วิธีรับมือกับพายุฝน การเตรียมตัวและป้องกันบ้านให้ปลอดภัยเมื่อพายุมา

          วิธีรับมือพายุฝน มาเตรียมตัวและป้องกันการเกิดความเสียหายจากพายุฝน มาดูวิธีเตรียมตัวและรับมือป้องกันความเสียหายจากพายุฝนกันค่ะ 

วิธีรับมือกับพายุฝน

          อย่านิ่งนอนใจไปว่าฝนจะไม่ตก เพราะอากาศเดี๋ยวนี้เอาแน่เอานอนไม่ได้ วันดีคืนดีฝนอาจกระหน่ำลงมาแบบกะทันหันเพราะมีพายุ ซึ่งแต่ละครั้งก็สร้างความเสียหายให้กับผู้ประสบภัยมากมายทีเดียว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากพายุ วันนี้กระปุกดอทคอมก็มีวิธีเตรียมตัวรับมือกับพายุมาฝาก ไว้เอาตัวรอดในระหว่างที่พายุมาฟ้าฝนกระหน่ำ 

วิธีเตรียมตัวก่อนเกิดพายุ


วิธีรับมือกับพายุฝน

          1. วางแผนล่วงหน้าให้รอบคอบ โดยติดตามฟังพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด หากวันไหนที่คาดว่าจะมีพายุฝนควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่เสี่ยงอันตราย
          2. หากต้องเดินทางออกนอกบ้านให้สังเกตสภาพฟ้าอากาศอย่างต่อเนื่อง เช่น ฝนตก ฟ้ามืด หรือลมแรงผิดปกติ เพราะเป็นสัญญาณที่แสดงว่าพายุฝนกำลังจะเคลื่อนเข้ามา หรือคำนวณจากเสียง หากเห็นแสงฟ้าผ่าและเสียงฟ้าร้องตามมาอีก 30 วินาทีให้หลัง ควรรีบหาที่หลบทันที
          3. ตรวจสอบจุดต่าง ๆ ของบ้านให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง เก็บสิ่งของบริเวณบ้านที่อาจถูกลมพัดปลิวให้มิดชิด เพื่อป้องกันข้าวของถูกลมพายุพัดเสียหายหรือได้รับอันตรายจากการโดนสิ่งของกระแทกปลิว 
          4. สำรวจสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ใกล้บริเวณบ้านให้อยู่ในสภาพปลอดภัย โดยตัดแต่งกิ่งไม้ที่อยู่ใกล้กับตัวบ้าน ใช้ไม้ค้ำยันสำหรับต้นไม้ใหญ่หรือต้นไม้ที่เพิ่งปลูกใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นไม้โค่นล้มหรือเกี่ยวสายไฟขณะลมพัดแรง 
          5. จัดเตรียมสิ่งของจำเป็นเอาไว้ในยามฉุกเฉินให้พร้อม เช่น น้ำดื่ม ยารักษาโรค ชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น อาหารแห้ง ถ่านไฟฉาย รวมถึงไฟฉายไว้ใช้ช่วงไฟฟ้าดับ หากมีเครื่องสำรองไฟ ควรศึกษาวิธีใช้เตรียมไว้ด้วย 
          6. เติมน้ำประปาสำรองใส่ถังน้ำหรืออ่างอาบน้ำสำหรับใช้ในห้องน้ำและทำอาหาร เผื่อเอาไว้ในกรณีที่น้ำไม่ไหล
          7. ชาร์จแบตฯ มือถือให้เต็มและเตรียมเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินเอาไว้ เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินหรือมีคนได้รับอันตรายจากฟ้าผ่า 
          8. สำหรับบ้านที่มีสัตว์เลี้ยง ควรขอแนะนำจากสัตวแพทย์ในการดูแลสัตว์เลี้ยงเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน 

วิธีป้องกันตัวขณะอยู่บ้านระหว่างเกิดพายุ 

 
พายุฝน

          1. นำสัตว์เลี้ยงเข้าบ้านทันที เพราะบ้านของสัตว์เลี้ยงไม่สามารถป้องกันฟ้าผ่าได้ พร้อมกับถอดปลอกคอของสัตว์เลี้ยงออก เพราะปลอกคอสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่เป็นสื่อล่อฟ้า  
          2. ปิดประตูกับหน้าต่างทุกบานให้สนิท และพยายามอยู่ห่างหน้าต่างรวมถึงบริเวณที่อาจจะมีวัตถุตกหล่นจากที่สูง 
          3. ไม่สวมใส่เครื่องประดับที่ทำจากโลหะ เช่น เงิน ทองคำ ทองแดง เมื่อเกิดฝนฟ้าคะนอง เพราะโลหะเป็นสื่อนำไฟฟ้า ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ 
          4. ปิดแก๊ส งดใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าและโทรศัพท์มือถือในระหว่างที่มีพายุฝน เพราะกระแสไฟอาจวิ่งเข้าสู่ร่างกาย นอกจากนี้ไม่ควรยืนพิงหรือสัมผัสผนังคอนกรีต เนื่องจากผนังคอนกรีตส่วนใหญ่มีโครงสร้างภายในที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า  
          5. หลังลมพายุสงบลงแล้วยังไม่ควรออกไปที่โล่งแจ้ง ควรอยู่ภายในบ้านหรืออาคารอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมง เพื่อลดความเสี่ยงจากเหตุฟ้าผ่าที่มากับพายุฝน พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงบริเวณที่สายไฟฟ้าขาด มีต้นไม้หรือเสาไฟฟ้าล้ม  

