ไอเดียออกแบบบ้านสไตล์คอนโด กับการเปลี่ยนบรรยากาศตึกแถวเก่า ๆ ให้กลายเป็นคอนโดสไตล์โมเดิร์น ไว้ให้คุณแม่ใช้ชีวิตบั้นปลายสบาย ๆ แบบสโลว์ ไลฟ์ เห็นไอเดียแต่งคอนโดให้มีบรรยากาศเหมือนอยู่บ้านกันมาเยอะแล้ว วันนี้จะพาไปดูรีวิวออกแบบบ้านสไตล์คอนโดกันบ้าง กับงานรีโนเวทตึกแถวเก่า 4 ชั้นเป็นคอนโดสไลว์ไลฟ์ให้แม่ของ คุณ สมาชิกหมายเลข 827862 สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม แต่การรีโนเวทครั้งนี้ทำชั้นล่างเพียงชั้นเดียวแต่มีครบตามที่ต้องการ ทั้งห้องน้ำ ห้องครัว และห้องนั่งเล่น พร้อมลบบรรยากาศตึกแถวเก็บของเก่า ๆ ออกไปจนหมดสิ้นเลย
เมื่อผมเปลี่ยนตึกแถว ให้เป็นคอนโด Slow life ของคุณแม่ ขนาด 62 ตร.ม. [Tutorial ทุกขั้นตอนอย่างละเอียด] โดย คุณ สมาชิกหมายเลข 827862 สวัสดีครับ หลังจากหายไปนานวันนี้กลับมาเขียนอีกครั้งพร้อมกับการรีโนเวทครั้งใหม่ ครั้งนี้โจทย์การออกแบบของผมคือตึกแถว 4 ชั้น แต่ทำแค่ชั้นเดียว (ก็ปกติทั่วไปครับ) แต่ภายใน 1 ชั้นประกอบด้วย

โซนดูหนัง

โซนทานอาหาร

โซนครัวเบา (ฝรั่ง)

โซนครัวหนัก (ไทย)

โซนเก็บของ

โซนโชว์ของ

โซนตั้งตี่จู่เอี๊ยะ

โซนโชว์รูปบรรพบุรุษ

ห้องเก็บของ

ห้องซักล้าง

ห้องนั่งเล่นระหว่างรอซักฝ้า

ห้องน้ำใหม่ ว้าว !
และงานปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ของภายใน อยากลืมภาพเดิมให้หมดสิ้น 
ประตูทางเข้า

ประตูหน้าบ้าน

รั้ว

ราวบันได

ไฟเพดาน

ฝ้าเพดาน

และอื่น ๆ อีกมากมาย
ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมาขอให้เรียบถึงเรียบที่สุด (โดยใช้สีน้ำตาลอ่อน ครีม และลายไม้บ้างเล็กน้อย) 
แบบพื้นที่เดิมขนาดประมาณ 62 ตารางเมตร ครั้งแรกที่เห็นเลย์เอาท์ แปลนก็ไม่ได้รู้สึกสะดุดกับอะไรครับ ก็เคลียร์ตามปกติเริ่มคิดเลย์เอาท์กับพื้นที่ แต่มาสะดุดหลังไปดูพื้นที่จริงหน้างาน แปลนที่วางเอาไว้ก่อนในครั้งแรกถูกยกเลิกในทันที เพราะต้องปรับหน้างานและคิดการวางใหม่อย่างละเอียด

ส่วนด้านข้างประตูทางเข้า ที่วางทีวีเดิม และด้านข้างประตูทางเข้าซึ่งใช้เป็นที่วางของเดิม

