14 แบบปลั๊กไฟที่ใช้ทั่วโลก แต่ละประเทศใช้ปลั๊กไฟแบบไหนบ้าง ?

          แนะนำแบบปลั๊กไฟที่ใช้ในปัจจุบันจากทั่วโลก ประเทศไหนใช้ปลั๊กไฟแบบไหนบ้าง มาดู 14 แบบปลั๊กไฟจากทั่วโลกที่ใช้ในประเทศต่าง ๆ กัน

ปลั๊กไฟ

          ถึงแม้ว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าในหลาย ๆ ประเทศจะเป็นยี่ห้อและรุ่นเดียวกัน แต่ก็ใช่ว่าจะสามารถใช้ปลั๊กไฟและเต้าเสียบร่วมกันได้หมด เนื่องจากในแต่ละประเทศจะมีการจ่ายไฟฟ้าไปตามบ้านเรือนในกำลังที่ต่างกัน จึงทำให้ปลั๊กไฟของเครื่องใช้ไฟฟ้าและเต้าเสียบในแต่ละประเทศแตกต่างกันไปด้วย ซึ่งปลั๊กไฟที่ใช้กันอยู่ทั่วโลกในปัจจุบันแบ่งได้เป็น 14 แบบ ดังนี้ 

1. ปลั๊กไฟ Type A


แบบปลั๊กไฟ

          - ลักษณะ : เป็นปลั๊กแบนสองขา ขาของปลั๊กชนิดนี้ในสหรัฐอเมริกาจะไม่เท่ากัน ทำให้เสียบกับเต้าเสียบได้เพียงหนึ่งด้านเท่านั้น แต่ในญี่ปุ่นรวมถึงไทย ขาทั้ง 2 ข้างของปลั๊กชนิดนี้จะเท่ากัน ทำให้เสียบได้ 2 ด้าน ฉะนั้นปลั๊กสองขาที่นำไปจากไทยและญี่ปุ่นจึงสามารถใช้ได้ในสหรัฐอเมริกา แต่ปลั๊กจากสหรัฐอเมริกาจะนำมาเสียบในไทยไม่ได้

          - ประเทศที่ใช้ : กลุ่มประเทศในแถบอเมริกาเหนือ (North America) และอเมริกากลาง (Central America) ญี่ปุ่น ไทย มาเลเซีย เวียดนาม ลาว ไต้หวัน จีน และเกาหลีเหนือ

2. ปลั๊กไฟ Type B 


แบบปลั๊กไฟ

          - ลักษณะ : ปลั๊กไฟไทป์ B หรือที่รู้จักในชื่อ ปลั๊กสามขา ใช้กันแพร่หลายเช่นเดียวกับไทป์ A ลักษณะคล้ายกับปลั๊กสองขา แต่จะมีขาสายดินเพิ่มขึ้นมาด้านบนระหว่างขาเสียบทั้งสองขา เวลาไฟรั่วก็จะรั่วลงดินผ่านขาที่สาม โดยขาปลั๊กสองขาด้านล่างจะแบน ส่วนขาบนจะกลมและยาวกว่า

          - ประเทศที่ใช้ : กลุ่มประเทศในแถบอเมริกาเหนือ (North America) และอเมริกากลาง (Central America) ญี่ปุ่น ไทย มาเลเซีย เวียดนาม ลาว ไต้หวัน จีน และเกาหลีเหนือ

3. ปลั๊กไฟ Type C


แบบปลั๊กไฟ



          - ลักษณะ : ปลั๊กกลมสองขา ใช้ได้กับเต้าเสียบที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางวงของรูระหว่าง 4-4.8 มิลลิเมตร ระยะห่างของรูทั้งสองอยู่ที่ 19 มิลลิเมตร เช่น เต้าเสียบสำหรับไทป์ E, ไทป์ F, ไทป์ J, ไทป์ K และไทป์ N

          - ประเทศที่ใช้ : ใช้กันแพร่หลายในยุโรป ยกเว้นประเทศอังกฤษและไอร์แลนด์ แถบเอเชียก็นิยมใช้กัน เช่น จีน ไทย อินโดนีเซีย อิหร่าน ภูฏาน พม่า ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เกาหลีใต้ และเกาหลีเหนือ

