มาดูกันว่า 10 ปัญหาใหญ่ที่สร้างความรำคาญให้กับเพื่อนบ้านมีอะไรบ้าง เพราะบางเรื่องอาจเป็นเรื่องเล็ก ๆ สำหรับคุณ แต่สำหรับบางคนอาจเป็นเรื่องใหญ่ก็ได้นะ
เป็นเรื่องธรรมดาที่คนบ้านใกล้เรือนเคียงจะมีเรื่องกระทบกระทั่งจิตใจกันบ้าง ซึ่งอีกฝ่ายก็คงจะยอมอภัยให้กันได้หากเกิดขึ้นครั้งแรกหรือไม่ใช่เรื่องที่สร้างความรำคาญมากนัก แต่เมื่อใดก็ตามที่ความสนิทสนมทำให้ความเกรงอกเกรงใจที่เคยมีต่อบ้านใกล้เรือนเคียงลดน้อยลง คงจะไม่แปลกหากเพื่อนบ้านที่เคยดีต่อกันจะเบือนหน้าหนีไปเสียดื้อ ๆ เอาเป็นว่าถ้าไม่อยากให้ความสัมพันธ์กับคนบ้านใกล้เรือนเคียงต้องสั่นคลอน โปรดเลี่ยงทำพฤติกรรมเหล่านี้ ก่อนที่จะกลายเป็นที่รังเกียจของบ้านใกล้เรือนเคียง และจะหาว่าเราไม่เตือนไม่ได้นะ
Story : นภสร ศรีทอง
Illus : jimmy poo
“บ้านน้องอยู่ฝั่งทางโน้น บ้านพี่อยู่ฝั่งทางนี้ หัวสะพานตรงกัน อาบน้ำกันเห็นกันทุกที อึ้ม! มามาซิ ข้ามคลอง มารักกัน รัก...กัน” เปิดประเด็นกับบทเพลงในตำนานอย่างเพลงรักข้ามคลอง บทเพลงที่สื่อให้เห็นถึงความรักความสนุกสนานของคนบ้านใกล้เรือนเคียงที่มีมาเนิ่นนาน แต่ด้วยวิถีและสังคมในปัจจุบันเปลี่ยนแปรไป ความเห็นอกเห็นใจกันก็อาจจะลดเลือน บ้านที่อยู่ข้างเคียงก่อนเคยรักก็แปรเปลี่ยนเป็นขัดแย้งกัน ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ จนกลายไปเป็นเรื่องใหญ่โต บางคนถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาลเลยทีเดียว เพราะบางครั้งเราอาจไม่รู้ว่าสิ่งไหนควรทำ แล้วสิ่งไหนที่ไม่ควรทำ my story ฉบับนี้ จึงอยากชวนทุกคนกลับมาสร้างความสุข ด้วยการรับมือกับ 10 ปัญหากวนใจที่ทำให้คนบ้านใกล้สั่นคลอน รวมไปถึงข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่จะช่วยให้เราเข้าใจกันมากขึ้น และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขตลอดไป
ความรู้และความเข้าใจในขอบเขตและกรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นเรื่องสำคัญ เพราะบางคนชอบสร้างสิ่งปลูกสร้างยื่นเข้าไปในที่ดินของคนอื่น หรือขุดและฝังฐานรากยื่นล้ำเข้าไปใต้ดินบริเวณบ้านของบ้านข้าง ๆ โดยเข้าใจว่าตัวเองนั้นสามารถทำได้ เพราะไม่ได้ละเมิดผิวดินแต่อย่างใด แต่ในทางกฎหมายนั้นจะถือว่า “แดนแห่งกรรมสิทธิ์” ในที่ดินนั้นครอบคลุมทั้งเหนือพื้นดินและใต้พื้นดินด้วย ดังนั้นการที่เรารุกล้ำไปยังที่ดินของเพื่อนบ้านนั้นถือเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่นทางกฎหมายอย่างเต็ม ๆ ซึ่งจะส่งผลให้เจ้าของที่ดินนั้นสามารถฟ้องร้องและเรียกค่าเสียหายได้
