ไหว้บรรพบุรุษที่บ้าน ต้องทำอย่างไร ใช้ธูปกี่ดอก จัดโต๊ะไหว้แบบไหน แล้วใช้ของไหว้อะไรบ้าง ควรทำกี่โมง ทำให้ถูกต้องเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตไปตลอดทั้งปี
เนื่องจากในประเทศไทยมีชาวไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก คนส่วนใหญ่จึงซึมซับและคุ้นเคยกับวันและพิธีกรรมสำคัญของชาวจีนกันเป็นอย่างดี ซึ่งหนึ่งในพิธีกรรมที่โดดเด่นที่สุดต้องยกให้กับการไหว้ โดยเฉพาะการไหว้บรรพบุรุษ ที่ถือเป็นพิธีสำคัญในเกือบทุกเทศกาล ไม่ว่าจะเป็นวันตรุษจีน หรือวันสารทจีน ฉะนั้นเพื่อให้เราเข้าใจและสามารถไหว้บรรพบุรุษแบบชาวจีนได้อย่างถูกต้อง มาดูวิธีการไหว้บรรพบุรุษที่บ้าน ในแบบฉบับวันตรุษจีนกันค่ะ
การไหว้บรรพบุรุษ
การไหว้บรรพบุรุษ ภาษาจีนคือ การไหว้ไป๊เป้บ๊อ ซึ่งในแต่ละปีจะทำการไหว้บรรพบุรุษด้วยกัน 2 ครั้ง คือ วัน 15 ค่ำ หรือก่อนวันตรุษจีน 1 วัน และอีกครั้งในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 หรือในวันสารทจีน เพื่อแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว
โดยชาวไทยเชื้อสายจีนจะจัดโต๊ะไหว้บรรพบุรุษไว้ในบ้าน แล้วทำพิธีบูชา เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณและแสดงความระลึกถึง และในงานนี้ญาติทุกคนจะมารวมตัวกัน จึงถือได้ว่าพิธีไหว้บรรพบุรุษเป็นทั้งการแสดงความกตัญญูพร้อมกับการกระชับความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวได้ในงานเดียวเลย
- ของคาว : เช่น หมู เป็ด ไก่ ตับ ปลา แล้วแต่ว่าจะไหว้มากหรือน้อย ถ้าหากไหว้ 3 อย่างเรียกว่า ชุดซาแซ ซึ่งมี หมู เป็ด ไก่ ส่วนการไหว้ 5 อย่างเรียกว่า ชุดโหงวแซ ซึ่งมี หมู เป็ด ไก่ ตับ ปลา
- กับข้าว : นิยมจัด 8 อย่าง หรือ 10 อย่าง โดยให้มีของน้ำ 1 อย่าง และส่วนมากเป็นกับข้าวที่บรรพบุรุษชอบ
- ข้าว : ข้าวสวยใส่ชามพร้อมตะเกียบ จำนวนชุดตามจำนวนบรรพบุรุษ นิยมนับถึงแค่รุ่นปู่ย่า
- ขนมไหว้ : ฮวกก้วยหรือขนมถ้วยฟู, คักท้อก้วยหรือขนมกุยช่าย (เป็นไส้ชนิดใดก็ได้), ขนมจันอับ, ซาลาเปา ซึ่งขนมไหว้นี้ต้องมีสีชมพูหรือมีแต้มจุดแดง
- ขนมไหว้พิเศษ : ต้องมีขนมเข่ง ขนมเทียน เป็นหลัก
- ผลไม้ : เช่น ส้ม กล้วย องุ่น แอปเปิล
- เครื่องดื่ม : น้ำชา 5 ที่ หากมีไหว้ของคาวจะไหว้เหล้าด้วยก็ได้ โดยให้จัด 5 ที่เช่นกัน
- กระดาษเงิน กระดาษทอง : ต้องมี "อวงแซจิ่ว" สำหรับใบเบิกทางให้บรรพบุรุษลงมารับของไหว้ ทองแท่งสำเร็จรูป แบงก์กงเต๊ก ค้อซี ฯลฯ จะมากหรือน้อยแล้วแต่เรา
