รวมสัญลักษณ์ขยะรีไซเคิล แยกขยะช่วยเซฟโลก ลดมลพิษสิ่งแวดล้อม

มารู้จักสัญลักษณ์ขยะ ไว้แยกประเภทขยะที่บ้านง่าย ๆ แบบไหนเป็นขยะรีไซเคิล ที่สามารถนำกลับมาใช้ได้บ้าง ไปดูกันเลย

ขยะรีไซเคิล

           อะไรที่เป็นของเหลือใช้ ใช่ว่าจะหมดประโยชน์ซะทีเดียว เพราะของหลาย ๆ ชิ้นยังสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ วันนี้กระปุกดอทคอมเลยจะชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับขยะประเภทต่าง ๆ ไว้แยกก่อนทิ้ง พร้อมวิธีสังเกตสัญลักษณ์ขยะจะได้รู้ว่าชิ้นไหนเป็นขยะรีไซเคิลบ้าง

ประเภทขยะ

ขยะรีไซเคิล

ขยะในบ้านสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ตามลักษณะของขยะที่คัดแยกลงถัง ดังนี้

1. ขยะอินทรีย์ หรือขยะเปียก (ถังสีเขียว) : ขยะที่เน่าเสียง่ายและย่อยสลายได้เร็ว มีความชื้นสูงและมักมีกลิ่นเหม็น เช่น เศษอาหาร เศษผัก เปลือกผลไม้ เนื้อสัตว์ เศษใบไม้ นอกจากนำไปทิ้งแล้วยังสามารถนำมาทำเป็นปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยธรรมชาติก็ได้

2. ขยะทั่วไป (ถังสีน้ำเงิน) : ขยะที่ย่อยสลายยากและไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ หรือไม่คุ้มค่ากับการรีไซเคิล เช่น ซองขนม ถุงพลาสติก กล่องโฟม ฟอยล์ที่เปื้อนอาหาร สามารถนำมาแยกใส่ถังขยะเพื่อให้รถขยะมาเก็บต่อไป

3. ขยะรีไซเคิล (ถังสีเหลือง) : ขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้อีกครั้ง หรือแปรรูปใหม่ได้ เช่น ขวดพลาสติก ถุงพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋อง กล่องกระดาษ กระดาษ โดยวัสดุบางชนิดเมื่อใช้เสร็จแล้วอาจล้างหรือเช็ดให้สะอาดแล้วนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือแยกใส่ลงในถังขยะรีไซเคิลเพื่อนำไปทิ้ง หรือนำไปบริจาคเพื่อผลิตขาเทียม หลังคารีไซเคิล รองเท้ารีไซเคิล กางเกงรีไซเคิล ขวดน้ำรีไซเคิล

4. ขยะอันตราย (ถังสีแดง) : ขยะที่ปนเปื้อนสารเคมีหรือสารอันตราย ซึ่งมีอันตรายกับคนและสิ่งแวดล้อม เช่น กระป๋องสเปรย์ หลอดไฟฟลูออเรสเซนส์ ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ มือถือเก่า ขวดยา กระป๋องยาฆ่าแมลง โดยสามารถแยกขยะใส่ถุงและนำไปทิ้งในถังขยะอันตรายเท่านั้น

ประโยชน์ของการแยกขยะ

ประโยชน์ขยะรีไซเคิล

  • ช่วยลดมลพิษสิ่งแวดล้อม : โดยการแยกขยะที่รีไซเคิลได้และส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากช่วยทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานได้ง่ายขึ้นแล้วยังช่วยลดปริมาณขยะที่จะนำไปฝังดิน ช่วยให้พื้นดินและน้ำลดการได้รับสารพิษจากการย่อยสลายพลาสติกอีกด้วย 
  • ช่วยลดปริมาณขยะ : ถ้าเรานำขยะรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่จะช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัดได้มากขึ้น และช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าเราอีก
  • ช่วยประหยัดงบประมาณในการกำจัดขยะ : การแยกขยะรีไซเคิลออกมาและนำไปบริจาคเพื่อช่วยเหลือสังคม นอกจากได้บุญแล้วยังช่วยลดงบประมาณของหน่วยงานในการกำจัดขยะด้วย
  • ช่วยเพิ่มพื้นที่ในการฝังกลบขยะ : พลาสติกบางประเภทสามารถนำมารีไซเคิลได้ แต่ก็มีอีกหลายประเภทที่รีไซเคิลไม่ได้ ดังนั้นถ้าหากเรานำพลาสติกที่รีไซเคิลได้กลับมาใช้จะทำให้มีพื้นที่สำหรับฝังกลบขยะอื่น ๆ และทำให้หลุมขยะเต็มช้าลง

