
"การพลัดตกหกล้ม" ดูเหมือนเป็นอุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่น่าจะสร้างความเสียหายอะไรมากมายใช่ไหมล่ะคะ? แต่รู้หรือไม่ว่าการพลัดตกหกล้มมีอันตรายกว่าที่คิด เพราะหากดูตามการรายงานของของศูนย์อุบัติเหตุกรุงเทพฯ ของโรงพยาบาลกรุงเทพ ก็จะพบว่าการพลัดตกหกล้มเป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 ของคนไทยในกลุ่มของการบาดเจ็บโดยไม่ตั้งใจ (Unintentional) ซึ่งเป็นรองแค่การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเท่านั้น และมีความเสี่ยงมากกับกลุ่มผู้สูงอายุ แต่อย่างไรก็ตามขึ้นชื่อว่าอุบัติเหตุย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นกับทุกคนเสมอ ไม่เว้นแม้แต่ในบ้านของเราเอง โดยเฉพาะบริเวณที่มีความเฉอะแฉะ เช่น ห้องน้ำห้องครัว และลานกระเบื้อง
บางครั้งต่อให้เราเดินอย่างระมัดระวังกันแค่ไหน ก็ยังไม่วายเดินลื่นล้มจนเป็นแผลระบมไปทั้งตัวอยู่ดี หรือไม่ก็ปวดเนื้อเมื่อยตัวเป็นรอยฟกช้ำดำเขียวลามไปจนถึงอวัยวะภายใน กว่าจะหายก็กินเวลานานโขทีเดียว จะดีกว่าไหมหากเราหาทางป้องกันกันตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะบ้านที่มีเด็กกับผู้สูงอายุอยู่ร่วมชายคาด้วย ฉะนั้นก่อนที่จะมีใครสักคนล้มหมอนนอนเสื่อจนถึงขั้นต้องให้น้ำเกลือ เรามาหาทางป้องกันกันไว้ก่อนดีกว่า

1. หมั่นทำความสะอาดพื้นเป็นประจำ
รู้ว่าตรงไหนเปียกก็หมั่นซับน้ำพร้อมถูพื้นให้แห้ง ส่วนคราบลื่นจากน้ำมันสามารถล้างออกได้ โดยผสมน้ำส้มสายชู น้ำยาทำความสะอาดครัว และน้ำอุ่นเข้าด้วยกัน ใช้ฟองน้ำชุบแล้วเช็ดลงไปบนคราบ แล้วคราบก็จะจางหายไปเพราะกรดและความร้อน แต่บางคนอาจจะเจอปัญหาตรงที่ไม่ค่อยมีเวลาทำความสะอาดสักเท่าไร ส่งผลให้ไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึงนั่นเอง
2. เลือกใช้วัสดุปูพื้นให้เหมาะสมกับการใช้งาน
การจะเลือกวัสดุมาปูพื้นเราจะดูที่ความสวยงามเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ซึ่งโชคดีที่ในปัจจุบันมีวัสดุปูพื้นหลากหลายชนิดให้เลือก ทั้งไม้จริง ไม้สังเคราะห์ และกระเบื้อง แต่ทั้งนี้ไม่ว่าจะเลือกแบบใดมาใช้ ควรหลีกเลี่ยงการนำวัสดุที่มีผิวมันวาวปูพื้นบริเวณที่เปียกน้ำบ่อย ได้แก่ ห้องน้ำ ห้องครัว หรือบริเวณที่ฝนสาดเข้าถึง เช่น ระเบียงปูกระเบื้อง ซึ่งสำหรับบ้านที่ตกแต่งไปแล้วคงจะใช้งบไม่น้อยในการรีโนเวทใหม่ ถ้าอย่างนั้นลองดูวิธีอื่นกันต่อนะคะ

