x close

ไขข้อสงสัย จัดอาหารในตู้เย็นยังไง วางตรงไหน แต่ละชนิดแช่ได้กี่วัน ?

วิธีจัดตู้เย็น อาหารแต่ละชนิดควรวางตรงไหน แช่ยังไงอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม ช่วยยืดอายุอาหาร และเก็บไว้กินได้นานขึ้น 

ผู้หญิงยืนมองตู้เย็น

หลายคนคงเคยเจอปัญหาคล้าย ๆ กันว่า เวลาถามที่บ้านทีไรว่าอาหารแต่ลชนิดแช่ตู้เย็นได้นานแค่ไหน ก็มักจะได้คำตอบว่าเก็บได้นานเป็นสัปดาห์บ้าง บางครั้งก็เป็นเดือน ถึงแม้ตู้เย็นจะมีไว้เก็บอาหาร แต่อาหารแต่ละชนิดก็มีวันหมดอายุ วันนี้กระปุกดอทคอมขอลิสต์รายชื่ออาหารและเวลาแช่ตู้เย็นมาฝาก พร้อมวิธีจัดตู้เย็นให้เหมาะสมกับอาหารแต่ละชนิด เพราะแต่ละตำแหน่งมีอุณหภูมิไม่เท่ากันนะรู้หรือเปล่า 

วิธีจัดตู้เย็นแต่ละชั้น
ตู้เย็น

เนื่องจากตู้เย็นแต่ละชั้นมีอุณหภูมิและความชื้นที่ไม่เหมือนกัน เช่น ชั้นวางด้านบนเป็นจุดที่เย็นที่สุดเพราะอยู่ใกล้กับพัดลมและคอนเดนเซอร์ ชั้นวางด้านล่างเป็นจุดที่เย็นรองลงมาเพราะอากาศตกบริเวณนี้ ส่วนชั้นวางตรงกลางและข้างประตูเป็นจุดที่อุ่นที่สุดเมื่อเทียบกับทั้งชั้นบนและชั้นล่าง ดังนั้นแต่ละชั้นจึงเหมาะกับการเก็บอาหารที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

  • ช่องฟรีซ 

เหมาะจะเก็บผักและเนื้อสัตว์แช่แข็งของที่ไวต่อแสงและความร้อน เช่น เนื้อสัตว์แปรรูป เกล็ดขนมปัง แป้งสาลี ถั่ว รวมถึงน้ำซุปหรือน้ำสต๊อกต่าง ๆ ที่ทำเก็บไว้ 

  • ชั้นวางด้านบน 

เหมาะจะเก็บอาหารปรุงสำเร็จพร้อมกิน เช่น ข้าวแกง ข้าวกล่อง เครื่องปรุงที่ใช้ไม่บ่อย เช่น กะทิ พริกแกง ผลไม้ที่แช่ตู้เย็นได้ เช่น ส้ม องุ่น แอปเปิล เมลอน เบอร์รี รวมถึงของดองต่าง ๆ

  • ชั้นวางตรงกลาง 

เหมาะจะเก็บอาหารเหลือกินที่ใส่ในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด ชีสและเนยแข็งที่ใส่กล่องอย่างดีหรือห่อด้วยแผ่นรองอบและอยู่ในถุงปิดสนิท ไข่ในแผง ขนมปังแซนด์วิช ขนมปังมันฝรั่ง และโคลด์คัตหรือเนื้อตัดเย็น (เนื้อสัตว์ปรุงสุกที่หั่นเป็นชิ้น พร้อมแก่การกินหรือทำอาหารอื่น)

  • ชั้นวางด้านล่าง 

เหมาะจะเก็บเนื้อสด เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อปลา รวมถึงนมและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ทำจากนม

  • ช่องแช่ผัก 

เหมาะจะเก็บผักและสมุนไพรต่าง ๆ ที่ใส่ในถุงที่มีรูระบายอากาศหรือเปิดด้านบนเล็กน้อย

  • ชั้นวางข้างประตูด้านบน 

เหมาะจะเก็บไข่ที่ไม่ใส่ในแผง รวมถึงเนยหรือชีสที่ใช้บ่อยและห่ออย่างดี

  • ชั้นวางข้างประตูตู้เย็นตรงกลาง 

เหมาะจะเก็บเครื่องปรุงรสที่อยู่ในขวด เช่น ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก มัสตาร์ด มายองเนส และน้ำสลัด

  • ชั้นวางข้างประตูตู้เย็นด้านล่าง 

เหมาะจะเก็บเครื่องดื่มต่าง ๆ เช่น น้ำดื่ม นมสด น้ำผลไม้ และน้ำอัดลม

อาหารแต่ละชนิดแช่ตู้เย็นได้กี่วัน

1. ไข่ไก่

ไข่ไก่สด

  • ไข่ดิบ เก็บในตู้เย็นได้ 3-5 สัปดาห์ ไม่ควรเก็บในช่องฟรีซ
  • ไข่ต้ม เก็บในตู้เย็นได้ 1 สัปดาห์ ไม่ควรเก็บในช่องฟรีซ
  • เมนูไข่ เก็บในตู้เย็นได้ 4 วัน