- ธูปเทียน : จำนวนธูปไหว้ คนละ 3 ดอก
ของไหว้บรรพบุรุษ
- ของคาว : เช่น หมู เป็ด ไก่ ตับ ปลา แล้วแต่ว่าจะไหว้มากหรือน้อย ถ้าหากไหว้ 3 อย่างเรียกว่า ชุดซาแซ ซึ่งมี หมู เป็ด ไก่ ส่วนการไหว้ 5 อย่างเรียกว่า ชุดโหงวแซ ซึ่งมี หมู เป็ด ไก่ ตับ ปลา
- กับข้าว : นิยมจัด 8 อย่าง หรือ 10 อย่าง โดยให้มีของน้ำ 1 อย่าง และส่วนมากเป็นกับข้าวที่บรรพบุรุษชอบ
- ข้าว : ข้าวสวยใส่ชามพร้อมตะเกียบ จำนวนชุดตามจำนวนบรรพบุรุษ นิยมนับถึงแค่รุ่นปู่ย่า
- ขนมไหว้ : ฮวกก้วยหรือขนมถ้วยฟู, คักท้อก้วยหรือขนมกุยช่าย (เป็นไส้ชนิดใดก็ได้), ขนมจันอับ, ซาลาเปา ซึ่งขนมไหว้นี้ต้องมีสีชมพูหรือมีแต้มจุดแดง
- ขนมไหว้พิเศษ : ต้องมีขนมเข่ง ขนมเทียน เป็นหลัก
- ผลไม้ : เช่น ส้ม กล้วย องุ่น แอปเปิล
- เครื่องดื่ม : น้ำชา 5 ที่ หากมีไหว้ของคาวจะไหว้เหล้าด้วยก็ได้ โดยให้จัด 5 ที่เช่นกัน
- กระดาษเงิน กระดาษทอง : ต้องมี "อวงแซจิ่ว" สำหรับใบเบิกทางให้บรรพบุรุษลงมารับของไหว้ ทองแท่งสำเร็จรูป แบงก์กงเต๊ก ค้อซี ฯลฯ จะมากหรือน้อยแล้วแต่เรา
- ธูปเทียน : จำนวนธูปไหว้ คนละ 3 ดอก
การจัดโต๊ะไหว้บรรพบุรุษ
คล้ายกันกับการจัดโต๊ะของไหว้ตรุษจีน การจัดโต๊ะไหว้บรรพบุรุษของแต่ละครอบครัวนั้นอาจจะมีความแตกต่างกันไปบ้าง แต่หลัก ๆ แล้วมีดังนี้
จุดที่ 1: จัดวางโต๊ะไหว้ไว้บริเวณด้านหน้ารูปหรือป้ายวิญญาณ
จุดที่ 2 : กระถางธูปให้วางไว้ด้านหน้ารูปหรือป้ายวิญญาณ
จุดที่ 3 : วางเชิงเทียน ขนาบข้างซ้ายและขวาของกระถางธูป
จุดที่ 4 : วางข้าว พร้อมตะเกียบ
จุดที่ 5 : วางถ้วยน้ำชาหรือถ้วยเหล้าถัดมาจากข้าว
จุดที่ 6 : วางของคาว คือ ซาแซ หรือโหงวแซ พร้อมกับข้าวที่มีน้ำซุปเป็นส่วนประกอบด้วย
จุดที่ 7 : วางขนมไหว้
จุดที่ 8 : วางผลไม้
จุดที่ 9 : วางกระดาษเงิน กระดาษทอง และธูปเทียนที่จะใช้ในพิธี
วิธีการไหว้บรรพบุรุษที่บ้าน
การไหว้บรรพบุรุษที่บ้าน ขั้นแรกให้นำของไหว้ไปจัดไว้บนโต๊ะไหว้ พร้อมวางรูปถ่ายหรือป้ายวิญญาณ และกระถางธูปให้เรียบร้อย เมื่อเสร็จแล้วก็ให้จุดธูป 3 ดอก และเทียนเคารพบูชาในเวลาประมาณ 9 โมง หรือไม่เกินเที่ยง จากนั้นก็รอสัก 1-2 ชั่วโมง แล้วไปเผากระดาษเงิน กระดาษทอง เสร็จแล้วก็เก็บของไหว้มารับประทานร่วมกับญาติพี่น้อง พูดคุย สังสรรค์ และแลกอั่งเปากันก็เป็นอันเสร็จพิธี
การไหว้บรรพบุรุษที่บ้าน จะทำกันปีละ 2 ครั้งคือในช่วงเทศกาลตรุษจีนและสารทจีน หากใครยังไม่รู้ว่าจะต้องอย่างไรบ้าง ก็นำข้อมูลที่เราเอามาฝากกันในวันนี้ไปปฏิบัติตามได้นะคะ