x close

19 เคล็ดลับจัดระเบียบตู้เย็น ให้เก็บอาหารได้นาน ๆ

          วิธีจัดตู้เย็น ให้เก็บอาหารได้นาน ๆ และมีพื้นที่เหลือเก็บอาหารเพิ่ม ไปดูกันว่ามีวิธีจัดตู้เย็นรก ๆ ของเรา ให้เป็นระเบียบ ดูสะอาดสะอ้าน และช่วยถนอมอาหารให้นานยิ่งขึ้นได้อย่างไรบ้าง 

วิธีจัดตู้เย็น

          ถ้าหากว่าตู้เย็นมีการจัดระเบียบของอย่างดี ความเย็นก็จะกระจายอยู่ในตู้เย็นได้อย่างทั่วถึง แต่ส่วนใหญ่แล้วเราตู้เย็นที่บ้านของเราก็จะไม่ค่อยเป็นระเบียบกันสักเท่าไรหรอกจริงไหมคะ ซื้ออะไรมาก็จับยัดเข้าไปแช่เอาไว้ก่อน จะกินหรือจะใช้เมื่อไรก็ค่อยมาควานหากันอีกที หรือดีขึ้นมาหน่อยก็อาจจะล้างผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์จนสะอาด เสร็จแล้วก็หั่นใส่กล่อง หรือถุงพร้อมปรุงอาหาร แต่เชื่อได้ว่าหลายคนก็ยังจัดเก็บของในตู้เย็นไม่ถูกวิธีเท่าที่ควร ถ้าอย่างนั้นเรามาดูเคล็ดลับจัดระเบียบตู้เย็น เพื่อให้ความเย็นกระจายได้อย่างทั่วถึง ที่สำคัญเพื่อให้ประหยัดไฟมากขึ้นกันดีกว่า
 
1. รักษาระดับอุณภูมิ

          อุณหภูมิในตู้เย็นไม่ควรสูงกว่า 40 องศาฟาเรนไฮต์ แต่ควรจะอยู่ราว ๆ 36-38 องศาฟาเรนไฮต์ เพราะเป็นอุณหภูมิที่เย็นพอจะรักษาและยืดอายุอาหารให้อยู่ได้นานขึ้น ไม่เน่าเสียก่อนเวลาที่ควร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับปริมาณของในตู้เย็นด้วย หากว่ามีของอยู่เยอะก็ควรจะปรับอุณหภูมิให้ต่ำลง หรือถ้ามีของอยู่ในตู้เย็นน้อยก็ปรับอุณหภูมิให้สูงขึ้นอีกนิด โดยหมุนปุ่มปรับอุณหภูมิที่อยู่ด้านในตู้เย็นเท่านั้นเอง
 
2. จัดวางของตามโซนที่เหมาะสม

          แต่ละส่วนของตู้เย็นจะมีความเย็นไม่เท่ากัน ลักษณะภายในของตู้เย็นจึงมีโซนแบ่งเป็นช่อง ๆ อย่างที่เห็นกัน ดังนั้นเราก็ควรแช่ของให้ถูกโซนความเย็นด้วย อาหารประเภทเนื้อสัตว์ หรืออาหารที่เน่าเสียง่ายควรจะแช่ในช่องใต้ช่องแช่แข็ง อย่างเช่น นมสด หรือนมพาสเจอร์ไรซ์ ก็ไม่ควรนำไปแช่ที่ช่องข้างตู้เย็น เพราะตรงจุดนั้นความเย็นจะไม่เพียงพอรักษาความสดของนมได้อย่างเต็มที่จนอาจจะเป็นเหตุให้นมเน่าเสียได้
 
3. แช่อาหารเพื่อสุขภาพให้เห็นชัด ๆ

          ตามสัญชาตญาณแล้วเรามักจะเลือกรับประทานอาหารที่หยิบสะดวก มองเห็นได้เด่นชัด เพราะจะช่วยกระตุ้นความอยากอาหารของเราให้มากขึ้น ฉะนั้นเราก็ควรจัดวางอาหารเพื่อสุขภาพ หรืออาหารที่มีประโยชน์สำหรับเราไว้ในตำแหน่งที่สังเกตเห็นได้ง่าย และย้ายอาหารขยะ เช่น น้ำอัดลม ไปไว้ในสุด หรือไว้ในช่องที่หยิบยากหน่อย เพื่อช่วยให้เราหันมารับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายกันมากขึ้น
 