2. เนื้อไก่

เนื้อไก่สด

  • ไก่สดเป็นตัว เก็บในตู้เย็นได้ 1-2 วัน เก็บในช่องฟรีซได้ 1 ปี
  • ไก่สดเป็นชิ้น เก็บในตู้เย็นได้ 1-2 วัน เก็บในช่องฟรีซได้ 9 เดือน

3. เนื้อสด

เนื้อหมูสด

  •  เนื้อบด (หมู วัว) เก็บในตู้เย็นได้ 1-2 วัน เก็บในช่องฟรีซได้ 3-4 เดือน
  • เนื้อสด (หมู วัว) เก็บในตู้เย็นได้ 3-5 วัน เก็บในช่องฟรีซได้ 4-12 เดือน
  • เนื้อปรุงสุก เก็บในตู้เย็นได้ 3-4 วัน เก็บในช่องฟรีซได้ 2-6 เดือน
  • เครื่องในสัตว์ปีก เก็บในตู้เย็นได้ 2 วัน เก็บในช่องฟรีซได้ 3-4 เดือน

4. อาหารทะเล

ปลาสด

  • ปลา เก็บในตู้เย็นได้ 2 วัน เก็บในช่องฟรีซได้ 6 เดือน
  • หอย เก็บในตู้เย็นได้ 2 วัน เก็บในช่องฟรีซได้ 3-6 เดือน

5. เบคอนและแฮม

แฮม

  • เบคอน เก็บในตู้เย็นได้ 1 สัปดาห์ เก็บในช่องฟรีซได้ 1 เดือน
  • แฮมดิบ เก็บในตู้เย็นได้ 3-5 วัน เก็บในช่องฟรีซได้ 6 เดือน
  • แฮมปรุงสุก เก็บในตู้เย็นได้ 3-4 วัน เก็บในช่องฟรีซได้ 3-4 เดือน
  • แฮมกระป๋องที่เปิดแล้ว เก็บในตู้เย็นได้ 5-14 วัน เก็บในช่องฟรีซได้ 1-2 เดือน
  • แฮมกระป๋องที่ยังไม่เปิด เก็บในตู้เย็นได้ 6-9 เดือน ไม่ควรเก็บในช่องฟรีซ

6. ไส้กรอก

ไส้กรอก

  • ไส้กรอกเปิดซองแล้ว เก็บในตู้เย็นได้ 1 สัปดาห์ เก็บในช่องฟรีซได้ 1-2 เดือน
  • ฮอตดอกยังไม่เปิดซอง เก็บในตู้เย็นได้ 2 สัปดาห์ เก็บในช่องฟรีซได้ 1-2 เดือน
  • ไส้กรอกดิบ (เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว) เก็บในตู้เย็นได้ 1-2 วัน เก็บในช่องฟรีซได้ 1-2 เดือน
  • ไส้กรอกปรุงสุก (เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว) เก็บในตู้เย็นได้ 1 สัปดาห์ เก็บในช่องฟรีซได้ 1-2 เดือน

7. สลัดและซุป

หัวหอมแดง

  • สลัดผัก (มีไข่, ไก่, แฮม, ทูน่า) เก็บในตู้เย็นได้ 3-4 วัน ไม่ควรเก็บในช่องฟรีซ
  • ซุป (ผักหรือเนื้อ) เก็บในตู้เย็นได้ 3-4 วัน เก็บในช่องฟรีซได้ 2-3 เดือน

8. อาหาร

อาหาร

  • อาหารสำเร็จรูปที่ซื้อมาจากร้านค้า เก็บในตู้เย็นได้ 4 วัน
  • อาหารที่กินเหลือ เก็บในตู้เย็นได้ 2-3 วัน

เอาเป็นว่าต่อไปนี้จะเก็บ จะตุนอะไร ก็อย่าลืมคำนึงถึงอายุของอาหารแต่ละชนิดด้วยนะคะ อ๊ะ ๆ ๆ อย่างไรก็ตามระยะเวลาดังกล่าวเป็นเพียงแค่ข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น ทางที่ดีต้องตรวจเช็กสภาพ กลิ่น และสีของอาหารก่อนนำมาปรุงทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยและสุขอนามัยที่ดีของทุกคนในครอบครัวนั่นเอง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก seriouseats, thespruceeats และ foodsafety.gov 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไขข้อสงสัย จัดอาหารในตู้เย็นยังไง วางตรงไหน แต่ละชนิดแช่ได้กี่วัน ? อัปเดตล่าสุด 24 มิถุนายน 2564 เวลา 17:37:54 163,818 อ่าน
TOP