ถ้าตู้เย็นมีอาการเหล่านี้อย่านิ่งเฉยหรือปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ดูแล เพราะนั่นแสดงว่าตู้เย็นของคุณมีปัญหาเข้าให้แล้ว แล้วแต่ละอาการบอกอะไรกับเราได้บ้าง ไปหาคำตอบกัน
หลายคนรู้ว่าตู้เย็นผิดปกติ เช่น เสียง ระดับความเย็น หรืออาการอื่น ๆ แต่ไม่ยอมยกไปซ่อมซะทีเพราะเห็นว่ายังใช้งานได้อยู่ โดยไม่รู้เลยว่าความผิดปกติเหล่านั้นเป็นการเตือนให้รู้ว่าถึงเวลาที่ตู้เย็นควรถูกส่งถึงมือช่างซ่อมได้แล้ว เพราะตอนนี้ระบบภายในกำลังรวน หากปล่อยไว้อาจพังจนใช้การไม่ได้เลยก็ได้นะ มาดูกันว่าความผิดปกติของตู้เย็นมีอะไรบ้าง แล้วแต่ละอาการหมายความว่าอย่างไร จะได้อธิบายให้ช่างฟังได้ถูกต้องและซ่อมได้ตรงจุดมากที่สุด
1. อาหารเสียก่อนวันหมดอายุ
ถ้าอาหารเสียก่อนวันหมดอายุหรืออาหารสด เช่น ผักกับเนื้อสัตว์เน่าทั้งที่เพิ่งซื้อมา แสดงว่าตู้เย็นของคุณมีปัญหาเข้าให้แล้วล่ะ และอาการนี้ก็เป็นไปได้ว่าตัวควบคุมอุณหภูมิมีปัญหา คอยล์ร้อนมีฝุ่นเกาะ มอเตอร์ทำงานหนัก หรือคอยล์ร้อนร้อนเกินไปนั่นเอง
2. น้ำแข็งเกาะผนังตู้เย็น
ถ้ามีน้ำแข็งเกาะตามผนังตู้เย็นด้านในหรือช่องฟรีซทั้งที่เพิ่งละลายน้ำแข็งไป สาเหตุมาจากคอยล์เย็นที่อยู่ด้านในของตู้เย็นถูกน้ำแข็งเกาะ เลยส่งผลกระทบต่ออุณหภูมิภายในตู้เย็นและทำให้เกิดน้ำแข็งเกาะเต็มผนัง
3. น้ำแข็งเกาะช่องฟรีซ
การที่ช่องฟรีซจะเกิดน้ำแข็ง แสดงว่าตู้เย็นจะต้องมีอุณหภูมิที่ต่ำมาก ๆ แต่ถ้าปรับอุณหภูมิของตู้เย็นระดับเย็นน้อยสุดแล้ว ปรากฏว่ายังเกิดน้ำแข็งเกาะช่องฟรีซอยู่ แสดงว่าตู้เย็นอาจจะปล่อยสารทำความเย็นออกมามากเกินไปนั่นเอง
4. ช่องฟรีซเย็น แต่ช่องแช่ของไม่เย็น
ถ้าช่องแช่ของส่วนอื่น ๆ ไม่เย็น มีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ ทั้งที่ช่องฟรีซนั้นยังเย็นและทำงานปกติ ในกรณีนี้อาจจะเป็นไปได้ว่าพัดลมของมอเตอร์เสีย ชำรุด หรือเสื่อมสภาพ ซึ่งถ้าเปลี่ยนใหม่ราคาจะแพงพอ ๆ กับราคาของตู้เย็นใหม่เลยทีเดียว
5. ตู้เย็นไม่มีเสียง แต่ไฟยังติดอยู่
เป็นปกติที่ตู้เย็นจะมีเสียงตลอดเวลา เพราะนั่นแสดงว่าตู้เย็นกำลังทำงานอยู่ แต่ถ้าไม่ได้ยินสียงใด ๆ ออกมาจากตู้เย็นทั้ง ๆ ที่ตอนเปิดตู้เย็นไฟยังสว่าง แสดงว่าคอมเพรสเซอร์อาจจะเสีย สามารถทดสอบได้โดยหมุนปุ่มควบคุมอุณหภูมิไปที่ระดับเย็นสุด ถ้าหากคอมเพรสเซอร์ยังคงไม่มีเสียงอยู่แสดงว่าชำรุดหรือเสียแล้วล่ะ ส่วนอีกวิธีก็คือการละลายน้ำแข็ง แล้วถอดปลั๊กตู้เย็นออกทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง จากนั้นเปิดใหม่อีกครั้ง ถ้าคอมเพรสเซอร์ยังทำงาน แสดงว่าอาจจะเป็นเพราะระบบละลายน้ำแข็ง
6. มีน้ำซึมออกจากตู้เย็น
สาเหตุที่ทำให้น้ำซึมมีหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น ประตูปิดไม่สนิทเพราะขอบยางตู้เย็นเสื่อมสภาพ มีน้ำแข็งเกาะมากเกินไป หรือถาดรองน้ำอาจจะรั่วก็ได้ วิธีการแก้ไขสามารถแก้ไขเบื้องต้นได้ โดยแก้ไขตามจุดที่ทำให้เกิดปัญหา เช่น ถ้าขอบยางเสื่อมสภาพก็ให้เปลี่ยนใหม่ เป็นต้น
7. ค่าไฟสูงกว่าปกติ
ตู้เย็นเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ค่อนข้างจะกินไฟเยอะ เพราะต้องทำงานตลอดเวลา ยิ่งตู้เย็นที่ผ่านการใช้งานมายาวนานก็ยิ่งกินไฟมาก ฉะนั้นถ้าค่าไฟสูงกว่าเดือนที่ผ่าน ๆ มา ทั้งที่ใช้ไฟตามปกติ แสดงว่าสาเหตุอาจจะมาจากตู้เย็นก็ได้
อาการบางอย่างเราก็สามารถแก้ไขได้เองเบื้องต้น อย่างเช่น การเปลี่ยนขอบยางตู้เย็น แต่อาการบางอย่างต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ หรือไม่ก็ต้องซื้อตู้เย็นใหม่ไปเลย ถ้าไม่เชี่ยวชาญจริง ๆ แนะนำให้เรียกช่างมาซ่อมดีกว่านะคะ เพราะไม่อย่างนั้นอาจต้องซื้อตู้เย็นใหม่เลยก็ได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก hometips, techtalk และ sfgate