ในกรณีที่เราต้องการจะต่อเติม ควรศึกษากฎหมายให้แน่ชัดก่อน ว่าควรเว้นระยะถอยร่นจากเขตแดนกรรมสิทธิ์ของเราเท่าไร หากมีความจำเป็นหรือต้องการที่จะต่อเติมชิดกับเขตแดน จะต้องมีการพูดคุยกับบ้านข้างเคียงก่อน เพราะถ้าบ้านข้างเคียงไม่ยินยอมแล้วเกิดความเดือดร้อนขึ้นมา เพื่อนบ้านมีสิทธิ์ที่จะฟ้องร้อง ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย
ปัญหาอีกเรื่องหนึ่งที่เจอกันอยู่บ่อย ๆ คือ ปัญหากรรมสิทธิ์ในรั้วกำแพง รั้วต้นไม้ หรือคูน้ำ ซึ่งเป็นปัญหาที่คลุมเครือไม่ชัดเจนว่าใครกันแน่ที่เป็นเจ้าของ และแต่ละฝ่ายมีสิทธิ์มากน้อยเพียงใด ซึ่งในทางกฎหมายแล้วถือว่าทั้งสองฝ่ายเป็นเจ้าของรั้วที่กั้นระหว่างบ้านร่วมกัน เราและเพื่อนบ้านจะต้องรับผิดชอบร่วมกันในการซ่อมแซมรั้ว ไม่สามารถรื้อถอนรั้วออกหรือดัดแปลงรั้วโดยพลการ
ตามหลักกฎหมายของแต่ละท้องถิ่นจะระบุความสูงของรั้วบ้านที่ต่างกันออกไป บางท้องถิ่นถึงกับเข้มงวดเรื่องแบบและวัสดุที่ใช้เลยทีเดียว แต่ส่วนใหญ่จะระบุความสูงไว้ที่รั้วหลังบ้านจะต้องสูงไม่เกิน 1.80 เมตร รั้วหน้าบ้านจะต้องสูงไม่เกิน 1.20 เมตร และรั้วต้นไม้สามารถสูงได้ถึง 2.40 เมตร ส่วนในกรณีที่เราต้องการความเป็นส่วนตัว รั้วที่มีอยู่มันเตี้ยเกินไป ต้องการสร้างหรือต่อเติมให้สูงขึ้นอีก ถึงแม้ว่าเพื่อนบ้านข้างเคียงไม่ยินยอมให้เราเพิ่มรั้วที่ทำไว้เดิมให้สูงขึ้น แต่เราก็สามารถสร้างรั้วใหม่ในที่ดินของเราให้สูงขึ้นตามที่ต้องการได้ เนื่องจากเราได้สร้างรั้วในแนวเขตที่ดินของเราเองและการกระทำนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดความเดือดร้อนของเจ้าของที่ดินข้างเคียง แต่มีเงื่อนไขว่าห้ามสร้างรั้วสูงเกิน 3 เมตร
ย่างเข้าเดือนหก ฝนก็ตกพรำ ๆ...เข้าฤดูฝนทีไร ไม่วายที่จะมีปัญหากับเพื่อนบ้านทุกที เพราะน้ำฝนที่พากันไหลจากหลังคาของเพื่อนบ้านดันตกลงมาในบริเวณพื้นที่บ้านเรา หรือบางครั้งก็น้ำฝนจากหลังคาบ้านเรานี่แหละที่ไหลเข้าไปตกลงในพื้นที่ของคนอื่น จนเกิดปัญหาตามมาหลายอย่าง เช่น ดินเกิดการกัดเซาะ มีน้ำท่วมขังจนระบายไม่ทัน หรือแม้แต่น้ำที่กระเซ็นไปโดนสิ่งของข้างบ้านจนเกิดความเสียหาย
ดังนั้นเราจึงต้องระมัดระวังในเรื่องของหลังคาเป็นพิเศษ ถึงแม้เราจะไม่ได้สร้างหลังคาบ้านรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของเพื่อนบ้านก็ตาม แต่เวลาฝนตกน้ำฝนจากหลังคาอาจตกลงในเขตบ้านข้างเคียงจนอาจเกิดความเสียหายได้ ทางกฎหมายเพื่อนบ้านจะมีสิทธิ์ฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทน และฟ้องร้องให้มีการรื้อถอนได้ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดจึงควรป้องกันไว้แต่เนิ่น ๆ เช่น การทำรางน้ำฝนระบายน้ำบนหลังคา ซึ่งปัจจุบันมีวัสดุที่ใช้ในการทำรางน้ำฝนมาให้เลือกมากมาย เช่น เหล็กอบสี อะลูมิเนียมอบสี และไวนิล ที่สามารถทนแดดทนฝนได้ดี ซึ่งมีการออกแบบให้ง่ายต่อการนำมาประกอบเป็นรูปรางน้ำ ทั้งตัวราง ข้องอ ตัวจบ และท่อต่าง ๆ
4. วิวทิวทัศน์...ธรรมชาติที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ
คนส่วนใหญ่มองหาทำเลสวย ๆ บรรยากาศดี ๆ เพื่อปลูกบ้านไว้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ แต่หลาย ๆ คนก็ต้องเกิดอาการหนักอกหนักใจ เมื่อเพื่อนบ้านต่อเติมบ้านหรือปลูกต้นไม้บดบังวิวของเรา ซึ่งตามกฎหมายคนเราไม่มีสิทธิ์ในแสงแดด อากาศ และวิว ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งธรรมชาติที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เว้นแต่ว่าหากเพื่อนบ้านมีเจตนาทำสิ่งก่อสร้างขึ้นเพื่อแกล้งบังวิวของเราหรือล่วงล้ำไปยังพื้นที่สาธารณะ เพราะในบางพื้นที่จะมีวิวของธรรมชาติ เช่น ทะเลแม่น้ำ ป่าเขา หรือพื้นที่ที่ทางกฎหมายท้องถิ่นระบุว่าห้ามปลูกต้นไม้สูงหรือสร้างสิ่งก่อสร้างที่จะทำให้บังวิวของเพื่อนบ้านและคนส่วนใหญ่ได้ เจ้าของบ้านที่ถูกบังวิวสามารถยื่นฟ้องร้องเพื่อรักษาสิทธิ์ชมวิวของตนเองได้
ดังนั้นหากมีความจำเป็นในการต่อเติมหรือสร้างสิ่งก่อสร้างใด ควรจะพูดคุยเจรจากับเพื่อนบ้านก่อน และควรศึกษากฎระเบียบของพื้นที่นั้น ๆ ให้ดีก่อน ถึงแม้เราจะมีสิทธิ์และไม่มีความผิดทางกฎหมายก็ตาม แต่อาจทำให้เพื่อนบ้านใกล้เคียงเกิดความไม่สบายอกสบายใจจนอาจเกิดปัญหาใหญ่ ๆ ตามมาเพิ่มพูน เพราะจริง ๆ แล้วทุกคนก็ล้วนอยากมีบ้านที่น่าอยู่ มีวิวทิวทัศน์ที่สวยงามทั้งนั้น ก่อนจะทำอะไรเราคงต้องเอาใจเขามาใส่ใจเราสักนิด เพียงเท่านี้เราก็ใช้ชีวิตในสังคมอย่างมีความสุขแล้ว
5. ขุดบ่อ ขุดสระทำหลุมรับสิ่งโสโครก
นอกจากการต่อเติมหรือสร้างขึ้นมาใหม่แล้ว การทำลายหรือการปรับปรุงพื้นที่ต่าง ๆ อาจเกิดปัญหากับคนบ้านชิดติดกันได้ด้วย ดังนั้นเราควรจะคำนึงถึงกฎระเบียบก่อนลงมือ เช่น การขุดดิน ขุดบ่อหรือสร้างสระน้ำ กฎหมายระบุไว้เพื่อเป็นข้อตกลงซึ่งกันและกันว่า ต้องขุดห่างจากเขตแบ่งแดนของอีกฝ่ายหนึ่งไม่น้อยกว่า 2 เมตร และเมื่อขุดแล้วต้องระมัดระวังไม่ให้ดินพังอีกด้วย