ห้องน้ำเดิม

ส่วนบันไดทางขึ้นชั้น 2

ส่วนใต้บันได 1

ส่วนใต้บันได 2

ห้องครัวเดิม

จากการวิเคราะห์แต่ละส่วนเราจะทำการแบ่งพื้นที่โดยอาศัยเสาของตัวอาคารและระดับฝ้าเป็นตัวแบ่งการจัดโซนต่าง ๆ โดยเริ่มจากการจัดพื้นที่ให้ออกเป็นส่วน ๆ แต่ในความคิดของผม หากจะแบ่งโซนโดยใช้ผนังเบาเป็นส่วนใหญ่ก็ไม่ต่างอะไรกับการกั้นห้อง จึงวางแผนในการทำตู้และผนังเบามาเฉลี่ยกันให้เหมาะสม โดยแบ่งได้ประมาณนี้ครับ

วางแผนการจัดพื้นที่แบ่งส่วนต่าง ๆ ลงในพื้นที่ของแปลน โดยแบ่งพื้นที่หลัก ๆ ออกเป็น 5 โซน
โซน 1 : เริ่มโดยอิงจากระดับฝ้าเพดานเป็นตัวแบ่ง กั้นผนังเบา และแบ่งเป็นส่วนของตู้โชว์แบ่งพื้นที่โซนหน้าเป็นโซนนั่งเล่น, โซนกินข้าว และโซนครัวฝรั่ง
โซน 2 : จากฝั่งด้านหน้าที่กั้นผนัง โดยด้านหลังเราออกแบบเป็นช่องติดภาพบรรพบุรุษ ส่วนต่อมีตู้ที่บังตู้โหลด มีตู้เก็บของที่เป็นเหมือนผนังโชว์ แบ่งพื้นที่เก็บของใต้บันได
โซน 3 : โซนตั้งตี่จู่เอี๊ยะและวางของไหว้ โดยมีการปิดผนังตรงบันไดเพื่อไม่ให้มองเห็นคนขึ้นลงและเหมือนมีคนเดินอยู่เหนือตี่จู่เอี๊ยะ ส่วนการวางตี่จู่เอี๊ยะ อยากให้ตรงกลางกับประตูหน้าบ้าน จึงออกแบบบานประตูเพื่อให้เกิดความสมดุล โดยในการออกแบบได้ใช้บานประตูที่ตรงกลางเป็นกระจกใสเพื่อให้โปร่ง
โซน 4 : แบ่งให้มีห้องซักล้าง ที่มีพื้นที่สำหรับนั่งรอ
โซน 5 : ห้องครัวไทย (เน้นการล้างและการทำอาหารหนัก) โดยพื้นที่ของผนังที่ช่องจะกรุปิดให้เป็นแนวฉาก เพื่อซ่อนสายไฟและให้ผนังดูเรียบร้อย

การวางแปลนพื้นทั้งหมด และหลังจากได้แปลนจึงเริ่มทำการออกแบบ

โดยการออกแบบเล่นไปที่สไตล์โมเดิร์น การใช้เส้น ความต่อเนื่องของเส้น การเว้นร่องให้เกิดดีเทลของงาน โดยเน้นจุดเชื่อมต่อของเส้น ลดทอนวัสดุพวกกระจก เน้นเรียบง่าย สบายตา โปร่ง เหมาะกับวัยของผู้ที่อยู่อาศัย และเลือกโทนสีที่ใช้เป็นสีน้ำตาลอมครีมไล่โทน

เหตุผลที่ใช้สีน้ำตาลเพราะว่าให้ความรู้สึกเงียบขรึม เก่าแก่ หนักแน่น อบอุ่น ได้พักผ่อน ลดความรู้สึกที่ไม่ปลอดภัย และยังเป็นสีที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดจากความเศร้าโศกความรู้สึกคับอกคับใจ โดยจะนำไปช่วยเหลือคนที่รู้สึกหมดคุณค่าในตัวเอง (โดยผมนำสีส้มมาร่วมจากแสงของสีไฟ Warm white)
ทางฮวงจุ้ย : เป็นสีแทนความอบอุ่นมั่นคงไปด้วยหลักทรัพย์ เป็นสีเดียวกับต้นไม้ขนาดใหญ่ บ่งบอกถึงอดีตอันยาวนาน และประสบการณ์ที่ผ่านมา ดังนั้น มันจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ อีกทั้งความสุขุมเยือกเย็นยังเป็นเอกลักษณ์ของสีน้ำตาลด้วยเช่นกัน แม้ในทางจิตวิทยาสีน้ำตาลทำให้รู้สึกแห้งแล้ง แต่หากนำมาใช้ในสัดส่วนที่เหมาะสมก็จะได้ความอบอุ่นมั่นคง สามารถลดความแห้งแล้งได้

