x close

เจ้าบ้าน คืออะไร จำเป็นต้องมีในทะเบียนบ้านไหม

          เจ้าบ้านในทะเบียนบ้าน คืออะไร จำเป็นต้องมีไหม ไขข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่อง เจ้าบ้าน ทั้งหน้าที่และวิธีขอเป็นเจ้าบ้าน
เจ้าบ้านในทะเบียนบ้าน

ภาพจาก : i am Em / shutterstock.com

          หลายคนอาจจะสงสัยเรื่อง เจ้าบ้านในทะเบียนบ้าน ว่า เจ้าบ้านคือใคร มีหน้าที่อะไร ถ้าไม่มีได้ไหม และเจ้าบ้านกับเจ้าของบ้านเหมือนกันหรือเปล่า ตามไปหาคำตอบพร้อม ๆ กัน จะได้หายสงสัยกันเลย 

เจ้าบ้าน คืออะไร

เจ้าบ้านในทะเบียนบ้าน คือ

          เจ้าบ้าน คือ หัวหน้าครอบครองบ้าน จะอยู่ในฐานะเจ้าของบ้าน ผู้เช่าบ้าน หรือฐานะอื่น ๆ ก็ได้ เช่น การครอบครองในฐานะผู้บังคับบัญชาหน่วยงานราชการ เป็นต้น มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายทะเบียนราษฎรเท่านั้น ไม่ได้ทำให้เกิดสิทธิในการครอบครองบ้านตามกฎหมายอื่น 

          เจ้าบ้าน แตกต่างกับเจ้าของบ้าน เพราะเจ้าของบ้านถือเป็นเจ้าของทรัพย์สิน และมีกรรมสิทธิ์ในตัวบ้าน ที่ดิน หรืออาจเฉพาะตัวบ้าน เจ้าของบ้านสามารถทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้านเองได้ หรือจะมอบหมายให้คนอื่นทำหน้าที่ในฐานะเจ้าบ้านแทนก็ได้ โดยไม่เสียสิทธิในการครอบครองบ้าน

เป็นเจ้าบ้านได้กี่หลัง

เป็นเจ้าบ้าน ได้กี่หลัง

          เป็นเจ้าของบ้าน ที่ดิน หรือคอนโด กี่แห่งก็ได้ แต่เป็นเจ้าบ้านได้เพียงที่เดียว แต่ถ้าหากเป็นเจ้าของมากกว่า 1 แห่ง ส่วนที่เหลือเจ้าของบ้านจะต้องแต่งตั้งผู้อื่น เช่น พ่อแม่ พี่น้อง หรือญาติ ขึ้นมาเป็นเจ้าบ้านและทำหน้าที่ต่าง ๆ แทน 

          หากไม่มีผู้อื่นมาทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้าน สามารถปล่อยให้ทะเบียนบ้านว่างไว้ได้ แต่หากต้องการขายบ้านหรือคอนโด ต้องถือครองตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป จึงจะไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ในทางกลับกันหากมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน สามารถขายบ้านหรือคอนโดได้หลังจาก 1 ปี โดยไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

          ในกรณีที่เจ้าบ้านย้ายออกจากทะเบียนบ้านไปแล้ว เจ้าบ้านเสียชีวิต เจ้าบ้านสูญหาย สาบสูญ ให้ติดต่อไปยังสำนักทะเบียน เพื่อทำการแต่งตั้งเจ้าบ้านใหม่จากผู้อาศัยคนใดคนหนึ่งที่มีชื่อในทะเบียนบ้าน เพื่อมาดำเนินการทางทะเบียนราษฎรแทน

เจ้าบ้านในทะเบียนบ้าน มีหน้าที่อะไรบ้าง

เจ้าบ้าน หน้าที่

          เจ้าบ้านมีหน้าที่ในการแจ้งเกี่ยวกับงานทะเบียนราษฎร เช่น การแจ้งการเกิด การแจ้งการตาย การแจ้งการย้ายที่อยู่ หรือการแจ้งเรื่องอื่น ๆ เกี่ยวกับบ้าน ได้แก่ การปลูกสร้างบ้านใหม่ หรือรื้อถอนบ้าน เป็นต้น
          หากเจ้าบ้านไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ สามารถมอบหมายให้ผู้อื่นไปดำเนินการแทนได้ โดยนายทะเบียนจะบันทึกถ้อยคำให้ได้ข้อเท็จจริงว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้มีหน้าที่ดูแลบ้านแทนเจ้าบ้านในขณะนั้น พร้อมเตรียมเอกสารดังนี้

กรณีที่ 1 : เป็นผู้ที่มีชื่อในทะเบียนบ้าน แต่ไม่ได้เป็นเจ้าบ้าน 

  • สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านของผู้แจ้ง
  • บัตรประชาชนของผู้แจ้งที่จะทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้านแทน

กรณีที่ 2 : ผู้ที่ไม่มีชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน

  • บัตรประชาชนของผู้แจ้ง 
  • สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านของบ้านที่ได้รับมอบหมาย
  • หนังสือมอบหมายจากเจ้าบ้าน พร้อมสำเนาถ่ายบัตรประจำตัวของเจ้าบ้าน ซึ่งเจ้าบ้านลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง

วิธีแจ้งเป็นเจ้าบ้าน

เจ้าบ้าน หน้าที่

เอกสารแจ้งเป็นเจ้าบ้าน

  • บัตรประจำตัวประชาชน  
  • ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน ท.ร.14 
  • หนังสือยินยอมของบุคคลที่มีชื่อในทะเบียนบ้าน กรณีให้บุคคลเป็นเจ้าบ้าน

ขั้นตอนการขอเป็นเจ้าบ้าน

          นำเอกสารข้างต้นไปติดต่อด้วยตัวเองที่สำนักทะเบียนท้องถิ่น เมื่อเจ้าหน้าที่รับเรื่องคำขอแล้วก็จะทำการตรวจสอบและพิจารณาเอกสาร จากนั้นก็จะแจ้งผลการพิจารณา ทั้งนี้ ไม่มีค่าธรรมเนียม และใช้เวลาประมาณ 20 นาที

          คราวนี้ก็หายสงสัยกันไปแล้วว่าเจ้าบ้านแตกต่างกับเจ้าของบ้าน โดยเจ้าบ้านมีหน้าที่แจ้งดำเนินงานเกี่ยวกับทะเบียนราษฎร ทั้งนี้ หากไม่สามารถทำหน้าที่ได้ก็มอบหมายให้คนอื่นไปทำแทนได้นั่นเอง

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ เจ้าบ้านในทะเบียนบ้าน :

ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมการปกครอง fanpage, bora.dopa.go.th, bangkok.go.th, dopa.go.th และ multi.dopa.go.th
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เจ้าบ้าน คืออะไร จำเป็นต้องมีในทะเบียนบ้านไหม อัปเดตล่าสุด 17 พฤษภาคม 2567 เวลา 22:40:50 6,091 อ่าน
TOP