อยากรู้ว่าเลือกหมอนอย่างไร ให้นอนหลับสนิท สบายตัว และไม่มีปัญหาเรื่องปวดเมื่อยตามร่างกาย มาดูวิธีเลือกหมอนหนุนให้เหมาะกับการใช้งานของแต่ละคนกันค่ะ
1. วัสดุคือปัจจัยแรกในการเลือกซื้อหมอน
องค์ประกอบแรกในการเลือกหมอนหนุนที่เราควรคำนึงถึงมากที่สุดนั่นก็คือ วัสดุ ซึ่งมีด้วยกันหลากหลายชนิด และแต่ละชนิดก็มีคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไป ดังต่อไปนี้
- ใยสังเคราะห์ (Polyester) : เป็นหมอนชนิดหนึ่งที่ได้ความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากราคาไม่แพงจนเกินไป ทนทาน ดูแลรักษาง่าย และรองรับสรีระการนอนได้ดี
- เมมโมรี่โฟม (Memory Foam) : หมอนที่ถูกออกแบบมาเพื่อการกระจายแรงกดทับ สามารถปรับเปลี่ยนรูปทรงไปตามอุณหภูมิ รองรับสรีระการนอนได้ดีเยี่ยม ช่วยลดอาการปวดคอ ไหล่ และหลัง แถมยังไม่มีสารพิษที่ก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้
- ยางพารา (Latex) : วัสดุที่มีความแข็งแรงคงทน เป็นเบ้ารองรับที่ช่วยจัดวางตำแหน่งของศีรษะ คอ ไหล่ และหลัง ขณะนอนหลับได้เป็นอย่างดี แต่มีราคาที่สูงพอสมควร
- ขนสัตว์ (Feather) : เป็นวัสดุที่ได้จากขนของนก ขนเป็ด และขนห่าน ซึ่งจะมีความนุ่มฟูและแน่นได้รูปทรง สามารถเติมขนสัตว์ลงไปได้หากว่ามันคืนตัว ราคาสูง ที่สำคัญหมอนขนสัตว์ไม่เหมาะกับคนที่เป็นโรคภูมิแพ้
- ปุยนุ่น (Cotton) : วัสดุจากธรรมชาติ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และปราศจากสารเคมีที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ ช่วยรับน้ำหนักต้นคอได้อย่างดี อีกทั้งยังเป็นเนื้อวัสดุที่มีความเย็นตามธรรมชาติด้วย
- หมอนธัญพืช : เรียกได้ว่าเป็นหมอนเพื่อสุขภาพที่ทำมาจากวัสดุจากธรรมชาติอย่างแท้จริง เช่น เปลือกโซบะ เปลือกถั่วงอก หรือชาเขียว ซึ่งจะช่วยในเรื่องการระบายอากาศได้ดี ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด ลดอาการเจ็บปวดจากแรงกดทับ และรองรับการนอนได้ทุกท่า
2. เลือกไซซ์หมอนให้เหมาะกับการนอน
การเลือกขนาดของหมอนจะต้องใช้ปัจจัยอื่น ๆ มาช่วยในการตัดสินใจด้วย เช่น ขนาดของเตียงนอนที่ควรจะมีความสมดุลกับขนาดของหมอน ถ้าเตียงมีขนาดคิงไซซ์ หมอนก็ต้องเป็นคิงไซซ์เช่นกัน ถ้าเป็นหมอนใบเล็กก็ควรมีหมอนหลาย ๆ ใบ เพื่อช่วยอุดช่องว่างระหว่างลำตัวกับเตียงนอนให้รู้สึกนอนสบายยิ่งขึ้น แต่ที่สำคัญไม่ว่าคุณจะเลือกหมอนให้มีขนาดเท่าไรก็ตาม หมอนหนุนศีรษะใบนั้นจะต้องอยู่ใกล้กับกระดูกต้นคอ ก็จะช่วยลดอาการเจ็บปวดในยามตื่นได้
3. ยึดหลักท่านอนประจำในการเลือกหมอน