4. ปลั๊กไฟ Type D


แบบปลั๊กไฟ



          - ลักษณะ : ปลั๊กกลมสามขาทำมุมกันเป็นรูปสามเหลี่ยม โดยสองขาล่างมีเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากัน ส่วนขาด้านบนจะมีขนาดใหญ่กว่า สามารถใช้ร่วมกันกับไทป์ M ได้ โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่กว่าจะใช้ปลั๊กไทป์ M แทน

          - ประเทศที่ใช้ : บังกลาเทศ อินเดีย นามิเบีย ศรีลังกา เนปาล ภูฏาน ฮ่องกง กานา จอร์แดน มาดากัสการ์ พม่า ปากีสถาน การ์ตา แอฟริกาใต้ และแทนซาเนีย

5. ปลั๊กไฟ Type E  


 
          - ลักษณะ : มีลักษณะเป็นปลั๊กกลมสองขา เส้นผ่าศูนย์กลางของขาปลั๊กอยู่ที่ 4.8 มิลลิเมตร และอยู่ห่างกัน 19 มิลลิเมตร ด้านบนของขาปลั๊กจะมีรูใช้เชื่อมต่อกับขาปลั๊กของเต้าเสียบ ทั้งปลั๊กและเต้าเสียบของไทป์ E จะมีรูปร่างกลม สามารถใช้กับไทป์ F ได้

          - ประเทศที่ใช้ : ฝรั่งเศส เบลเยียม สโลวาเกีย ตูนิเซีย เดนมาร์ก กรีนแลนด์ โปแลนด์ คองโก ลาว และมองโกเลีย

6. ปลั๊กไฟ Type F


แบบปลั๊กไฟ

          - ลักษณะ : ไทป์ F มักจะรู้จักกันในชื่อปลั๊ก Schuko เป็นปลั๊กกลมสองขา เส้นผ่าศูนย์กลางของขาปลั๊กอยู่ที่ 4.8 มิลลิเมตร และอยู่ห่างกัน 19 มิลลิเมตร มีคลิปกราวนด์อยู่ด้านข้างทั้ง 2 ข้าง สามารถใช้ได้กับเต้ารับไทป์ E และไทป์ F

          - ประเทศที่ใช้ : เยอรมนี ออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ สเปน สวีเดน อียิปต์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ ฟินแลนด์ กรีซ อิตาลี เกาหลีใต้ เกาหลีเหนือ เวียดนาม ไทย และภูฏาน

7. ปลั๊กไฟ Type G


แบบปลั๊กไฟ

          - ลักษณะ : ปลั๊กสามขารูปสี่เหลี่ยม ส่วนปลายของขาปลั๊กจะเป็นรูปสามเหลี่ยม โดยขาทั้งสองข้างด้านล่างจะอยู่ในแนวนอน ส่วนขาที่สามด้านบนจะอยู่ในแนวตั้ง

          - ประเทศที่ใช้ : อังกฤษ ไอร์แลนด์ แทนซาเนีย คูเวต การ์ตา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฮ่องกง ศรีลังกา ภูฏาน กัมพูชา พม่า และสิงคโปร์

8. ปลั๊กไฟ Type H


แบบปลั๊กไฟ

          - ลักษณะ : ปลั๊กสามขาขาแบน โดยทั้งตัวปลั๊กและเต้าเสียบจะเป็นรูปวงกลม รูของเต้าเสียบจะเป็นวงกลมและมีช่องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ผ่ากลาง ซึ่งจะเป็นที่เสียบของขาปลั๊กนั่นเอง

          - ประเทศที่ใช้ : มีใช้แค่ที่ประเทศอิสราเอลเท่านั้น       

9. ปลั๊กไฟ Type I


แบบปลั๊กไฟ

          - ลักษณะ : ปลั๊กแบนสามขา โดยสองขาด้านล่างจะทำมุมเข้าหากันเป็นรูปตัว V ส่วนสายดินด้านบนจะตั้งตรง นอกจากนั้นปลั๊กไทป์ I ยังมีแบบสองขาอีกด้วย และปลั๊กจากออสเตรเลียก็สามารถใช้ได้กับเต้าเสียบในจีนเช่นกัน 

          - ประเทศที่ใช้ : ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี อาร์เจนตินา อุรุกวัย และจีน

10. ปลั๊กไฟ Type J


แบบปลั๊กไฟ



          - ลักษณะ : ปลั๊กกลมสามขา ถึงแม้ปลั๊กไทป์ J จะมีลักษณะคล้ายกับปลั๊กไทป์ N แต่ก็ไม่สามารถเสียบกับเต้าเสียบไทป์ N ได้ เนื่องจากขาด้านบนที่เป็นสายดินจะอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางของปลั๊กมากกว่าไทป์ N และไทป์ C แต่ปลั๊กไฟแบบนี้สามารถใช้กับเต้าเสียบไทป์ J ได้

          - ประเทศที่ใช้ : สวิตเซอร์แลนด์ จอร์แดน มัลดีฟส์ มาดากัสการ์ และลิกเตนสไตน์
 

11. ปลั๊กไฟ Type K


แบบปลั๊กไฟ

          - ลักษณะ : ปลั๊กจะมีสามขา โดยขาที่เป็นสายดินจะอยู่ด้านล่างเป็นรูปครึ่งวงกลม ส่วนอีกสองขาด้านบนจะเป็นวงกลม ปลั๊กไทป์ K จะคล้ายกับไทป์ F แต่จะแตกต่างกันที่ปลั๊กไทป์ F จะมีคลิปกราวนด์แทนสายดิน

          - ประเทศที่ใช้ : เดนมาร์ก กรีนแลนด์ มาดากัสการ์ มัลดีฟส์ และบังกลาเทศ

12. ปลั๊กไฟ Type L


แบบปลั๊กไฟ

          - ลักษณะ : ปลั๊กกลมสามขาเรียงกันในแนวตั้ง โดยขาตรงกลางจะเป็นสายดิน แต่ละขามีเส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ที่ 4 มิลลิเมตร และห่างกัน 5.5 มิลลิเมตร ปลั๊กจะมี 2 แบบ คือ แบบ 10 แอมป์ และแบบ 16 แอมป์

          - ประเทศที่ใช้ : อิตาลี ชิลี มัลดีฟส์ และอุรุกวัย
 

13. ปลั๊กไฟ Type M


แบบปลั๊กไฟ

          - ลักษณะ : ปลั๊กกลมสามขาทำมุมเป็นรูปสามเหลี่ยม คล้ายกับไทป์ D แต่ขาที่สามด้านบนของไทป์ M จะมีขนาดใหญ่กว่า ส่วนใหญ่แล้วไทป์นี้จะผลิตออกมาใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ในประเทศที่ใช้ปลั๊กไทป์ D

          - ประเทศที่ใช้ : แอฟริกาใต้ อินเดีย อิสราเอล ภูฏาน ศรีลังกา มาเก๊า สิงคโปร์ และมาเลเซีย

14. ปลั๊กไฟ Type N


แบบปลั๊กไฟ

          - ลักษณะ : ปลั๊กกลมสามขา โดยขาที่สามด้านบนจะเป็นสายดิน แบ่งเป็น 2 แบบ คือ แบบ 10 แอมป์ ซึ่งสองขาด้านล่างจะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 มิลลิเมตร และแบบ 20 แอมป์ ซึ่งสองขาด้านล่างจะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.8 มิลลิเมตร เต้าเสียบของไทป์ N ใช้ได้กับปลั๊กไทป์ C

          - ประเทศที่ใช้ : บราซิลและแอฟริกาใต้

          คราวนี้รู้กันแล้วใช่ไหมคะว่ามีปลั๊กไฟแบบไหนบ้าง และแต่ละประเทศใช้ปลั๊กไฟแบบไหน ก่อนเดินทางหรือจำเป็นต้องย้ายไปอยู่ต่างแดนก็อย่าลืมนำเต้าเสียบหรือเตรียมปลั๊กไฟไปให้เรียบร้อยนะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก iec และ worldstandards
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
14 แบบปลั๊กไฟที่ใช้ทั่วโลก แต่ละประเทศใช้ปลั๊กไฟแบบไหนบ้าง ? อัปเดตล่าสุด 19 กรกฎาคม 2567 เวลา 10:19:50 66,603 อ่าน
TOP
x close