วิธีป้องกันตัวเมื่ออยู่ในที่โล่งแจ้ง 


          1. หากอยู่ในที่โล่งแจ้งควรหลบในอาคารทันที ไม่ควรรีรอหรือชะล่าใจรอให้เกิดฟ้าผ่าก่อนแล้วค่อยหาที่หลบ โดยหลีกเลี่ยงการหลบฝนใต้ต้นไม้ ใกล้เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ อาคารขนาดเล็ก เช่น ห้องน้ำสาธารณะ หรืออาคารที่มีแค่กันสาดกันฝน เนื่องจากโครงสร้างประเภทนี้ไม่สามารถป้องกันฟ้าผ่าได้ 

          2. หลีกเลี่ยงจากแหล่งน้ำ เช่น สระว่ายน้ำหรือบ่อน้ำ หากอยู่ในน้ำขณะมีพายุฝนให้รีบขึ้นจากน้ำทันที ไม่เช่นนั้นอาจได้รับอันตรายในขณะที่มีพายุฝน

          3. เมื่อต้องหลบฝนร่วมกับผู้อื่นควรรักษาระยะห่างแต่ละคนไว้ประมาณ 15.20-30.50 เมตร เพื่อป้องกันไม่ให้กระแสไฟวิ่งเข้าสู่ร่างกายคนรอบข้างเมื่อมีคนโดนผ่าฟ้า

          4. หากมีฟ้าผ่าลงมาบริเวณใกล้เคียง ให้นั่งกอดเข่า เท้าชิด ก้มหน้าซุกระหว่างเข่า มือปิดหูหรือจับเข่าไว้ แม้ท่านี้จะช่วยป้องกันอุบัติเหตุไม่ได้ 100% แต่ก็ช่วยลดความรุนแรงของอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นกับอวัยวะภายในเมื่อโดนฟ้าผ่าได้

วิธีปฏิบัติหลังพายุสงบ 


วิธีรับมือกับพายุฝน
 
          1. ตรวจสอบอาการบาดเจ็บของตัวเองและคนรอบข้าง หากมีผู้ได้รับอันตรายถึงชีวิตให้โทรศัพท์ขอความช่วยเหลือทันที
          2. หากตัวบ้านหรืออาคารที่ใช้หลบภัยได้รับความเสียหายให้อพยพออกจากสถานที่ดังกล่าว พร้อมกับแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาตรวจสอบ โดยในระหว่างนี้ไม่ควรกลับเข้าไปยังอาคารดังกล่าว จนกว่าทางการจะประกาศรับรองความปลอดภัย

วิธีช่วยเหลือผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บจากฟ้าผ่า


          1. หากมีผู้ได้รับบาดเจ็บให้เคลื่อนย้ายออกจากสถานที่เกิดเหตุก่อนฟ้าผ่าซ้ำลงมาที่เดิม โดยผู้ช่วยสามารถสัมผัสร่างกายผู้บาดเจ็บได้ทันที เนื่องจากผู้บาดเจ็บที่โดนฟ้าผ่าจะไม่มีกระแสไฟฟ้าหลงเหลืออยู่ในตัว ต่างจากผู้บาดเจ็บที่โดนไฟฟ้าช็อต
          2. ผายปอดโดยการเป่าปากสลับกับนวดหัวใจ ก่อนนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลต่อไป

          เพราะอุบัติเหตุสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะในหน้าฝนแบบนี้ด้วยแล้วยิ่งเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายกว่าปกติ ฉะนั้นไม่ว่าจะเดินทางไปไหนมาไหนหรืออยู่บ้าน นอกจากจะเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ชีวิตแล้วก็อย่าลืมเตรียมตัวรับมือและหาทางป้องกันตัวเองเอาไว้ด้วยนะคะ 

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีรับมือกับพายุฝน การเตรียมตัวและป้องกันบ้านให้ปลอดภัยเมื่อพายุมา อัปเดตล่าสุด 13 กันยายน 2567 เวลา 13:36:44 75,359 อ่าน
TOP
x close