รักษ์โลกง่าย ๆ เริ่มได้ที่บ้าน


Home

เรื่องโดย สงฟาง จากนิตยสาร Home&Style ธนาคารกรุงเทพ

          หากว่าบ้านคือวิมานของเรา ถ้าอย่างนั้นโลกใบนี้จะเป็นวิมานของใคร ? เราทุกคนต่างก็ต้องพึ่งพิงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คงจะดีไม่น้อยหากวิมานของเรานั้น นอกจากจะอยู่สบายแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการดูแลรักษาโลกให้เป็นวิมานที่น่าอยู่สำหรับทุก ๆ ชีวิตที่อาศัยอยู่บนโลกนี้ด้วย เราจึงมีเรื่องราวดี ๆ จากนิตยสาร Home&Lifestyle จากธนาคารกรุงเทพ มาฝากคุณ เพื่อการมีส่วนร่วมในการรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ให้เสื่อมโทรมไปกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งจุดเริ่มต้นนั้นอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล แต่เป็นบ้านของคุณนั่นเอง

ลดพลังงาน ลดมลพิษ


          หัวใจของการอยู่อาศัยอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้นอยู่ที่ความพอดี ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคพลังงาน การไม่ก่อมลพิษที่จะทำร้ายทำลายตนเองและสิ่งแวดล้อม รวมถึงความพอดีในการลงทุนเพื่อทำให้บ้านของคุณ "เขียว" ขึ้น ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ บิลค่าน้ำ ค่าไฟ ที่เรียกเก็บอยู่ทุกเดือน สารเคมีที่คุณใช้ หรือปริมาณขยะในถังที่คุณต้องเททิ้งอยู่ทุกวันนั่นเอง ความจริงที่เราต้องยอมรับก็คือ ไม่มีอะไรได้มาฟรี ๆ การที่บ้านจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้นั้นย่อมจะต้องอาศัยการลงทุนลงแรงเช่นกัน

เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ราคาแพงจริงหรือ ?

          เมื่อพูดถึงการลงทุน หลายคนเชื่อว่าราคาที่ต้องจ่ายเพื่อสิ่งแวดล้อมมักต้องสูงกว่าปกติ แต่อาจไม่จริงเสมอไป เพราะแนวคิดพื้นฐานในการปรับปรุงบ้านให้เป็นมิตรต่อผู้อยู่และไม่ทำร้ายสภาพแวดล้อมนั้น น่าจะหมายถึงการหาจุดสมดุลระหว่างความสามารถในการลดการบริโภคพลังงาน ลดมลพิษ ไม่ขัดกับวิถีชีวิต และเป็นมิตรต่อกระเป๋าสตางค์ด้วย ลองชั่งน้ำหนักดูง่าย ๆ ว่าคุณจะเลิกใช้เครื่องซักผ้าเพื่อประหยัดน้ำ ประหยัดไฟ แล้วกลับไปซักผ้าด้วยมือ หรือจะรอจนกว่าผ้าจะมากพอ แล้วจึงค่อยใส่เครื่องซัก จึงจะดีกว่ากัน

          เรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่คุณสามารถบริหารจัดการได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณได้คิด หรือวางแผนตั้งแต่ต้น คิดทุกอย่างไปพร้อม ๆ กัน ตั้งแต่การออกแบบ การกำหนดทิศทางของบ้าน การคัดสรรวัสดุ และการเลือกซื้อของมาใช้สอยในบ้าน โดยทั่วไปการทำให้บ้านเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นมี 2 วิธี ได้แก่

1. อาศัยปัจจัยธรรมชาติ

          เป็นการพิจารณาปัจจัยทางกายภาพ เช่น แสงแดดและทางลม เพื่อกำหนดทิศทางการวางตำแหน่งของบ้านให้สามารถใช้ประโยชน์จากแสงธรรมชาติและลมได้มากที่สุด ซึ่งจะส่งผลไปถึงการกำหนดฟังก์ชันในการใช้งานของพื้นที่ในบ้านให้เหมาะสม สอดคล้องกับสภาวะธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดวัน

Home

2. อาศัยเทคโนโลยี

          เช่น การนำเครื่องมือ เครื่องจักรต่าง ๆ เข้ามาช่วย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟน้อย เปลี่ยนไปใช้หลอดผอมแบบใหม่ (T5) หรือใช้สุขภัณฑ์แบบประหยัดน้ำ ฯลฯ จริงอยู่ที่ว่าวิธีการที่จะทำให้บ้านของคุณเขียวขึ้นอาจทำได้ครบวงจรและประหยัดกว่า หากได้วางแผนทำตั้งแต่แรกเริ่ม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องจ่ายแพงเสมอไป หากต้องการจะปรับเปลี่ยนให้บ้านเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างที่ต้องการ ลองค่อย ๆ ปรับในสิ่งที่ทำได้ ผ่านทางความคิด การวางแผน และเลือกสรรสิ่งต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้งานในบ้าน โดยเพิ่มเงื่อนไขในเรื่องของความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเข้าไปอีกข้อหนึ่ง นอกเหนือจากคุณสมบัติด้านอื่นที่ต้องพิจารณาอยู่แล้ว

          หากคุณสามารถทำได้ทั้ง 2 วิธีข้างต้น ซึ่งส่งเสริมซึ่งกันและกัน ก็จะยิ่งกลายเป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างเช่น จากเดิมห้องนั่งเล่นที่ทุกคนทำกิจกรรมร่วมกันยามบ่าย จะต้องปิดม่าน เปิดไฟ เปิดเครื่องปรับอากาศ เนื่องจากถูกแสงแดดส่องโดยตรง เมื่อเปลี่ยนฟังก์ชันของห้อง ย้ายห้องนั่งเล่นไปยังฝั่งที่ร่มกว่า เปิดโอกาสให้คุณใช้แสงธรรมชาติได้ จะเปิดหน้าต่างก็ได้ หรือหากจะใช้เครื่องปรับอากาศ (รุ่นประหยัดไฟ) ก็ยังประหยัดกว่า เนื่องจากพื้นที่ส่วนนั้นไม่ได้โดนแสงแดดโดยตรง จึงมีความร้อนสะสมน้อยกว่า เครื่องปรับอากาศก็ไม่ต้องทำงานหนักมาก

Home

เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่ วัดจากอะไร ?

          คุณอาจสงสัยว่าอาคารบ้านเรือนที่อ้างว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นจะวัดได้อย่างไร มีมาตรฐานใดบ้าง อันที่จริงมาตรฐานการวัดระดับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นถูกพัฒนาขึ้นในต่างประเทศก่อน ต่อมากรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้นำมาปรับปรุง โดยมอบหมายให้ทีมวิจัยจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และสถาบันวิจัยพลังงานต่าง ๆ ศึกษาและวิจัยจากระบบที่คล้ายกัน ระบบการออกแบบที่คำนึงถึงเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก (LEED System) ของสหรัฐอเมริกา มาใช้เป็นเกณฑ์ประเมิน ซึ่งมีหลักพิจารณาคร่าว ๆ อยู่ 7 ประการด้วยกัน ดังนี้

          - พื้นที่ตั้ง ตั้งอยู่ที่ใด มีระบบสาธารณูปโภคแล้วหรือยัง การเข้าถึงยากหรือง่ายเพียงใด

          - ระบบน้ำ มีระบบบริหารจัดการน้ำใช้ในครัวเรือนอย่างไร รวมไปถึงการบำบัดน้ำเสียด้วย

          - ระบบพลังงาน มีการใช้พลังงานที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพ

          - วัสดุ ใช้วัสดุแบบไหนในการก่อสร้างและตกแต่ง เช่น วัสดุรีไซเคิล หาได้ง่ายในท้องถิ่นหรือไม่ หรือต้องขนส่งมาจากที่ไกล ๆ เป็นต้น

          - คุณภาพสิ่งแวดล้อมภายในอาคาร ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการระบายอากาศ การควบคุมมลพิษ อุณหภูมิ และแสงที่ส่องเข้ามาได้

          - อายุการใช้งาน ตั้งแต่เริ่มต้นก่อสร้างจนหมดอายุการใช้งาน

          - ผู้อยู่อาศัย ไม่เพียงแต่บ้านเท่านั้น ผู้อยู่อาศัยและชุมชนโดยรอบก็อยู่ในข่ายที่ต้องนำมาพิจารณาด้วยเช่นกัน ว่ามีความตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อมแค่ไหน

Home

คุณจะทำอะไรได้บ้าง ?