กรณีของการขุดหลุมส้วมและบ่อทิ้งน้ำเสีย หากไม่ทำตามกฎหมาย น้ำชำระส้วมและน้ำในหลุมทิ้งน้ำเสียอาจซึมลงใต้ดินไม่หมด เอ่อล้น ซึมเข้าไปในที่ดินของบ้านข้างเคียงได้ ที่สำคัญอาจเกิดการขังนองและส่งกลิ่นเหม็นสร้างความรำคาญจนเกิดเป็นปัญหาตามมา ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นความผิดทางกฎหมายที่บ้านข้างเคียงสามารถเอาผิดกับเราได้ ดังนั้นการขุดบ่อ ขุดสระ หรือหลุมส้วม จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรจะทำตามกฎหมายเพราะนอกจากจะทำให้เกิดปัญหาวุ่นวายแล้ว ยังทำให้เราต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงใหม่อีกด้วย
6. ปลูกต้นรักที่ริมรั้ว
ในอดีตต้นไม้ในบ้านมีประโยชน์มากมาย นอกจากจะสวยงามแล้ว ยังสามารถเก็บเกี่ยวดอกผลไว้กินไว้ใช้ ใครจะคิดว่าปัจจุบันนี้เกิดปัญหาจากการปลูกต้นไม้ จนกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ก่อให้เกิดความไม่สบายใจ เช่น ปัญหากิ่งไม้รุกล้ำ แตกกิ่งก้านยื่นเข้ามาในเขตบ้าน หรือโอนเอนจนกลัวว่าจะล้มมาทับบ้านของเรา ตามหลักเราสามารถตัดกิ่งที่ล้ำเขตแดนเข้ามาในบ้านของเราได้ แต่เราไม่สามารถทำลายหรือตัดต้นไม้ของเพื่อนบ้านทิ้งทั้งหมด ทางที่ดีควรแจ้งเจ้าหน้าที่ประจำท้องถิ่นเข้ามาตรวจตราดูว่าต้นไม้จะเป็นอันตรายต่อคนหรือทรัพย์สินหรือไม่ หากเห็นว่าต้นไม้นั้นอาจก่ออันตรายให้กับบ้านเรา เจ้าหน้าที่สามารถสั่งให้เจ้าของบ้านตัดหรือขุดถอนต้นไม้นั้นทิ้งได้
นอกจากนั้นหลายคนยังสงสัยว่าดอกผลจากต้นไม้ของเพื่อนบ้านที่ยื่นมาอยู่ในบริเวณที่ดินของเรานั้น สามารถเก็บกินได้หรือไม่ ตามกฎหมายถึงแม้ดอกผลเหล่านั้นได้ยื่นเข้ามาอยู่ในเขตบ้านของเราก็ตาม แต่เราไม่สามารถเด็ดไปกินไปใช้ได้ในทันที ถ้าหากถือวิสาสะไปเด็ดดอกผลจากกิ่งของต้นไม้ที่ยื่นมาเพื่อนบ้านมีสิทธิ์ทวงคืนจากเราได้ เว้นเสียแต่ว่าดอกผลเหล่านั้นจะหล่นลงมาในที่ดินของเราเองตามธรรมชาติ จึงจะสามารถเก็บไปกินได้ เพราะกฎหมายให้ถือว่าผลไม้นั้นเป็นดอกผลของที่ดินของเรา แต่หากแอบอ้างไปเด็ดมาแล้วบอกว่ามันร่วงเองเราอาจมีความผิดทางอาญา ในฐานทำให้เสียทรัพย์หรือลักทรัพย์ ติดคุกติดตะรางได้ ทางที่ดีควรบอกกล่าวกับเจ้าของต้นไม้นั้นก่อนดีกว่า อยู่บ้านใกล้เรือนเคียงกัน ถ้าเราแบ่งปันซึ่งกันและกันได้ เราก็จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
7. สัตว์เลี้ยง...แสนรัก
ขึ้นชื่อว่าคนรักสัตว์ เป็นธรรมดาที่ต้องมีสัตว์เลี้ยงสุดโปรดไว้ที่บ้าน เช่น สุนัขและแมว เพื่อเติมความความสุขและเสียงหัวเราะของคนในบ้าน แต่ในบางครั้งสัตว์เลี้ยงที่น่ารักเหล่านี้อาจเข้าไปสร้างความเดือดร้อนรำคาญในเขตบ้านของคนอื่นได้ เช่น เข้าไปกัด เข้าไปทำลายสิ่งของในบ้าน ถ่ายอุจจาระ คุ้ยขยะทำให้สกปรก ซึ่งเพื่อนบ้านมีสิทธิ์เรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าของสัตว์นั้น แต่ในกรณีที่เพื่อนบ้านโกรธหรือไม่พอใจจะไม่สามารถทำร้ายสัตว์หรือฆ่าสัตว์เพื่อเป็นการแก้แค้นได้ เพราะอาจมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์และอาจถูกฟ้องร้องฐานละเมิดอีกด้วย