4. ของเก่าเอาไว้ด้านหน้า

          นอกจากอาหารเพื่อสุขภาพที่ต้องจัดวางในตำแหน่งที่เห็นได้ชัด ๆ แล้ว อาหารสด หรืออาหารที่ใกล้หมดอายุก็ควรนำมาวางไว้ในส่วนหน้าของตู้เย็นด้วย เพื่อให้เรานึกถึงและนำออกมารับประทานก่อนที่มันจะเสียไปเปล่า ๆ ซึ่งก็ต้องหมั่นตรวจเช็กวันหมดอายุของอาหารที่แช่อยู่ในตู้เย็นเสมอ ๆ ด้วยนะจ๊ะ
 
5. แยกประเภทอาหารเป็นสัดส่วน

          อุปกรณ์เสริมที่จะช่วยให้คุณจัดเก็บอาหารได้อย่างเป็นสัดเป็นส่วนก็คือ กล่องพลาสติกใส ซึ่งหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายของราคาถูก อย่างร้านทุกอย่าง 20 บาท หรือตามร้านขายเครื่องใช้ภายในบ้าน ลงทุนหาซื้อมาจะได้นำไปแยกประเภทอาหารในการจัดเก็บ เช่น เนื้อสัตว์ก็เก็บแยกไว้ในกล่องหนึ่ง ผักก็ใส่อีกกล่อง ผลไม้ก็แยกไว้ นมกล่อง หรือน้ำผลไม้ก็ใส่ในกล่องเล็ก ๆ ขนาดพอดี ไข่ก็เก็บในแผงไข่ หรือถ้าอยากประหยัดค่าใช้จ่ายในจุดนี้ อาจจะนำกล่องไอศครีม หรือกล่องอาหารสำเร็จรูปที่ใช้เสร็จแล้วมาใส่อาหารสดต่าง ๆ ก็ได้ เพียงเท่านี้ก็หมดกังวลเรื่องคราบอาหารเปอะเปื้อนในตู้เย็นแล้วล่ะ
 
6. แพ็กเป็นชุด

วิธีจัดตู้เย็น

          อาหารที่คล้าย ๆ กัน เช่น ขวดน้ำสลัด ขวดซอสบาร์บีคิว ก็ควรเรียงใส่กล่องเดียวกัน หรือจะจัดเก็บไว้ในโซนเดียวกันก็ได้ รวมทั้งอาหารที่ต้องใช้คู่กัน เช่น ขนมปัง และครีมสลัด ก็ควรจัดเก็บในกล่องเป็นแพ็กให้เรียบร้อย เพื่อประหยัดพื้นที่ในตู้เย็นให้จัดเก็บของได้มากขึ้น อีกทั้งเวลาจะหยิบมารับประทานก็เพิ่มความสะดวกได้ไม่น้อยเลยนะ
 
7. ติดป้ายกันสับสน

          ถ้ากลัวว่าจะสับสนกับบรรดากล่องที่มีหน้าตาคล้าย ๆ กัน แนะนำให้หาซื้อกระดาษกาว หรือโพสต์อิทมาเขียนชนิดอาหาร แล้วแปะติดหน้ากล่อง เพื่อเพิ่มความสะดวกในการหยิบอาหารมารับประทาน วิธีนี้จะช่วยให้คุณประหยัดเวลามากขึ้น ไม่ต้องมานั่งเปิดฝากล่องอาหารทุกกล่องที่อยู่ในตู้เย็นอีกต่อไปแล้วจ้า
 
8. อย่าแช่ของในตู้เย็นมากเกินไป

          ภายในตู้เย็นควรจะมีช่องว่างเพื่อให้อากาศข้างในไหลเวียนได้สะดวก ความเย็นจะได้กระจายได้อย่างทั่วถึง ฉะนั้นก็อย่านำอาหารไปแช่ในตู้เย็นจนแน่นเกินไป หรือถ้าของในตู้เย็นมีเยอะมากจริง ๆ ก็ต้องจัดระเบียบให้พอมีช่องว่างให้อากาศไหลเวียนได้บ้าง
 
9. รองกันกระแทก

          เพื่อป้องกันผักและผลไม้ช้ำ แนะนำให้ซื้อพลาสติกกันกระแทกมาปูรองช่องเก็บผักไว้ก่อน เวลาที่วางผักผลไม้ลงไป จะได้ช่วยลดการกระแทกเสียดสีระหว่างผักผลไม้ กับพลาสติกได้บ้าง นอกจากนี้ก็ไม่ควรวางผักและผลไม้ทับกันหลายชั้นด้วยนะคะ ไม่เช่นนั้นพลาสติกนุ่มนิ่มสำหรับกันกระแทกก็ไม่อาจช่วยป้องกันผักผลไม้ช้ำได้นะเออ
 
