ทำความรู้จัก เสลดพังพอน สมุนไพรไทยน่าปลูก มีสรรพคุณช่วยรักษาแผลและถอนพิษ เสลดพังพอน มีวิธีการปลูกอย่างไร มาดูการปลูกเสลดพังพอนกันค่ะ
เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินชื่อ เสลดพังพอน ที่มีสรรพคุณโดดเด่นในเรื่องของการรักษาแผลและถอนพิษ สำหรับคนที่อยากจะปลูกต้นไม้ชนิดนี้ไว้จัดสวน เรามีข้อมูลมาฝากแล้วค่ะ
เสลดพังพอน ชื่อ
เสลดพังพอน เป็นสมุนไพรยอดนิยมชนิดหนึ่งที่มักขึ้นตามป่าหรือปลูกตามบ้าน แบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ
- เสลดพังพอนตัวผู้ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Barleria lupulina Lindl.
- เสลดพังพอนตัวเมีย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Clinacanthus nutans (Burm.f) Lindau.
ซึ่งเสลดพังพอนทั้งสองชนิดนี้มีลักษณะที่แตกต่างกันคือ เสลดพังพอนตัวผู้จะมีหนามตามลำต้น แต่เสลดพังพอนตัวเมียไม่มี ฉะนั้นเพื่อป้องกันความสับสนแล้ว หลายคนจึงนิยมเรียกเสลดพังพอนตัวเมียว่า "พญายอ" แทน แต่ก็ยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ ตามท้องถิ่นอีกมากมาย เช่น ชื่อเสลดพังพอนตัวเมีย ได้แก่ ผักมันไก่ ผักลิ้นเขียด พญาปล้องดำ และพญาปล้องทอง ส่วนเสลดพังพอนตัวผู้ก็จะเรียกว่า พิมเสนต้น ช้องระอา อังกาบ อังกาบเมือง หรือก้านชั่ง
เสลดพังพอน ลักษณะ
ลำต้น : เสลดพังพอนทั้ง 2 ชนิด มีลักษณะลำต้นคล้ายกันคือ เป็นไม้พุ่ม อายุหลายปี สูงประมาณ 1-3 เมตร แตกกิ่งก้านสาขารอบต้น ทว่าเสลดพังพอนตัวผู้จะมีหนามแหลมตามข้อและมีลำต้นสีม่วงอมเขียว ต่างจากเสลดพังพอนตัวเมียที่ไม่มีหนามแหลมและมีลำต้นสีเขียวอ่อน
ใบ : เสลดพังพอนทั้ง 2 ชนิด มีใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามเป็นคู่ ปลายใบแหลม โคนใบเรียว ขอบใบเรียบ ผิวใบเกลี้ยง และมีเส้นกลางใบชัดเจน โดยเสลดพังพอนตัวผู้จะมีใบยาว เรียว แคบ สีเขียวเข้มเป็นมัน และมีเส้นกลางใบสีแดง ส่วนเสลดพังพอนตัวเมียจะมีใบเป็นรูปหอก บาง และมีเส้นกลางเป็นเป็นสีเขียว
ดอก : เสลดพังพอนทั้ง 2 ชนิด ออกดอกเป็นช่อแบบเชิงลดที่ปลายกิ่ง แต่มีความแตกต่างกันตรงที่เสลดพังพอนตัวผู้มีใบประดับเป็นสีเขียวอมม่วงและมีดอกเป็นสีเหลืองหรือสีส้ม ส่วนเสลดพังพอนตัวเมียมีใบประดับเป็นสีเขียวและมีดอกเป็นสีแดงส้ม
เสลดพังพอน วิธีปลูก
เสลดพังพอนสามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยการเพาะเมล็ดและปักชำกิ่ง แต่ส่วนใหญ่จะนิยมใช้การปักชำกิ่งมากกว่า โดยฤดูที่เหมาะจะปลูกเสลดพังพอนมากที่สุด คือ ฤดูฝน ซึ่งมีขั้นตอนในการปลูกดังนี้
1. คัดเลือกกิ่งสำหรับปักชำ โดยควรเลือกกิ่งที่สมบูรณ์ แข็งแรง ไม่อ่อน และไม่แก่
2. ตัดกิ่งปักชำ โดยควรตัดให้ยาวประมาณ 6-8 นิ้ว และให้มีตาติดอยู่ประมาณ 2-3 ตา