          นอกจากการปรับเปลี่ยนที่อยู่อาศัยแล้ว คุณยังช่วยโลกได้ด้วยวิธีง่าย ๆ ที่คุณทำเองได้ทันที เช่น

          - ตั้งเวลาอุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้ารุ่นใหม่ ๆ อาทิ โทรทัศน์ วิทยุ เครื่องปรับอากาศ ล้วนมีโปรแกรมตั้งเวลาเปิด-ปิดได้ ถ้าคุณชอบดูโทรทัศน์ก่อนนอน อย่าลืมตั้งเวลาปิดไว้ก่อน เผื่อคุณเผลอหลับไป หรือตั้งเวลาปิดเครื่องปรับอากาศก่อนตื่นนอนสัก 15-20 นาที เพื่อลดระยะเวลาการทำงานของเครื่อง
    
          - หมั่นเคลียร์ตู้เย็น ตู้เย็นที่จุของมากเกินไปย่อมส่งผลต่อการหมุนเวียนอากาศภายในตู้ และอาจทำให้คอมเพรสเซอร์ทำงานหนักเกินไป

          - เลือกซื้อคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กแทนคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ หรือหากซื้อแบบตั้งโต๊ะควรเลือกใช้จอ LCD

          - ดึงปลั๊กออกทุกครั้งเมื่อปิดสวิตช์เครื่องใช้ไฟฟ้า

          - อย่าเปิดคอมพิวเตอร์ทิ้งไว้ถ้าไม่ใช้งาน หรือปิดหน้าจอทันที จะช่วยประหยัดไฟได้ร้อยละ 60

          - อย่าพรมน้ำจนแฉะเวลารีดผ้า เพราะต้องใช้ความร้อนในการรีดมากขึ้น เสียพลังงานมากขึ้น

          - หลีกเลี่ยงการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีการปล่อยความร้อน เช่น กาต้มน้ำ หม้อหุงต้ม ไว้ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ

          - ล้างพืชผัก-ผลไม้ในอ่าง หรือภาชนะที่มีการกักเก็บน้ำไว้เพียงพอ ลดการใช้น้ำลงได้ถึงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับการเปิดน้ำให้ไหลจากก๊อกโดยตรง

          - อย่าทิ้งน้ำดื่มที่เหลือในแก้วไปเฉย ๆ

          - ปลูกต้นไม้เพิ่ม อาทิ เศรษฐีเรือนนอก ต้นราชพฤกษ์ (ต้นคูน) ซึ่งดูดซับมลพิษได้มาก

          พฤติกรรมบริโภคเกินความจำเป็นของเรา หากพิจารณาไปคงไม่ต่างจากการทุบหม้อข้าวตัวเองนัก เพราะทรัพยากรถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง ขณะที่ความเคลื่อนไหวเพื่อการสงวนไว้และทดแทนมีขอบเขตจำกัด เริ่มทำในสิ่งที่คุณทำได้ตั้งแต่วันนี้ และทำงานอย่างจริงจัง ให้สำนักเพื่อสิ่งแวดล้อมกลายเป็นวิถีชีวิตของคุณ ไม่ใช่เพื่อใครที่ไหน เพื่อคุณและคนที่คุณรักนั่นเอง

ขอบคุณข้อมูลจาก






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รักษ์โลกง่าย ๆ เริ่มได้ที่บ้าน อัปเดตล่าสุด 4 ธันวาคม 2564 เวลา 00:12:48 26,165 อ่าน
TOP
x close