10. อย่าแช่ขวดน้ำในแนวนอน

วิธีจัดตู้เย็น

          ขวดน้ำเปล่าอาจจะไม่เป็นอะไร แต่ขวดน้ำหวาน ขวดไวน์ ขวดนมสด หรือเครื่องดื่มที่อาจเน่าเสียได้ง่าย หากมีอากาศเล็ดลอดเข้าไปในขวดก็ไม่ควรนำมาแช่ในตู้เย็นลักษณะนอน เพราะเมื่อแช่ขวดในลักษณะนี้ ฝาขวดอาจมีโอกาสเปิดออก หรือฝาอาจหลวมได้ ทำให้ออกซิเจนผ่านเข้าไปในขวด จนเป็นเหตุให้เครื่องดื่มเน่าเสียได้

11. เก็บผักผลไม้ในถุงสุญญากาศ

          เมื่อผักผลไม้อยู่ในถุงซิป หรือถุงซีลสุญญากาศ จะมีอายุการเก็บรักษาที่ยาวนานขึ้น แถมยังคงความสดใหม่ได้เกือบครบถ้วนอีกต่างหาก ดังนั้นหากคุณอยากเก็บรักษาผักผลไม้ให้สดใหม่ได้นาน ๆ ก็หาซื้อถุงซีลสุญญากาศมาไว้ใช้เก็บผักและผลไม้ก็ได้ค่ะ
 
12. แยกผักผลไม้ตามระดับก๊าซเอธิลีน

          ก๊าซเอธิลีนเป็นก๊าซที่ผักผลไม้จะปล่อยออกมาในกระบวนการสุกงอม ซึ่งผักผลไม้แต่ละชนิดก็จะมีระดับการปล่อยก๊าซเอธิลีนที่ต่างกัน เช่น แครอท, ต้นหอม, กะหล่ำ, บล็อกโคลี, โหระพา, กะเพรา จะไม่มีกระบวนการปล่อยก๊าซเอธิลีน แต่มะเขือเทศ, มันเทศ, มะนาว, เลมอน, แตงกวา, เมลอน และส้ม เป็นผักผลไม้ที่มีกระบวนการปล่อยก๊าซเอธิลีนในระดับปานกลาง ส่วนแอปเปิล, อะโวคาโด, องุ่น, ลูกแพร, พริกไทยสด และเห็ดทุกชนิด มีกระบวนการปล่อยก๊าซเอธิลีนในระดับที่สูง ซึ่งผักผลไม้ประเภทนี้ควรได้รับการจัดเก็บในส่วนที่มีความเย็นพอสมควร และเก็บในถุงซีลสูญญากาศจะดีที่สุด
 
13. ป้องกันกลิ่นเหม็น

          เราเก็บเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ อาหารและของที่ไม่ใช่อาหารสารพัดชนิดไว้ในตู้เย็น ซึ่งก็แน่นอนว่ากลิ่นอาหารทุกชนิดจะตีกันให้คลุ้งอยู่ในนั้น จนส่งกลิ่นเหม็นแปลก ๆ ออกมา ซึ่งวิธีแก้ก็ไม่ยาก เพียงแค่นำผงเบกกิ้งโซดาใส่ขวดขนาดเล็ก เปิดฝาและนำไปแช่ด้านในสุดของตู้เย็น หรือจะหาซื้อถ่านดูดกลิ่นที่มีขายอยู่ทั่วไปในตลาด มาใส่ในตู้เย็นก็ได้

14. ตั้งตู้เย็นให้ได้ระดับ

          ควรจัดวางตู้เย็นให้ได้ระดับที่เหมาะสม โดยไม่ควรวางตู้เย็นชิดกำแพงเกินไป และควรวางตู้เย็นให้ด้านหน้าของตู้เย็นอยู่สูงกว่าด้านหลังของตู้เย็นสักเล็กน้อย เพื่อที่เวลาเปิดตู้เย็น แรงโน้มถ่วงด้านหลังจะทำให้บานประตูตู้เย็นปิดเองได้โดยอัตโนมัติ จะได้ไม่เผลอเปิดประตู้เย็นทิ้งไว้นาน ๆ นะ
 