ท่านอนหลัก ๆ ก็มีอยู่ด้วยกัน 3 ท่านอน ดังนั้น เราจึงควรเลือกหมอนให้ตรงกับท่านอนที่เราถนัดมากที่สุด ดังนี้
- นอนหงาย : ควรเลือกหมอนที่มีความหนาระดับกลาง ไม่สูงจนเกินไป เพราะจะช่วยให้คอตั้งอยู่ในระดับที่เหมาะสม บาลานซ์กับแผ่นหลังส่วนบนและกระดูกสันหลังได้เป็นอย่างดี
- นอนตะแคง : สำหรับคนที่ชอบนอนตะแคงคงจะต้องเลือกให้สอดรับกับช่องว่างระหว่างคอและไหล่ให้พอดี หมอนควรจะมีความสูงพอที่จะยกระดับคอให้รับกับกระดูกสันหลังได้ ที่สำคัญจะต้องมีหมอนข้างรองรับช่องว่างระหว่างขา เพื่อให้จัดสรีรร่างกายอยู่ให้ตำแหน่งที่เหมาะสมด้วย
- นอนคว่ำ : แนะนำให้เลือกหมอนที่ค่อนข้างเตี้ยเป็นพิเศษ หรืออาจจะไม่ต้องใช้หมอนเลยก็ได้
4. การเลือกหมอนสำหรับผู้ที่มีปัญหาการนอน
เนื่องจากหมอนทั่ว ๆ ไปที่เราเคยเห็นและซื้อมาใช้กันอาจจะยังช่วยรองรับสรีระการนอนไม่ดีพอสำหรับคนที่มีปัญหาในการนอนหลับ ดังนั้น จึงมีการคิดค้นและออกแบบหมอนในลักษณะพิเศษออกมาเพื่อช่วยผู้ที่มีปัญหาการนอน ดังนี้
- หมอนสุขภาพ (Cervical Pillow) : รูปร่างของหมอนจะมีลักษณะเป็นร่องลึกอยู่ตรงกลาง ผลิตด้วยวัสดุที่เป็นเบ้ารองรับคอได้อย่างสมบูรณ์แบบ กระจายแรงกดทับในระหว่างที่นอนหลับได้ดี
- หมอนน้ำ (Water Pillow) : หมอนที่ใช้น้ำเป็นวัสดุ เพื่อให้รองรับกับสรีระของผู้ใช้งานได้ทุกท่วงท่าของการนอน เหมาะสำหรับผู้พึ่งพาการรักษาแบบกายภาพบำบัดหรือจัดกระดูก
- หมอนเย็น (Cool Pillow) : เหมาะสำหรับคนที่มีปัญหาร้อนตอนนอน เหงื่อออก และหลับไม่สนิท เนื่องจากหมอนที่ว่านี้จะมีเม็ดบีดส์เป็นส่วนประกอบหลักที่ช่วยกำจัดความร้อนออกจากศีรษะ พร้อมกับปรับอุณหภูมิให้คงที่ เหมาะกับการนอนหลับพักผ่อน
- หมอนออกซิเจน (Oxygen-promoting Pillow) : หมอนออกซิเจนเป็นหมอนเพื่อสุขภาพโดยแท้ ใช้เทคโนโลยีเฉพาะในการผลิต ช่วยเพิ่มออกซิเจนให้กับร่างกาย ไม่รบกวนระบบทางเดินหายใจระหว่างการนอนหลับ เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาทางด้านนี้โดยเฉพาะ
- หมอนสุขภาพตามสรีรร่างกาย (Positional Pillow) : หมอนประเภทนี้มักจะมีรูปทรงเฉพาะต่างจากหมอนทั่วไป ทั้งรูปทรงโค้งเป็นวงรี รูปทรงโดนัทมีรูตรงกลาง หรือรูปทรงที่เว้นช่องเอาให้ไว้ยืดแขนขณะนอนตะแคง
อย่าคิดว่าแค่หยิบอะไรมาหนุนนอนก็ทำให้นอนหลับสบายได้ เพราะถ้าไม่เหมาะกับร่างกายคุณก็จะเกิดผลกระทบทางลบในระยะยาว ต่อไปนี้ก่อนเลือกซื้อหมอนทุกครั้งควรพิจารณาจากปัจจัยเหล่านี้ก่อนก็จะดี เชื่อเถอะว่าแค่หมอนดี ๆ หนึ่งใบจะทำให้สุขภาพของคุณเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นแน่นอน
ขอบคุณข้อมูลจาก forbes, Canadianliving, Webmd, o2pillow, sisselsilencium และ kasetorganic