3. เด็ดใบออกจากกิ่ง โดยให้เหลือไว้แค่บริเวณปลายยอด เสร็จแล้วทาปูนแดงทับบริเวณข้อตัด
4. ปักลงในถุงเพาะชำ รดน้ำให้ชุ่ม รักษาความชื้นให้ดี
5. รอประมาณ 20-30 วัน หรือจนกว่ากิ่งจะแตกรากและใบอ่อน
6. ย้ายลงหลุมปลูก โดยให้ขุมหลุมกว้างประมาณ 10-15 เซนติเมตร ลึกประมาณ 10 เซนติเมตร จากนั้นใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักลงที่ก้นหลุม
7. นำกิ่งปักชำมาปลูกหรือปักลงในหลุม กลบดินให้แน่น รดน้ำให้ชุ่ม ก็เป็นอันเสร็จ
เสลดพังพอน วิธีดูแล
ดิน : เสลดพังพอนเป็นพืชโตเร็วปานกลาง เจริญเติบโตได้ดีในดินที่อุดมสมบูรณ์ ไม่ค่อยชอบดินเหนียว แต่จะชอบดินร่วนปนทรายที่มีความชุ่มชื้นและระบายน้ำดีเป็นพิเศษ
แดด : ชอบแสงแดดครึ่งวันหรือเต็มวัน แต่ก็สามารถเจริญเติบโตได้ทั้งในแดดและในร่ม ชอบสภาพอากาศร้อนชื้น หากปลูกในบริเวณที่มีแดดรำไรจะทำให้ใบมีคุณภาพในการปรุงยาดีกว่า รวมถึงทำให้ใบสวยและไม่เหลืองด้วย
น้ำ : เสลดพังพอนเป็นพืชที่ต้องการน้ำปานกลาง โดยในช่วงแรกควรรดน้ำและรักษาความชื้นทุกวันจนกว่ากิ่งชำจะตั้งตัวได้ และถ้าหากวันไหนอากาศร้อนมากก็ให้รดน้ำทั้งเช้าและเย็น หลังจากนั้นจึงค่อยเปลี่ยนลดลงมาเหลือรดน้ำแค่วันเว้นวัน และถ้าวันไหนฝนตกแล้วก็ไม่ต้องรด
ปุ๋ย : ะถ้าหากดินปลูกอุดมสมบูรณ์ดีอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ย ทว่าหลังจากเก็บเกี่ยวไปแล้ว ควรจะใส่ปุ๋ยคอกเพิ่มลงไปสักหน่อย จะได้ช่วยเร่งการเจริญเติบโตของต้นให้เร็วขึ้น
โรคและแมลง : เรื่องโรคและแมลงไม่ค่อยเป็นปัญหา
เสลดพังพอน การเก็บเกี่ยว
เสลดพังพอนนิยมปลูกเป็นไม้ประดับและพืชสมุนไพร เก็บเกี่ยวโดยการเก็บใบไปเรื่อย ๆ และเก็บใบที่อยู่ใต้ยอดลงมาประมาณ 2 ปล้อง หากต้องการใบจำนวนมากและประหยัดเวลาในการเก็บเกี่ยว ให้ใช้วิธีตัดต้นที่อยู่เหนือผิวดินขึ้นไป 10 เซนติเมตร แล้วค่อยลิดใบออก สำหรับเสลดพังพอนตัวเมียแนะนำให้เก็บใบจากต้นที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไปจะได้น้ำหนักดีกว่า
เสลดพังพอน สรรพคุณ
ทั้งเสลดพังพอนตัวเมียและตัวผู้เป็นสมุนไพรที่โดดเด่นเรื่องการถอนพิษ ไม่ว่าจะพิษงู ตะขาบ แมลงป่อง หรือแมลงสัตว์กัดต่อย อกจากนี้ยังมีสรรพคุณช่วยรักษาโรคงูสวัด โรคเริม โรคฝี โรคคางทูม แผลน้ำร้อนลวก แผลผิวหนัง แผลร้อนในในปาก ช่วยขับปัสสาวะ ขับประจำเดือน และแก้ปวดเมื่อยเอวได้อีกด้วย เอาเป็นว่าเพื่อให้ทุกคนเข้าใจเกี่ยวกับสรรพคุณของเสลดพังพอนตัวเมียและตัวผู้มากขึ้น ตามไปดูเพิ่มเติมได้ที่นี่เลย
เสลดพังพอนเป็นสมุนไพรที่ปลูกและดูแลรักษาไม่ยาก แถมยังมีประโยชน์และสรรพคุณดี ๆ เพียบ รู้อย่างนี้แล้ว อย่าลืมไปหามาปลูกติดบ้านไว้สักต้น สองต้นก็ดีนะคะ