x close

วิธีกำจัดและป้องกันตะขาบ ปราบสัตว์มีพิษให้อยู่หมัดในช่วงหน้าฝน

วิธีกำจัดตะขาบ

          รวมวิธีกำจัดตะขาบพร้อมกับวิธีป้องกันที่จะปิดประตูตาย ไม่ยอมให้ตะขาบย่างกรายเข้ามาในบ้านของเราเด็ดขาด งั้นไปดูกันดีกว่าว่าจะมีวิธีอะไรช่วยไล่ตะขาบได้บ้าง
 
          ในช่วงหน้าฝนแบบนี้ บรรดาสัตว์และแมลงต่างก็อพยพพากันย้ายรังเข้ามาในบ้านเรา ไม่เว้นแม้แต่ "ตะขาบ" สัตว์หลายขาที่มีพิษร้ายแรงพวกนี้ก็ชอบหนีเข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณบ้านของเราเหมือนกัน วันนี้กระปุกดอทคอมเลยรวบรวมวิธีกำจัดและวิธีป้องกันตะขาบมาฝากกันค่ะ เพื่อให้คุณใช้ชีวิตอยู่ในบ้านอย่างมีความสุข ไม่ต้องระแวงว่าตะขาบจะโผล่มาทำอันตราย
วิธีกำจัดตะขาบ

วิธีกำจัด

1. ไวกว่าได้เปรียบ

          ถ้าจะกำจัดตะขาบคุณต้องว่องไวสุด ๆ เพราะตะขาบจะไม่อพยพเข้าบ้านเป็นกองทัพ แต่มันจะมาเพียงลำพังเลยทำให้สังเกตยากหน่อย หากมองเห็นมันในอยู่ระยะสายตา ให้รวมความกล้าแล้วกระทืบเท้าลงพื้น (ไม่ต้องกระทืบตะขาบนะคะ) เพื่อส่งสัญญาณไล่ให้หนีออกไป หรือหยิบสเปรย์มาฉีดไล่ไปเลยก็ได้ สำหรับคนที่กลัวตะขาบมากเป็นพิเศษให้หาโหลมาคว่ำเพื่อขังมันไว้ แล้วค่อย ๆ ย้ายมันออกไปนอกบ้าน

2. วางกับดักเพื่อจับตะขาบไว้

          ถ้าตะขาบเข้ามาในบ้านแล้วเราหาไม่เจอ ให้นำกับดักชนิดเทปกาวหรือถาดกาวมาวางไว้ตามรอยแยก รูรั่ว หรือช่องโหว่ในบ้านเพื่อล่อให้ตะขาบมาติดกับดัก แต่วิธีนี้อาจจะใช้ได้ผลกับตะขาบตัวเล็ก ๆ ซะส่วนใหญ่ เผลอ ๆ อาจได้แมลงชนิดอื่นติดมาด้วยนะ 

3. ใช้ยาฆ่าแมลง

          หากวิธีทางธรรมชาติใช้ไม่ได้ผล ก็ควรซื้อยาฆ่าแมลงที่มีขายตามร้านขายอุปกรณ์ทำสวนมาช่วยกำจัด ควรเลือกชนิดที่ไม่เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์เลี้ยงมาใช้ หรือไม่ก็ใช้สารกำจัดศัตรูพืช อย่างกรดบอริกหรือดินเบามาวางดักเอาไว้ก็ได้ค่ะ

4. พ่นยาที่ฐานบ้านและผนังด้านนอก

          วางกับดักสังหารตั้งแต่นอกบ้านเลยก็ได้ เพราะตะขาบต้องสัมผัสกับฐานบ้านหรือผนังบ้านด้านนอกก่อนเป็นลำดับแรก ดังนั้นหากเรานำยาฆ่ามดที่ไม่เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์เลี้ยงมาฉีดพ่นฐานบ้านหรือผนังด้านล่างของบ้านให้ทั่ว ตะขาบก็จะเข้ามาในบ้านไม่ได้แม้แต่ตัวเดียว

5. โทร. เรียกเจ้าหน้าที่

          แต่ถ้าลองทำมาทุกวิธีแล้วยังไม่ได้ผลดี ยังมีตะขาบเข้าบ้านอยู่เรื่อย ๆ แนะนำให้โทร. หาเจ้าหน้าที่หรือเรียกบริษัทกำจัดแมลงมาช่วยไล่ เพราะนอกจากจะกำจัดได้ผลแล้ว ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ยังรู้วิธีในการกำจัดถึงรัง และช่วยป้องกันการรบกวนในระยะยาวอีกด้วย

วิธีกำจัดตะขาบ

วิธีป้องกัน

1. อย่าให้มีสัตว์อื่น ๆ ในบ้าน


          สาเหตุที่ตะขาบเข้าบ้านเพราะจะเข้ามาหาอาหารกินนั่นเอง เหยื่ออันโอชะก็ได้แก่ จิ้งจก หนู แมงมุม และแมลงตัวเล็ก ๆ ฉะนั้นเราต้องดูแลทำความสะอาดบ้านให้ดี ไม่ให้มีสัตว์เหล่านี้เข้ามาอยู่ในบ้านเลยดีกว่า

2. อย่าปล่อยให้บ้านชื้นแฉะ

          ตะขาบเป็นสัตว์ที่ชอบอาศัยอยู่ในจุดที่ชื้นและแฉะ ดังนั้นเราจึงต้องดูแลและทำความสะอาดบ้านให้ห่างไกลความชื้น โดยเฉพาะบริเวณชั้นใต้ดิน ตู้เสื้อผ้า และพื้นที่ซักล้างที่เปียกชื้นบ่อย หรือจะหาซื้อเครื่องปรับลดความชื้นมาวางไว้ในบ้านก็ได้ค่ะ…ง่ายดี แต่ถ้าอยากป้องกันตะขาบในราคาประหยัด แนะนำให้หาซองกันชื้น (ซิลิกา) มาวางไว้ตามจุดชื้น ๆ ในบ้านก็ช่วยได้เหมือนกัน

3. เก็บเครื่องมือ-อุปกรณ์ต่าง ๆ ไว้นอกบ้าน

          นอกจากจะป้องกันความชื้นในบ้านแล้ว เรายังต้องนำสิ่งของและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่สามารถเป็นที่อยู่อาศัยของตะขาบออกไปนอกบ้านด้วยนะคะ อย่างเช่น ท่อนไม้ วัสดุคลุมดิน ผ้าใบ ถังหมักปุ๋ย เศษใบไม้ และอื่น ๆ ที่พอจะเป็นตัวล่อตะขาบได้ ให้เอาออกไปเก็บไว้นอกบ้านและเว้นระยะให้ห่างจากบ้านให้เหมาะสมด้วยก็จะดี

4. อุดช่องโหว่ ไม่ให้ตะขาบเข้า

          อย่าปล่อยให้มีช่องโหว่ รอยแตก และรูรั่วในบ้านเด็ดขาด เพราะช่องทางเหล่านี้คือ ทางเข้าของตะขาบดี ๆ นี่เอง เริ่มจากเดินสำรวจรอบบ้านว่ามีจุดไหนบ้าง แล้วใช้ปูนซีเมนต์ ยาแนว หรือแผ่นอุดช่องโหว่มาปิดไว้ และอย่าลืมสำรวจรางน้ำฝนว่ามีเศษขยะ กิ่งไม้ และใบไม้บ้างไหม เพราะตะขาบชอบไปอาศัยอยู่ตามแหล่งแบบนั้น

5. โรยพริกป่นกั้นอาณาเขต


          ถ้าอุดช่องโหว่แล้วยังไม่มั่นใจ แนะนำให้หาพริกป่นหรือพริกไทยมาโรยไว้รอบบ้านเพื่อกั้นอาณาเขต จะโรยทั้งข้างในหรือข้างนอกก็ตามแต่สะดวกเลยค่ะ แต่ถ้าจะให้ดีควรเป็นพริกป่นชนิดคาเยน เปเปอร์ (Cayenne Paper) เพราะมีความเผ็ดร้อนที่ทำให้สัตว์ไม่กล้าเข้ามารบกวนอีก

          ถึงอย่างไรวิธีเหล่านี้จะช่วยกำจัดและป้องกันตะขาบได้ในระดับเบื้องต้นเท่านั้น ทางที่ดีเราควรทำความสะอาดและหมั่นดูแลเอาใจใส่รอบบ้านอยู่บ่อย ๆ ก็จะช่วยป้องกันแบบตัดไฟตั้งแต่ต้นลมเลยค่ะ ถ้าหากทำได้ครบตามนี้รับรองว่าจะไม่มีตะขาบตัวไหนโผล่หน้ามาให้คุณต้องตกใจอย่างแน่นอน
 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก wikihow และ Contractorquotes

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีกำจัดและป้องกันตะขาบ ปราบสัตว์มีพิษให้อยู่หมัดในช่วงหน้าฝน อัปเดตล่าสุด 27 สิงหาคม 2562 เวลา 17:11:04 128,009 อ่าน
TOP