15. ล้างตู้เย็นอยู่เสมอ

วิธีจัดตู้เย็น

          เพื่อป้องกันอาหารเน่าเสียคาตู้ จนเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อโรค ก็ควรล้างตู้เย็นอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง หรือ 2 สัปดาห์/ครั้ง และถือโอกาสตรวจเช็กของในตู้เย็นออกมาดู อันไหนเน่าเสียก็ทิ้งไป หรืออันไหนใกล้จะหมดอายุจะได้นำออกมาวางให้เห็นชัด ๆ แล้วนำมารับประทานก่อนจะหมดอายุจนต้องทิ้งให้เสียของ
  
16. พยายามเปิดตู้เย็นเท่าที่จำเป็น

          วิธีที่จะรักษาระดับความเย็นในตู้เย็นให้สม่ำเสมอ ก็คือ การไม่เปิดตู้เย็นนาน ๆ และทางที่ดีก็ควรเปิด-ปิดตู้เย็นเท่าที่จำเป็น เพื่อช่วยคอมเพรสเซอร์ไม่ให้ทำงานหนัก จะได้ประหยัดไฟได้มากขึ้น และที่สำคัญของที่แช่อยู่ในตู้เย็นจะได้อยู่ได้นาน ๆ ด้วย
 
17. ทำความสะอาดแผงระบายความร้อน

          หลังตู้เย็นหรือด้านล่างของตู้เย็นจะมีแผงระบายความร้อน ซึ่งคอยทำหน้าที่ระบายความร้อนจากการทำงานของตู้เย็น และช่วยให้ตู้เย็นทำความเย็นได้สะดวกยิ่งขึ้น และพอใช้งานตู้เย็นเป็นระยะเวลานาน แผงระบายความร้อนที่ว่านี้ก็อาจจะมีฝุ่นเกาะจับอยู่หนาแน่น จนขัดขวางการทำงานของคอมเพรสเซอร์ ทำให้ตู้เย็นทำความเย็นได้ไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้นก็ควรต้องปัดฝุ่น หรือใช้เครื่องดูดฝุ่นทำความสะอาดแผงระบายความร้อนให้สะอาดอยู่เสมอด้วยนะจ๊ะ
 
18. ละลายน้ำแข็ง

          สำหรับตู้เย็นที่ไม่ใช่ระบบปราศจากน้ำแข็งเกาะ หรือระบบ No Frost นอกจากต้องหมั่นเคลียร์ตู้เย็นให้สะอาดแล้ว ก็ควรดูแลช่องแช่แข็งให้ดีด้วย อย่าให้มีน้ำแข็งมาเกาะจับจนหนา เพราะน้ำแข็งเหล่านี้จะเข้าไปเกาะส่วนคอยล์เย็น ทำให้ตู้เย็นต้องทำงานหนัก ดังนั้นหากสังเกตเห็นว่ามีน้ำแข็งเกาะหนาประมาณ 3-5 มิลลิเมตร ก็ควรกดปุ่มละลายน้ำแข็งทันที เพื่อให้ตู้เย็นทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
 
19. เปลี่ยนยางขอบตู้เย็น

          ถ้ารู้สึกว่าตู้เย็นปิดไม่ค่อยสนิท หรือถ้าไม่แน่ใจก็ควรตรวจสอบสภาพยางขอบตู้เย็น ด้วยการวางกระดาษหรือธนบัตรตรงบริเวณขอบตู้เย็น แล้วปิดตู้เย็นตามปกติ หากกระดาษยังติดค้างอยู่อย่างแน่นหนา ก็แสดงว่ายางขอบตู้เย็นยังมีสภาพดีอยู่ แต่ถ้าแผ่นกระดาษเลื่อนตำแหน่ง หรือหลุดร่วงลงมา ก็ควรซื้อยางขอบตู้เย็นมาเปลี่ยน เพื่อให้ตู้เย็นปิดได้สนิทดังเดิม ไม่มีความเย็นรั่วออกมาค่ะ
 
          ตู้เย็นเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าชิ้นสำคัญภายในบ้าน ที่ต้องเสียบปลั๊กให้ทำงานอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เก็บรักษาอาหารให้อยู่ได้นาน ๆ และมีความสดใหม่ให้ได้นานที่สุด ดังนั้นอย่าลืมทำตามเคล็ดลับที่เรานำมาฝากกันด้วยนะคะ อาหารที่อยู่ในตู้เย็นจะได้สดใหม่จนนาทีสุดท้าย และที่สำคัญเพื่อประหยัดไฟในบ้านด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก thespruce และ organized-home
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
19 เคล็ดลับจัดระเบียบตู้เย็น ให้เก็บอาหารได้นาน ๆ อัปเดตล่าสุด 25 สิงหาคม 2565 เวลา 10:27:50 43,866 อ่าน
TOP