วิธีล้างผัก-ผลไม้ให้สะอาด อย่าปล่อยให้สารเคมีที่แฝงตัวอยู่ในผักต้องกลายเป็นนาฬิกานับถอยหลังสุขภาพร่างกายของเราเลย มาทำความสะอาดผักและผลไม้ก่อนนำไปกินกันดีกว่าค่ะ
แม้ผักเป็นอาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ทว่าหากผักที่รับประทานเข้าไปไม่สะอาด ก็ให้โทษกับร่างกายของเราได้เหมือนกัน อย่างเช่น สารเคมีหรือเหล่าเชื้อโรคที่แฝงตัวมากับผัก ฉะนั้นกระปุกดอทคอมเลยขอรวบรวมวิธีล้างผักเพื่อเพิ่มความปลอดภัยก่อนนำไปปรุงอาหารกันค่ะ
1. วิธีล้างผักด้วยน้ำเปล่า
วิธีล้างผัก-ผลไม้ที่ง่ายที่สุด คือ นำผัก-ผลไม้แช่ไปในน้ำเปล่าประมาณ 15 นาที จากนั้นหยิบออกมาล้างอีกครั้งด้วยการเปิดก๊อกน้ำให้น้ำไหลผ่านแรงพอประมาณ ในระหว่างนั้นก็คลี่ใบและถูตามซอกมุมไปด้วย หรือจะแปรงขนอ่อนช่วยกำจัดสิ่งสกปรกก็ได้ โดยวิธีนี้จะช่วยลดปริมาณสารตกค้างลงได้ตั้งแต่ 25-63%
2. วิธีล้างผักด้วยน้ำร้อน
แค่นำผัก-ผลไม้ลงไปลวกในน้ำร้อนเหมือนเวลาเราลวกผักปกติ ก่อนจะนำมากินหรือใช้ประกอบอาหารต่อ ก็ช่วยลดสารพิษปนเปื้อนได้ถึง 50% แล้ว
3. วิธีล้างผักด้วยน้ำส้มสายชู
วิธีล้างผัก-ผลไม้ด้วยน้ำส้มสายชู ให้นำน้ำส้มสายชู 5% จำนวน 1 ช้อนโต๊ะ ไปผสมกับน้ำเปล่า 4 ลิตร คนจนละลายเข้ากัน แล้วนำผัก-ผลไม้ลงไปแช่ประมาณ 15 นาที หลังจากนั้นก็นำออกมาล้างน้ำเปล่าให้สะอาด จะช่วยลดสารพิษตกค้างลงได้ประมาณ 60-84%
4. วิธีล้างผักด้วยเบกกิ้งโซดา
อีกหนึ่งวิธีล้างผัก-ผลไม้ง่าย ๆ แต่ได้ผลดี คือ ผสมเบกกิ้งโซดา หรือผงฟู ½ ช้อนโต๊ะ กับน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา 10 ลิตร จากนั้นนำผัก-ผลไม้ลงไปแช่สัก 15 นาที แล้วนำขึ้นมาล้างออกด้วยน้ำสะอาด เท่านี้ก็จะช่วยลดสารพิษตกค้างลงได้ถึง 90-95% เลยทีเดียว
5. วิธีล้างผักด้วยน้ำมะนาว
สำหรับการล้างผัก-ผลไม้ด้วยเลมอนหรือน้ำมะนาว ให้เติมน้ำเย็นลงไปในถ้วย ซิงค์ หรือกะละมัง จากนั้นใส่เกลือลงไป ¼ ถ้วย ตามด้วยน้ำมะนาวลงไป ½ ลูก คนให้เข้ากัน จากนั้นเด็ดผักเป็นใบ ๆ ผลไม้เป็นลูก ๆ ลงไปแช่ไว้สัก 10 นาที ก่อนนำขึ้นมาล้างอีกครั้งด้วยน้ำสะอาด
6. วิธีล้างผักด้วยผงถ่าน
เพียงแค่นำผงถ่านกัมมันต์ หรือผงถ่านแอคทิเวเต็ดคาร์บอน 1 ช้อนชา มาผสมกับน้ำเปล่า 5 ลิตร แล้วใส่ผัก-ผลไม้ลงไปแช่ไว้ประมาณ 15 นาที ก่อนล้างออกอีกครั้งด้วยน้ำสะอาด ก็จะช่วยให้ผัก-ผลไม้สะอาดเอี่ยมอ่อง พร้อมช่วยดูดซับกลิ่น สี และสารเคมีที่ไม่ดีออกไปได้แล้ว
7. วิธีล้างผักด้วยผงปูนคลอรีน
ผสมผงปูนคลอรีน ½ ช้อนชา เข้ากับน้ำเปล่า 1 แก้ว คนให้เข้ากัน แล้วปล่อยทิ้งไว้จนตกตะกอน จากนั้นเทเอาส่วนที่เป็นน้ำออกมาผสมกับน้ำเปล่าสะอาดอีก 20 ลิตร ขั้นตอนนี้จะทำให้ได้น้ำปูนคลอรีนที่มีความเข้มข้น 50 พีพีเอ็ม หลังจากนั้นก็นำผัก-ผลไม้ใส่ลงไปแช่ และสุดท้ายนำออกมาล้างน้ำเปล่าให้สะอาดอีกครั้งได้เลย