สัญลักษณ์ขยะรีไซเคิล

สัญลักษณ์พลาสติกรีไซเคิล

พลาสติกที่สามารถนำกลับไปรีไซเคิลสามารถแบ่งได้เป็น 7 ประเภท ตามลักษณะและคุณสมบัติของการใช้งาน ซึ่งสัญลักษณ์การแยกประเภทของพลาสติกมีดังนี้

  • เบอร์ 1 หมายถึง พลาสติกประเภทพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (PETE หรือ PET) สามารถนำมารีไซเคิลขวดน้ำพลาสติกชนิดอ่อน ประเภทใช้ได้ครั้งเดียว หรือขวดเครื่องดื่มซอฟต์ดริงก์ทั้งหลาย
สัญลักษณ์พลาสติก PETE

  • เบอร์ 2 หมายถึง พอลิเอทิลินชนิดความหนาแน่นสูง (HDPE) ส่วนมากจะนำไปรีไซเคิลเป็นถุงพลาสติกทั่วไปและถ้วยโยเกิร์ต
สัญลักษณ์พลาสติก HDPE

  • เบอร์ 3 หมายถึง พลาสติกประเภทพอลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) สามารถนำกลับมารีไซเคิลเป็นบรรจุภัณฑ์สินค้าอาหาร ของเล่นพลาสติก พลาสติกห่อหุ้มอาหาร และท่อพลาสติก
สัญลักษณ์พลาสติก PVC

  • เบอร์ 4 หมายถึง พลาสติกประเภทพอลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDPE) นิยมนำกลับมารีไซเคิลเป็นถุงพลาสติกชนิดบาง ไม่ทนความร้อน หรือถุงดำ กล่องบรรจุภัณฑ์ เช่น กล่องสบู่ ถังขยะ เป็นต้น
สัญลักษณ์พลาสติก LDPE

  • เบอร์ 5 หมายถึง พลาสติกประเภทพอลิโพรพิลีน (PP) นำกลับมารีไซเคิลเป็นถุงร้อนใส่อาหาร หรือกล่องบรรจุอาหารสำหรับอุ่นในไมโครเวฟ และแก้วพลาสติก
สัญลักษณ์พลาสติก PP

  • เบอร์ 6 หมายถึง พลาสติกประเภทพอลิสไตรีน (PS) สามารถนำมาหลอมเป็นโฟม กล่อง ถ้วย และจาน นอกจากนี้ยังรีไซเคิลเป็นแผงไข่ไก่ได้อีกด้วย
สัญลักษณ์พลาสติก PS

  • เบอร์ 7 หมายถึง พลาสติกชนิดอื่น ๆ (Other) ที่อาจจะนำพลาสติกหลายชนิดมาผสมกัน แต่ไม่ใช่พลาสติก 6 ชนิดก่อนหน้านี้ อาจจะเป็นพลาสติกประเภทที่มีส่วนผสมของสาร BPA พอลิคาร์บอเนต หรือพลาสติกชีวฐาน (Bio-based plastics) มักจะนำกลับมารีไซเคิลเป็นขวดน้ำ กล่องและถุงบรรจุอาหาร กระสอบปุ๋ย และถุงขยะ เป็นต้น
สัญลักษณ์พลาสติก Other

สัญลักษณ์รีไซเคิลกระดาษ

กระดาษส่วนมากรวมทั้งกระดาษแข็ง สามารถนำกลับมารีไซเคิลและรียูสได้ ยกเว้นกระดาษบางชนิด เช่น กระดาษทิชชู หรือกระดาษเช็ดปาก เป็นต้น ซึ่งหากอยากจะรู้ว่ากระดาษที่อยู่ในมือของเราสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้หรือไม่ ต้องดูตามสัญลักษณ์ต่อไปนี้

  • กระดาษลูกฟูกหรือกระดาษแข็งที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลใหม่ได้
สัญลักษณ์กระดาษลูกฟูกหรือกระดาษแข็ง

  • กระดาษอื่น ๆ นอกเหนือจากกระดาษข้างต้น เช่น กล่องขนมหรือกล่องซีเรียลต่าง ๆ ส่วนมากจะนำมารีไซเคิลเป็นกระดาษสำหรับแมกกาซีน หนังสือพิมพ์ หรือซองจดหมาย เป็นต้น
สัญลักษณ์กระดาษอื่น ๆ

