ไหว้เช็งเม้งที่บ้านได้ไหม ไหว้วันไหน ทำอย่างไร ใช้ของไหว้อะไรบ้าง มาดู วิธีไหว้เช็งเม้งที่บ้าน พร้อมขั้นตอนการไหว้เช็งเม้ง

โดยปกติแล้วจะไหว้เช็งเม้งกันที่ฮวงซุ้ยใช่มั้ยคะ แต่หากไม่สะดวกสามารถไหว้เช็งเม้งที่บ้านได้ไหม วันนี้เรามีคำตอบมาฝากแล้ว พร้อมของไหว้เช็งเม้ง ความหมายของไหว้ ของที่ไม่ควรนำมาไหว้ และวิธีไหว้เช็งเม้งที่บ้าน
วันเช็งเม้ง คืออะไร

เช็งเม้ง (Qingming Festival) เป็นเทศกาลที่ครอบครัวคนจีนเดินทางไปไหว้บรรพบุรุษกันที่ฮวงซุ้ยหรือหลุมฝังศพ ความเชื่อที่ได้อิทธิพลมาจากลัทธิขงจื๊อ โดยคำว่า เช็ง หมายถึง สะอาด บริสุทธิ์ ส่วนคำว่า เม้ง หมายถึง สว่าง นำมารวมกันคำว่า เช็งเม้ง หมายถึง ช่วงเวลาแห่งความสว่างสดใส เปรียบได้กับฤดูใบไม้ผลิของจีน ที่ไม่ว่ามองไปทางไหนก็จะเจอต้นไม้ใบหญ้าผลิดอกออกใบอย่างสวยงาม ซึ่งวันเช็งเม้งถูกกำหนดไว้ให้เป็นวันที่ 5 เมษายน ของทุกปี แต่ในส่วนของเทศกาลจะมีทั้งหมด 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 2-8 เมษายน
อย่างที่กล่าวไปว่าโดยปกติแล้วในวันเช็งเม้งจะทำพิธีกันที่ฮวงซุ้ย แต่ในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 เป็นต้นมา ทำให้หลายคนไม่สามารถเดินทางไปทำพิธีที่ฮวงซุ้ยด้วยหลายปัจจัย เช่น เดินทางไม่สะดวก สถานที่อยู่ไกล ฯลฯ ดังนั้น หลายคนจึงหันมาไหว้เช็งเม้งที่บ้านแทน แม้สถานที่จะเปลี่ยนไป แต่เจตจำนงเหมือนเดิมก็คือ การระลึกถึงคุณงามความดีและแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ ช่วยเตือนสติว่าความตายเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ อีกทั้งยังทำให้เหล่าเครือญาติได้มาพบปะสังสรรค์กันอีกด้วย
ของไหว้เช็งเม้ง

ของไหว้เจ้าที่
- ธูป 5 ดอก
- เทียน 1 คู่
- ชา 5 ถ้วย
- เหล้า 5 ถ้วย
- กระดาษเงิน-กระดาษทอง
- ข้าวสวย 3-5 ถ้วย
- อาหารคาวและของหวาน เช่น หมู เป็ด ไก่ ปลา ขนมจีบ
- ผลไม้มงคล เช่น สับปะรด กล้วย ส้ม แอปเปิล
ของไหว้บรรพบุรุษ
- ธูปตามจำนวนบรรพบุรุษ 1 คนใช้ 1 ดอก
- เทียน 1 คู่
- ชา 3 ถ้วย
- เหล้า 3 ถ้วย
- กระดาษเงิน-กระดาษทอง
- ข้าวสวยตามจำนวนบรรพบุรุษ แต่ไม่เกิน 5 ถ้วย พร้อมตะเกียบ
- อาหารคาวและของหวาน เช่น หมู เป็ด ไก่ ปลา ขนมจีบ
- ผลไม้มงคล เช่น สับปะรด กล้วย ส้ม แอปเปิล
ความหมาย ของไหว้เช็งเม้ง

ภาพจาก : Wachiwit / shutterstock.com
- ธูป-เทียน และน้ำชา หมายถึง ความเคารพ
- กระดาษเงิน-กระดาษทอง หมายถึง การส่งเงินส่งทองไปให้บรรพบุรุษใช้ในภพภูมิถัดไป
- ขนม หมายถึง ความหวานชื่น
- ผลไม้มงคล หมายถึง ความมั่งคั่ง
- หมูสามชั้น หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง
- เปิด-ไก่ หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์
- ปลา หมายถึง ความเหลือเฟือ
ของที่ไม่ควรนำมาไหว้เช็งเม้ง ได้แก่ เนื้อสัตว์ดิบ ๆ ของที่มีสีดำ และของที่มีกลิ่นแรง เช่น ทุเรียน เป็นต้น
ส่วนจำนวนของไหว้ก็ขึ้นอยู่กับความสะดวก หรือใช้ตามเลขคี่ที่เป็นเลขมงคล ได้แก่
- เลข 9 หมายถึง โชคลาภ
- เลข 13 หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง
- เลข 19 หมายถึง ความก้าวหน้า
วิธีไหว้เช็งเม้งที่บ้าน

การไหว้เช็งเม้งไม่จำเป็นต้องไหว้ในวันเช็งเม้งก็ได้ สามารถเลือกวันไหว้เช็งเม้งได้ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม - 8 เมษายน ขึ้นอยู่กับความสะดวกของสมาชิกในครอบครัว โดยมีวิธีไหว้ดังนี้
- ทำความสะอาดบ้าน หิ้งบรรพบุรุษ หรือสถานที่ที่จะใช้ไหว้เช็งเม้ง
- นำของไหว้เจ้าที่และของไหว้บรรพบุรุษมาจัดวางให้พร้อม โดยจัดวางหน้าหิ้งรูปบรรพบุรุษได้เลย หรือหากไม่มีให้จัดโต๊ะกลางแจ้ง โดยหันโต๊ะและกระถางธูปไปทางประตูหลักของบ้าน
- ผู้อาวุโสที่สุดของครอบครัวเป็นคนนำจุดธูป-เทียนไหว้เจ้าที่และบรรพบุรุษ
- รอจนธูปหมดก้านแล้วค่อยเผากระดาษเงิน-กระดาษทอง
- จุดประทัดเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้าย
- ลาของไหว้ แล้วให้สมาชิกในครอบครัวมารวมตัวรับประทานอาหารร่วมกัน
ทั้งนี้ ในวันเช็งเม้งควรใส่เสื้อผ้าสีสุภาพ หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าสีฉูดฉาด ไม่ควรส่งเสียงดังหรือทะเลาะกันต่อหน้าป้ายบรรพบุรุษ และห้ามเดินเหยียบกระดาษเงิน-กระดาษทอง
วิธีดูแลฮวงซุ้ย

ภาพจาก : kimberrywood / shutterstock.com
สำหรับการดูแลฮวงซุ้ย สามารถให้ตัวแทนครอบครัวหรือจ้างคนไปช่วยดูแล เช่น ทำความสะอาด ทาสีป้ายชื่อและฮวงซุ้ยใหม่ เพื่อให้ดูสวยงามอยู่เสมอ
เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบันเปลี่ยนไป หากไม่สะดวกเดินทางไปจัดพิธีไหว้เช็งเม้งที่ฮวงซุ้ยก็สามารถไหว้เช็งเม้งที่บ้านแทนได้ตามความสะดวก เพราะหลักการการจัดเช็งเม้งคือ การระลึกถึงคุณงามความดีและการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษนั่นเอง