8. วิธีล้างผักด้วยด่างทับทิม
วิธีนี้จะเหมาะกับการล้างผัก-ผลไม้ที่เป็นหัว เป็นผล หรือกินทั้งเปลือก โดยมีขั้นตอน คือ ผสมน้ำเปล่า ด่างทับทิม 10-20 เกล็ด น้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะ และสารไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 20 หยด เข้าด้วยกัน จากนั้นนำผักลงไปแช่สัก 5 นาที โดยระหว่างนั้นให้ถู ๆ ตามผิว ตามเปลือก ของผัก-ผลไม้ไปด้วย สุดท้ายก็นำออกมาล้างน้ำสะอาดอีก 1-2 ครั้ง เท่านี้ก็เสร็จพร้อมกินหรือพร้อมประกอบอาหารแล้วค่ะ
9. วิธีล้างผักด้วยน้ำมันหอมระเหยมะนาว
ขั้นตอนการใช้น้ำมันหอมระเหยมะนาวล้างผักและผลไม้ ให้เริ่มต้นด้วยการเติมน้ำเย็นลงในซิงค์หรือถ้วย แล้วก็หยดน้ำมันหอมระเหยกลิ่นมะนาวลงไปประมาณ 10-20 หยด ผสมให้ละลายเข้ากัน จากนั้นนำผัก-ผลไม้ลงไปแช่ไว้ 10 นาที เสร็จแล้วก็นำมาล้างน้ำเปล่าให้สะอาดอีกที ก็จะเป็นอันเสร็จเรียบร้อย
10. วิธีล้างผักด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์
ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ก็นำมาล้างผัก-ผลไม้ให้สะอาด ปราศจากสารปนเปื้อนได้ ด้วยการผสมไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 2 ช้อนชา เข้ากับน้ำเปล่าเต็มซิงค์ หลังจากนั้นก็แช่ผัก-ผลไม้ทิ้งไว้สัก 20 นาที เมื่อครบแล้วก็นำออกมาล้างน้ำเปล่าต่ออีกครั้งตามปกติ
11. วิธีล้างผักด้วยเกลือ ขมิ้น น้ำส้มสายชู
เติมน้ำร้อนในถังหรือกะละมัง แล้วผสมเกลือ ขมิ้น และน้ำส้มสายชู ปริมาณเท่ากันลงไป จากนั้นใส่ผัก-ผลไม้ลงไปแช่อย่างน้อยครึ่งชั่วโมง ระหว่างนั้นอาจจะเติมน้ำมะนาวครึ่งลูกหรือไม่ก็ได้ พอครบกำหนดแล้วก็นำขึ้นมาล้างด้วยน้ำสะอาด ตามด้วยปล่อยให้แห้งตามธรรมชาติ วิธีนี้จะช่วยกำจัดเชื้อโรค เชื้อจุลินทรีย์ได้ดีมาก ๆ เลยล่ะ
12. ปอกเปลือกก่อนล้างผัก
วิธีสุดท้ายเป็นการปลอกเปลือกแล้วล้างน้ำ โดยมีขั้นตอนคือ ปอกเปลือกหรือลอกชั้นนอกของผัก-ผลไม้ออก จากนั้นนำไปแช่น้ำเปล่าประมาณ 10-15 นาที ก่อนจะนำมาล้างอีกครั้งด้วยการเปิดก๊อกน้ำให้น้ำไหลผ่าน ซึ่งมีผลการวิจัยออกมาว่า วิธีนี้ช่วยลดสารเคมีปนเปื้อนได้มากที่สุดถึง 92% เลยทีเดียว
ไม่ต้องกังวลจนไม่กล้ากินผักกันไปนะคะ แค่ล้างผัก-ผลไม้ให้สะอาดด้วยวิธีที่แนะนำไป เพื่อนำสารปนเปื้อนที่ตกค้างออก เพียงเท่านี้ก็สามารถกินผัก-ผลไม้ที่ชอบอย่างมั่นใจได้ว่าปลอดภัยกับสุขภาพของเราแล้ว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก กรมอนามัย, สสส., สวรส., treehugger และ timesofindia.indiatimes