  • สัญลักษณ์รีไซเคิลจำพวกแผ่นกระดาษเปล่า ที่สามารถนำวัสดุกลับมารีไซเคิลเป็นกระดาษจดหมาย หรือกระดาษเอกสารต่าง ๆ ได้
สัญลักษณ์แผ่นกระดาษเปล่า

สัญลักษณ์รีไซเคิลแก้ว

วัสดุประเภทแก้วสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้หลายชนิด แต่ก็มีแก้วบางกลุ่มที่ต้องตรวจสอบอีกครั้งว่าสามารถนำกลับมาได้หรือไม่ โดยสัญลักษณ์ของการรีไซเคิลแก้วก็จะแบ่งแยกตามนี้

  • แก้วผสม ที่เกิดจากวัสดุต่าง ๆ
สัญลักษณ์แก้วผสม

  • แก้วใส ไม่มีสี
สัญลักษณ์แก้วใส ไม่มีสี

  • แก้วสีเขียว
สัญลักษณ์แก้วสีเขียว

  • สัญลักษณ์รีไซเคิลแก้ว เช่น ขวดเบียร์ ขวดไวน์ ขวดน้ำอัดลม ขวดแยม ขวดอาหารเด็ก ขวดน้ำหอม ขวดโลชั่น ไม่รวมถึงเซรามิก บีกเกอร์ จาน-ถ้วยไมโครเวฟ หลอดไฟ โคมไฟ
สัญลักษณ์รีไซเคิลแก้ว

สัญลักษณ์รีไซเคิลโลหะ

กระป๋องน้ำอัดลมก็ถือว่าเป็นโลหะชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถรีไซเคิลได้แน่ ๆ แต่โลหะชนิดอื่น ๆ ก็ต้องดูตามสัญลักษณ์ต่อไปนี้ค่ะ

  • เหล็ก
สัญลักษณ์รีไซเคิลเหล็ก

  • อะลูมิเนียม
สัญลักษณ์รีไซเคิลอะลูมิเนียม

สัญลักษณ์รีไซเคิลอะลูมิเนียม

สัญลักษณ์สามเหลี่ยมรีไซเคิล

สัญลักษณ์สามเหลี่ยมรีไซเคิล หรือสัญลักษณ์ The Mobius Loop แสดงถึงวัสดุชิ้นนั้นมีส่วนประกอบจากวัสดุรีไซเคิล ซึ่งอาจมีเลขเปอร์เซ็นต์ตรงกลางกำกับอยู่ว่ามีส่วนที่มาจากการรีไซเคิลเท่าไร

สัญลักษณ์สามเหลี่ยมรีไซเคิล

สัญลักษณ์ The Green Dot

สัญลักษณ์รูปลูกศรม้วนเป็นทรงกลม ใช้กับวัสดุแถบยุโรปบางประเทศ แสดงถึงผู้ผลิตได้บริจาคเงินให้กับองค์กรกลางเพื่อการฟื้นฟูและสนับสนุนการรีไซเคิลหลังการใช้งาน

สัญลักษณ์ The Green Dot

สัญลักษณ์ขยะอันตราย

แม้การรีไซเคิลหรือรียูสสิ่งของจะเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรโลกได้ทางหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าวัสดุทุกประเภทบนโลกใบนี้สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกครั้ง อย่างวัสดุอันตรายที่มีสัญลักษณ์ต่อไปนี้ก็เช่นกันที่ไม่ควรนำกลับมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลเด็ดขาด

  • วัตถุกัมมันตรังสี (Radioactive)
สัญลักษณ์วัตถุกัมมันตรังสี (Radioactive)

  • วัตถุติดเชื้อ (Biohazard)
สัญลักษณ์วัตถุติดเชื้อ (Biohazard)

  • วัถตุไวไฟ (Flammable)
สัญลักษณ์วัถตุไวไฟ (Flammable)

  • วัตถุมีพิษ (Toxic/Poisonous)
สัญลักษณ์วัตถุมีพิษ (Toxic/poisonous)

สัญลักษณ์ขยะรีไซเคิลแต่ละแบบบนบรรจุภัณฑ์หรือวัสดุก็มีความหมายต่างกันไป ดังนั้นต่อไปถ้าเราสังเกตเห็นก็จะสามารถแยกประเภทได้เพื่อช่วยให้โลกยั่งยืนได้อีกนาน

ขอบคุณข้อมูลจาก : pttexpresso.com, recyclenow.com, treehugger.com และ goodhousekeeping.com
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รวมสัญลักษณ์ขยะรีไซเคิล แยกขยะช่วยเซฟโลก ลดมลพิษสิ่งแวดล้อม อัปเดตล่าสุด 8 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 16:26:25 45,607 อ่าน
TOP
x close