดอายุ หลีกเลี่ยงบรรจุภัณฑ์พลาสติกเนื่องจากใช้พลังงานมากในการผลิตและรีไซเคิล และแยกขยะ นำเศษอาหารไปทำเป็นปุ๋ย เนื่องจากอาหารที่เน่าเปื่อยจะช่วยดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดี

4. หันมาใช้หลอดไฟ LED

ใช้หลอดไฟ LED

หลอดไฟ LED การผลิตก่อก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าหลอดไฟชนิดอื่น ให้ความสว่างมากแต่กินไฟน้อย ถนอมสายตา และมีอายุการใช้งานนานกว่า 10 เท่า ไม่มีรังสี UV ปล่อยความร้อนต่ำ แถมช่วยลดโลกร้อนได้ด้วย

5. ถอดปลั๊กหลังใช้ทุกครั้ง

ถอดปลั๊กหลังใช้งาน

ควรถอดปลั๊กไฟในบ้านออกถ้าไม่ได้ใช้ เช่น โทรทัศน์ เครื่องเสียง คอมพิวเตอร์ หรือใช้ปลั๊กเสียบพ่วงอุปกรณ์ตัดไฟอัตโนมัติ เพื่อลดการใช้พลังงานและลดคาร์บอนไดออกไซด์

6. ปลูกต้นไม้ให้ร่มเงา

ปลูกต้นไม้ให้ร่มเงา

ต้นไม้สามารถลดโลกร้อนได้ โดยต้นไม้ 1 ต้น สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้โลกร้อนได้ถึง 47% และยังช่วยดักจับฝุ่นและมลพิษในอากาศ แถมยังคืนออกซิเจนสู่บรรยากาศ และช่วยลดอุณหภูมิในบ้านได้ 2-4 องศาเซลเซียส เช่น

  • ต้นโกงกาง สามารถช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ 2.75 ตันคาร์บอน/ไร่/ปี  
  • ต้นกระถินณรงค์ สามารถช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ 3.48 ตันคาร์บอน/ไร่/ปี  
  • ต้นสัก สามารถช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ 1.72 ตันคาร์บอน/ไร่/ปี  
  • พรรณไม้ปลูกในเมือง สามารถช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ 1.21 ตันคาร์บอน/ไร่/ปี

7. ลดการใช้ถุงพลาสติก

ลดการใช้ถุงพลาสติก

เพราะถุงพลาสติกนั้นสร้างมลพิษตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงทำลาย ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทำลายชั้นโอโซน ฉะนั้นถ้ามีการใช้ถุงพลาสติกมาก ปริมาณก๊าซเรือนกระจกก็ยิ่งมากขึ้น

ทั้งนี้ เราสามารถลดการใช้ถุงพลาสติกแล้วเปลี่ยนมาใช้ถุงผ้าแทนได้ เพราะนำกลับมาใช้ซ้ำได้หลายครั้ง สามารถรับน้ำหนักได้ดีกว่าถุงพลาสติก อีกทั้งยังสามารถดีไซน์เป็นแฟชั่นสวยงาม ช่วยลดสารปนเปื้อนในอาหาร อีกทั้งถ้าเป็นถุงผ้าที่ผลิตจากใยธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้าย สามารถย่อยสลายได้ ไม่ตกค้างเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

8. ใช้สินค้าที่มีสัญลักษณ์รักษ์โลก

ใช้สินค้าที่มีสัญลักษณ์รักษ์โลก

สัญลักษณ์รักษ์โลกบนผลิตภัณฑ์จะบ่งบอกถึงความสามารถในการช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น นำไปรีไซเคิลได้ นำไปใช้ซ้ำได้ ช่วยประหยัดพลังงาน เป็นต้น และยังช่วยให้เรากำจัดขยะอย่างถูกวิธี ลดปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม สัญลักษณ์รักษ์โลกมีหลายแบบ เช่น

ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 : เป็นฉลากที่ถูกออกโดยกระทรวงพลังงาน จะพบได้บนเครื่องใช้ไฟฟ้า ให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการช่วยประหยัดไฟ ยิ่งมีดาวเยอะก็ยิ่งประหยัดไฟมากขึ้น

FSC : ย่อมาจาก Forest Stewardship Council เป็นองค์กรพิทักษ์ป่าที่ส่งเสริมการปลูกต้นไม้ทดแทนในป่าหมุนเวียน สัญลักษณ์ระดับสากล ช่วยแสดงให้เห็นว่าสินค้าเหล่านั้นมีส่วนร่วมในการช่วยปลูกต้นไม้ทดแทนไม้ที่ถูกนำมาใช้ในการผลิตและแปรรูปสินค้า

ฉลากเขียว : แสดงให้เห็นว่าสินค้าชิ้นนั้นได้ผ่านกระบวนการผลิต การใช้ และการกำจัดที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าสินค้าประเภทเดียวกันที่ไม่ผ่านการรับรอง เช่น สุขภัณฑ์ฉลากเขียวจะประหยัดน้ำกว่าสุขภัณฑ์ทั่วไป

ฉลาก Carbon Reduction : หรือฉลากลดคาร์บอน จะติดอยู่บนสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนในระดับต่ำกว่าระดับทั่วไปอย่างน้อยร้อยละ 10

ฉลาก Green Industry : หรือ ฉลากอุตสาหกรรมสีเขียว จะติดอยู่บนสินค้าประเภทไม้ฝา ไม้อัด ฉนวนกันความร้อน และอุปกรณ์ต่อเติมตกแต่งต่าง ๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่าสินค้าเหล่านั้นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

9. เปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด

โซลาร์เซลล์

เช่น การหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาเพื่อผลิตไฟฟ้าให้บ้าน นอกจากจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยลดค่าไฟ และไม่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อนอีกด้วย

เป็นอย่างไรบ้างคะกับวิธีลดโลกร้อนที่เรานำเสนอ เริ่มจากตัวเราก่อน แล้วชักชวนเพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน และคนอื่น ๆ เชื่อว่าถ้าทุกบ้านรวมพลังกันจะช่วยแก้วิกฤตโลกร้อนได้แน่นอน

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ วิธีลดโลกร้อน :

ขอบคุณข้อมูลจาก : nrdc.org, scimath.org, pttgrouprayong.com, onetreeplanted.org และ egat.co.th

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
9 วิธีลดโลกร้อน ทำง่าย ๆ เริ่มต้นได้จากในบ้านเรา อัปเดตล่าสุด 1 กรกฎาคม 2567 เวลา 16:43:18 22,459 อ่าน
TOP
x close