ออกแบบห้องน้ำผู้สูงอายุ เพื่อความปลอดภัย ใช้งานสะดวก ลดอุบัติเหตุในห้องน้ำ

บ้านที่เราอยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่ตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน หรือบ้านที่เพิ่งซื้อใหม่ที่มีผู้สูงอายุอาศัยรวมอยู่ด้วย สถานที่สำคัญที่เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุนั่นคือ ห้องน้ำ ดังนั้น ลูก ๆ หรือหลาน ๆ อาจต้องออกแบบห้องน้ำใหม่หรือปรับเปลี่ยนบางส่วนเพื่อความปลอดภัยและสะดวกต่อการใช้งานของผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้นด้วย

ออกแบบห้องน้ำผู้สูงอายุ

ใครกำลังมองหาแบบห้องน้ำให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุเหมือนกันบ้าง ? ไม่ต้องถึงขนาดทุบทิ้งของเดิมเพื่อทำใหม่ หรือลงทุนเงินก้อนที่เก็บหอมรอมริบเพื่อเอามาสร้างบ้านสำหรับผู้สูงอายุหรอกค่ะ แค่ปรับเปลี่ยนหรือเสริมเติมแต่งนั่นนี่หน่อย เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานของผู้สูงอายุโดยตรงก็พอแล้ว ดังนั้น วันนี้กระปุกดอทคอมจึงนำการออกแบบห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุมาฝากกัน เพื่อความสะดวกปลอดภัย ลดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดด้วยค่ะ

1. ประตูห้องน้ำ

ออกแบบห้องน้ำผู้สูงอายุ

ประตูห้องน้ำควรมีความกว้างอย่างน้อย 90 เซนติเมตร เพื่อความสะดวกของผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็น ถ้าเป็นไปได้ประตูห้องน้ำควรเป็นบานเลื่อนหรือบานเปิดออกนอกห้องน้ำ เผื่อเวลาที่ผู้สูงอายุหกล้มและนอนขวางอยู่บริเวณหน้าประตู เราก็จะสามารถเปิดออกจากนอกห้องหรือเลื่อนออกง่าย ๆ เพื่อเข้าไปช่วยเหลือได้ทัน ถ้าใครมีประตูบานเปิดแบบเข้าข้างในอาจถอดประตูบานเปิดออกแล้วติดตั้งประตูบานเลื่อนแบบรางแขวนเหนือคิ้วประตู แต่ไม่มีรางบนพื้นขวางทางเข้าให้เดินสะดุด อาจมีการเจาะช่องกระจกสำหรับมองเข้าไปในห้องเผื่อเกิดอุบัติเหตุจะได้เข้าช่วยเหลือ ที่สำคัญควรใช้มือจับประตูแบบก้านโยก เพื่อผู้สูงอายุจะได้ไม่ต้องออกแรงข้อมือในการบิดหมุนแบบประตูลูกบิดทั่วไป และติดราวจับช่วยทรงตัวด้านข้าง

2. พื้นห้องน้ำ

ออกแบบห้องน้ำผู้สูงอายุ

พื้นที่ภายในห้องน้ำควรกว้างไม่น้อยกว่า 1.50x2 เมตร เพื่อให้หมุนรถเข็นได้สะดวก พื้นห้องน้ำควรมีระดับเดียวกับพื้นภายในบ้าน เพื่อป้องกันการสะดุดล้มและเพื่อให้เข็นรถเข็นได้สะดวกไม่สะดุด พื้นส่วนแห้งและส่วนเปียกควรทำให้มีระดับเดียวกัน โดยใช้ตะแกรงกันน้ำบริเวณหน้าประตู และกั้นระหว่างส่วนเปียก-ส่วนแห้ง แทนการเปลี่ยนระดับหรือใช้ขอบกันน้ำ พื้นห้องน้ำส่วนเปียกกับส่วนแห้งควรเลือกใช้กระเบื้องที่มีค่า R10 (ค่า R หรือ Ramp คือค่าความหนืดหรือค่ากันลื่นของพื้นผิวของกระเบื้อง) ทั้งนี้ ควรมีการเปลี่ยนสีหรือลายที่แตกต่างสำหรับโซนเปียกและโซนแห้งเพื่อให้เห็นได้ชัด และควรเลือกสีของกระเบื้องพื้นที่มีความแตกต่างกับผนังและชุดสุขภัณฑ์อย่างชัดเจนอีกด้วย

3. โซนอาบน้ำ

ออกแบบห้องน้ำผู้สูงอายุ

  • ฝักบัวอาบน้ำ

ฝักบัวอาบน้ำ การเลือกฝักบัวอาบน้ำสำหรับผู้สูงอายุควรเลือกแบบที่มีแรงดันน้ำต่ำ หรือปรับระดับแรงดันน้ำได้ ตำแหน่งของฝักบัวสามารถปรับขึ้น-ลงได้เพื่อรองรับการใช้งานของทุกคนในบ้าน วาล์วเปิด-ปิดฝักบัวควรเป็นแบบก้านยาวเพื่อผู้สูงอายุจะได้ไม่ต้องออกแรงมาก ทั้งนี้ การแบ่งโซนเปียกกับโซนแห้งสำหรับผู้สูงอายุไม่ควรใช้กระจกกั้นเพื่อความปลอดภัย อาจใช้ผ้าม่านพลาสติกเพื่อกันน้ำกระเด็นก็เพียงพอแล้ว