3. ป้องกันด้วยแผ่นยางปูพื้นกันลื่น
อีกหนึ่งทางออกสำหรับบ้านที่ไม่อยากรีโนเวทพื้นใหม่ การใช้แผ่นยางปูพื้นกันลื่นก็ช่วยป้องกันได้ดีทีเดียว เพราะต่อให้เปียกน้ำก็ไม่ลื่นเหมือนพื้นบ้านทั่วไป เลยเป็นอีกหนึ่งวิธีที่หลาย ๆ ครอบครัวนิยมใช้กัน แต่วิธีนี้ก็มีข้อจำกัดอยู่ที่อาจต้องใช้งบมากในการซื้อ หากต้องการจะนำไปปูพื้นในบริเวณกว้าง หรือไม่สามารถใช้กับบางพื้นที่ได้ เนื่องจากเป็นมุมอับ หรือรูปทรงของแผ่นยางปูพื้นกันลื่นไม่พอดีกับพื้นที่บริเวณที่ต้องการจะนำไปใช้
4. คอยตรวจตราระบบท่อน้ำในบ้าน
เพราะน้ำที่เจิ่งนองบนพื้นอาจไม่ได้มีแค่ในห้องน้ำหรือห้องครัวเสมอไป บางทีอาจจะมาจากท่อน้ำรั่วที่ไหนสักแห่งในบ้านก็เป็นได้ ซึ่งน้ำเหล่านั้นนอกจากจะพาเชื้อราพาหะนำโรคหลายชนิดเข้ามาในบ้านแล้ว อาจทำให้คนในบ้านลื่นล้มได้ง่าย ๆ ด้วย ถ้าไม่ทันได้ระวังตัว ดังนั้นจึงควรหมั่นตรวจตราระบบท่อน้ำเป็นประจำและรีบซ่อมแซมเมื่อพบรอยรั่ว

5. ใช้น้ำยากันลื่น
สำหรับคนที่กลัวว่าจะมีคนในครอบครัวลื่นล้มเพราะพื้นที่เปียกในห้องน้ำ ไม่มีเวลาดูแลเช็ดถูพื้นให้สะอาดและแห้งสนิทบ่อย ๆ หรือไม่อยากจะเสียเงินเสียทองลงทุนปูกระเบื้องพื้นใหม่ทั้งหลัง “น้ำยากันพื้นลื่น” เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยแก้ปัญหาให้คุณได้ ด้วยวิธีง่าย ๆ ภายในเวลาสั้น ๆ แต่ก่อนจะลงมือควรทดสอบปฎิกิริยาระหว่างน้ำยากันลื่นกับพื้นบ้านของคุณก่อน เริ่มจาก...









ข้อดีของการใช้น้ำยากันพื้นลื่นที่นอกจากจะช่วยลดอุบัติเหตุจากการลื่นล้มได้แล้ว ยังมีวิธีการใช้งานและการทำความสะอาดได้ง่าย เห็นผลเร็ว และยังมีราคาถูกเมื่อเทียบต่อตารางเมตร และเนื่องจากน้ำยากันพื้นลื่นเข้าไปเปลี่ยนลักษณะทางกายภาพของกระเบื้อง ไม่ใช่แค่การเคลือบผิวกระเบื้อง จึงมีระยะการใช้งานที่ยาวนาน ต่างจากผลิตภัณฑ์กันลื่นชนิดอื่น ๆ ที่หลุดลอกออกได้ เช่น เทปกันลื่น ที่สำคัญยังป้องกันการลื่นเป็นบริเวณกว้างได้มากกว่าหากเทียบกับแผ่นยางกันลื่น
แต่การใช้น้ำยากันลื่นก็มีสิ่งที่ควรต้องระวังคือ อาจมีการเปลี่ยนความเงาของกระเบื้องหลังการใช้ เช่น ความเงาลดลงซึ่งจะไม่สามารถทำให้กลับมาเงาเหมือนเดิมได้อีก นอกจากนี้การใช้งานมีขั้นตอนการทำที่ยุ่งยากกว่านิดหน่อยเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้แผ่นยางกันลื่นหรือเทปกันลื่น
พื้นลื่น ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ เพราะเพียงเสี้ยววินาทีเดียวที่ล้มอาจหมายถึงความตายได้ โดยเฉพาะผู้สูงวัยหรือเด็ก ๆ ที่ขาดความระมัดระวัง อีกทั้งอุบัติเหตุนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดและไม่มีทางรู้ได้ล่วงหน้า ฉะนั้นหากไม่อยากเห็นคนในบ้านต้องล้มป่วยเพราะความชะล่าใจ ลงมือป้องกันไว้ก่อนด้วยวิธีที่เหมาะสมกับบ้านของคุณกันดีกว่านะคะ ไม่อย่างนั้นจะมาหาว่าเราไม่เตือนไม่ได้นะ