หลังจากออกแบบเป็นภาพ 3D ก็เริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการทำงาน

ขั้นตอนช่วงที่ 1 : เริ่มจากการขนย้ายของทั้งหมดไปยังชั้น 2 และเริ่มทำการเช็กงานระบบ ในส่วนที่สามารถยังใช้ได้และยกเลิกในส่วนที่ใช้การไม่ได้โดยการรื้อถอน

รื้อผนังเดิมที่กรุไว้และปรับเป็นผนังเบา

ทุบบันไดปรับทิศทางการเดินขึ้น

ทุบบันไดปรับทิศทางการเดินขึ้น

รื้อพื้นกระเบื้องเดิม

หลังจากการรื้อถอน ทุบ และยกเลิกส่วนที่ไม่ใช้ ขั้นตอนต่อมาคือการวางระบบงานส่วนต่าง ๆ ที่วางแผนไว้ในเบื้องต้น ได้แก่ ระบบไฟฟ้า ระบบน้ำประปา น้ำดี-น้ำเสีย เริ่มวางโครงผนังเบาและฝ้าเพดานทั้งหมด

เดินระบบท่อน้ำประปา

ขึ้นโครงผนังเบาและฝ้าเพดาน

ขั้นตอนการทำงานช่วงที่ 2 : เป็นขั้นการทำงานไม้ งานเหล็ก และงานสีพ่น นอกจากนี้ก็เริ่มติดตั้งเฟอร์นิเจอร์บิวท์อิน

ถอดประตูเดิม ปรับพื้น และติดตั้งประตูใหม่ในระหว่างช่วงที่ทำงานไม้

เมื่อติดตั้งเสร็จก็เข้าสู่กระบวนการขัดเพื่อเตรียมทำสี

ในช่วงการทำสีก็มีการปูกระเบื้องครัว ห้องน้ำ และทำการติดตั้งประตูอะลูมิเนียมกรุกระจก

ทากันซึมบนระเบียงดาดฟ้ากันน้ำไหลลงมาที่ครัว

หลังจากงานโดยรวมไปถึงตามความคาดหมาย ก็เริ่มประกอบเฟอร์นิเจอร์และเริ่มเก็บงานโดยรวม พร้อมแก้ปัญหาส่วนต่าง ๆ เช่น ที่ระบายอากาศ

ได้ออกมาเป็นบ้านตามแบบที่ต้องการเป๊ะ ๆ ครับ ผมลงรูปแบบไม่แต่งนะครับ จะได้เห็นแสงไฟจริง ๆ ของสถานที่ ภาพนี้เป็นทางเข้าหน้าบ้านครับ

ประตูทางเข้าจากด้านในฝั่งทีวี

แผงทีวีทางเข้า

ประตูทางเข้าจากด้านในฝั่งครัว

มุมมองหันเข้าครัวและฝั่งทีวี

ฝั่งหลังผนังกั้น

ห้องซักล้าง

เปลี่ยนบันไดใหม่

ห้องน้ำภายใน

หวังว่ากระทู้นี้คงเป็นส่วนหนึ่งไม่มากไม่น้อย ในการตกแต่งบ้านให้ทุกท่านนะครับ
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
คุณ สมาชิกหมายเลข 827862 สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม