7 วิธีประหยัดไฟตู้เย็นง่าย ๆ แต่ได้ผล แถมช่วยประหยัดพลังงาน

          วิธีประหยัดไฟตู้เย็น ทำอย่างไรได้บ้าง มาดู 7 วิธีประหยัดไฟฟ้าตู้เย็น ลดการใช้พลังงาน ลดภาระค่าไฟ พร้อมทั้งช่วยถนอมตู้เย็นให้ใช้งานไปได้อีกนาน

วิธีประหยัดไฟตู้เย็น

          ตู้เย็น เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านที่ต้องเสียบปลั๊กให้ทำงานตลอดเวลา เพราะเป็นของใช้ในบ้านที่ให้ความเย็น และยืดอายุอาหารให้อยู่ได้นานขึ้น ดังนั้นหากมีวิธีใดที่จะช่วยประหยัดไฟตู้เย็นได้ก็น่าสนใจไม่น้อย เพราะจะช่วยให้ประหยัดพลังงานพร้อมลดค่าไฟ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายหลัก ๆ ของบ้านลงไปได้อีกเยอะ หากคุณกำลังมองหาวิธีประหยัดไฟจากการใช้ตู้เย็น มาลองทำตามเทคนิคต่อไปนี้กันเพื่อช่วยประหยัดไฟให้ตู้เย็น แถมยังช่วยถนอมตู้เย็นให้ใช้ไปได้อีกนานด้วย

1. เลือกตำแหน่งติดตั้งตู้เย็นให้เหมาะสม


          ควรติดตั้งตู้เย็นในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก หลีกเลี่ยงการติดตั้งไว้ใกล้แหล่งความร้อน เช่น เตาไฟ หม้อหุงข้าว หรือบริเวณที่โดนแสงแดดโดยตรง ที่สำคัญควรติดตั้งตู้เย็นให้ห่างจากผนังทั้งด้านข้างและด้านหลัง อย่างน้อย 15 เซนติเมตร เพื่อเว้นระยะห่างให้ตู้เย็นระบายความร้อนได้สะดวก อีกทั้งยังช่วยประหยัดไฟฟ้าได้ถึง 39%

2. ปรับอุณหภูมิตู้เย็นให้เหมาะสม


          วิธีปรับอุณหภูมิตู้เย็น โดยทั่วไปตู้เย็นต้องทำความเย็นอยู่ที่ 2-5 องศาเซลเซียส ส่วนช่องแช่แข็งควรจะมีอุณหภูมิอยู่ที่  -18 ถึง -20 องศาเซลเซียส แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับปริมาณของที่แช่อยู่ในตู้เย็นด้วย หากมีของอยู่เยอะก็ควรปรับอุณหภูมิให้เย็นพอดีที่ของจะแช่อยู่ได้โดยไม่เสียเร็ว แต่ถ้ามีของแช่อยู่ในตู้เย็นน้อยก็ควรปรับอุณหภูมิให้สูงขึ้นอีกนิด เพื่อประหยัดพลังงานตู้เย็นได้อีกหน่อย แต่อย่างไรก็ดีอย่าลืมสังเกตอุณหภูมิจากสภาพแวดล้อมด้วย โดยเฉพาะช่วงเปลี่ยนฤดูกาลจากหน้าหนาวเป็นหน้าร้อน หรือหน้าร้อนเป็นหน้าหนาว ที่ควรต้องปรับอุณหภูมิตู้เย็นให้เหมาะสมด้วยค่ะ

3. ไม่เปิดตู้เย็นบ่อย หรือเปิดทิ้งไว้นาน ๆ


          ทุกครั้งที่มีการเปิดตู้เย็น อุณหภูมิภายนอกซึ่งมีความร้อนจะเข้าไปแทรกแซงอุณหภูมิภายในตู้เย็นที่เย็นกว่าให้ปรวนแปร จนคอมเพรสเซอร์ต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อรักษาอุณหภูมิให้กลับมาเย็นคงที่เหมือนเดิม ดังนั้นหากเป็นไปได้ควรเปิดตู้เย็นเท่าที่จำเป็น และอย่าเปิดตู้เย็นทิ้งไว้นาน ๆ เพื่อลดการทำงานของตู้เย็นลง จะได้ประหยัดไฟได้มากขึ้น เช่น ตู้เย็น 2 ประตู ขนาด 7.9 คิวบิกฟุต กำลังไฟฟ้า 179 วัตต์ ใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง หากมีปริมาณของแช่มากขึ้น และเปิดบ่อย ในสภาพอากาศร้อน จะใช้ไฟมากถึง 76.03 หน่วยต่อเดือน เท่ากับว่าต้องเสียค่าไฟ 0.30-0.40 บาทต่อชั่วโมงเลย

4. แช่ของให้พอดีและไม่นำของร้อนจัดเข้าตู้เย็น


ตู้เย็น

          ควรนำของมาแช่ให้พอดี ไม่แน่นจนเกินไป และหมั่นจัดระเบียบของด้านในตู้เย็นจะดีกว่า เพราะหากของเยอะเกินไปตู้เย็นก็ทำงานหนักขึ้น ทั้งยังทำให้ตู้เย็นใช้พลังงานเยอะแถมกินไฟมาก รวมถึงไม่ควรนำของร้อนจัดเข้าตู้เย็นทันที เพราะจะทำให้คอมเพรสเซอร์ทำงานหนักขึ้น แนะนำให้ตั้งของหรืออาหารทิ้งไว้ให้เย็นก่อน แล้วค่อยนำไปแช่ในตู้เย็น

5. เลือกตำแหน่งแช่ของให้เหมาะสม  


          เหตุผลที่ตู้เย็นต้องแบ่งช่องไว้หลาย ๆ ช่อง ก็เพราะอาหารแต่ละอย่างต้องการความเย็นที่ต่างกัน เพื่อถนอมอาหารและยืดเวลาให้มีอายุได้นานขึ้น เช่น ช่องแช่แข็งก็มีไว้สำหรับแช่ของที่จำเป็นต้องเก็บในที่เย็นจัด หรือเอาไว้ทำน้ำแข็งไว้รับประทาน ส่วนช่องเล็ก ๆ ด้านล่างแผงความเย็นก็มีไว้สำหรับเก็บเนื้อสัตว์ ช่องถัดมาด้านล่างก็มีไว้เก็บของทั่วไป และช่องล่างสุดก็มีไว้สำหรับแช่ผัก-ผลไม้ ซึ่งถ้าหากเราไม่จัดเก็บอาหารให้ถูกต้องตามตำแหน่งให้ความเย็น ตู้เย็นก็ต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อให้อาหารที่นำไปแช่มีความเย็นพอที่จะมีอายุการเก็บรักษาที่นานขึ้นนั่นเอง

          อ่านเพิ่มเติม : 6 วิธีเก็บอาหารในตู้เย็นให้ถูกจุด แต่ละตำแหน่งควรแช่อะไรดี ?

6. หมั่นละลายน้ำแข็งและทำความสะอาดเสมอ


          หมั่นละลายน้ำแข็งในตู้เย็น เมื่อน้ำแข็งเริ่มเกาะหนา เพราะหากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้ตู้เย็นทำงานหนัก อีกทั้งยังเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคและทำให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ ดังนั้นควรละลายน้ำแข็งตู้เย็นและทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง โดยใช้ผ้าหรือฟองน้ำชุบน้ำสบู่บิดหมาด ๆ และเช็ดให้ทั่วทั้งด้านในและด้านนอกตัวตู้เย็น จากนั้นใช้ผ้าชุบน้ำสะอาดบิดหมาด ๆ เช็ดซ้ำ และใช้ผ้าแห้งเช็ดคราบน้ำออกอีกครั้งในรอบสุดท้าย นอกจากนี้ไม่ควรใช้ของแข็งหรือของมีคม เช่น มีด งัดแงะน้ำแข็งออกจากช่องแช่แข็ง เพราะอาจทำให้แผงความเย็นชำรุดและเกิดความเสียหายได้

7. หมั่นเช็กสภาพของยางขอบตู้เย็นอยู่เสมอ


          เพราะยางขอบตู้เย็นเสื่อมสภาพ จะทำให้ตู้เย็นปิดไม่สนิทและเปลืองไฟมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้ของที่แช่อยู่ในตู้เย็นไม่ได้รับความเย็นเท่าที่ควร ดังนั้นเราก็ควรตรวจสอบสภาพการใช้งานของยางขอบตู้เย็นอยู่เสมอ ด้วยการเปิดประตูตู้เย็น แล้วลองวางธนบัตรหรือแผ่นกระดาษไว้ตรงขอบประตูตู้เย็น จากนั้นก็ปิดประตูตู้เย็นตามปกติ ถ้าธนบัตรที่หนีบไว้ยังค้างอยู่แน่นหนาก็แสดงว่ายางขอบตู้เย็นยังมีสภาพการใช้งานดีอยู่ แต่ถ้าปิดประตูตู้เย็นแล้วธนบัตรร่วงหล่นลงมา ก็แสดงว่าถึงเวลาต้องซื้อยางขอบตู้เย็นอันใหม่มาเปลี่ยนแล้ว

          ตู้เย็น เป็นอีกหนึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เรียกได้ว่าแทบจะมีกันทุกบ้าน และเปิดตลอดทั้งวัน หากต้องการจะลดภาระค่าไฟและช่วยประหยัดพลังงาน ก็สามารถนำ 7 วิธีประหยัดไฟข้างต้นนี้ไปใช้กันได้ แถมยังเป็นการช่วยดูแลและถนอมตู้เย็นให้ใช้งานไปได้อีกนานด้วย

 
บทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับ  วิธีประหยัดไฟตู้เย็น : 


ขอบคุณข้อมูลจาก : mea, chiangmaiaircare, lgbloggeregat และ nectec
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
7 วิธีประหยัดไฟตู้เย็นง่าย ๆ แต่ได้ผล แถมช่วยประหยัดพลังงาน อัปเดตล่าสุด 8 เมษายน 2567 เวลา 14:47:32 194,573 อ่าน
TOP
x close