นอกจากความเสียหายต่าง ๆ แล้ว การที่สัตว์เลี้ยงของเราชอบเห่าหอนเสียงดัง ทำให้เพื่อนบ้านเกิดความรำคาญใจ เพื่อนบ้านก็มีสิทธิ์แจ้งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่ดูแลสัตว์ได้ หรืออาจจะร้ายแรงถึงขั้นขออำนาจศาลสั่งแก้ปัญหานี้ได้ทันที ดังนั้นการที่เรามีเจ้าสุนัข แมว และสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ ควรใส่ใจและให้ความสำคัญกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ดูแลเรื่องสุขอนามัย จัดการเรื่องพื้นที่ให้เป็นสัดส่วน เอาใจใส่เรื่องนิสัยของสัตว์เลี้ยงของเรา เพื่อไม่ให้ก่อความวุ่นวายและสร้างความรำคาญให้กับส่วนรวม
8. กลิ่น (ไม่) พึงประสงค์
นอกจากความเป็นอยู่แล้ว สุขภาพของคนในครอบครัวถือเป็นเรื่องสำคัญ กลิ่นเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้สุขภาพของคนในครอบครัวเราแย่ลงได้ ทั้งกลิ่นควัน ละออง เขม่า กลิ่นน้ำเน่า กลิ่นขยะ ที่สำคัญกลิ่นเหล่านี้อาจโชยฟุ้งไปยังข้างบ้านเราได้ นอกจากสุขภาพที่แย่ลงแล้ว ปัญหาความขัดแย้งก็อาจจะตามมาอีกด้วย โดยเฉพาะห้องครัวที่หลายคนอาจคิดว่ากลิ่นควันจากการทำอาหารไม่ได้ส่งผลอะไรมากนัก
โดยทางกฎหมายระบุไว้ว่า กลิ่นจากการประกอบอาหาร ถึงแม้จะอยู่ในบ้านของเรา และเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายตามปกติของเราก็ตาม แต่เมื่อการกระทำนี้ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อคนอื่นถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมาย ทำให้เสียสุขภาพอนามัย ซึ่งเพื่อนบ้านสามารถฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนได้อีกด้วย ดังนั้นเราควรจะใส่ใจและดูแลเพื่อไม่ให้เกิดกลิ่นควันต่าง ๆ ไปยังข้างบ้าน โดยการติดตั้งเครื่องดูดอากาศ เครื่องกรองอากาศ หรือหันหน้ามาคุยกัน เพราะใคร ๆ ก็อยากมีบ้านที่มีอากาศดี ๆ ด้วยกันทั้งนั้น
9. จอดรถ
อีกปัญหาหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้นั่นคือเรื่องของการจอดรถ เพราะพื้นที่ของบ้านส่วนใหญ่มีอยู่อย่างจำกัด เช่น ทาวน์เฮ้าส์หรืออาคารพาณิชย์ จึงทำให้มีพื้นที่เหลือน้อยและไม่เพียงพอสำหรับการจอดรถ คนส่วนใหญ่จึงหันมาจอดไว้บริเวณหน้าบ้าน ซึ่งบางท้องถิ่นอาจมีกฎระเบียบออกมาห้ามไม่ให้นำรถมาจอดบริเวณสาธารณะเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่บางท้องถิ่นก็อนุญาตให้นำรถมาจอดบริเวณหน้าบ้านของตนได้ กรณีที่เป็นปัญหาถกเถียงกันมากที่สุดคือการจอดรถขวางทางเข้าออกของคนอื่น ทำให้เขาไม่สามารถนำรถเข้าหรือออกจากบ้านได้ ทางกฎหมายถือว่ากระทำความผิดฐานก่อความเดือดร้อนรำคาญใจ ซึ่งเจ้าของบ้านมีสิทธิ์เรียกร้อง ดังนั้นหากเรามีความจำเป็นที่ต้องจอดหรือมีเพื่อนมาเยี่ยม แล้วที่จอดรถไม่เพียงพอควรขออนุญาตเพื่อนบ้านก่อน
สิ่งสำคัญของการอยู่ร่วมกันนั้น คือการเคารพสิทธิและไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น มีการอะลุ่มอล่วยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อะไรนิดอะไรหน่อยก็อย่าไปถือสาเอาความกัน ส่งผลให้เกิดความสงบสุขร่มเย็นในการอยู่อาศัย ในกรณีที่เกิดความเดือดร้อนเสียหาย ความกระทบกระเทือนใจ หรือเกิดการละเมิดสิทธิของบ้านใกล้เรือนเคียงขึ้น ควรเน้นการพูดคุยเจรจาแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ในลักษณะของการร่วมมือร่วมใจ ภายใต้เงื่อนไขที่ต่างฝ่ายต่างเข้าใจในกฎกติกาที่กฎหมายกำหนด จะได้ไม่ต้องมีเรื่องมีราวกันในภายหลัง ถึงแม้กฎหมายจะมีไว้เพื่อคุ้มครองสิทธิ์ของเราอย่างเข้มงวด แต่หากเราอยู่ร่วมกันโดยให้เกียรติซึ่งกันและกัน การฟ้องร้องกันคงเป็นทางเลือกสุดท้ายที่เราควรใช้เท่านั้นเอง
10. เสียงที่ไม่อยากได้ยิน
ปัญหาเรื่องการส่งเสียงดังรบกวนข้างบ้าน เป็นปัญหาอันดับต้น ๆ ของการอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะมาจากความตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม แต่ปัญหาเหล่านี้ก็แก้ไม่หมดสักที เช่น เปิดวิทยุเสียงดัง จัดงานเลี้ยง ดื่มสุรา เมาแล้วโวยวาย เอ็ดตะโรเป็นประจำ หรือทะเลาะกันจนเป็นเหตุให้ข้าวของของเพื่อนบ้านเสียหายตามไปด้วย ตามกฎหมายแล้วถือเป็นความผิด โทษฐานทำให้เกิดเสียงหรือการทำความอื้ออึงโดยไม่มีเหตุผล จนทำให้เพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้ ๆ ตกใจและเดือดร้อน ซึ่งเรามีสิทธิ์ฟ้องร้องได้
ในกรณีที่เราจำเป็นต้องใช้เสียงจริง ๆ ก็ควรเจรจาขออนุญาตกับเพื่อนบ้านก่อน เพื่อไม่ละเมิดสิทธิของคนอื่น โดยกฎหมายจะระบุเวลาเงียบสงบ เพื่อไม่เป็นการรบกวนเพื่อนบ้าน ในช่วงระหว่างเวลา 22.00 น. จนถึง 07.00 น. สำหรับวันธรรมดา และกรณีวันหยุดตั้งแต่เวลา 22.00 น. จนถึง 09.00 น. ดังนั้นเราไม่ควรจะส่งเสียงในช่วงเวลานั้นเพื่อไม่ละเมิดสิทธิของคนอื่น
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก