x close

ทำระบบน้ำสปริงเกลอร์สวนหย่อม และฟื้นฟูหญ้าให้กลับมาเขียวชะอุ่ม !

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          ทำระบบน้ำสปริงเกลอร์สวนหย่อม และฟื้นฟูหญ้าให้กลับมาเขียวชะอุ่ม อยากทำไว้ที่สวนของตัวเองบ้าง มาดูวิธีวางระบบน้ำสปริงเกลอร์พร้อม ๆ กันเลยค่ะ

          ถึงแม้จะไม่เก่งเรื่องการจัดสวน แต่ถ้าหากเป็นเรื่องของระบบน้ำหรือการดูแลสวนละก็ บอกได้เลยว่า คุณ ฟ้าสีหมอก สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ไม่เป็นสองรองใครแน่ เพราะเขาได้ทำการติดตั้งระบบน้ำสปริงเกลอร์สำหรับสวนหย่อมของเขาด้วยตัวเอง ในราคาสุดคุ้ม ประมาณตารางเมตรละ 100 บาท ซึ่งต้องบอกว่าเห็นผลดีและทำง่ายมาก จนเขาเคลมว่าใคร ๆ ก็สามารถทำได้ อีกทั้งยังมีรีวิวเครื่องตัดหญ้าที่ถูกและดี แถมเหมาะกับผู้หญิงมาฝากอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นกระทู้ที่ได้ความรู้และสาระเกี่ยวกับการดูแลสวนหย่อมแน่นมากจริง ๆ เอาเป็นว่าขั้นตอนและประสบการณ์ในการติดตั้งระบบน้ำสวนหย่อมของเขาจะเป็นอย่างไร ตามไปดูกันได้เลยค่ะ
ระบบน้ำสวนหย่อมของง่าย ๆ ใคร ๆ ทำได้ ภาค ๒ (ภาครื้อฟื้นสนาม) โดย คุณ ฟ้าสีหมอก

          ปกติแล้วผมไมค่อยเข้าห้องนี้เท่าไร ส่วนใหญ่จะเข้าห้องมุมเกษตร แต่วันนี้ถือโอกาสนำระบบน้ำสวนหย่อมหรือสนามหญ้าอย่างง่ายมาให้ชมกันครับ เป็นระบบที่จับนั่นจับนี่มาผสมกัน เอาแค่พอใช้งานได้ครับ ส่วนเรื่องต้นไม้หรือการจัดสวนผมทำไม่เป็นกับเขาหรอก ถนัดแต่เรื่องระบบน้ำ

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - ระบบน้ำอันนี้ทำเองที่บ้านครับ

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - พื้นที่ส่วนที่วางระบบน้ำประมาณ 100 ตารางเมตรครับ โดยขั้นแรกก็เริ่มจากนั่งคิดแบบในอากาศเพื่อประมาณจำนวนหัว POP-UP ประมาณท่อข้อต่อต่าง ๆ จากนั้นก็วางแนวท่อคร่าว ๆ และเมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วก็ลงมือขุดดินครับ ซึ่งระบบน้ำในสวนหย่อมนี้ไม่จำเป็นต้องขุดลึกมาก แค่ระดับ 10-20 เซนติเมตร ก็พอแล้วครับ

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - สวนขนาดเล็ก ๆ ขุดเองก็ได้ครับ

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - เมื่อขุดเสร็จก็ต่อท่อครับ เวลาต่อท่อใช้ความละเอียดสักนิดนะครับ เพราะระบบท่อทั้งหมดจะอยู่ใต้ดิน

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - กล่องใส่วาล์วอย่างง่าย ๆ ครับ

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - ต่อท่อไปเรื่อย ๆ ครับ (ตัวตุ่นประจำสวนกำลังสงสัยว่าทำอะไรกันครับ อิอิ)

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - เมื่อต่อท่อเสร็จแล้วก็ทดลองติดตั้งหัวจ่ายน้ำ POP-UP

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - เมื่อทุกอย่างพร้อม สิ่งที่ต้องทำต่อไปก็คือล้างท่อ เพื่อป้องกันเศษผงของท่อหรือเศษสิ่งสกปรกต่าง ๆ อุดตันที่หัวครับ ข้อควรระวังหลังจากต่อท่อเสร็จ คือ ควรทิ้งเวลาไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนการทดลองน้ำ หรือถ้าเป็นงานละเอียดก็ทิ้งเอาไว้ 24 ชั่วโมงเลยก็ได้ โดยปั๊มที่ผมใช้เป็นปั๊มเก่าที่มีอยู่ที่บ้านครับ เป็นปั๊มชักขนาด 1/3 แรงม้า คิวและเฮดพอได้ครับ เลยไม่ต้องเสียเงินซื้อใหม่

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - เมื่อทุกอย่างพร้อมก็ทดสอบปั๊ม เช็กแรงดันได้แล้ว...เย้

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - จากนั้นก็ทดลองหัวจ่ายน้ำและปรับตั้งองศาการฉีดให้เหมาะสม

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - เมื่อได้ตำแหน่งที่แน่นอนและทุกอย่างพร้อมก็ให้ทำการกลบดินได้ครับ โดยบริเวณหัวจ่ายน้ำเป็นจุดที่ต้องระวังเป็นพิเศษครับ ตั้งหัวให้ตรงให้ได้ระดับที่ต้องการ แล้วก็อัดดินให้แน่นครับ

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - กลบดินระบบท่อทั้งหมด โรยทรายรองพื้นก่อนปูหญ้า โดยผมใช้เป็นทรายก่อสร้างธรรมดาครับ

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - ใช้ลูกกลิ้งทำเองแบบง่าย ๆ เพื่อปรับระดับดินครับ

ระบบน้ำ สวนหย่อม

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - ก่อนปูหญ้าก็ฉีดพรมน้ำให้ดินชื้นก่อนครับ

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - จากนั้นก็ปูหญ้ากันได้เลย

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - ขณะปูหญ้าก็ใช้ลูกกลิ้งบดทับอีกครั้งครับ

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - พอปูหญ้าเสร็จ เจ้านายก็มาตรวจความเรียบร้อยของงาน

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - ทดลองระบบน้ำอีกรอบ ก็เป็นอันเสร็จครับ ไม่ยากจนเกินไปใช่ไหมครับ ?

โดยค่าใช้จ่ายสำหรับระบบน้ำสวนหย่อมจะอยู่ที่ประมาณ ตารางเมตรละ 100 บาทครับ สำหรับผม ผมว่าคุ้มครับ เพราะ

          1. ช่วยประหยัดเวลาในการรดน้ำต้นไม้และสนามหญ้า

          2. ทำให้หญ้าเขียวสวยงามตลอดทั้งปี เนื่องจากได้รับน้ำสม่ำเสมอ

          3. ประหยัดน้ำและประหยัดแรงงาน ทำให้งานรดน้ำต้นไม้เป็นงานง่ายครับ อีกทั้งยังสามารถต่อยอดติดตั้งระบบอัตโนมัติต่อได้ เพียงแค่เพิ่มวาล์วไฟฟ้าและชุดคอนโทรลเลอร์

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - นอกจากนี้ผมยังได้ติดตั้งระบบมินิสปริงเกลอร์สำหรับไม้ดอกไม้ประดับเพิ่มอีก 10 หัวครับ ซึ่งก็ทำได้อย่างง่าย ๆ เช่นกัน เห็นแล้วชุ่มฉ่ำครับ

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - สนามหญ้าในปัจจุบันครับ ยังพอดูได้อยู่ครับ

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - ส่วนการตัดหญ้าสนามหญ้า เนื่องจากว่าเครื่องตัดหญ้าทั่ว ๆ ไปที่ใช้เครื่องยนต์นั้นไม่เหมาะกับสุภาพสตรีเพราะอันตราย หนัก และใช้งานยาก แถมหญ้าที่ตัดโดยเครื่องตัดแบบเหวี่ยงจะใบแตกและไม่สม่ำเสมอ ผมจึงแนะนำ (แกมบังคับ) ให้ที่บ้านใช้เครื่องตัดหญ้าแบบที่มีเครื่องตัดมีดพวงแบบเข็นแทน ซึ่งปัจจุบันมีขายในไทยแล้ว ถ้าของไทยทำก็ประมาณ 3,000 กว่าบาท ถ้าเป็นของนำเข้าก็ประมาณ 8,000-9,000 บาท บวกตะกร้าใส่หญ้าเวลาตัดหญ้าอีกประมาณ 2,800 บาท

โดยข้อดีของเครื่องตัดหญ้าแบบนี้ คือ

          1. เบาและใช้งานง่าย เพียงแค่ออกแรงเข็น ชุดใบตัดก็จะหมุนเองตามล้อ อีกทั้งสามารถใช้งานได้ทั้งเด็ก สตรี และคนชรา

          2. ไม่ใช้เครื่องยนต์ จึงไม่เปลืองน้ำมันและไม่มีเสียงดัง

          3. ปลอดภัย

          4. ใบหญ้าไม่แตกเสียหาย เนื่องจากชุดใบมีดตัดเป็นใบมีดพวง การตัดจึงเป็นการเฉือนคล้ายกรรไกร ชุดใบตัดแบบนี้จะใช้กับสนามกอล์ฟครับ แต่อันนั้นถ้าแบบเข็นสำหรับตัดกรีนจะเครื่องละเป็นแสน

          5. สามารถตั้งระยะตัดได้หลายระดับ และสามารถตั้งตัดได้ต่ำสุด 12 มิลลิเมตร

          6. ประหยัดเวลาในการตัดหญ้า เพราะมีตะกร้ารองเศษหญ้าในตัว ขณะตัดใบหญ้าจะกระเด็นไปด้านหลังลงตะกร้าพอดี สามารถยกทิ้งได้ทันทีไม่ต้องเก็บใบหญ้าหรือกวาดซ้ำ

          7. เป็นการออกกำลังกายไปในตัวครับ

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - ตัวสีส้มเป็นตัวปรับระดับการตัดครับ ช่องรูปสี่เหลี่ยมเอาไว้ดูตัวเลขขณะตั้งระดับ ส่วนร่องที่เห็นนั้นเอาไว้สำหรับเกี่ยวกับตะกร้าใส่เศษหญ้าครับ

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - ชุดใบมีดพวงครับ

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - ส่วนรูปนี้ขณะติดตะกร้าใส่เศษหญ้าครับ น้ำหนักเบา ยกทิ้งได้ง่าย สังเกตชุดตัดหญ้านะครับ ตัดได้ง่ายมากไม่ต้องใส่ชุดป้องกันอะไรให้ยุ่งยากเลย เทียบกับเครื่องสะพายแล้วต่างกันมากครับ

          ป.ล. ปกติงานตัดหญ้าผมยกให้พี่สาวครับ... ทุกวันนี้งานตัดหญ้าเป็นงานง่าย ๆ สำหรับพี่สาวผมแล้ว

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - จบกันด้วยรูปตัวตุ่นประจำสนามครับ เผลอเป็นขุดทุกที

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

          พอหลายปีผ่านไป มาจนถึงตอนนี้ ระบบเก่าก็เสียหายแทบทั้งหมดเนื่องจากการรื้อสร้างบ้านใหม่ เลยมารื้อฟื้นสนามหญ้าเพื่อรับฤดูร้อนที่แสนจะอบอุ่น เอาเป็นว่ามาเริ่มกันเลยครับ

          ระบบสปริงเกลอร์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบใหญ่ ๆ (อันนี้ผมแบ่งเองนะ) คือ ระบบสปริงเกลอร์ที่ใช้ในสวนหย่อมหรือสนามกอล์ฟ กับระบบสปริงเกลอร์ที่ใช้ในงานเกษตร ซึ่งทั้ง 2 รูปแบบนี้มีทั้งที่เหมือนกันและที่แตกต่างกัน คือ เหมือนกันในเรื่องของการออกแบบและขั้นตอน ส่วนจะต่างกันในเรื่องการใช้งาน โดยแบบที่ใช้กับสวนหย่อมจะเน้นความสวยงามและการควบคุม

          โดยระบบสปริงเกลอร์ที่ผมเลือกใช้กับสวนหย่อมที่บ้าน คือระบบสปริงเกลอร์ POP-UP ระบบนี้จะเน้นความสวยงามโดยอุปกรณ์ต่าง ๆ จะฝังไว้ใต้ดิน ทั้งระบบท่อและหัวสปริงเกลอร์ (เห็นหลายที่มาก ๆ นำหัว POP-UP มาตั้งโด่เด่บนดินแล้วรู้สึกขัดหูขัดตาเป็นอย่างยิ่ง เสียของหมดเลย) สำหรับวัสดุอุปกรณ์ก็มีขายทั่วไป หาได้ตามร้านค้าในแต่ละจังหวัดเลยครับ จะเอาแบบควบคุมอัตโนมัติก็ได้ เดี๋ยวนี้ไม่ได้หายากอย่างแต่ก่อนแล้ว

          ซึ่งจริง ๆ ระบบน้ำสนามที่บ้านผมเคยทำมาหลายปีแล้ว ด้วยงบประมาณราว 6,000 บาท แต่พอมารื้อสร้างบ้านใหม่ก็ไม่มีเวลาได้ซ่อมแซมรื้อฟื้นสนามอีกเลย ปล่อยให้ทุกอย่างฝังอยู่ในดิน สนามก็ไร้การดูแล ทั้งเศษหิน เศษปูนเต็มสนาม พอมีโอกาสพร้อมโดนขอร้องให้ไปฟื้นสวนหย่อม ก็เลยไปจัดให้ งานก็เริ่มจาก

1. ประเมินความเสียหายและซ่อมระบบน้ำเดิม ซึ่งทำได้ยากมาก เพราะทุกอย่างฝังอยู่ในดินและพื้นที่เพิ่งผ่านการสร้างบ้านใหม่ มีการขุดหลุมทำนั่นทำนี่เต็มไปหมด แต่ก็ทำใจเย็น ๆ ไปเรื่อย ๆ จนเสร็จเรียบร้อย

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - สภาพสนามดูไม่ได้เลย ต้องทำอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะต้องขุดปรับระดับดิน

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - สภาพกรองเกษตรหลังจากไม่ได้ใช้มานานสองปี ต้องรีบจัดการให้ปั๊มใช้งานให้ได้ก่อนจึงจะซ่อมระบบท่อได้ ถ้าไม่เปิดปั๊มดู ก็ไม่รู้ว่าท่อรั่วหรือเสียหายไปกี่จุด

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - งานยากคือต้องขุดหาหัวสปริงเกลอร์ที่ฝังอยู่ในดิน แม้ว่าจะวางเองกับมือและจำได้ว่าอยู่แถวไหน แต่เวลาขุดหาจริงก็ไม่ง่ายนะ ต้องระวังไม่ให้สับจอบไปโดนอีก ไม่งั้นงานเข้าได้งานเพิ่มอีก

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - ระบบท่อเสียหายไปพอสมควร เพราะพื้นที่บริเวณนั้นเกี่ยวข้องกับการสร้างบ้านใหม่ วิธีง่าย ๆ ก็เปิดน้ำดู เปียกตรงไหนก็รั่วตรงนั้นแหละ ผลจากการลองเปิดปั๊มพบว่า ท่อรั่วกระจาย ซ่อมวนไปทั้งวัน ระบบท่อที่ฝังดินนั้นซ่อมยากเอาเรื่องเลย แต่ถ้าอยากสวยก็ต้องยอม

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - เปลี่ยนเกจวัดแรงดันด้วย เกจตัวนี้สำคัญมาก ๆ กับระบบน้ำที่ใช้ปั๊ม เกจตัวเดียวบอกได้หมด ท่อแตก ท่อรั่ว หรือปั๊มสูบไม่ขึ้น เรียกได้ว่าเป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่สำคัญที่คนมักมองข้าม

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - ถ้าระบบไม่รั่ว ไม่ซึม เปิดปั๊มแล้วแรงดันต้องได้ตามสเปคปั๊ม

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - เจอแล้ว ๆ ฝังอยู่นี่เอง ขุดหาแทบแย่

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - ไหนดูหน่อยยังพอจะใช้ได้ไหม เปิดแล้วน้ำออกมาแบบนี้ ก็แสดงว่าสภาพยังใช้ได้อยู่ แค่ล้างไส้กรองข้างในหัวก็แจ๋วแล้ว

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - ซ่อมท่อแล้ว หาหัวเจอแล้ว ต่อไปก็ซ่อมระบบควบคุมอัตโนมือ ของเดิมใช้กระถางต้นไม้พลาสติกตัดครึ่งทำเป็น Valve Box ครอบฝังดินเอาไว้ ของใหม่ซื้อชุดสำเร็จจากร้านเลยดีกว่า ราคาไม่กี่ตังค์เอง ดูดีมีระดับขึ้นมาเยอะเลย ฮ่า ๆๆ

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - หลังจากทุกอย่างพร้อมก็ลองระบบดูหน่อยว่าต้องแก้ไขตรงไหนอีกไหม นั่นไง ๆ ขึ้นแล้ว น้ำออกแล้ว ฉีดเป็นละอองฝอยชื่นใจเลย โดยรวมระยะเวลาในการซ่อมระบบน้ำทั้งหมดก็เกือบสามวันครับ

2. รื้อสนามเก่า โดยเฉพาะเศษหินเศษปูนที่ถูกขนมากองไว้ตอนสร้างบ้าน ต้องขุดออกทิ้งให้หมด เพื่อปรับระดับหน้าดินใหม่ และเพื่อป้องกันเครื่องตัดหญ้าที่อาจเสียหายด้วย

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - เริ่มจากขุดปรับหน้าดินให้ต่ำลงอีก 5 เซนติเมตร ขุดเอาหญ้าที่ไม่ต้องการออก เอาเศษหินเศษปูนจากการสร้างบ้านออก ซึ่งพอเริ่มขุดก็มีเจ้าของสวนมาตรวจงาน ดินขุดใหม่เย็น ๆ เลยถือโอกาสมานอนยิ้มหวานเลยนะ

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - ให้กำลังใจอย่างใกล้ชิด ไม่ยอมไปไหนเลย ฮ่า ๆ

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - เริ่มดูดีขึ้นมาแล้ว เหลือปรับระดับดินอีกหน่อยก็ใช้ได้

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - เช็กความพร้อมของหัวสปริงเกลอร์ พร้อมปรับระดับหัวให้เหมาะกับระดับดินใหม่

3. ปูหญ้า ปลูกต้นไม้ และตกแต่งสวน

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - เมื่อทุกอย่างพร้อมก็โรยหน้าด้วยทรายหยาบหนาประมาณ 3-5 เซนติเมตร เพื่อปรับระดับหน้าดินครั้งสุดท้าย เวลารองพื้นด้วยทรายนี้ ถ้าได้ลูกกลิ้งมากลิ้งด้วยก็จะดีมาก ๆ พื้นจะเรียบได้ระดับดีมาก ครั้งแรกที่ปูหญ้าก็ใช้ลูกกลิ้งช่วย แต่ครั้งนี้เอาลูกกลิ้งให้เขายืมไปใช้ ไม่มีโอกาสไปเอากลับมาคืนสักที พื้นที่เลยใช้จอบใช้พลั่วปรับเอา ก็ไม่ถึงกับเรียบมากแต่ก็พอใช้ได้

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - ลูกกลิ้งไม่มีก็เอาล้อรถเก่ามาใช้แทน พอให้หญ้ามันยืดเหยียดตรงหลังจากที่พับมา ทำให้สัมผัสกับดินจะได้ดีขึ้น รอบนี้ซื้อหญ้ามารอถึงสองวัน เจออากาศเดือนเมษายนอีก ทำให้หญ้าช้ำพอสมควร ทั้งเหลือง ทั้งเหี่ยว คงต้องใช้เวลานานกว่ารอบแรกกว่าจะฟื้นได้

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - หลังจากปูหญ้าเสร็จก็รดน้ำให้เปียกชุ่ม อากาศช่วงนี้แห้งและร้อนมาก ต้องรดน้ำทุก 2 ชั่วโมง

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - หลังจากปูหญ้าเสร็จก็เปิดน้ำวันหนึ่งก็ประมาณ 4-5 ครั้ง

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - เห็นรอยที่พับกันมาชัดเจน ถ้าปล่อยไว้นานกว่านี้หน่อยคงตายมากกว่านี้แน่

          หลังจากปูหญ้าได้ประมาณ 10 วัน หญ้าก็ฟื้นตัวจนยาว แล้วก็ถึงเวลาตัดแต่งหญ้าให้สวยงามได้ โดยใช้เครื่องตัดหญ้าแบบเข็นตัด เครื่องนี้ไม่มีเครื่องยนต์ใด ๆ ใช้แรงเข็นแล้วล้อจะหมุน ชุดมีดพวงทำให้ใบมีดตัดเฉือนใบหญ้าได้เหมือนกรรไกร ไม่ทำให้ใบหญ้าแตกขาดแต่อย่างใด เครื่องตัดแบบนี้จะพบได้ในสนามกอล์ฟ แต่ในสนามกอล์ฟจะใช้เครื่องยนต์ ถ้าตัดบนกรีนจะใช้แบบคนเดินตัด ถ้าตัดแฟร์เวย์จะใช้แบบรถนั่งขับ

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - เครื่องตัดตัวนี้ผมบังคับพี่สาวซื้อ โดยแอบซื้อมาให้แล้วมาเก็บเงินปลายทาง เพราะเป็นเครื่องตัดที่ใช้งานง่าย ไม่อันตราย ไม่ใช้เครื่องยนต์ ไม่ใช้ไฟฟ้า ใช้แต่แรงคนในการเข็นอย่างเดียว ไม่ต้องพึ่งผู้ชายอย่างเครื่องแบบที่ใช้เครื่องยนต์ ทำให้สามารถตัดหญ้าได้บ่อย ๆ ไม่ต้องรอให้ยาวมาก แถมยังตัดหญ้าได้สวยงามมาก เรียกว่าใช้แค่แรงคนเข็นก็สวยแล้ว ตั้งระดับต่ำสุดได้ 12 มิลลิเมตร เรียกว่าตัดได้สั้นมาก ราคาค่าตัวถ้าของยี่ห้อนี้ก็ประมาณ 10,000 บาท (ราคาพร้อมกระบะเก็บหญ้า) 

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - หน้าตาชุดใบมีดเป็นแบบนี้

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - เพราะใบมีดเป็นแบบนี้ ใช้การเฉือนแบบกรรไกร ใบถึงไม่แตก แต่ก็กลัวเศษหินมากนะ

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - ตัดแล้วก็สวยแบบนี้แหละ

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - ผ่านมาสองสัปดาห์แล้ว หญ้าฟื้นตัวเต็มที่ ระบบน้ำทำงานได้ดี ทำให้ชุ่มฉ่ำสวยงาม ในการตกแต่งสวนเป็นส่วนของพี่สาวที่จัดหาของและต้นไม้มาตกแต่งตามแต่ใจนาง นางบอกขอให้ระบบน้ำดี ที่เหลือฉันแต่งของฉันเอง ฮ่า ๆ

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - สำหรับต้นไม้ต่าง ๆ ที่ปลูกเพิ่มก็ใช้ระบบมินิสปริงเกลอร์รดน้ำ หัวมินิก็ราคาชุดละ 11 บาท ใช้ไม่ถึง 10 หัวก็ใช้ได้แล้ว

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - เวลาเห็นละอองน้ำแล้ว เพิ่มชีวิตชีวาให้สวนหย่อม และเพิ่มความสดชื่นให้กับผู้อยู่อาศัยได้

ระบบน้ำ สวนหย่อม

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - ระบบน้ำที่ดีก็ช่วยให้สวนสวยงามและสวยนานได้ทุกฤดูกาล

          ส่วนนี่เป็นคอนเซ็ปต์ในการเลือกชนิดหญ้าของผมนะครับ

          ตัวผมเองคิดว่าสวนหย่อมจะสวยได้เพราะสนามหญ้า ถ้าสนามหญ้าสวยจะดึงองค์ประกอบอื่น ๆ ให้สวยตามไปด้วย ดังนั้นผมจึงต้องการสนามหญ้าที่เขียวสดตลอดทั้งปี หญ้าจะต้องตัดก้านให้สั้นให้เรี่ยดิน ให้มีแต่ใบที่แตกออกมา ให้คล้ายกับผืนพรมสีเขียว

          หลายๆ คนเวลาจะปลูกหญ้าในสวนหย่อมจะคิดถึงแต่หญ้านวลน้อยหรือหญ้าญี่ปุ่น เวลาเอามาปลูกแล้วขาดการดูแลรดน้ำและตัดหญ้าเป็นประจำ ปล่อยให้ต้นหญ้ายาว เวลาตัดแต่ละครั้งก็จะตัดสั้นยอดและใบออกเกือบหมด เหลือแต่ก้านแข็ง ๆ เดินก็ไม่นุ่มสบายเท้า ส่วนตัวผมชอบหญ้ามาเลย์ เพราะหญ้ามาเลย์เป็นหญ้าใบใหญ่ นุ่มและดูแลง่าย เวลาตัดสั้น ๆ แล้วจะเหมือนพรมสีเขียวสวย ชวนให้น่ามอง เวลาเดินเล่นเท้าเปล่าก็นุ่มเท้า

          จากที่เคยเลือกใช้หญ้าชนิดนี้ตอนทำสวนหย่อมครั้งแรกพบว่า หญ้าชนิดนี้ทนและไม่ต้องดูแลมาก ปุ๋ยก็ไม่เคยต้องใส่ แค่รดน้ำและตัดใบเป็นประจำก็อยู่ทนหลายปี

          ส่วนเทคนิคเวลาเลือกซื้อหญ้า คือ เลือกหญ้าที่พับเป็นผืนใหญ่ไม่ฉีกขาด ผืนหญ้าควรมีดินติดที่รากให้เยอะ เพราะเวลาปูเสร็จหญ้าจะตายน้อยและฟื้นตัวเร็ว

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - รูปสมัยปูหญ้าครั้งแรก ถ้าได้หญ้าแบบใหม่ ๆ สภาพนางฟ้า ปูเสร็จรดน้ำให้ชุ่มแค่สามวัน หญ้าก็ฟื้นตัวได้แล้ว

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          - ส่วนรอบนี้ซื้อหญ้ามากองไว้ 3 วัน ถึงได้ปู หญ้าช้ำมาก ทั้งเหี่ยว ทั้งเหลือง ปูเสร็จต้องรดน้ำถี่หน่อย อย่าปล่อยให้หญ้าและดินแห้ง ใช้เวลา 7-10 วันกว่าหญ้าจะฟื้นตัวได้

          สวนสวยไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่หลายคนมองข้ามเรื่องระบบน้ำ ถ้าทำระบบน้ำได้ดีแล้ว ทุกอย่างจะดีไปด้วย งบประมาณแม้จะสูงประมาณตารางเมตรละ 120 บาท แต่รับรองว่าคุ้มค่ามาก เพราะระบบพวกนี้อายุการใช้งานเกิน 10  ปี

          หลายคนจัดสวนสวยงามแต่ไม่ติดตั้งระบบน้ำที่ดี เพียงไม่นานสวนที่เคยสวยก็หมดสภาพ เพราะการรดน้ำสนามหญ้าเป็นภาระอย่างยิ่ง และยิ่งต้องทำซ้ำ ๆ เป็นประจำด้วยแล้ว ไม่นานจะกลายเป็นความน่าเบื่อ แต่ถ้าได้ระบบน้ำดี ๆ ก็จะได้สวนสวย ๆ ไว้ภายในบริเวณบ้าน ยอมลงทุนครั้งเดียวรับรองว่าสวนจะสวยเขียวสดชื่นไปเป็นสิบปีครับ

          ท่านใดคิดว่าเป็นประโยชน์ก็นำรูปแบบไปใช้ได้นะครับ

ระบบน้ำ สวนหย่อม

ระบบน้ำ สวนหย่อม

          ป.ล. พอทำสวนหย่อมสนามหญ้าใหม่ก็ทำให้คิดถึงตัวตุ่นที่เคยขุดสนามเล่น คิดถึง ๆ ถ้าหนูอยู่คงจะชอบสวนใหม่นี้มาก ๆ

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก คุณ ฟ้าสีหมอก สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทำระบบน้ำสปริงเกลอร์สวนหย่อม และฟื้นฟูหญ้าให้กลับมาเขียวชะอุ่ม ! อัปเดตล่าสุด 27 เมษายน 2561 เวลา 14:32:51 34,882 อ่าน
TOP