การออกแบบบ้านสำหรับครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ กำลังจะสร้างบ้านให้พ่อ-แม่ หรืออาศัยในช่วงบั้นปลายของชีวิต แม้จะเป็นบ้านของเราเองแต่ก็ต้องวางแผนอย่างรอบคอบ และคิดเผื่อสำหรับการใช้ชีวิตและความสะดวกสบายของเหล่าผู้สูงอายุในบ้านด้วย โดยเฉพาะ 10 เรื่องสำคัญต่อไปนี้ที่ถือว่าสำคัญที่ควรใส่ใจเป็นพิเศษ ในการออกแบบบ้านที่มีผู้สูงอายุหรือวัยเกษียณ
ด้วยร่างกายของผู้สูงวัยที่ไม่สามารถทนต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้ เราจึงจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงอุณหภูมิภายในบ้านเป็นหลัก ทั้งทิศทางช่องลม ดีไซน์ภายใน และการเลือกวัสดุที่มีคุณสมบัติช่วยปรับอุณหภูมิภายในบ้านให้เหมาะสม ไม่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป แม้ว่าอากาศข้างนอกจะแปรปรวนขนาดไหนก็ตาม
2. แสงไฟส่องสว่างเพียงพอ
เนื่องจากการมองเห็นของผู้สูงวัยไม่ค่อยจะดีนัก ดังนั้นจุดต่าง ๆ ในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นห้องนอน ห้องน้ำ ห้องนั่งเล่น โถงทางเดิน และทางเข้าบ้าน ควรมีระดับความสว่างและแสงไฟที่เพียงพอ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ
3. พื้นบ้านคืองานที่ต้องระวัง
ดีไซน์ที่สำคัญสำหรับบ้านเพื่อผู้สูงวัยนั่นก็คือ พื้นบ้าน ฉะนั้นเราจึงควรเลือกพื้นที่มีความเสี่ยงลื่นน้อยที่สุด อย่าให้มีพื้นที่บริเวณต่างระดับเยอะจนเกินไป นอกจากนี้หากจะปูพรมเพิ่มเติมก็จะทำให้ผู้สูงอายุเดินได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น แต่จะต้องไม่ลืมติดแผ่นกันลื่นไว้ใต้พรมเพื่อป้องกันอุบัติเหตุกันด้วยนะคะ
4. บันได พื้นที่ต่างระดับที่ต้องตอบรับกับผู้สูงวัย
หากบ้านไหนมีความสูงตั้งแต่ 2 ชั้นขึ้นไป เรื่องบันไดคืออีกหนึ่งความปลอดภัยที่เราต้องคำนึงถึงเป็นพิเศษ ฉะนั้นบันไดที่ดีและเหมาะสมกับผู้สูงอายุจะต้องมีราวจับที่มั่นคงทั้ง 2 ด้าน (ซ้าย-ขวา) ลักษณะของขั้นบันไดต้องเต็มเท้า มีขอบขั้นบันไดกันลื่นอย่างดี มีแสงสว่างมากเพียงพอ และมองเห็นชัดเจน
5. ดีไซน์ครัวดี ก็ทำให้ผู้สูงวัยช่วยตัวเองได้มากขึ้น
ผู้สูงวัยมักจะใช้งานห้องครัวได้อย่างไม่เต็มที่ ไหนจะปัญหาตู้ติดผนังที่สูงไปบ้าง ความสูงของเคาน์เตอร์ครัวไม่พอดีกับการใช้งาน หากจะออกแบบห้องครัวให้เหมาะกับผู้สูงวัยเราจำเป็นที่จะต้องจัดระดับของตู้ครัวตู้ติดผนังให้บาลานซ์กับความสูงของผู้สูงวัย ทำเคาน์เตอร์ให้ผู้สูงวัยสามารถยืนเตรียมอาหารได้อย่างพอดิบพอดี ไม่ต้องก้มหรือเขย่งตัว
6. ความปลอดภัยในห้องน้ำสำคัญที่สุด
ห้องน้ำนี่แหละคือส่วนสำคัญที่เราต้องให้ความระมัดระวังเป็นอย่างดี ด้วยการติดตั้งราวจับตลอดทั้งพื้นที่ของการใช้งาน แยกส่วนห้องอาบน้ำออกจากบริเวณอื่น ๆ โดยเฉพาะ เตรียมเก้าอี้อาบน้ำให้พร้อม ติดตั้งแสงสว่างให้เพียงพอ ติดตั้งกระจกบานใหญ่ส่องจากตรงไหนก็เห็นชัดเจน เพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุต้องเดินเข้า-ออกห้องน้ำบ่อย ๆ หรือปูพื้นด้วยพรมยางกันลื่นด้วยก็จะดี
7. สัญญาณและปุ่มขอความช่วยเหลือ
นอกเหนือจากเรื่องความปลอดภัยของตัวบ้านแล้ว เรายังต้องระวังเรื่องของผู้ไม่หวังดีจากภายนอกด้วย หากบ้านไหนที่ต้องทิ้งผู้สูงอายุให้อยู่เพียงลำพังบ่อย ๆ แนะนำให้ติดตั้งสัญญาณกันขโมยและปุ่มขอความช่วยเหลือฉุกเฉินเอาไว้รอบบ้าน จะได้ช่วยเป็นหูเป็นตาให้เราอีกชั้นในเวลาที่เราไม่อยู่นั่นเอง
8. แผงสวิตช์ไฟ เปิด-ปิดได้อย่างง่ายดาย
แม้สวิตช์ไฟจะเป็นอะไรที่ไม่ต้องเป็นห่วงมากนัก แต่สำหรับผู้สูงวัยบางท่านอาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับนิ้วมือหรืออาจเอื้อมมือไป กดสวิตช์ไม่ถนัด แนะนำให้ติดตั้งแผงสวิตช์ไฟที่จำเป็นต้องใช้ไว้ในจุดเดียว และต้องเป็นจุดที่ผู้สูงวัยใช้งานได้อย่างถนัด เลือกชนิดของสวิตช์ที่เปิด-ปิดง่าย และที่สำคัญที่ตัวสวิตช์จะต้องมีสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าเป็นสวิตช์คือไฟตรงจุดใดอย่างชัดเจน
9. เก็บสายไฟให้เรียบร้อย เลี่ยงอุบัติเหตุ
สายไฟต่าง ๆ คืออุปสรรคอีกหนึ่งอย่างที่เราต้องหลีกเลี่ยงให้พ้นจากผู้สูงวัย ไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดการสะดุดล้มขึ้นมาได้ แนะนำให้ปรึกษาผู้ที่ออกแบบบ้านให้ช่วยเก็บสายไฟต่าง ๆ ฝังเข้าในผนังเลยก็ได้ค่ะ หรือถ้าสร้างบ้านไปแล้วก็หาวิธีเก็บสายไฟให้เข้าที่และเป็นระเบียบเรียบร้อย เช่น ใช้ท่อร้อยสายไฟหรือตอกหมุดล็อกสายไฟติดกับผนัง
10. ติดตั้งเครื่องดักจับควันและสัญญาณไฟไหม้
นอกจากสัญญาณกันขโมยที่เราแนะนำไปแล้วนั้น เครื่องดักจับควันและสัญญาณกันขโมยก็สำคัญไม่แพ้กัน เมื่อจำเป็นที่จะต้องให้ผู้สูงอายุอยู่บ้านเพียงลำพัง เราก็จะวางใจได้ระดับหนึ่งในเรื่องของอันตรายจากฟืนไฟนั่นเอง
หากใครที่กำลังมองหาไอเดียสร้างบ้านและบวกกับว่าครอบครัวของคุณมีผู้สูงอายุด้วย ก็อย่าลืมนำไอเดียการออกแบบบ้านเพื่อผู้สูงอายุและวัยเกษียณที่เรานำมาฝากกันในวันนี้ไปใช้ด้วยนะคะ เพื่อความปลอดภัยและชีวิตที่ดีของคนที่คุณรักค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก aechurba, Thisoldhouse และ Caring