หากคิดจะจัดสวน ไม่ว่าจะจัดสวนเองหรือจ้างทำ ก็ควรรู้หลักการออกแบบสวน เอาไว้จะได้วางแผนให้ครอบคลุมกับการใช้งานของทุกคนในบ้านและสวนสวยตรงตามต้องการ ว่าแล้วก็ไปดูทริคการออกแบบจัดสวนกันเลย
การออกแบบสวน อาจฟังดูเป็นเรื่องที่ช่างเท่านั้นจะทำได้ แต่จริง ๆ แล้วหากคิดจะจัดสวนเองก็ไม่ใช่เรื่องยากมากนัก สำหรับคนที่จะจ้างทำหากรู้หลักการออกแบบสวน ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะจะได้ปรับเปลี่ยนสิ่งที่ช่างออกแบบมาให้ตรงกับการใช้งานและดูสวยงามอย่างที่คิดเอาไว้มากขึ้น ไม่ว่าจะออกแบบสวนหน้าบ้าน สวนหย่อม สวนข้างบ้าน หรือสวนหลังบ้าน ก็สามารถนำทริค การออกแบบสวน เหล่านี้ไปใช้ได้นะคะ
secret garden
Story : อิสรา สอนสาสตร์
Illustrator : ออ - ร - ญา
นอกเหนือจากรูปแบบที่สวยงามของสวนแล้ว แนวคิดหลักของการออกแบบนั้นจะต้องมุ่งเน้นในเรื่องประโยชน์ใช้สอยที่เหมาะกับสมาชิกทุกคนในบ้านทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ คนป่วย เด็กเล็ก หรือแม้กระทั่งผู้บกพร่องทางร่างกาย เพื่อความสะดวกและปลอดภัยของสมาชิกครอบครัวได้ใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่าและมีความสุข
เรื่องพื้น ๆ
การเลือกพื้นถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามต้องใช้ความพิถีพิถันโดยเฉพาะการเลือกวัสดุพื้นผิวสัมผัส ควรมีลักษณะดังนี้
ใช้วัสดุปูพื้นที่มีพื้นผิวและโทนสีที่แตกต่างกัน เช่น พื้นทางเดินปูน ระเบียงไม้ ลานกรวด เป็นจุดสังเกตที่ทุกคนสามารถมองเห็นได้ง่าย ยิ่งพื้นต่างระดับควรเน้นสีที่มองเห็นชัดเจน ไม่ว่าจะสายตาเลือนรางหรือแม้แต่ผู้พิการทางสายตาก็สามารถใช้ปลายไม้เท้าสัมผัสแยกแยะได้
ปูพื้นด้วยวัสดุที่มีความขรุขระ เช่น ทรายล้างหลีกเลี่ยงวัสดุผิวเรียบมันวาว ป้องกันการสะดุดลื่นล้ม ปลอดภัยกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่ใช้วีลแชร์
เลือกใช้ลวดลายแต่พอดี หากเยอะไปอาจทำให้ตาลายได้ จึงไม่เหมาะกับผู้สูงอายุ
บริเวณทางเข้า-ออก ไม่ควรยกพื้นต่างระดับเพื่อป้องกันการสะดุดหกล้ม ควรมีขนาดความกว้างพอสมควร เพื่อให้เดินผ่านได้สะดวกทั้งผู้พิการทางสายตาและผู้ป่วยที่ใช้วีลแชร์
ทางลาด
ทางลาดคือองค์ประกอบสำคัญสำหรับบ้านที่มีผู้ป่วยที่ต้องใช้วีลแชร์ ควรทำทางลาดอยู่ใกล้กับบันได เพื่อความสะดวกและช่วยผ่อนแรงสำหรับผู้ป่วยให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
ทางสัญจรสำหรับผู้ใช้วีลแชร์ควรกว้างไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร ถ้าเป็นทางที่สวนกัน ต้องไม่น้อยกว่า 1.80 เมตร และควรคำนึงถึงระยะกลับและเลี้ยวของรถเข็นด้วย โดยระยะกลับ 90 องศาประมาณ 1.35 เมตร แต่ถ้า 180 องศา ประมาณ 1.75 เมตร
มีราวกันตกสูงไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่สูงกว่าครึ่งหนึ่งของร่างกายเล็กน้อยและควรทำขอบกั้นพื้นสูงอย่างน้อย 10 เซนติเมตร เพื่อป้องกันการไถลตกของวีลแชร์ มีจุดพักเหนื่อยสำหรับทางลาดทุกระยะความยาวไม่เกิน 6 เมตร โดยเฉพาะบริเวณหน้าประตู
tip : ถ้าไม่ต้องการทำทางลาด อาจยกพื้นทางเดินให้เชื่อมเสมอถึงกันหรือวางทางลาดสำเร็จรูป
แปลงปลูกต้นไม้
กระบะหรือแปลงปลูกต้นไม้ต้องมีระดับที่เหมาะสมกับสมาชิกทุกคนอย่างครอบคลุม สำหรับผู้ใช้วีลแชร์กระบะควรมีลักษณะคล้ายตัวยู มีช่องพอดีที่สามารถนำวีลแชร์เข้าถึงได้ง่ายสำหรับการดูแล รดน้ำ ตัดแต่งกิ่งเป็นการสร้างกิจกรรมผ่อนคลายอีกอย่างหนึ่งให้กับผู้ใช้วีลแชร์
ที่นั่งในสวน
ลักษณะของเฟอร์นิเจอร์ที่ดีควรมีเท้าแขน พนักพิงมีความสูงในระดับเหมาะสม เว้นสเปซด้านข้างสำหรับผู้ใช้วีลแชร์ด้วย
นิตยสาร my home ฉบับที่ 068 เดือนมกราคม 2559
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
นิตยสาร my home ฉบับที่ 068 เดือนมกราคม 2559