
วันนึงมีคุณป้ามาปรึกษาค่ะ ว่ามีบริษัทหนึ่งมาติดต่อขอใช้พื้นที่อาคารชั้นดาดฟ้าของคุณป้าเพื่อติดตั้งป้ายโฆษณา โดยให้ค่าตอบแทนคุณป้านิดหน่อย คุณป้าคิดอยู่นานว่าจะให้ดีหรือไม่ และมีข้อปฏิบัติตามกฎหมายอย่างไรบ้าง ?
ในเคสของคุณป้านี่ก็ประจวบเหมาะกับกฎกระทรวง ว่าด้วยเรื่องของการควบคุมป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. 2558 เพิ่งบังคับใช้เมื่อปีที่แล้ว ครั้นจะนำกฎหมายของอาคารมาปรับใช้เรื่องป้ายดูจะไม่เข้ากัน จึงรวบรวมและปรับปรุงข้อกำหนดในเรื่องป้ายให้เหมาะสมสอดคล้องกับลักษณะของป้ายในสภาวการณ์ปัจจุบัน จึงออกเป็นกฎกระทรวงนี้มา แล้วเขาว่าอย่างไรกันบ้างไปดูกันค่ะ
คือ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร บอกว่า “อาคาร” ให้หมายความรวมถึงป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายด้วย เมื่อคุณป้าจะวางป้ายบนหลังคาหรือดาดฟ้าของอาคารย่อมถือว่าป้ายนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร โดยคิดรวมว่าป้ายนั้นเป็นความสูงของอาคารด้วย ซึ่งหากคุณป้าจะติดตั้งป้ายโฆษณาไว้บนอาคารจะต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้
๐ ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย ต้องไม่บังช่องระบายอากาศ หน้าต่าง ประตู หรือทางหนีไฟ
๐ ป้ายบนหลังคาหรือดาดฟ้าของอาคาร (ถ้ามีความสูงไม่เกิน 3 เมตร ไม่เป็นไร) แต่ถ้ามีความสูงเกิน 3 เมตรต้องปฏิบัติดังนี้
(1) ป้ายต้องไม่ล้ำออกนอกแนวผนังรอบนอกของอาคาร
(2) ความสูงของป้ายไม่เกิน 6 เมตร และมีความสูงของป้ายและอาคารรวมกันต้องไม่เกิน 30 เมตรเมื่อวัดจากระดับพื้นดิน
(3) มีพื้นที่ป้ายไม่เกิน 75 ตารางเมตร
คุณป้าต้องตรวจดูพื้นที่ที่จะติดตั้งป้ายและขนาดของป้ายเป็นสำคัญ และไม่ใช่ว่าติดป้ายแล้วจบกันนะคะคุณป้า คุณป้าผู้เป็นเจ้าของป้ายก็มีหน้าที่และความรับผิดชอบดังต่อไปนี้ด้วย ถ้าป้ายนั้นสูงจากพื้นดินตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ป้ายตั้งแต่ 50 ตารางเมตรขึ้นไป หรือป้ายที่ติดตั้งบนหลังคาหรือดาดฟ้า หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 25 ตารางเมตรขึ้นไป คุณป้าจะต้อง
(1) ต้องแสดงเลขที่ใบรับรองการตรวจสอบ
(2) หรือในกรณีที่ยังไม่มีใบรับรอง ให้แสดงเลขที่ใบอนุญาตก่อสร้างแทน
(3) หมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้ และมีขนาดตัวอักษรไม่เล็กกว่า 20 เซนติเมตร
(4) แสดงไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ชัดเจนในบริเวณด้านหน้าป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย
(5) ต้องจัดให้มีการประกันภัยความรับผิดตามกฎกระทรวงกำหนดชนิดหรือประเภทของอาคารที่เจ้าของอาคาร หรือผู้ครอบครองอาคารหรือผู้ดำเนินการต้องประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก พ.ศ. 2548 อีกด้วย