  • เก้าอี้นั่งอาบน้ำ

เก้าอี้นั่งอาบน้ำหรือที่นั่งอาบน้ำเป็นสิ่งจำเป็น เพราะผู้สูงอายุไม่สามารถยืนได้นาน ขนาดความสูงของเก้าอี้ประมาณ 45-50 เซนติเมตร ขาเก้าอี้ควรมีความฝืด ไม่ลื่นไถล หรือถ้าก่อจากปูนแล้วปูกระเบื้องยิ่งดีเพราะแข็งแรงทนทาน แต่ทั้งนี้ควรมีราวจับเพื่อช่วยพยุงตัวที่ฝาผนังข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง

  • อ่างอาบน้ำ

สำหรับใครที่อยากติดตั้งอ่างอาบน้ำสำหรับผู้สูงอายุก็มีแบบสำเร็จรูปขาย โดยจะออกแบบมาเป็นพิเศษ เริ่มจากมีประตูเปิดสำหรับผู้สูงอายุให้เดินเข้าไปง่าย ไม่ก้าวข้ามสูง ๆ เหมือนอ่างอาบน้ำทั่วไป ส่วนด้านในแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนเก้าอี้ที่ผู้สูงอายุสามารถนั่งลงไปได้อย่างแข็งแรงและมั่นคง และมีราวจับด้านข้างเพื่อผู้สูงอายุสามารถพยุงตัวกันลื่นเวลาจะนั่งหรือลุกจากเก้าอี้ อีกส่วนเป็นที่โล่งไว้สำหรับอาบน้ำ

4. อ่างล้างหน้า

ออกแบบห้องน้ำผู้สูงอายุ

อ่างล้างหน้าควรติดตั้งให้สามารถรับน้ำหนักจากการเท้าแขนสำหรับผู้สูงอายุที่ใช้ไม้เท้าได้ ควรสูงจากพื้น 70-80 เซนติเมตร ถ้าผู้สูงอายุใช้รถเข็นควรเลือกรูปแบบที่มีส่วนโค้งเว้าด้านหน้า โดยให้พื้นที่ข้างใต้อ่างล้างหน้าโล่งเพื่อให้สามารถสอดรถเข็นเข้าไปได้สะดวก ส่วนก๊อกน้ำของอ่างล้างหน้าควรเลือกใช้ก๊อกก้านโยกแบบปัดไปด้านข้าง หรือก๊อกน้ำอัตโนมัติ ผู้สูงอายุจะได้ไม่ต้องออกแรงในการปิด-เปิด เคาน์เตอร์อ่างล้างหน้าควรมีขอบและมุมมน ป้องกันอันตรายจากการชนหรือล้มกระแทก

5. ชักโครก

ออกแบบห้องน้ำผู้สูงอายุ

สำหรับใครที่มีส้วมซึมหรือส้วมนั่งยองคงต้องทำใจเปลี่ยนเพื่อความสะดวกของผู้สูงอายุ โดยควรเลือกใช้ชักโครกรุ่นที่มีที่นั่งสูงจากพื้น 43-45 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระดับที่ผู้สูงอายุลุก-นั่งได้อย่างสะดวก และควรมีราวทรงตัวบริเวณด้านข้างของชักโครก อาจทำฝั่งเดียวหรือทั้งสองฝั่งตามขนาดของพื้นที่เพื่อช่วยพยุงตัวผู้สูงอายุ ส่วนที่กดชำระน้ำควรเลือกใช้เป็นแบบคันโยก ส่วนสายชำระควรติดตั้งไว้ด้านข้างให้มือเอื้อมหยิบใช้ได้ง่ายโดยไม่ต้องเอี้ยวตัวไปด้านหลัง นอกจากนี้ถ้าเป็นไปได้ควรติดตั้งสัญญาณฉุกเฉินบริเวณข้างชักโครก เพื่อให้คนภายนอกรับรู้ถึงความผิดปกติและเข้ามาช่วยได้ทันท่วงที

6. แสงสว่าง

ออกแบบห้องน้ำผู้สูงอายุ

แสงสว่างในห้องน้ำเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ ถ้าห้องน้ำมีไฟน้อยดวงควรเพิ่มแสงสว่างด้วยการติดหลอดไฟให้มากขึ้น โดยแสงที่เหมาะสมควรจะเป็นแสงสีขาว ซึ่งช่วยให้มองเห็นรายละเอียดของสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งรูปทรงของสิ่งของในห้องน้ำ ไม่ว่าจะเป็นขวดน้ำยา หลอดยาสีฟัน ขวดยาสระผม เป็นต้น รวมไปถึงเห็นข้อความระบุวิธีใช้งานด้านข้างผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เข้าใจง่ายและมองเห็นได้อย่างชัดเจน

นับเป็นเรื่องสำคัญที่ควรใส่ใจกับการออกแบบห้องน้ำผู้สูงอายุ ทั้งเพื่ออำนวยความสะดวก เพื่อความปลอดภัย ลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ และตอบโจทย์ตัวเราเองในอนาคตที่เสื่อมโทรมไปพร้อมบ้านด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก sebringdesignbuild, accessiblebathsolutions และ homepro
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ออกแบบห้องน้ำผู้สูงอายุ เพื่อความปลอดภัย ใช้งานสะดวก ลดอุบัติเหตุในห้องน้ำ อัปเดตล่าสุด 28 เมษายน 2568 เวลา 18:46:01 76,943 อ่าน
TOP
x close